ตูน

ตูน บอดี้สแลม | แรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ จากการก้าวไปในระยะทางที่ไกลกว่าเดิม

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับ ตูน’ – อาทิวราห์ คงมาลัย ในบรรยากาศที่แปลกออกไปสักหน่อย ซึ่งครั้งนี้บทสนทนาทั้งหมดล้วนเป็นอีกมิติของชีวิตเขาซึ่งไม่มีเรื่องของดนตรีมาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราคุยกันเป็นเรื่องของ ‘การวิ่ง’ การวิ่งที่เขาไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเอง หรือว่าวิ่งเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุดเพื่อเอาชนะใคร แต่เป็นการวิ่ง เป็นเวลา 10 วัน บนระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ไปยังอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เพื่อระดมทุนนำเงินไปช่วยเหลือโรงพยาบาล

     ซึ่งเขาก็บอกกับเราตรงๆ ว่า การวิ่งครั้งนี้มันฟังดูเกินจริงไปหน่อย แต่ที่ต้องทำแบบนั้นเพราะเขาเองอยากจะสื่อสารถึง ‘ปัญหา’ ที่มันต้องการการแก้ไขที่เกินจริงอยู่ในขณะนี้ “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ หรือสิ่งที่เราต้องการแก้ไขปัญหามันเป็นสิ่งที่ดูเกินจริง การที่เราจะวิ่ง 400 กิโลเมตร ตรงนี้ผมว่ามันสอดคล้องกัน คือมันก็ดูเกินจริงมากเลยกับปัญหาที่เราต้องการเข้าไปเยียวยา”

     เรานึกถึงภาพของ ทอม แฮงก์ส ในภาพยนตร์ Forrest Gump ที่กำลังวิ่งข้ามทะเลทรายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภาพยนตร์ การวิ่งของฟอร์เรสต์ได้เปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆ คนไป เราคิดว่า การวิ่งครั้งนี้ของตูนก็คงเหมือนกัน วันที่ผู้ชายคนนี้เริ่ม ‘ก้าว’ คงจะมีแรงกระเพื่อมที่จะทำให้อะไรบ้างอย่างเกิดขึ้น

     จนมาถึงปีนี้ที่ตูนได้ออกวิ่งอีกครั้ง ด้วยระยะทางที่ยาวไกลกว่าเดิม โดยจะวิ่งจากใต้สุดของประเทศไปสู่เขตเหนือสุดของประเทศ คือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางกว่า 2,191 กม. ในโครงการ ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. – 25 ธ.ค. (55 วัน) เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทยที่ขาดแคลนอุปกรณ์

     เราจึงอยากชวนคุณมาย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ที่ตูน เคยแสดงถึงปณิธานอันมุ่งมั่นของเขาไว้ในนิตยสารของเรา อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ a day BULLETIN issue 455

 

ตูน

เราจะใช้การวิ่งนี้ สื่อสารปัญหาที่มีอยู่ให้กับคนได้รับรู้ในวงกว้างที่สุด ไม่ต้องไปถึงเร็วที่สุด ไม่ต้องแข่งกัน แต่สาระคือเราใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือในการบอกกล่าว ส่งสารออกไปว่าตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือและขาดแคลน

 

การวิ่งครั้งนี้มันมีความหมายอะไร มากกว่าเป็นอีเวนต์หนึ่งในการระดมทุนหรือเปล่า?

     เราจะใช้การวิ่งนี้สื่อสารปัญหาที่มีอยู่ให้คนได้รับรู้ในวงกว้างที่สุด สาระไม่ได้อยู่ที่ระยะทาง ไม่ต้องไปถึงเร็วที่สุด ไม่ต้องแข่งกัน แต่สาระคือเราใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือในการบอกกล่าว ส่งสารออกไปว่าตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือและขาดแคลน อยากให้คนแบบเราๆ ที่ไม่ได้มีเงินเยอะพอที่จะบริจาคได้เป็นแสนเป็นล้านเหมือนคนอื่นได้รับรู้กันเยอะๆ ก่อนอื่นต้องรับรู้ก่อนว่ามีปัญหา

