Mental Wellness Month ทบทวน ตรวจสอบ ยอมรับ ภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลายและงดงามของชีวิต

        หัวใจของคุณเป็นอย่างไรกันบ้างในช่วงที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่คำถามที่อยากรู้เรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพจิตของคุณและคนรอบตัว

        องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความ ‘การดูแลสุขภาพจิต’ ไว้ว่า “สุขภาวะที่ดีซึ่งตัวบุคคลได้ตระหนักถึงความสามารถของตนเอง ที่จะรับมือกับความเครียดตามปกติที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเอื้อเฟื้อช่วยเหลือชุมชนของตนเองได้”

แล้วทำไม Mental Wellness Month ถึงต้องเป็นเดือนมกราคม?

        รู้ไหมว่า? หลายเว็บไซต์ที่เป็นองค์กรเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิตต่างยกให้เดือนมกราคมเป็น National Mental Wellness Month เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 ก็เพราะว่าเป็นช่วงเวลาหลังจากผ่านพ้นเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีไปได้ไม่นาน หลายคนอาจกำลังอยู่ในภาวะเศร้าซึมหลังวันหยุดจบลง (post-holiday blues) เมื่อต้องเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง อาจทำให้รู้สึกช็อตฟีลอยู่ไม่น้อย จนบางทีก็ปรับอารมณ์กันไม่ทัน

        เนื่องจากสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาที่คนให้ความสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหนังสือแนะนำการใช้ชีวิตให้ช้าลงและปรับสมดุลระหว่างงานและรับมือชีวิตส่วนตัวทยอยออกมาปลอบประโลมหล่อเลี้ยงเราไว้ในช่วงเวลาที่ต้องการพลังใจ

        จากข้อมูลของ National Alliance on Mental Illness ในสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คน คิดเป็นจำนวนกว่า 43.8 ล้านคน ที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตอยู่ตอนนี้ สำหรับในประเทศไทยข้อมูลรายงานการเข้าถึงบริการโรคซึมเศร้า จาก HDC ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในทุกจังหวัดมีจำนวนรวมกัน 1,259,463 ราย

สุขได้เมื่อช้าลงตามแนวคิด ‘ฮุกกะ’ ฉบับเดนมาร์ก

        จากสายหน้าไมค์ รายการวิทยุชื่อดัง พุธทอล์คพุธโทร ที่มี น้องวัย 19 โทรเข้ามารอคำปรึกษากับพี่ๆ ดีเจในรายการ โดยรู้สึกว่า “ชีวิตนี้ไร้จุดหมาย ไม่ได้อยากตาย แต่ก็ไม่ได้อยากอยู่ต่อ หนูจึงอยากรู้ เป้าหมายการใช้ชีวิตของทุกคนคืออะไรคะ?” โดยทั้งสามดีเจก็ได้ให้คำตอบพร้อมทั้งกำลังใจส่งกลับไปให้น้องคนนี้ ด้วยการตั้งเป้าหมายระยะสั้นๆ และหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตแต่ละวันให้เจอ 

        หนึ่งในคำแนะนำกล่าวว่า “การไม่ได้มีชีวิตหรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม หรือกินอาหารแพงๆ ถึงแปลว่าชีวิตประสบความสำเร็จ การใช้ชีวิตเรียบง่ายนั้นก็มีความงดงามในตัวเอง” 

        ซึ่งสามารถอธิบายผ่านปรัญชา ‘Hygge’ ซึ่งเป็นเป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของชาวเดนมาร์กที่ถูกคิดค้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เชิญชวนให้คนได้พักผ่อน และรักษาร่างกายจิตใจของตัวเอง คำว่า hygge ออกเสียงได้ว่า ‘hue-gah’ หรือ ‘ hoo-guh’  และไม่ได้มีความหมายตรงตัวในภาษาอังกฤษ แต่รากศัพท์มาจากคำว่า hug หรือกอด โดยมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกมีความสุข อบอุ่น ผ่อนคลาย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เปรียบเสมือนการได้นอนอยู่ใต้ผ้าห่มอุ่นๆ ในฤดูหนาว โดยแนวคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอย่าง และถูกแพร่หลายไปทั่วโลก 

        เราสามารถเห็นได้จากผลสำรวจความสุขจากทุกประเทศในปี 2019 – 2021 จาก ‘World Happiness Report’ พบว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่คนมีความสุขเป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่น่าแปลกที่แนวคิดนี้จะถูกใช้ไปทั่วโลก ถือว่าเป็นแนวคิดเก่าแก่ที่ยังใช้ได้ในปัจจุบัน   

