ลืมภาพความจำเกี่ยวกับงานออกแบบที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ หรืออยู่ไกลเกินกว่าจะสัมผัสถึง (ทั้งด้านกายภาพและสุนทรียะ) เพราะเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 หรือ Bangkok Design Week 2018 ได้ทำลายกำแพงเหล่านี้ลงอย่างเรียบเตียน พร้อมสร้างเสริมประสบการณ์ดีไซน์ให้ทุกคน
ดัวยเหตุนี้เราจึงขอคัดเลือก 10 ผลงาน (ที่ตัดสินใจยากมาก) ดีไซน์เด่น เล่นสนุก พร้อมได้รับความรู้ด้านดีไซน์ (แบบไม่ต้องใช้พลังงานพยายามทำความเข้าใจจนเหนื่อยเกินความจำเป็น) และแรงบันดาลใจให้ชีวิต เพราะชีวิตคือการออกแบบ และการออกแบบคือชีวิตเช่นเดียวกัน จนรู้ตัวอีกทีก็ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์รัวๆ
1. Hand Power
จากผลงานวิจัยด้านเทอร์โมอิเล็กทริกของ ผศ.ดร.ทัศวัลย์ คัมภีระพันธุ์ และ ดร.วรวิทย์ โกสลาทิพย์ ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สู่การดัดแปลงเป็นพัดลมที่อาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างความเย็นจากแผ่นเซรามิกและความร้อนจากฝ่ามือ ก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าจนทำให้พัดลมหมุนได้
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: Waste Side Story Pavilion by PTTGC ลานด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง
Hint: เนื่องจากส่วนนิทรรศการจัดแสดงกลางแจ้ง ทำให้แผ่นความเย็นต้องการระดับอุณหภูมิจากฝ่ามือที่สูงกว่าปกติ การถูฝ่ามือเร็วๆ ชั่วระยะเวลาสั้นๆ (เหมือนที่เราทำกันเมื่อรู้สึกหนาว) ก่อนวางลงบนแผ่นเซรามิก จะทำให้พัดลมหมุนเร็วทันที และยิ่งเพิ่มจำนวนฝ่ามือก็จะทำให้พัดลมหมุนเร็วยิ่งขึ้น
2. Blooming Tune
เมื่อ PHKA บริษัทออกแบบที่เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์ผลงานจัดวางดอกไม้ นำดอกไม้ ดนตรี และการออกแบบมารวมตัวกัน จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะอันสุนทรีย์ วงแหวนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร ประดับด้วยดอกไม้ 6 ชนิด แทนเครื่องดนตรีทั้ง 5 ได้แก่ ทรัมเป็ต ปิคโคโล ฮอร์น และแซ็กโซโฟน-คลาริเน็ต โดยห้อยแขวนไล่ระดับสูงต่ำ ตามตัวโน้ตดนตรีและช่วงเวลาการบรรเลงของบทเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 นับเป็นการผสมผสานทั้งภาพและเสียงได้อย่างสมบูรณ์แบบและลงตัว
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: อาคารไปรษณีย์กลาง
Hint: สามารถสัมผัสสุนทรียศาสตร์แห่งภาพและเสียงได้ทั้งภายนอกและภายในวงแหวน โดยจะมีจุดบอกตำแหน่งเพื่อช่วยให้รู้ตำแหน่งการหมุนของวงล้อดอกไม้ที่ตรงตามเสียงเพลงในขณะนั้น ยิ่งไปกว่านั้นผลงานนี้สามารถปรับกลไกเพื่อให้เข้ากับบทเพลงอื่นๆ ได้ด้วย
3. Love | Hate | Change BANGKOK
คุณคิดอย่างไรกับกรุงเทพฯ ‘รัก’ ‘เกลียด’ หรืออยากให้เกิดการ ‘เปลี่ยนแปลง’ อะไรบ้าง? และทำไมกรุงเทพฯ ถึงควรได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก (World Design Capital) ส่วนนิทรรศการนี้จะชวนคุณตั้งคำถาม หาคำตอบ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอความคิดเห็นต่อกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เราต่างใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในของทุกคนให้เข้าใจและเกิดมุมมองต่อความสำคัญของการออกแบบ เพราะจริงๆ แล้ว การออกแบบถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน พัฒนา ปรับ และเปลี่ยนความคิด เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนทั้งเมืองได้
Programme: Creative District Project
Pin: อาคารไปรษณีย์กลาง