     เพราะคนไทยเราจะชินตากับโรงพยาบาลรัฐฯ โรงพยาบาลประจำจังหวัดและอำเภอ ที่เวลาคนไปใช้บริการต้องต่อคิวกันเยอะๆ ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า คนเฒ่าคนแก่ เด็กน้อย ไปรอตั้งแต่เช้า จนบ่ายโมง ถึงเย็น อยู่โรงพยาบาลกันทั้งวัน คือเราจะชินตากัน และมักจะคิดว่าคนที่มีความรับผิดชอบเรื่องพวกนี้คงช่วยกันเต็มที่อยู่แล้ว คนที่บริจาคก็คงเข้าไปอุดรูรั่วตรงนี้ได้อยู่แล้ว มันถึงไม่มีเสียงที่พูดปัญหาเหล่านี้ออกมาบอกให้เราช่วยกัน ทุกคนก็ต่างคิดว่ามีคนดูแลอยู่ตรงนั้นพอแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม


แล้วทำไมต้องวิ่ง
ในขณะที่คุณเองอยู่ในจุดที่เลือกได้และมีทางอื่นอยู่อีกตั้งเยอะ จัดคอนเสิร์ต เล่นดนตรี ทำอะไรที่ไม่ต้องเปลืองแรงขนาดนี้

     จุดประสงค์แรกของคุณหมอคือต้องการให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย ซึ่งเราก็วิ่งอยู่แล้ว และผมชอบอย่างหนึ่งมากเลย ทุกวันนี้ผมซ้อมวิ่งในหมู่บ้าน ภาพที่เห็นคือเวลาที่ผมออกไปวิ่งก็จะมีพี่ๆ จากบ้านหลังอื่นๆ ออกมาวิ่งตาม ทั้งที่เขาไม่เคยวิ่งมาก่อน ก็มาให้กำลังใจผม ผมชอบความรู้สึกนี้ เราไม่ได้วิ่งเก่งกาจอะไร แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้คนลุกออกมาจากบ้าน ออกมาจากโซฟาหน้าทีวีได้ ออกมาวิ่งกับเรารอบสองรอบ บางคนก็วิ่งกับเราเป็นสิบรอบ เพราะเวลาผมซ้อมวิ่ง ผมซ้อมประมาณ 20 กว่ารอบ รอบหนึ่งประมาณ 1 กิโลเมตร

     ผมรู้สึกว่ามันเพิ่มมิติของผมด้วย จากแค่ร้องเพลง จัดคอนเสิร์ต ผมเองก็ทำมาหมดแล้ว และตรงนั้นมันก็ไม่บันดาลใจให้คนมาออกกำลังกายอย่างที่คุณหมอต้องการ ซึ่งผมก็เป็นคนที่ชอบกีฬามากอยู่แล้ว ความสนใจของผมนะ ถ้าให้แบ่งออกมาเป็น 100% ดนตรีกับกีฬามาอย่างละ 50% เลย เพราะตอนเด็กๆ ผมก็เป็นนักกีฬาฟุตบอลที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักกีฬาปิงปองที่จังหวัดสุพรรณบุรี คือก็เล่นกีฬามาตลอดชีวิตอยู่แล้ว เป็นอีกมุมหนึ่งที่ชอบ และสามารถสื่อสารผ่านตัวเองได้ ถ้าเราทำแล้วมันบันดาลใจให้คนได้จริงๆ ก็อยากจะทำ


ถามหน่อยว่าทำไมถึงต้องเป็น
400 กิโลเมตร จริงๆ วิ่งแค่ 100 หรือ 200 กิโลเมตร มันก็ดึงความสนใจคนได้แล้ว

     ไม่ๆ (ส่ายหัว) เนื่องจากเราต้องการสื่อสารในปัญหาความขาดแคลนตรงนี้ ให้คนหันมาเห็นเยอะๆ ซึ่งปัญหานี้มันไม่ได้โครมครามหรือเสียงดังมากจนเรียกคนให้มาช่วยได้ในทีเดียว ปัญหานี้เป็นเหมือนปัญหารายวัน ยิบย่อย ที่ไม่มีใครเอามากองรวมกันให้คนได้เห็นในคราวเดียว แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่ ในระหว่างที่เราคุยกันก็มีเด็กๆ ที่ต้องแชร์เครื่องอบตัว ที่โรงพยาบาลบางสะพานมีเครื่องที่ว่าอยู่เครื่องเดียว แต่มีเด็กตัวเหลืองต้องการใช้เครื่องอบ 3-4 คนตลอดเวลา หรือเครื่องฟอกไตที่ไม่พร้อม ในขณะที่เราคุยกันก็มีคนรอคิวอยู่ ผมต้องการให้คนได้รู้เยอะๆ