        การใช้ชีวิตแบบ Hygge ของชาวเดนมาร์กสามารถหาอ่านได้โดยละเอียดใน ‘The Little Book of Hygge’ เขียนโดย Meik Wiking ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งเดนมาร์ก ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า  ‘คุณไม่สามารถที่จะ hyyge ได้ถ้าคุณยังทำอะไรแบบรีบๆ’ จากข้อความนี้เห็นได้ว่า การที่เราจะรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขได้ เราต้องทำอย่างช้าๆ และปล่อยให้ร่างกายได้พักแบบไม่รีบร้อน เพราะเมื่อเราทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบ เราอาจจะลืมใส่ใจในรายละเอียดของการกระทำที่ส่งผลให้เรามีความสุขก็ได้

        ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ Hygge คือช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงที่เหมาะกับการทำให้ตัวเองรู้สึกอบอุ่นได้ง่าย  เพียงแค่สร้างบรรยากาศที่ดีด้วยการจุดเทียนหอม ห่มผ้าอุ่นๆ กอดตุ๊กตาตัวโปรด และดื่มนมร้อน เราก็สามารถมีความสุขอย่างง่ายดาย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถมีความสุขได้กับทุกสภาพอากาศ อย่างอากาศที่ร้อนอบอ้าว เราก็สามารถมีความสุขจากการไปทะเล หรือแค่ทานไอศครีม เพียงแค่นี้เราก็สนุกไปกับมันได้แล้ว เราแค่ต้องเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรามีความสุขก็พอ

รดน้ำให้หัวใจกันและกัน

        หนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีเสมอมาในการจัดการกับความรู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้าเหล่านี้ก็คือการพูดคุยและระบายความขุ่นข้องหมองใจนี้ออกมา ไม่ว่าจะกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือต้องรับคำปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม เพื่อที่จะได้เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองที่เราเองค้นไม่เจอ เพราะเมื่อมีความกังวลใจปกคลุมอยู่บางทีก็เหมือนเป็นหมอกบังตาจนทำให้มองไม่เห็นทางออก

        การหมั่นเติมพลังให้กับการดูแลสุขภาพจิตอยู่เสมอ จะช่วยให้รู้เท่าทันและรับมือกับเรื่องเหล่านั้นได้ดีขึ้นไม่ว่าจะมีสถานการณ์ใดๆ เข้ามาปะทะกับคุณ รวมถึงถ้ามีกำลังใจพอที่ช่วยฉุดคนใกล้ตัวที่กำลังอยู่ในมรสุมชีวิตขึ้นมาก็เป็นการดูแลหัวใจของกันและกัน 

        ในส่วนมุมมองจากกลุ่ม Peaceful Death ที่ทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและได้เห็นความทุกข์ของผู้ดูแลผู้ป่วย (ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลหลัก หรือผู้ดูแลมือรอง) มองเรื่องการรับมือปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นที่สามารถนำไปปรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตของเราเอง ไว้ดังนี้

  1. ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร ปลอดภัย วางใจได้ ระหว่างตัวเราและคนรอบตัว เป็นปัจจัยช่วยลดความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิต เป็นทรัพยากรสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตที่สำคัญ การหมั่นบำรุงให้ตัวเราและคนรอบตัวมีความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การให้การยอมรับ การแบ่งปันพื้นที่รับฟัง การให้ความเห็นอกเห็นใจ การแสดงความรัก ช่วยให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดนี้เข้มแข็ง ช่วยดูดซับความทุกข์ในชีวิตประจำวัน และช่วยให้รับมือความยากลำบากใหญ่ๆ ได้ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างตัวเรากับคนใกล้ชิดอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัว หรือความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่อาจเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน หรือคนอื่นๆ ที่เรารู้สึกไว้วางใจก็ได้
  2. การเชื่อมโยงสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างตัวเรากับตัวเราเอง (เข้าใจตัวเอง นั่งเงียบๆ อยู่กับตัวเองได้ การรู้สึกตัว รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย) การเชื่อมโยงตัวเรากับผู้อื่น กับธรรมชาติ กับการงานที่มีความหมาย เป็นปัจจัยส่งเสริมสุขภาพจิตเช่นกัน
  3. การมองปัญหาสุขภาพจิตในมิติอื่นๆ นอกจากความทุกข์ ก็เป็นเรื่องจำเป็น เช่น
  • มองว่าความทุกข์ใจเป็นเรื่องปกติของชีวิตหรือสังคมที่เสียสมดุล
  • ปัญหาสุขภาพจิตเป็นสัญญาณเตือนให้เราเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิต เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์
  • มองว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นบทเรียนที่ช่วยให้เติบโต ตระเตรียมกับความทุกข์ระลอกอื่นๆ
  • การมองว่าปัญหาสุขภาพจิตก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ คือ เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ถ้าเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป
  1. เป็นสิ่งถูกต้องดีงาม ถ้าเราจะแสวงหาหรือร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อลดปัญหาสุขภาพจิต เพราะการขอความช่วยเหลือ ช่วยให้เรามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในการดูแลมากขึ้น ช่วยบอกคนรอบข้างว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติเกิดขึ้นกับเรา การร้องขอความช่วยเหลือไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ แต่คือการดูแลตัวเอง ให้โอกาสสิ่งที่ดีกว่าแก่ตัวเอง เมื่อเราเข้มแข็งแล้ว จะได้ดูแลผู้อื่นได้ดีและพร้อมมากขึ้น
  2. เราทุกคนคือผู้ดูแลปัญหาสุขภาพจิตของคนรอบข้าง ลำพังนักบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยาไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต แต่ต้องอาศัยคนทุกคนที่มีความรู้ ทักษะ และความพร้อมที่จะดูแล เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักบำบัดก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ใจได้ กิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นคือ การให้ความเป็นมิตร การรับฟังอย่างใส่ใจ การให้กำลังใจ การอยู่เป็นเพื่อน การถามไถ่ทุกข์สุข การกินข้าวด้วยกัน การพูดชื่นชมขอบคุณ เป็นต้น

