เชื่อว่าคุณคงผ่านตากันมาบ้างกับข่าวการตายอย่างโดดเดี่ยว (Kodokushi หรือ Lonely Dead) ของผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และคาดการณ์กันว่าภายในปี ค.ศ. 2030 การจากลาอย่างโดดเดี่ยวนี้จะมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 3 เลยด้วยซ้ำ และในอนาคตไม่ใช่ญี่ปุ่นแค่ประเทศเดียวที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะสังคมผู้สูงอายุนั้นได้เริ่มแพร่กระจายไปตามเมืองใหญ่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา
“หากกล่าวอย่างถึงที่สุด ชีวิตกับความตายเป็นของคู่กัน ความตายอยู่ในชีวิต และชีวิตก็อยู่ในความตาย เสมือนหน้ามือกับหลังมือก็มีตัวตนอยู่บนฝ่ามือเดียวกันนั่นเอง ในเมื่อเราไม่สามารถแยกชีวิตกับความตายออกจากกัน ความตายจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่เป็นเรื่อง ‘ควรเรียนรู้’ ต่างหาก”
ข้อความนี้อยู่ในหนังสือ มรณา วิชาสุดท้าย ของท่าน ว.วชิรเมธี เพื่อบอกทุกคนว่า ทุกชีวิตต้องพร้อมรับมือกับความตายตั้งแต่วันที่ลืมตาขึ้นมามองโลก
เมื่อเราเชื่อว่าชีวิตนั้นเป็นของเรา และการตายเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกเองได้ ทำไมเราถึงไม่มาเตรียมตัวเพื่อการจากลากันบ้าง ความตายอาจเป็นเรื่องน่ากลัวหรือไม่เป็นมงคลเวลาเอ่ยคำนี้ออกมา แต่เชื่อเถอะว่าการตายของมนุษย์นั้นเป็นขั้นตอนที่เราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ และถ้าเข้าใจความหมายของการ ‘ตายดี’ ได้อย่างแท้จริงแล้ว End of Life ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
Dying Well
เราจะรับมืออย่างไรถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการจากลาที่ดี รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงให้แง่คิดเรื่องการตายดีเอาไว้คร่าวๆ ว่า
“ในทางการแพทย์เองนิยามความหมายของคำว่า ‘การตายดี’ ไว้คร่าวๆ คือ ต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนการดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยที่ดี มีลำดับขั้นตอนของการดูแลทั้งร่างกาย จิตวิญญาณ รวมถึงสังคมของผู้ป่วย คนรอบข้าง นั่นก็คือญาติ และผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย”
ความตาย (Death) กับการตาย (Dying) เราต้องเข้าใจความหมายของสองคำนี้ก่อน โดยความตายนั้น ผศ. พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความหมายไว้ว่า เป็นภาวะที่ร่างกายหยุดทำงานอย่างถาวร บุคคลนั้นไม่รับรู้ต่อสิ่งรอบข้าง ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนการตายนั้นคือกระบวนการที่ร่างกายกำลังเสื่อมสภาพ ระบบต่างๆ ในร่างกายค่อยๆ หยุดทำงาน แต่ผู้ป่วยยังรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ ดังนั้น การตายจึงมีผลกระทบทั้งมุมมองในชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างมากมาย
“Palliative Care (การดูแลแบบใจต่อใจ) เป็นสิ่งที่ช่วยให้ความกลัวในเรื่องการตายเบาบางลง ถ้าเราทำความเข้าใจกันใหม่ว่าความตายเป็นแค่จุดเปลี่ยนผ่านของชีวิต ลองมองว่ายังมีเส้นให้เราเดินไปต่อ แค่เป็นจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และบางครั้งความเชื่อในศาสนาก็ช่วยให้เราผ่านจุดนี้ได้ง่ายขึ้น เช่น บางศาสนาจะบอกว่า ความตายจะพาเขาไปอยู่ในสิ่งที่ดีกว่า หรือได้กลับไปอยู่กับพระเจ้า ซึ่งจะทำให้เขามีความสุขมากกว่าเดิม” รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวเสริม
Palliative Care
“ในมุมของคนดูแลคนป่วย สิ่งที่เราคิดว่าดีมาตลอดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ช่วยต้องการจริงๆ ก็ได้” รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ให้ข้อคิดเห็น
เพราะหลักการดูแลผู้ป่วยในแบบที่เรียกว่า Palliative Care นั้น ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านของการเจ็บป่วยทางร่างกายและด้านจิตใจ ไปถึงเรื่องจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับได้ว่าการตายเป็นเรื่องธรรมชาติ
“ผู้ป่วยบางคนขอจัดงานปาร์ตี้ครั้งสุดท้าย หรือบางคนขอกินอาหารที่เขาอยากกินเป็นครั้งสุดท้าย นี่คือความต้องการทางใจของผู้ป่วย คงไม่มีใครอยากได้ยินเสียงพระสวดตอนที่ยังมีลมหายใจ
“อุปกรณ์ช่วงพยุงชีพต่างๆ ที่เราเห็นในหนังต่างๆ ทั้งเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งภาพที่เห็นคือใช้ท่อช่วยหายใจเสียบไว้ที่มุมปาก ตัวคนป่วยเองก็ดูชิลๆ นอนคุยกับเพื่อนสบายๆ แต่ในความเป็นจริง การติดตั้งเครื่องช่วยหายใจเราต้องเอาท่อนี้ใส่ลงไปในหลอดลม ลงไปถึงปอด ซึ่งในผลสำรวจจากคนไข้ที่อยู่ในห้องไอซียูบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่สุด ดังนั้น เราต้องวางแผนแล้วว่าถ้าวันหนึ่งเราเกิดเจ็บป่วยจนต้องใช้เครื่องพยุงชีวิตนี้ขึ้นมา เมื่อใช้แล้วเราจะมีโอกาสหายเป็นปกติหรือแค่ช่วยพยุงชีวิตไปวันๆ แล้วเราจะเลือกใช้หรือไม่ใช้เครื่องมือเหล่านี้” รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวถึงแนวทางขั้นต้นของการดูแลคนป่วยแบบ Palliative Care
ทำไมเราถึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวตาย ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่ได้อยู่ในวัยสูงอายุ แต่ถ้าลองดูผลการวิเคราะห์ของจำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2566 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.3 และในปี พ.ศ. 2576 จะพุ่งไปที่ร้อยละ 28.5 ซึ่งสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ จากเดิมที่คนวัยทำงานต้องดูแลคนสองกลุ่ม นั่นคือเด็กเล็กกับผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 5 ต่อ 1 หรือคนห้าคนดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุหนึ่งคน แต่ต่อไปในอนาคตสัดส่วนจะเปลี่ยนเป็น 1 ต่อ 1 นั่นคือคนวัยทำงานหนึ่งคนต้องดูแลเด็กเล็กหรือคนสูงอายุกันทุกคน นั่นยังไม่นับเรื่องของการเจ็บป่วย ที่ต้องได้รับการรักษาหรือการดูแลอย่างใกล้ชิดซึ่งจะเป็นปัญหากระทบถึงทุกคนในอนาคต
ข้อมูลจาก : National Economic and Social Development Board. Population Projections for Thailand: 2010-2040
การดูแลแบบใจต่อใจที่ดีคือการตั้งเป้าหมายในการรักษาคนไข้ระยะสุดท้าย ที่ไม่ใช่การยื้อชีวิตให้นานที่สุด แต่เป็นการดูแลให้คนไข้จากลาไปอย่างสบายที่สุด
โดยมีหลักการคร่าวๆ ดังนี้
– ไม่เร่งและไม่ยืดความตาย
– มีทีมและระบบช่วยเหลือผู้ป่วยให้ดำเนินชีวิตได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อนตาย
– ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
– ช่วยดูแลและลดอาการทางกาย เช่น ความปวดเมื่อย หรือความเหนื่อยหอบ
– ดูแลจิตใจ ความเชื่อ และช่วยลดความกังวลที่ค้างคาในใจของผู้ป่วย
– ดูแลจิตใจของญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
– หยุดให้การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์กับคนป่วย