     บางทีเราเห็นคนที่บริจาคเยอะๆ เราอยากทำอย่างนั้นบ้าง แต่เราไม่มีเยอะแบบเขา บริจาคไม่ได้เป็นแสนเป็นล้านแบบเขา แต่เรามีจำนวนคน งานนี้เราอยากให้เป็นเรื่องของจำนวนคน คนยิ่งรู้เยอะยิ่งบริจาคกันคนละเล็กละน้อย สมมติถ้ามีคนรู้ล้านคน บริจาคกันมาคนละ 5 บาท ก็ 5 ล้านแล้ว คนละ 10 บาท ก็ 10 ล้านแล้ว เพื่อการสื่อสารมันเลยต้องการการวิ่งที่ดูเกินจริงนิดหนึ่ง ถ้าเราจัดงานวิ่งการกุศลในสวนลุมพินี 4 รอบ เรียกคนมาได้รอบละ 300 คน วิ่งแจกเสื้อแจกเหรียญ เราดูเขาทำมาหมดแล้ว ซึ่งก็ดูเป็นปัญหารายวันที่โอเค เธอมีปัญหาที่นั่น ฉันมาช่วยแล้ว คนรู้ก็ประมาณหนึ่ง ออกมาช่วยแล้วไง สุดท้ายก็ลืมไม่ได้ถูกบอกต่อ

 

ตูน

 

คือคุณเชื่อในการส่งข้อความออกไปในวงกว้าง เพื่อหวังแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่าปัญหารายวันอย่างนั้นใช่ไหม?

     ผมไม่รู้ว่าศัพท์วิชาการเรียกว่าอะไร แต่รู้ว่าเราอยากใช้โอกาสนี้กระจายปัญหาออกไปให้กว้างที่สุด ผมว่านี่มันเป็นปัญหาของพวกเราทุกคนนะ ญาติเราบางคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะต้องไปรอคิวโรงพยาบาลรัฐฯ อาจต้องการเครื่องมือบางอันเพื่อช่วยชีวิตเขา บางคนอาจจะคิดว่า จริงเหรอที่เงิน 10 บาท จะช่วยคนได้ ซึ่งผมบอกได้เลยว่ามันมีคุณค่า มีความหมายมาก

 

สิ่งที่ยากที่สุดในภารกิจครั้งนี้คืออะไร?

     ไม่ยาก มันไม่ยากเลย ยากสุดอาจจะเป็นเรื่องของการวิ่งที่จะต้องจบให้ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องวิ่ง มันก็อยู่ที่การฟิตซ้อมแล้วว่าเราจะออกแบบยังไงให้มันจบ 400 กิโล ได้ใน 10 วัน ซึ่งตรงนี้ก็มีคนมาซัพพอร์ต มีคนมาช่วยดูแลเยอะ คุณหมอตรวจร่างกาย ให้ความเห็น ออกแบบการซ้อม นักกายภาพมาช่วย นักกีฬาที่มีประสบการณ์ในการวิ่งระยะนี้ก็จะมาช่วยเราออกแบบการซ้อม ช่วยซัพพอร์ตเราในการวิ่งจริงๆ

     มีคุณหมอที่มีประสบการณ์จริงๆ วิ่งตามเราทุกก้าว สมมติเราวิ่งแล้วล้มฟุบไป เหมือนนักบอลพรีเมียร์ลีกที่ฟิตๆ อยู่บางทีก็ล้มกลางสนามได้ เราก็มีคุณหมอที่วิ่งติดกับเรา เพื่อที่เวลาล้มไปก็ปั๊มขึ้นมาได้เลย เพราะหนึ่งวินาทีก็สำคัญ เรามีคนช่วยอยู่ตรงนี้เสมอ ซึ่งมันอาจทำให้เรื่องที่ยากยากน้อยลง หรือปัญหาที่จะเกิดก็มีคนมาช่วยรองรับ ก็เลยดูเหมือนไม่ได้ยากมาก เพราะพอเราอธิบายแบบนี้กับเขา เขาก็เห็นด้วยและพร้อมมาช่วย ทุกโรงพยาบาลเลยนะครับ ต้องขอบคุณผ่านทางนี้ไว้เลย ขอบคุณมาก คุณหมอทุกคนที่มาช่วยให้ความเห็น เขาช่วยกันฟรีๆ เลย


