สเก็ตช์

สเก็ตช์ | บันทึกภาพความประทับใจด้วยดวงตา ประสานผ่านนิ้วมือที่ถือปากกาและพู่กัน

จุดเริ่มต้นของไอเดียต้องมาจากการร่างแบบลงกระดาษ แล้วจึงพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงาน หลายๆ ครั้งเราก็พบว่า งานที่ดีมักเกิดขึ้นจากการร่างแบบที่ดีด้วย โลกดิจิตอลปัจจุบันทำให้ผู้คนเริ่มละเลยพื้นฐานเหล่านี้ไปแล้ว แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลในการสเก็ตช์ความประทับใจ ประสบการณ์ บรรยากาศ รวมถึงความรู้สึกลงบนแผ่นกระดาษ ออกมาเป็นลายเส้นที่แม้จะไม่ได้จะคมกริบเหมือนไฟล์ภาพดิจิตอล แต่กลับสามารถเก็บความทรงจำได้อย่างครบถ้วนไม่แพ้กัน

 
สเก็ตช์

NUNTAWAN WATA

     ‘เอ๋’ – นันทวัน วาตะ นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ กาแฟดำไม่เผ็ด พบเราในช่วงสายของวันกลางสัปดาห์ เธอปล่อยให้เราทำความรู้จักตัวเธอผ่านสมุดจดบันทึกการเดินทางส่วนตัวที่เต็มไปภาพสเก็ตช์สีสันสวยงามทั่วหน้ากระดาษอยู่พักใหญ่ เสมือนว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในแต่ละช่วงชีวิต ก่อนจะเริ่มพูดคุยถึงที่มา ความสุข และเสน่ห์ของลายเส้นที่ไม่เหมือนกับภาพจากกล้องถ่ายรูป เรื่องเล่าของเธอชวนให้เรานึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก สมัยที่ยังตัวเล็กเกินกว่าจะถือกล้องถ่ายรูป และยังพกดินสอสีพร้อมกระดาษไปด้วยทุกที่
 

THE STARTING POINT

     เราทำงานวาดภาพประกอบมาตั้งแต่เรียนจบ แล้วพอดีมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งหาเพื่อนไปเที่ยวบนเว็บไซต์พันทิป แผนของเขาคือนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปที่ต้าลี่ แล้วขึ้นไปแชงกรีลา เราไม่รู้จักเขามาก่อนนะ แต่การเดินทางของเขาดูน่าสนใจดี ก็เลยไปด้วยกัน ซึ่งทริปนั้นใช้เวลาเยอะมาก เพราะเราเดินทางโดยการนั่งรถ ก็เลยมีเวลาเหลือพอที่จะนั่งวาดรูปและจดบันทึก เวลามันเยอะมากจนเราไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรแล้ว (หัวเราะ) อ่านหนังสือก็จบไปแล้ว ก็ได้วาดรูป ได้สเก็ตช์นี่แหละ นั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้สเก็ตช์และจดบันทึกอย่างจริงจัง

สเก็ตช์

THE MOMENT OF SKETCHING

     เวลาที่เราจะหยิบกระดาษและปากกามาสเก็ตช์รูป หนึ่ง ต้องรู้แล้วว่าพอจะมีเวลาสัก 20 นาที สองคือ บรรยากาศตรงนั้นมีองค์ประกอบที่ดี มีสถาปัตยกรรมและศิลปะที่น่าสนใจ มีต้นไม้ มีผู้คน เราจะรู้สึกเลยนะว่า ‘ตรงนี้วาดต้องสวยแน่ๆ เลย’ หรือ ‘ร้านรกๆ แบบนี้ลงสีต้องดีมากแน่ๆ เลย’