– ไม่เอาตัวเองไปตัดสินใจเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
“ถ้าไม่กลัวตาย ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัวแล้ว” – ว.วชิรเมธี
Living Will
การเขียนพินัยกรรมเรามักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และต้องเป็นคนมีฐานะเท่านั้นที่จะเขียนได้ ชาวบ้าน มนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไป ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนพินัยกรรม แต่ถ้าลองมองดูเรื่องราวที่ไม่ไกลตัวมากนักอย่างการจากไปของ อาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซึ่งท่านไม่ได้สั่งเสียหรือทำพินัยกรรมไว้ จนเกิดเป็นความยุ่งยากในการจัดการเรื่องเงินบริจาคต่างๆ ของทางพิพิธภัณฑ์ในตอนนี้ หรือถ้าขยับเรื่องให้เข้ามาใกล้ตัวอีกนิด ลองคิดดูว่าวันหนึ่งในอนาคตเราเกิดเจ็บป่วยหนัก เช่น มะเร็งระยะลุกลาม หรือไตวายระยะสุดท้าย แม้แต่การเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันหรืออุบัติเหตุ การเขียน Living Will หรือพินัยกรรมชีวิต คือสิ่งที่ช่วยยืนยันให้เรากับทีมแพทย์ว่า เราสามารถตัดสินการรักษาของตัวเองได้
“การที่คนไข้ไปโรงพยาบาล เป้าหมายของเขาคือให้ตัวเองหายจากความเจ็บป่วย เมื่อเขารู้ว่าไม่มีทางหายแล้ว เป้าหมายก็จะเปลี่ยนไป เราต้องตั้งเป้าหมายใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกว่าขอให้จากไปอย่างไม่ทรมาน เจ็บปวดน้อยที่สุด Living Will จึงเป็นเอกสารที่รวมทั้งหมดในการให้ผู้ดูแลช่วยจัดการทุกอย่างให้เรา ในวันที่เราไม่สามารถเปล่งเสียงหรือตอบสนองทางกายภาพได้แล้ว เช่น ทรัพย์สมบัติของเราจะให้ใคร ถ้าฉันไม่อยู่แล้วจะวานใครให้ช่วยดูแลพ่อกับแม่ สุนัขหรือแมวที่เลี้ยงอยู่อยากให้ใครช่วยเอาไปเลี้ยง อยากจัดงานศพแบบไหน หรือเป็นเรื่องของการรักษา อย่างถ้าฉันหายใจไม่ได้ การใส่ท่อช่วยหายใจแล้วมีผลทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิต เราขอรับ แต่ถ้าทำไปแล้วเราไม่มีคุณภาพชีวิต เราไม่ขอรับ” พว. สุรีย์ ลี้มงคล เล่าถึงการเขียนพินัยกรรมชีวิตที่หลายคนมองข้ามและเคยคิดว่าไม่สำคัญ
แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดในเรื่องของการเขียนพินัยกรรมชีวิตว่า จะกลายเป็นสิ่งผูกมัดหรือจำกัดกรอบให้กับชีวิตของตัวเองเกินไป ซึ่งที่จริงแล้วการเขียน Living Will สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยยึดถือฉบับที่เขียนครั้งล่าสุดเท่านั้น
“คนไข้บางคนยืนยันว่าจะไม่ยอมใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ขอรับการรักษาเพื่อการประคับประคองชีวิตแบบไม่ต้องทุกข์ทรมาน แต่หลังจากนั้นสองเดือนลูกสาวของเขาท้องขึ้นมา เขาก็เปลี่ยนใจขอรับการรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนได้เสมอ แต่สุดท้ายแล้วเขาจะอยู่ได้นานแค่ไหนนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” พว. สุรีย์ กล่าวยืนยัน
“การเขียนหนังสือแสดงเจตนารมณ์ ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิตหรือ Living Will จะดีต่อเราก็เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ถ้าเขียนตอนที่ยังแข็งแรงอยู่ก็ยากที่จะนึกภาพออกว่า ควรจะใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ใส่ดีกว่า แต่เราสามารถจินตนาการว่าถ้าตัวเองอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต เราอยากจะทำอะไรบ้าง และไม่อยากทำอะไรบ้าง”