ใจดีต่อตัวเองเพื่อเอื้อเฟื้อต่อสังคม

        “การดูแลตัวเองหรือการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน หมายถึงการที่เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นและรู้จักวิธีที่จะดูแลตามสภาวะความรู้สึกและความต้องการเพื่อตอบให้ได้ว่าทุกวันที่เรากำลังทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้านี้เพื่ออะไร มันมีความหมายอะไรกับชีวิตเรา ตอบโจทย์เป้าหมายของชีวิตเราอย่างไรบ้าง เพื่อให้แต่ละคนเข้าใจความหมายของการดำรงอยู่ มองเห็นคุณค่าชีวิตของตัวเอง นั่นก็เพื่อให้มองเห็นว่าสิ่งที่จะต้องทำต่อไปนั้นต้องเริ่มจากอะไร ซึ่งจะส่งผลต่อการดูแลผู้อื่นได้ดีขึ้นและในขณะเดียวก็ช่วยให้ใจดีกับตัวเองทำให้การดูแลคนอื่นนั้นยั่งยืนมากขึ้น” 

        Soul School Society กลุ่มคนจากหลากหลายแบ็กกราวนด์ทั้งในด้านศิลปะ การออกแบบ นวัตกรรม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นพัฒนาคนเบื้องหลังที่พลักดันด้านการขับเคลื่อนสังคมและเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ตอบคำถามถึงการพัฒนาตนเองด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในนั้นสำคัญและเป็นประโยชน์ในระดับบุคคลและสังคมอย่างไร? โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า

        “การดูแลตัวเองและการดูแลสังคมควรจะเดินไปคู่กัน ด้วยทฤษฎีที่เชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราได้รับการดูแลอย่างเต็มที่แล้ว โดยไม่รอให้ใครมาดูแล แม้ว่าที่จริงแล้วกลไกของรัฐมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือในระดับปัจเจก แต่การคาดหวังให้รัฐช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะรัฐตั้งอยู่ได้ก็ด้วยองค์ประกอบของบุคคลในระดับปัจเจก แต่ละคนจึงต้องมีความสามารถที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ตัวเองทำได้ด้วยเช่นกัน”

        “สังคมจะดีได้ก็ต่อเมื่อทุกคนนั้นแข็งแรง เพื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมวงกว้างกว่าพื้นที่ที่เราอยู่ได้ เมื่อแต่ละคนในแต่ละพื้นที่ ชุมชน แต่ละบริบทนั้นแข็งแรงด้วยตัวเองแล้ว การสื่อสารและการขับเคลื่อนก็จะยิ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ติดขัด” 

        สำหรับใครที่มีความวิตกกังวลหรืออยากรู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะอารมณ์ระดับใด สามารถประเมินด้วยแบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ 55 ข้อ จากกรมสุขภาพจิตได้ที่เว็บไซต์ https://dmh.go.th/test/thaihapnew/asheet.asp?qid=1 

        นอกเหนือไปจากนั้น หลายๆ งานวิจัยเปิดเผยว่า สุขภาพจิตของเรามีความเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน มีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ในทางตรงกันข้ามผู้ที่มีสุขภาพจิตดี (รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ) ก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายและภาวะร้ายแรงอื่นๆ ได้เช่นกัน นั้นก็เพราะการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงจะช่วยในเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการโรคต่างๆ ดังคำกล่าวที่ว่า

 

‘A Sound mind in a Sound Body’ 

จิตใจที่ดีย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์

 

ที่มา