     การสเก็ตช์มันไม่จำเป็นต้องเนี้ยบ ต้องเป๊ะ เราได้เก็บบรรยากาศ เก็บอารมณ์ ได้บันทึกความรู้สึก ณ ตอนนั้น ซึ่งบางทีเราจำไม่ได้แล้วแหละ แล้วยังได้เห็นรายละเอียดของสถาปัตยกรรม ตึกราม บ้านเรือน เป็นรายละเอียดที่บางทีการถ่ายภาพก็มองไม่เห็น เวลาวาดรูปเราต้องค่อยๆ มอง ค่อยๆ เพ่ง ต้องสังเกต เราจะเห็นรายละเอียดเสื้อผ้าผู้คน การจัดวางของในร้านอาหาร ทุกอย่างจะชัดไปหมด เราจะมีสมาธิอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่แค่เห็นว่าองค์ประกอบสวย กดชัตเตอร์ แชะ แล้วก็จบ

สเก็ตช์

THE MAGIC HOUR

     เราก็ถ่ายรูปนะ ไม่ใช่ไม่ถ่ายเลย แต่ถ้าถามว่าระหว่างการถ่ายรูปกับการวาดรูปชอบอะไรมากกว่า ก็ชอบวาดรูปมากกว่าอยู่แล้ว ทำให้มีสมาธิมากกว่า การถ่ายรูปมันเร็วมาก บางทีเวลาถ่ายรูปมากๆ จะเริ่มสังเกตตัวเองแล้วว่า เราไม่ได้มองสิ่งสิ่งนั้นด้วยตาเลยนะ เรามองผ่านเลนส์หมดเลย

     ซึ่งการวาดรูปมันก็ทำให้เราเห็นภาพกว้างกว่าที่มองผ่านเลนส์ พอมองย้อนกลับไปเราจะเรียกความทรงจำกลับมาได้เยอะมาก เราจะจำได้ว่าตอนวาดมันมีกลิ่นนี้ มีคนนี้ที่เดินไปเดินมาอยู่นั่นแหละ (หัวเราะ) สำหรับเรา การวาดรูปให้ความรู้สึกได้มากกว่า ภาพถ่ายมันไม่ได้ดึงอะไรให้เด่นออกมา เพราะทุกอย่างเท่ากันหมด แต่การวาดรูป เราสามารถดึงบางอย่างให้เด่น ดึงคน ดึงอารมณ์ ดึงความรู้สึก และบางอย่างเราก็สามารถผลักออกไปได้

สเก็ตช์

LET’S DO IT

     จริงๆ แล้วการสเก็ตช์รูปแทนการถ่ายภาพมันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สมัยนั้นนักเดินทางต้องสเก็ตช์รูปเป็น เพื่อที่จะได้นำภาพเหล่านั้นกลับไปให้คนที่บ้านดู ตอนนี้ก็มีคนบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการสเก็ตช์ภาพ มองมุมหนึ่งก็เหมือนกับว่าหลายคนอาจจะเริ่มเบื่อหน่ายกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตมากไป สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มวาด เราว่าจะวาดสวยไม่สวยก็วาดไปเถอะ นักแบดมินตันระดับโลกก็ต้องเริ่มจากการตีแบดฯ หน้าบ้านก่อน เทคนิคคือ ให้ซื้อสมุดเล่มเล็กๆ ก่อน มันจะได้ไม่ทำร้ายจิตใจมาก วาดแป๊บเดียวก็หมดเล่มแล้ว (หัวเราะ)
 
สเก็ตช์

KRITSAPHON WATTANAPAN

     ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีอันทันสมัยย่นระยะเวลาในการเก็บภาพประทับใจตรงหน้าไว้เพียงชั่วปลายนิ้วกด จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่าเหตุใดใครหลายคนจึงเลือกใช้เวลาร่วมชั่วโมงสังเกตและขีดเขียนเส้นหนาบางลงบนกระดาษ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ กฤษพล วัฒนปาน ครูสอนศิลปะหนุ่มจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) และเจ้าของเพจ My Space 365 สิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมานอกจากจะจุดประกายและปลุกความมั่นใจแก่เราแล้ว ยังทำให้เราอยากพกกระดาษและปากกาออกไปเดินหาทำเลวาดรูปในทันทีด้วย
 

