ชีวิตในแต่ละวันนอกจากต้องต่อสู้กับการทำงานที่หนักหน่วงแล้ว ไหนจะโดนพ่วงความโสดที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะหลุดออกไปได้สักที ว่าแล้วพลังใจก็ค่อยๆ ถูกดูดออกไปทีละนิด เมื่อพลังชีวิตหดหาย ก็มักจะกินอาหารไม่อร่อย หมดแรงสร้างสรรค์ หาความสุขไม่เจอ แถมสมองก็ยังคิดงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยได้มีเวลาพัก จะให้มาสนใจเรื่องอาหารการกินอย่างจริงจังคงเป็นเรื่องท้ายๆ ที่จะนึกถึง
…
シンプリシティの計画
SIMPLICITY PLANNING
ทั้งที่รู้ดีว่าการกินคือพื้นฐานของชีวิต นำความสุขมาให้เสมอเมื่อท้องอิ่ม หลายคนเข้าใจที่มาของความสุขนั้นเป็นอย่างดี แต่จะให้ถึงขั้นลุกขึ้นมาทำกับข้าวดีๆ ในแต่ละมื้อด้วยแล้ว ก็เกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับตัวเอง จึงเลือกซื้อกับข้าวสำเร็จรูป แกงถุง อาหารแช่แข็ง และหันหลังให้กับการทำอาหารอย่างสิ้นเชิง
“หลายคนมักคิดว่าการทำกับข้าวทีก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย ไหนจะต้องเตรียม ต้องเก็บล้าง เหนื่อยมาทั้งวันแล้วยังต้องทำอาหารอีก คิดว่าไม่ไหว” เคยมีคนบอกแบบนี้กับเราบ่อยๆ ซึ่งก็เถียงไม่ออกเลยว่าจริง และหลายคนในตอนนี้ก็คิดเช่นนั้น
“แต่คนเราจะได้เพลิดเพลินไปกับเมนูโปรดได้ง่ายๆ และปรับอารมณ์ให้สบายขึ้น ผ่อนคลายได้ด้วยการทำกับข้าว แม้จะเหนื่อยจากการทำงานก็ตาม” ความเห็นอีกมุมจากทางแม่บ้านญี่ปุ่นที่ยังคงทำงานนอกบ้านแต่เลือกที่จะทำกับข้าวให้ตัวเองและสามีในทุกๆ มื้อ แม้กระทั่งมื้อกลางวัน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราอยากชวนทุกคนมาตั้งลองหลักใหม่ เปลี่ยนความยุ่งยากที่เคยคิดให้กลายเป็นความเรียบง่ายที่อร่อย โดยผ่านเรื่องราวของการเตรียมอาหาร การจัดเก็บวัตถุดิบตามฤดูกาล วิธีถนอมอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งแนวคิดดีๆ ของสาวคนสองวัย
ทั้งสาวโสดวัยทำงานที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลับมาเมืองไทยก็นำเทคนิคนั้นมาปรับใช้ในชีวิต และแม่บ้านชาวไทยที่แต่งงานกับชาวญี่ปุ่นและใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นจนคุ้นชิน ซึ่งทั้งคู่ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีเก็บอาหารสไตล์ญี่ปุ่นนั้นทำง่าย สะดวกรวดเร็ว คงความสดใหม่ และคุณค่าทางโภชนาการยังอยู่ครบถ้วน แถมยังเรียกคืนความสุขเรียบง่ายที่ทำหายระหว่างการทำงานให้คืนกลับมาได้โดยไม่รู้ตัว
…
FOR THE LOVE OF FOOD