แสดงว่าคุณก็รู้ว่าทุกกิโลเมตรที่กำลังจะวิ่งมีความเสี่ยง

     ก็มีปัจจัยเสี่ยงแหละ มันก็บ้าพอสมควร แต่เราก็เห็นบางคนวิ่งมาจากปัตตานี น้องตัวเล็กๆ บางทีก็วิ่งมาจากบุรีรัมย์ เขายังไม่เป็นไรเลย แล้วเรามีคนช่วยเยอะขนาดนี้ ไม่เป็นไรหรอก เราไม่ได้วิ่งเร็วๆ นี่ ก็วิ่งต๊อกแต๊กๆ เหนื่อยก็เดิน แล้วยังมีทีมให้น้ำให้ท่าอีก ที่เหลือก็อยู่ที่เราแล้วว่าเตรียมตัวพร้อมขนาดไหน กล้ามเนื้อเราไหวไหม ใจเราไหวหรือเปล่า ซึ่งใจผมบอกว่าโอเค

 

ผมไม่ใช่ผู้วิเศษอยู่แล้ว ซึ่งตลอดมาก็มีคนในสังคมออกมาทำบางสิ่งเพื่อช่วยเหลือผู้คนอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไปคิดแบบนั้น คิดว่าเราจะทำไปทำไม เดี๋ยวก็มีปัญหา เดี๋ยวก็คงมีคนมาทำเอง หรือเดี๋ยวอีกหนึ่งปีคนก็ลืมไปแล้วมั้ง ถ้าเราคิดแต่เรื่องปัญหา เราจะไม่ได้เริ่มทำอะไร

 

ใจที่ไหวคือแบบไหน?

     ไหวอะ เออ คือเราคิดถึงปลายทาง ไม่ต้องคิดถึงกายภาพ คิดถึงปลายทางว่าเราทำอะไรอยู่ ทำเพื่ออะไร สิ่งที่ยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการวิ่ง ระหว่างทางมันมีทุกคนมาช่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สวยงามที่สุดที่ผมเจอเลย มีคนใจดีในเมืองไทยเพียบเลย จริงๆ นะ คนพร้อมที่จะช่วยเหลือกันเยอะเลย ตามท้องถนนที่ผมเดินตอนนี้มีแต่คนทักเรื่องนี้ แล้วบางคนก็ควักเงินมาให้เลย ขอช่วยด้วย สู้ๆ นะครับ ขนาดยังไม่ได้วิ่งเลย ดีเลย ดีมากเลย ได้เห็นน้ำใจคนระหว่างทาง


นักวิ่งทุกคนจะพูดว่าถึงจุดหนึ่งในการวิ่งจะทรมานมาก โดยเฉพาะการวิ่งระยะไกล แล้วนี่คุณต้องเจอช่วงเวลาแบบนั้นซ้ำๆ กันตลอด 10 วัน

     คือเราออกแบบการวิ่ง 10 วัน 400 กิโลเมตร เท่ากับ 1 วัน วิ่ง 40 กิโลเมตร เราแบ่งการวิ่งเป็น 4 เซต 4 ช่วงการวิ่ง ก็จะวิ่งประมาณช่วงละ 10 กิโลเมตร และพักครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ก็เตรียมตัววิ่งในเซตต่อไป เซตแรกออกตี 4 ครึ่งถึง 6 โมงเช้า วิ่งๆ เดินๆ ชั่วโมงครึ่ง ไม่ต้องรีบ พอพักปุ๊บ เซตที่ 2 เราจะเริ่ม 6 โมงครึ่งถึง 8 โมงเช้า หลังจากนั้นก็จะพักยาวหน่อย แล้วเริ่มเซตที่ 3 ประมาณบ่าย 3 โมง คือเราไม่ได้วิ่งตลอด 40 กิโลเมตรติดกัน วิ่งแบบนั้นมันไม่มีทางจบอยู่แล้ว เราออกแบบให้มันไม่ทรมานมาก ออกแบบให้เป็นไปได้จริงๆ แล้วเราไม่ได้ออกแบบคนเดียว ก็จะมีนักวิ่งมาช่วยออกแบบ คุณหมอและนักกายภาพมาช่วยดูว่าวิ่งเท่านี้ร่างกายจะไม่หนักเกินไปจริงๆ

     สาระไม่ได้อยู่ที่การวิ่งระยะทางเท่าไหร่ สาระมันอยู่ที่เรื่องที่เราต้องการจะสื่อสารมากกว่า แล้วในระหว่างที่วิ่ง เราก็จะชวนพี่ๆ นักร้องดาราที่เรารู้จักที่เขาวิ่งอยู่แล้วมาวิ่งด้วยกันในแต่ละช่วง เพื่อที่จะใช้ช่องทางของเขาในการกระจายเรื่องราวที่อยากจะบอก บางคนมีคนติดตามในโซเชียลมีเดียเป็นล้านๆ คน ก็ให้เขาช่วยกระจายข่าว บอกต่อ และช่วยกัน เหมือนขายตรง เขาก็จะกระจายในช่องทางของเขา ช่วยบอกต่อ ช่วยกันวิ่งให้การวิ่งครั้งนี้มันดูมีสีสัน มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรทัดสุดท้ายของเราจะได้ความช่วยเหลือที่เยอะจริงๆ