Hint: เขียนความรู้สึกที่มีต่อกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ออกตัวแรงว่าขอดูแลเราทั้งชีวิต ลงบนแผ่นใส แล้วนำไปฉายใส่ผนัง เพื่อประกาศให้เป็นที่ประจักษ์แจ้ง ไม่ว่าจะ #LoveBangkok #HateBangkok หรือ #ChangeBangkok ก็ตาม
4. Dear Elders, สวัสดีตัวฉันในอนาคต
กรุงเทพฯ กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ถ้าถามถึงความพร้อม แน่นอนว่าเรายังไม่สามารถพูดตอบรับได้อย่างเต็มปาก ทั้งด้านความพร้อมในการใช้ชีวิต และด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมารองรับความต้องการของผู้สูงอายุ นิทรรศการนี้ชวนคุณมาร่วมรับมือและหาโอกาสจากสังคมผู้สูงอายุ โดยจัดแสดงผลงานในโครงการ Designing Impact Program 2017 ของกลุ่มผู้สร้างสรรค์ที่พยายามแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อผู้สูงอายุ ทำให้เราได้ทดลองเตรียมพร้อมก่อนแก่
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: TCDC กรุงเทพฯ แกลเลอรี ชั้น 1 (อาคารส่วนหลัง)
Hint: ภายในนิทรรศการจัดแสดงผลงานที่ผู้เข้าชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานทุกชิ้นได้ด้วยตัวเอง เช่น บอร์ดเกม นำไปสู่การแสดงความคิดเห็น และร่วมนำเสนอไอเดีย เพื่อเปลี่ยนอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคต
5. MR. CROC
กองทัพจระเข้เรียงรายเป็นกำแพงสีเขียวละลานตา เป็นผลงานการออกแบบน่าทะเล้นที่นำของเล่นกวนโอ๊ยมาจับคู่เข้ากับเทคโนโลยี กลายเป็น kinetic installation หรือการจัดแสดงผลงานเชิงศิลปะที่เคลื่อนไหวได้ แต่ที่ร้ายกาจและปั่นประสาทไปกว่านั้นคือ จระเข้ทุกตัวพร้อมขยับและตอบโต้คุณทุกเมื่อ สร้างความสนุกสนาน และความขำขันระดับที่คุณอาจเผลอสบถคำว่า ‘เย็-เข้!’ ออกมาแบบไม่รู้ตัว อย่างที่ Yimsamer กลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานนี้ได้เตือนไว้แล้ว
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: ห้อง MDIC ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC
Hint: ถ้าหาไม่เจอให้จินตนาการถึงเสียงขากรรไกรของจระเข้ที่กระทบกัน แล้วตามเสียงนั้นไป รับรอง หลง! เอาเป็นว่าหาให้เจอ มิเช่นนั้นคุณอาจจะต้องรู้สึกเสียดายที่พลาดประสบการณ์เข้ๆ แบบนี้ไป เราเตือนคุณแล้วนะ
6. Floating Park Project ต้นแบบสวนสาธารณะลอยน้ำ
ในเมื่อสวนสาธารณะบนบกในกรุงเทพฯ มีอย่างจำกัด การมองหาโอกาสใหม่ๆ ด้วยความคิดนอกกรอบ จึงทำให้สวนสาธารณะลอยน้ำเกิดขึ้นบนเรือขนทราย พื้นที่ภายในถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวกลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งไม้ยืนต้นสูงให้ร่มเงา ไม้พุ่ม ไม้สมุนไพรให้ความรู้ รวมทั้งพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น นิทรรศการภาพถ่าย
Programme: Creative District Project
Pin: ท่าเรือ CAT ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลังอาคารไปรษณีย์กลาง
Hint: หนึ่งในเหตุผลของสวนสาธารณะลอยน้ำ คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแม่น้ำในรูปแบบใหม่เป็นแห่งแรกของกรุงเทพฯ แต่ถ้าใครกลัวเมาเรือ เพราะกระแสของแม่น้ำทำให้เรือโครงเล็กน้อย บริเวณท่าเรือมีนิทรรศการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำ มีที่นั่งพัก ที่สำคัญมีโต๊ะปิงปองให้ประลองฝีมือด้วยระหว่างรอเพื่อนบนเรือ แต่เวลาตีลูกปิงปองต้องคอยระวังกระแสลม เพราะพัดค่อนข้างแรง
7. The Fruit(s) of Something : THINKK Studio
ยอมรับว่าเป็นนิทรรศการที่เห็นปุ๊บก็พุ่งตัวไปเกือบไม่ทัน ด้วยโทนสีสดใสละมุนละไม และงานดีไซน์แปลกใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากของใกล้ตัวธรรมดาๆ อย่าง ‘ผลไม้’ ทำให้เราได้เห็นไอเทมแปลกๆ ที่หน้าตาคล้ายมะขามหวาน สับปะรด มะม่วง กล้วย มะละกอ หรือแม้แต่เงาะโรงเรียน จนเราต้องยอมใจในความขี้เล่น สนุกสนาน และช่างสังเกตของผู้ออกแบบ