“ชาวญี่ปุ่นมักทำอาหารกินเอง และผู้หญิงญี่ปุ่นก็ทำกับข้าวเก่ง” จินนี่ สาระโกเศศ บรรณาธิการเนื้อหาของ TCDC ผู้ที่เคยใช้ชีวิตสมัยเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นคนเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง
“ที่ทำกับข้าวเก่ง เพราะในโรงเรียนจะมีวิชาคหกรรมเพื่อสอนเด็กผู้หญิงเรียนรู้วิธีทำอาหารแบบจริงจัง จนกลายเป็นวิถีที่ติดตัวเมื่อโตขึ้น อีกอย่างอาหารนอกบ้านก็แพงกว่าเยอะ อย่างข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่นอย่างต่ำจานละ 160-180 บาท แต่หากซื้อมาทำเองจะถูกมาก งบประมาณต่อ 1 หม้อราวๆ ร้อยกว่าบาท หากกินคนเดียวก็ได้ถึง 3 มื้อ แถมยังเหลือพอที่จะแบ่งกับเพื่อนกินตอนกลางวันเพื่อกระชับมิตรได้ด้วย แต่ก็ยอมรับว่าหลายคนคิดว่า การทำอาหารเองมันวุ่นวายและทำให้เหนื่อยหนักกว่าเดิม ยิ่งอยู่คนเดียวด้วยแล้วยิ่งไม่ค่อยทำ”
ซึ่งเรื่องนี้ทาง ‘โก้’ – เสาวลักษณ์ ฮิไร แม่บ้านชาวไทยที่แต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่น เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะโก้รู้ว่าราคาค่าอาหารนอกบ้านหากเทียบกับราคาต่อมื้อหรือต่อจานในเมืองไทยก็แพงกว่ากันอยู่ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจการทำอาหารกินเองมากขึ้น โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานหรือกำลังเรียนก็มักจะทำอาหารง่ายๆ เป็นมื้อเช้า จัดให้เป็นเบนโตะไว้กินมื้อกลางวัน และทำเผื่อไว้กินเป็นมื้อเย็น หรือปรับเปลี่ยนวิธีเล็กน้อยด้วยการซื้ออาหารสำเร็จรูปจากซูเปอร์มาร์เกต อย่างของทอดต่างๆ สลัดผัก มามิกซ์แอนด์แมตช์เป็นเมนูใหม่ๆ กลายเป็นความสนุกระหว่างการปรุงหลังจากที่เหนื่อยๆ มาทั้งวัน ซึ่งได้ผลชะงัก
แต่อีกมุมหนึ่ง การทำอาหารเองโดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวก็แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อการเลี้ยงลูก “ตามปกติแม่ๆ จะทำข้าวกล่องให้เด็กๆ ไปกินที่โรงเรียน พอโตมาเขาก็ทำเอง ทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคุณแม่ที่ทำข้าวกล่องให้ลูก การไม่ทำข้าวกล่องให้ลูกของชาวญี่ปุ่นนั้น สังคมอย่างสมาคมผู้ปกครองจะมองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี ไม่ดูแลลูก เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก” จินนี่กล่าวถึงเรื่องนี้ ซึ่งชวนให้ตกใจอยู่ไม่น้อย
Ingredient
Carrot
แครอต ขนาดกลาง 2 หัว
Onion
หอมหัวใหญ่ครึ่งหัว
Potato
มันฝรั่งขนาดเท่ากำมือ 3 ลูก
…
EASY COOKING