 

ตูน

 

บรรทัดสุดท้ายตั้งเป้าไว้ไหมว่าจะต้องเป็นเท่าไหร่

     เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเครื่องมือแพทย์มันไม่ใช่ 10 บาท 20 บาท ไม่ใช่หมื่นสองหมื่น บางเครื่องราคาเริ่มต้นที่หลักล้าน อย่างเครื่องที่ใช้ตรวจความดันก็หลายแสนแล้ว สมมติเราหาเงินให้เขาได้ 10 ล้าน เอาไปซื้อเครื่องมือแพทย์ได้ 5 เครื่อง ก็ดูไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่เลยนะ

     คือครั้งนี้ผมอยากได้เยอะที่สุด เพื่อให้เขาไปต่อยอดอะไรก็ได้ คุณหมอเอาเงินไปเลย แล้วคุณหมอลองจัดการดูครับ มีเงินเหลือมาซื้อเตียงเพิ่ม ให้สวัสดิการพยาบาลที่เขาป่วย เพราะโรงพยาบาลไม่ได้มีเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพพออย่างโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ พยาบาลก็ติดเชื้อโรคจากคนป่วยด้วย สวัสดิการก็ไม่ได้ดี แต่ก็เสียสละ จะได้มีเงินไปจัดการตรงนั้นได้ด้วย ห้องผ่าตัดที่ปิดอยู่ก็เปิดได้ด้วย ใช้เงินอีก 3-4 ล้าน ลงไปตรงนั้น อยากได้เยอะๆ เยอะที่สุด เพื่ออะไร เพื่อให้คุณหมอได้ใช้เงินตรงนี้เยอะที่สุดด้วย และเพื่อบอกต่อว่าคนไทยเรา พอเวลาจะช่วยกันจริงๆ ก็ใจดีนะ ใจดีจริงๆ ไม่ใช่ทำขนาดนี้แล้วได้นิดหน่อย เพื่อแสดงอะไรบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียว เราอยากทำให้มันเกิดเป็นรูปธรรมด้วย


ที่คุณบอกว่าเหมือนเอาทรายไปถมทะเล
แล้วคิดว่าการนำทรายไปถมทะเลทำอย่างไรถึงจะเต็ม ต้องอาศัยอะไร?

     ก็คาดหวังให้คนที่มีแรงอย่างเราได้ไปถมกันเรื่อยๆ เพราะคนป่วยก็มีเรื่อยๆ ไม่จบสิ้นหรอก ให้โลกแตกก็ยังมีคนป่วยทุกวัน เราเป็นหนึ่งในคนที่จะเอาอะไรไปถมได้ก็ช่วยกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้มีคนที่มีแรงแบบเราเขาก็ไปถมได้ มันก็ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เราทำคนเดียว ก่อนผมทำก็มีคนไปช่วยตั้งเยอะกว่านี้อีก เราไม่ได้ช่วยอะไรเยอะเลย ยังไม่ได้เริ่มช่วยเลยด้วยซ้ำ เพิ่งเริ่มต้นเอง มีคนบริจาค 10 ล้าน 20 ล้านอยู่ แต่ไม่ได้มาพูดแบบเราก็เยอะแยะ

     เราก็แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ สื่อก็ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ อันนี้เป็นเรื่องดีที่สุดเลยนะ เพราะเราไม่ได้มีเยอะพอที่จะบริจาคเยอะเหมือนคนที่มีเยอะนี่ เราทำเต็มที่ในแบบที่ทำได้ ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ทำในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อบอกต่อให้ทุกคนมาช่วยกัน พอปัญหานี้ไปถึงคนที่ระดับกลางๆ อย่างเรา เขาบริจาคได้ 100 โดยไม่เดือดร้อน เขาก็ช่วย 100 ได้ เขาก็ทำเต็มที่ของเขาแล้ว คือมันเป็นเรื่องนี้มากกว่า ก็ช่วยกันถม

 


เรื่อง: ปริญญา ก้อนรัมย์, เอกพล บรรลือ ภาพ: ภาสกร ธวัชธาตรี สไตลิสต์: Hotcake