THE STARTING POINT

     จุดเริ่มต้นของการสเก็ตช์ภาพแทนการจดบันทึกของผม เริ่มจากผมเป็นคนชอบเขียนไดอารี่ จดกันเป็นเล่มๆ รูปที่เคยวาดแทรกเล็กๆ ก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นแทนที่ตัวอักษร จำอะไรได้ก็วาดลงไปในกระดาษ ช่วงสมัยเรียนออกแบบผมก็จะมีสมุดสเก็ตช์เล็กๆ ไว้วาดรูปคนบนรถเมล์ ก่อนจะมาวาดสเก็ตช์แบบจริงจัง เพราะอ่านเจอเรื่องราวของกลุ่มคนที่นัดกันออกไปวาดเมืองในนิตยสาร อะเดย์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของผมสำหรับการออกไปวาดเมือง on location แบบจริงจัง และเมื่อได้วาดได้บันทึก ก็ทำให้เราจำภาพและระลึกถึงได้ดีกว่าจดบันทึกเป็นตัวอักษร เมื่อก่อนผมก็ถ่ายภาพเหมือนกันนะ แต่ผมรู้สึกชอบการเก็บรายละเอียดของการวาดภาพมากกว่า บางภาพก็ใช้เวลาวาดเป็นชั่วโมง

สเก็ตช์

THE MOMENT OF SKETCHING

     ความสนุกของการวาด on location แบบนี้ ทำให้ภาพที่วาดได้เส้นอีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากการวาดในห้องปิด ส่วนหนึ่งเพราะต้องรีบกับบางสิ่ง รีบกับจุดนี้ก่อนเพราะแสงกำลังไล่มาแล้วนะ ต้องรีบตัดสินใจตอนนั้นเลย และยังสามารถตัดและเพิ่มบางสิ่งบางอย่างได้ เช่น ตัดเสาไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่ว่างบางจุดเพื่อจดบันทึกเรื่องราว เป็นการจัดเลย์เอาต์ของตัวเอง และนำเอาสิ่งที่เรารู้จากการเรียนออกแบบและศิลปกรรมศึกษามาใช้รวมกัน

     ส่วนตัวผมชอบพวกย่านตึกเก่า บ้านเรือนเก่า บ้านไม้ เช่น แถวเจริญกรุง แถวทรงวาด ผมรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์และควรบันทึกไว้ก่อนจะถูกทำลายไปตามกาลเวลา หลายครั้งที่เราวาดรูปเก็บไว้และเวลาต่อมาไม่นานตึกอาคารนั้นก็ถูกรื้อถอนทำลายไป

สเก็ตช์

THE MAGIC HOUR

     เสน่ห์ของการสเก็ตช์ภาพอย่างแรกคือ ทำให้ผมได้รู้จักกับรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ จดจำเหตุการณ์บรรยากาศในช่วงนั้นๆ ได้ ทั้งยังสร้างมิตรภาพ รอยยิ้ม และความสุข ความสุขในที่นี้ไม่ใช่ของผมนะครับ แต่เป็นความสุขของคนอื่นๆ ที่ได้พบเจอ หรือคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจนเริ่มต้นทำสิ่งที่เขามีความสุขด้วย ได้จุดประกายและถ่ายทอดแก่คนอื่น และส่งต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบ

     สิ่งธรรมดาที่เราพบเจอในทุกวัน หากสังเกตดีๆ แล้วเราจะพบกับความพิเศษ หลายต่อหลายครั้งผมได้เห็นสิ่งใหม่จากการเงยหน้ามองตึกๆ เดิมที่เดินผ่านแต่ไม่เคยสังเกต ผมผ่านเยาวราชทุกวัน แต่ไม่เคยสังเกตเห็นหัวเสาที่สวยงามมากในศาลเจ้า สิ่งเหล่านี้บอกเราว่า ในกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้มีแต่สิ่งที่ตาเรามองเห็น มันยังมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นและทำเป็นไม่เห็นอีกมากมาย