หันมาทางฝั่งของพนักงานบริษัทญี่ปุ่นที่มักจะพกข้าวกล่องไปกินเป็นมื้อกลางวัน เพราะนอกจากจะประหยัด ไม่เสียเวลาเดินออกไปต่อคิวซื้ออาหารข้างนอกแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนสูตรอาหารและเมนูอาหารกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อสานความสัมพันธ์ได้มากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ทำอาหารกินเองเท่านั้น ผู้ชายชาวญี่ปุ่นวัยทำงานก็หันมาทำอาหารเองกันมากขึ้น จนมีคำเรียกว่า ‘เบนโต คันชิ’ หรือหนุ่มข้าวกล่อง ต่อท้ายได้อย่างน่ารัก
ทั้งคู่เข้าใจเป็นอย่างดีว่า สำหรับคนไม่เคยทำ ตอนเริ่มต้นก็จะยากหน่อย แต่ทำไปสักพักหนึ่งก็คล่องขึ้น แต่หากติดเรื่องสูตรอาหาร จินนี่ก็บอกว่าที่ญี่ปุ่นมีตัวช่วยอย่าง www.cookpad.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมสูตรอาหารต่างๆ โดยให้คนมาแบ่งปันสูตรอาหารมีให้เลือกหลายหมวด หรือจะเพิ่มความสะดวกสบายขึ้นไปอีกขั้น ชาวญี่ปุ่นก็นำเทคโนโลยีหม้อหุงข้าวและหม้อเตรียมอาหารอัตโนมัติมานำเสนอ
ทางโก้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “ที่นี่จะมีหม้อหุงข้าวและหม้อเตรียมอาหารแบบตั้งเวลาได้ สมมติเราอยากให้ข้าวสุกตอนเช้าหลังจากที่เราตื่น ก็ใส่ข้าวใส่น้ำทิ้งไว้เลย กดปุ่มตั้งเวลา เช้ามาข้าวร้อนๆ ก็พร้อมเสิร์ฟ แต่โดยส่วนตัวกำลังขอหม้อเตรียมอาหารจากสามี เพราะสะดวกมาก แค่เราใส่วัตถุดิบต่างๆ ลงไป กดปุ่มตั้งเวลา เช้ามาก็พร้อมเสิร์ฟ เรียกได้ว่าเป็นของที่ต้องมี” (หัวเราะ)
…
PACK AND GO
ไฮไลต์สำคัญของก่อนปรุงอาหารจนเสร็จอยู่ที่ขั้นตอนการเตรียมอาหารที่ทำให้เป็นเรื่องง่าย โดยชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้การแช่แข็งเป็นหลัก ซึ่งโก้ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เริ่มจากคิดเมนูว่าจะทำอะไร มีส่วนผสมและเครื่องปรุงอะไรบ้าง เมื่อได้เมนูก็จัดการล้างวัตถุดิบให้สะอาด แบ่งส่วนผสมต่างๆ ออกเป็นมื้อๆ หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ แล้วนำทุกอย่าง รวมทั้งเครื่องปรุงที่ตวงเรียบร้อยผสมในถุงซิปล็อก ไล่อากาศออกให้หมด ปิดซิป แล้วเขียนจำนวนมื้อ วันที่เก็บ และรายละเอียดต่างๆ ของเมนูนี้ไว้บนหน้าซอง ก่อนแช่ช่องฟรีซ
“หรือจะแยกเป็นหมวดหมู่ตามชนิดของผัก เพื่อไว้ปรุงเมนูเดียวกันแต่เปลี่ยนชนิดของผักก็ได้ แต่ก่อนที่ใส่ถุงซิปล็อก การเก็บผัก ผลไม้ หรือ เนื้อสัตว์แบบไม่มีเครื่องปรุง ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตามที่ต้องการใช้ แล้วห่อด้วยพลาสติกหุ้มอาหาร ก่อนใส่ถุงซิปล็อกอีกชั้น