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: Warehouse 30
Hint: ลองหยิบผลไม้มาจับเล่นดูสักอันสิ (ขอแนะนำให้หยิบมะละกอ) จะเห็นว่าผู้ออกแบบสอดแทรกรายละเอียดและมุมมองไว้ได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
8. Spectrum
ผลงานศิลปะเชิงสถาปัตยกรรมสีจัดจ้านที่ตั้งเด่นอยู่หน้าหอศิลปฯ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติ ความน่าสนใจอยู่ที่การนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในหนทางที่แตกต่างไปจากเดิม โดยดึงลักษณะเด่นของพลาสติก เช่น ความโปร่งแสง ความยืดหยุ่น ความทนทาน มาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรม โดยทุกส่วนของโครงสร้างสามารถถอดแยกส่วนประกอบ พร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Hint: เนื่องจากวัสดุหลักที่เลือกใช้คือถุงพลาสติกสี สร้างความโดดเด่นและดึงดูดสายตาของผู้สัญจรโดยรอบตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ช่วงฐานของผลงานมีโครงสร้างเหล็กโค้งราบกับพื้นทำหน้าที่เป็นที่นั่งขนาดสั้นยาว ให้ผู้ชมเลือกนั่งหรือนอนเล่นได้ตามความต้องการ (แต่กลางวันแดดร้อนนะ)
9. The Wall Lighting Installation
The Wall เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่ม Lighting Designers Thailand โดยคัดสรรพื้นที่ 10 จุดในย่านชุมชนตลาดน้อย (ดูเส้นทางการเดินชมทั้ง 10 จุด ได้ ที่นี่ ) เพื่อจัดแสดงแสงไฟด้วยเทคนิคเฉพาะ เป็นการนำเสนอภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างการรับรู้พื้นที่ในแนวทางที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากเดิม และเหตุผลที่ใช้ชื่อ The Wall เพราะใช้หลักการส่องสว่างทางสถาปัตยกรรม คือการทำให้พื้นผิวแนวตั้งได้รับแสงอย่างเหมาะสม
Programme: Showcase & Exhibition
Pin: ชุมชนตลาดน้อย
Hint: เนื่องจากพื้นที่จัดแสดงแสงไฟเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัย และจัดแสดงในเวลากลางคืน (ระหว่าง 18.00-21.00 น.) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินชมด้วยความเคารพและให้เกียรติสถานที่ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนในพื้นที่ และอย่าลืมเช็กสภาพอากาศล่วงหน้า เพราะอุปสรรคเดียวที่สามารถทำเส้นทางเดินชมแสงไฟนี้ล่มได้คือฝนฟ้าคะนอง
10. กิจกรรมทดสอบต้นแบบนวัตกรรม Active Play
เพื่อส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายและความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนจินตนาการในการเล่นในวัยเด็ก (6-14 ปี) สสส. และ TCDC จึงเปิดกิจกรรมให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบต้นแบบนวัตกรรม Active Play ที่ถูกออกแบบและพัฒนาให้เอื้อต่อการเกิดกิจกรรมทางกายและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการเชิงออกแบบและการมีส่วนร่วม (Co-Create) กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ เด็ก ผู้ปกครอง ครู และชุมชนภายในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เพื่อนำผลลัพธ์ไปปรับปรุงก่อนประยุกต์ใช้จริงในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
Programme: Creative Programme
Pin: บ้านพักตำรวจน้ำ ซอยเจริญกรุง 36
Hint: มีลูกชวนลูก มีหลานชวนหลาน หรือถ้ายังไม่มีก็ไปได้ เพราะกิจกรรมทดสอบต้นแบบนวัตกรรม Active Play เปิดให้ทั้งเด็กๆ และอดีตเคยเป็นเด็กอย่างผู้ใหญ่ที่สนใจทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ผ่านการทดลองเล่น และการแสดงความคิดเห็นได้ โดยเปิดให้ร่วมกิจกรรมระหว่างเวลา 10.30-17.30 น. เท่านั้น