สเก็ตช์

LET’S DO IT

     หลักการง่ายมาก มองเห็นอะไรก็วาดอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องวาดสิ่งที่ใหญ่ๆ ชอบตรงนี้ สนใจแค่ตรงนี้ ก็วาดแค่จุดนี้ ไม่จำเป็นต้องวาดเหมือน แค่ถ่ายทอดออกมา ผมไม่เชื่อเลยว่าใครจะวาดรูปไม่ได้ ทุกคนแค่ยังไม่เริ่มวาด แค่คุณเริ่มขีดเส้น 2 เส้น วาดสี่เหลี่ยมแล้วเติมรายละเอียด เท่านี้ก็ได้รูปปากกาหนึ่งแท่งแล้ว คุณแค่ยังไม่รู้กระบวนการว่าจะทำอย่างไร สำคัญคือเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน อย่าใจร้อน

     จริงๆ ผมอยากเอางานแรกๆ ของผมให้ดูมากเลย เมื่อก่อนผมเป็นคนวาดแล้วไม่กล้าลงสีน้ำเพราะกลัวว่างานจะเสีย (หัวเราะ) ลงสีแค่บางจุด บางจุดเว้นว่างไว้ ไม่ใช่เพราะความเท่ แต่เป็นความกลัว สำหรับใครที่อยากลองสเก็ตช์ภาพ ผมอยากบอกว่า เริ่มต้นได้เลยครับ ถ้าอ่านจบประโยคนี้แล้ว ผมอยากให้คุณหยิบปากกาแล้ววาดอะไรก็ได้ลงไปในหน้ากระดาษบทสัมภาษณ์นี้เลย วาดเลยครับ อย่ามีข้อแม้ให้ตัวเอง อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้ อย่าไปคิดว่างานตัวเองไม่สวย ผมอยากให้คุณเริ่มต้นหลังจากจบประโยคนี้เลย
 
สเก็ตช์

SUPPACHAI VONGNOPPADONDACHA

     ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ ผ่านการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือสิ่งที่ ‘หลุยส์’ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา สถาปนิกหนุ่ม เจ้าของเพจ Louis Sketcher บอกเล่าถึงที่มาที่ไปและความหลงใหลในศาสตร์การสเก็ตช์ภาพเมือง ในช่วงเวลาและบรรยากาศจริงแบบที่เรียกกันว่า Urban Sketching เส้นสายขยุกขยิกที่ทอดยาวบนหน้ากระดาษ อัดแน่นไปด้วยความสุขและความทรงจำของห้วงเวลา ที่เขาบอกกับเราว่า เปิดขึ้นมาดูทีไร เหมือนพาตัวเองย้อนเวลากลับไปทุกที
 

THE STARTING POINT

     ความทรงจำวัยเด็กของเรา คือเคยเอาปากกาหัวม้าไปวาดตู้ วาดพื้น แล้วก็โดนที่บ้านตี (หัวเราะ) ด้วยความที่ขี้เกียจ ไม่ชอบเลข ไม่ชอบฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่อยู่สายวิทย์นะ ห้องคิงด้วย เรียนอะไรดีที่มันใช้การวาดรูป ก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับสถาปัตย์ พอเราเริ่มไปติวความถนัดสถาปัตย์ ได้ลองวาดรูป ลองลงสีน้ำ ก็รู้สึกสนุกดี เพราะในบรรดาวิชาทั้งหมด เราว่าเราวาดรูปได้ดีสุด จนสอบตรงติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคสถาปัตยกรรมไทย ที่จุฬาฯ ซึ่งตอนนั้นค่อนข้างหลงตัวเองว่าวาดรูปเก่ง ก็เลยเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้ตัวเองเริ่มวาดรูปมากขึ้น เพราะคิดว่าตัวเองทำได้ดีไง ซึ่งพอกลับไปดูงานตอนนั้นแล้วมันก็ไม่ได้ดีเลย (หัวเราะ)

     ที่ผ่านมาด้วยความที่เรียนสถาปัตย์ มันก็ต้องสเก็ตช์อยู่แล้ว สเก็ตช์แบบอะไรไปเรื่อย แต่ไม่ได้สเก็ตช์จริงจังในชีวิตประจำวัน จนเราเริ่มมาพกสมุดสเก็ตช์ตอนปี 4 ตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาเราเขาอยู่กลุ่ม Bangkok Sketcher เลยเชิญ อาจารย์ อัสนี ทัศนเรืองรอง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มาบรรยายที่คณะ เราได้ไปฟังแล้วรู้สึกว่าโคตรเท่เลย อยากทำได้บ้าง ก็เลยเริ่มฝึกฝน หัดสเก็ตช์อะไรต่างๆ รอบตัวให้บ่อยขึ้น