“หลายคนเพิ่มความสะดวกด้วยการปรุงให้เสร็จแล้วใส่กล่องทำเป็นเบนโตะแช่แข็ง พอตื่นเข้าก็หยิบหนึ่งถุงออกมาละลายน้ำแข็ง แล้วก็อุ่นให้ร้อน หรือปรุงให้สุกด้วยการต้มหรือย่างก็ได้ เราก็จะได้อาหารที่สดใหม่ แถมยังลดระยะเวลาในการปรุงอาหารทำให้ตอนเช้าไม่ต้องรีบจนไปเกินไป หรือหลายๆ คนทำข้าวกล่องเอาไว้ ตอนเช้าก็นำออกจากช่องฟรีซโดยไม่ต้องละลายก่อน เมื่อถึงมื้อกลางวันความเย็นก็จะคืนตัว พร้อมกินได้ทันที หรืออุ่นในไมโครเวฟก็ได้”
“ที่สำคัญ การแพ็กอาหารของชาวญี่ปุ่นจะใส่ใจเรื่องโภชนาการ ในหนึ่งเมนูจะต้องมีทั้งข้าว ผัก และเนื้อสัตว์ให้ครบ 5 หมู่ และใส่ใจเรื่องสุขภาพด้วย เช่น หากมื้อเช้ากินของทอดไปแล้ว มื้อเย็นก็จะกินของต้ม” จินนี่เสริม
จริงๆ แล้ววิธีแช่แข็งอาหารไม่เพียงแค่ทำให้การเตรียมอาหารเป็นเรื่องง่าย โดยยังคงคุณค่าทางสารอาหารเท่านั้น แต่ยังทำให้เมนูนั้นๆ อร่อยมากยิ่งขึ้น เพราะเครื่องปรุงที่ใส่ลงไปด้วยจะค่อยๆ ซึมเข้าไปในส่วนผสม ทำให้รสชาติอร่อย ยิ่งบางเมนูเติมสาเกนิดๆ ลงไป ก็จะทำให้เนื้อสัตว์นั้นนุ่มและอร่อยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการแช่งแข็งยังทำให้ยืดอายุของอาหารได้นานขึ้น บางเมนูอยู่ได้ 2 สัปดาห์หรือมากกว่า 1 เดือน นั่นเท่ากับว่าหากอดทนเตรียมแพ็กอาหารในวันหยุดเพียงหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะมีสต็อกกับข้าวให้กินได้นานเกือบเดือน
…
FOOD PRESERVATION
“ชาวญี่ปุ่นจะใช้ดองผักเพื่อถนอมอาหารและกินเพื่อสุขภาพ” โก้เปรยขึ้นหลังจากที่คุยยาวไปถึงเรื่องแกงกะหรี่สามเวลาที่เธอมักจะทำให้สามีในช่วงเวลาที่งานเยอะ จนแทบไม่มีเวลาทำกับข้าว โดยมีเครื่องเคียงสำคัญอย่างผักดอง ซึ่งเป็นวิธีการเก็บอาหารเผื่ออนาคตอย่างหนึ่ง
“การดองจะใช้ผักหลายชนิด และดองด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง เช่น อุเมะโบฉิ (umeboshi) หรือบ๊วยดอง ส่วนใหญ่ทำเป็นไส้โอนิกิริ (ข้าวปั้น) หรือผักดองที่นิยมกินคู่กับแกงกะหรี่อย่าง รักเกียว (rakkyo) ผักตระกูลหอม จะตัดเฉพาะส่วนขาวๆ นำไปดองกับน้ำส้มสายชูญี่ปุ่นที่ทำมาจากข้าว เติมเกลือและน้ำตาลนิดหน่อย สรรพคุณนั้นจะดีต่อลำไส้และช่วยขับสารพิษ หรือผักดองที่ชาวญี่ปุ่นชอบมากๆ อย่างทะคุอัน (takuan) หรือหัวไชเท้าญี่ปุ่นดองเกลือน้ำตาลและรำข้าว จนได้สีเหลืองสดใส รสชาติหวาน กรุบกรอบ ดองแค่ชั่วโมงเดียวก็กินได้แล้ว
“แบบง่ายสุดก็มีดองไม่กี่นาทีก็กินได้ อย่างคิวริ อะซะซึเคะ (kyuri asazuke) แตงกวาดองเกลือ แต่ที่สุดแห่งความอร่อยคือ ผักดองรำข้าว ส่วนใหญ่จะใช้แครอต หัวไชเท้า หรือแตงกวา ดองไว้ในไหรำข้าว แต่ต้องขยันนวดรำข้าวทุกวัน แม้กลิ่นจะแรงมาก แต่เมื่อดองได้ที่ก็จะอร่อยมาก ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดมีขายแบบสำเร็จรูป ไม่ถึงขนาดต้องทำเองทุกอย่างก็ได้ เพราะเราลองแล้ว… ไม่รอด” เธอเล่าความลับนี้ให้ฟังพร้อมกับหัวเราะออกมา
…
TASTE FOR THE SOUL
“อะไรก็ตามที่ได้ทำขึ้นมาเอง ทุกอย่างล้วนสร้างความภาคภูมิใจ” จินนี่ให้ความเห็นหลังจากที่เราถามไปว่า ในเมื่อซื้ออาหารกินเองได้ ไม่ต้องทำให้เสียเวลา แล้วทำไมจึงต้องให้ความสำคัญถึงเพียงนี้
“แม้เราอยู่คนเดียวก็จริง กินอะไรก็ได้ก็จริง แต่เรายังเลือกที่จะทำอาหารกินเองเหมือนตอนอยู่ญี่ปุ่น เรามองว่า อาหารตามสั่งนอกบ้าน เราควบคุมคุณภาพและความใส่ใจได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าทำเองเราจะรู้ดีว่าเราใส่อะไร เราเลือกอะไรให้กับตัวเอง อีกมุมหนึ่งการทำอาหารยังทำให้เรามีระเบียบมากขึ้น เหมือนเราต้องจัดลำดับชีวิตอยู่เสมอ ว่าวันไหนต้องทำอะไร ช่วยให้เรามีสมาธิ และได้ใช้เวลาอยู่บ้าน ได้อยู่กับตัวเองและมีเวลามากพอที่จะทบทวนตัวเองได้ดี”
การเตรียมอาหารและการปรุงอาหารคงไม่ต่างจากคำว่า อิคิไก หรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ของชาวญี่ปุ่น อยู่โดยรู้ว่าตัวเองมีจุดมุ่งหมายสักอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าอยากตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้า ในกรณีนี้ก็เช่นกัน การที่คนเราได้เตรียมอาหารในตอนเย็น ตื่นเช้าขึ้นมาได้กินอาหารฝีมือตัวเอง สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี เป็นการรักตัวเอง และย้ำว่าดูแลตัวเอง รวมทั้งมีความสุขได้แม้ในวันที่เหนื่อยล้าเหลือเกิน
“เราตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อให้ออกมาเป็นกับข้าวที่อร่อย เพื่อบอกเขาเป็นนัยๆ ว่า ฉันอาจจะช่วยเรื่องงานของคุณไม่ได้ แต่เราช่วยให้คุณอิ่มท้อง และทำให้คุณมีความสุขได้ด้วยอาหารของฉัน เพื่อเป็นพลังดีๆ ต่อไปในทุกๆ วัน” คำทิ้งท้ายที่โก้ได้ฝากไว้ก่อนจบการสนทนาผ่านการคอลไลน์ข้ามประเทศ
…
FYI
จินนี่ สาระโกเศศ จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการเนื้อหาของ TCDC เคยเป็นนักเขียนและนักแปลหนังสือขายดีหลายเล่ม ตอนนี้จินนี่มีความสุขกับการทำอาหารและขนมทานเอง และยังพยายามปลูกต้นไม้จากเมล็ดผักและผลไม้ที่เหลือจากการทำอาหารและขนมด้วย
เสาวลักษณ์ ฮิไร แม่บ้านชาวไทยที่แต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่น และย้ายมาอยู่ที่จังหวัดโทจิงิ ประเทศญี่ปุ่น กว่า 14 ปี ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับชาวญี่ปุ่นที่ต้องการไปทำงานที่เมืองไทย และทำงานพาร์ตไทม์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