สเก็ตช์

THE MOMENT OF SKETCHING

     เขาเรียกว่า Urban Sketching เป็นการวาดภาพเมือง แต่ช่วงแรกๆ ของเราจะเรียกว่าอย่างนั้นเลยซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะช่วงแรกเราอาศัยฝึกการวาดจากภาพถ่ายก่อน ถ้าเป็น Urban Sketching จะต้องเป็นการวาด on location จริงๆ

     เราเคยได้ยินคำว่าดื่มเมือง เขาว่ากันว่า Urban Sketching มันทำให้เราสำรวจสถานที่นั้นๆ ได้มากขึ้น เพราะในการสเก็ตช์แต่ละครั้ง เรานั่งอยู่ตรงนั้นเป็นชั่วโมง อย่างน้อยๆ ก็หลายสิบนาที เราจะเห็นทุกอย่าง เห็นคนที่เดินไปเดินมา บรรยากาศตรงนั้น อากาศตอนนั้น แล้วมันมีค่ามากนะตอนที่เรากลับมาดูรูป เพราะเราจะจำได้หมดเลยว่าตอนสเก็ตช์รูปนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง รถผ่าน ควันโขมง แต่เราจะไม่เปรียบเทียบกับการถ่ายรูปนะ เพราะมันคนละศาสตร์ มันสวยงามไปคนละแบบ

สเก็ตช์

THE MAGIC HOUR

     บางทีเวลานั่งวาดๆ อยู่ คนแถวนั้นจะมาชะโงกดู พี่วินมอเตอร์ไซค์มาจอดดู ส่วนใหญ่จะมีฝรั่งเข้ามาถาม อย่างครั้งหนึ่งเคยมีนักศึกษาจากมุมไบมาด้อมๆ มองๆ พอคุยๆ ไป สรุปว่าเขาก็เรียนสถาปัตย์เหมือนกัน (หัวเราะ) รุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกว่า มันคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับสถานที่นั้นๆ วัดสุทัศน์ของเราก็จะไม่เหมือนของคนอื่น เพราะเป็นมุมมองเฉพาะของเราคนเดียว ซึ่งมันจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ตอนนั้นด้วย อย่างเราเคยไปสเก็ตช์ที่พุทธคยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของศาสนา บรรยากาศของความศรัทธา พอเปิดรูปวาดตอนนั้นขึ้นมายังแว่วเสียงสวดมนต์อยู่เลย เพราะอารมณ์ ณ ตอนนั้นมันยังติดอยู่ในภาพวาด (ยิ้ม)

สเก็ตช์

LET’S DO IT

     มีหลายแบบ แต่ถ้าเป็นแนวถนัดของเราคงเป็น Pen & Wash คือตัดเส้นก่อนแล้วค่อยลงสีน้ำ โดยมีขั้นตอนคือ เราต้องดูก่อนว่าเรามีพื้นที่กระดาษเท่าไหร่ เสร็จแล้วดูว่าเราจะบันทึกอะไรลงไปบ้าง ช่วงมองเนี่ยเป็นช่วงสำคัญ น่าจะสำคัญเกือบที่สุดแล้วแหละ เพราะหากการจัดวางองค์ประกอบพังแต่แรก การลงสีหรือตัดเส้นก็จะแก้ทีหลังไม่ได้แล้ว นอกจากวาดใหม่ เราก็เลยให้ความสำคัญกับมุมมอง ทุกวันนี้เรามีบทบาทการเป็นผู้สอนด้วย ซึ่งเราสอนด้วยประสบการณ์ เหมือนกับเราเองที่สีน้ำก็แทบไม่ได้เรียนเลย เราเรียนจากการทำซ้ำ ดูคนอื่นแล้วทำซ้ำๆ ฝึกฝนจนเป็นประสบการณ์