“แนวคิดของหนูไม่ได้พาดพิงศาสนาให้ดูเสื่อมเสีย หนูเห็นพระพุทธรูปปกปักรักษาคุ้มครองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเติบโตมาในยุคสมัยใหม่ หนูเห็นอุลตร้าแมนเป็นฮีโร่ ก็เลยสร้างผลงานขึ้นมาให้มีแง่คิด”
นั่นคือคำพูดของนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เจ้าของผลงาน ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับสังคมไทย ด้วยข้อถกเถียงที่ว่าการเปลี่ยนพระพุทธรูปให้อยู่ในรูปลักษณ์อุลตร้าแมน ฮีโร่ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นนั้นเหมาะสมหรือไม่
ถ้ามองในมุมศิลปะ นี่ก็เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมป็อปเข้ากับความเชื่อในยุคปัจจุบัน ตามพื้นฐานการตีความและสร้างสรรค์ที่คนทำศิลปะมี แต่ในมุมมองของกลุ่มผู้ศรัทธา ก็มองได้ว่านี่เป็น ‘การดูหมิ่นศาสนา’ กับการตีความที่เกินเลยจากสิ่งเดิมที่เคยเป็น ผลของการปะทะทางความคิดที่เห็นต่าง ทำให้ตัวนักศึกษาเจ้าของผลงานยอมปลดภาพออกจากนิทรรศการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชศรีมา พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสร้างผลงานด้วยการเดินทางไปกราบขอขมาต่อพระเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ในประเด็นที่อ่อนไหวระหว่างการสร้างสรรค์งานศิลปะกับศาสนาจะถูกยกมาถกเถียงกันแบบนี้ เราอยากชวนคุณไปสำรวจดูว่าที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ใดในอดีตกันบ้างที่แนวคิดทางพุทธศาสนากับศิลปะปะทะกันแบบนี้
ในปี พ.ศ. 2514 ผลงานของศิลปินแห่งชาติอย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี ได้วาดภาพผู้ชายเปลือย และมีระฆังวัดแขวนอยู่ใต้หว่างขาพร้อมกับมีหลังคาโบสถ์ครอบลำตัวครึ่งท่อนของชายเปลือยเอาไว้ ซึ่ง อ.ถวัลย์ ได้โดนกล่าวหาว่าเป็น ‘ศิลปินบ้าบิ่น’ และต่อมาภาพผลงานของอาจารย์ได้ถูกคนใช้คัตเตอร์กรีดทำลาย จนทำให้ตัวศิลปินเลิกแสดงผลงานในประเทศไทยนานหลายปี
พ.ศ. 2547 ผลงาน ‘โขนนู้ด’ ที่เป็นภาพผู้หญิงยืนเปลือยกายต่อหน้าหัวโขน ของ อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ และโดนกรมศิลปากรขอร้องให้ถอดออกจากนิทรรศการ ในขณะที่ศิลปินแสดงถึงเจตนาว่าไม่ได้ต้องการลบหลู่ศิลปะโขน เพียงแต่ต้องการสะท้อนสภาพสังคมอันเน่าเฟะ จากการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก
พ.ศ. 2550 หนึ่งในผลงานที่เกิดกระแสมากที่สุดในวงการจิตรกรรมคือภาพ ‘ภิกษุสันดานก’ ของ อ.อนุพงษ์ จันทร ที่ถูกกล่าวหาว่าผู้สร้างผลงานตีความเนื้อหาของภาพภิกษุรุนแรงเกินกว่าที่เขียนไว้ในพระสูตร จนถูกประท้วงให้ถอดออกจากศิลปกรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2550-2551 มาถึงในวงการภาพยนตร์กันบ้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ถูกแบนในประเทศไทยจากประเด็นเรื่องศาสนาอย่าง ‘แสงศตวรรษ’ ของผู้กำกับ ‘เจ้ย’ – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีฉากพระเล่นกีตาร์และฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งมีการขอให้ตัดฉากดังกล่าวออก จนช่วงแรกผู้กำกับตัดสินใจว่าจะไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย และปฏิเสธส่งภาพยนตร์ชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ก่อนที่ในภายหลังจะถูกขอให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก ซึ่งผู้กำกับใส่เป็นภาพฟิล์มสีดำลงไปแทนเพื่อสื่อถือการถูกบังคับให้ตัดออก และออกฉายในโรงภาพยนตร์ในที่สุด
พ.ศ. 2550-2553 ภาพยนตร์อย่าง ‘นาคปรก’ ของผู้กำกับ ภวัต พนังคศิริ ได้ถูกสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ขอให้หยุดฉาย จากประเด็นที่เล่าเรื่องโจรในคราบพระสงฆ์ และเนื้อหาที่ใช้ความรุนแรง สุดท้ายทีมงานได้ปรับปรุงเนื้อหาและได้เข้าฉายในปี พ.ศ. 2553 ในที่สุด
พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์ ‘อาบัติ’ ได้ถูกสั่งห้ามฉายจากกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากการพิจารณาว่าเนื้อหาแสดงถึงภาพลักษณ์ไม่ดีของพุทธศาสนา ก่อนที่ภายหลังทีมงานจะมีการปรับเนื้อหาและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อาปัติ’ จนได้เข้าฉายใหม่ในที่สุด
พ.ศ. 2561 ในปีที่ผ่านมาก็มีกรณีพิพาทเกิดอีกครั้ง จากภาพยนตร์ ‘ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ 2.2’ ที่ถูกกองพิจารณาภาพยนตร์สั่งแบนจากการที่มีฉากพระสงฆ์ร้องไห้หน้าศพของคนรัก ซึ่งสร้างกระแสไม่พอใจอย่างมากกับกลุ่มผู้ชมและคนทำภาพยนตร์ เพราะหากเปรียบเทียบกับภาพยนตร์อย่างนาคปรกและอาบัติก่อนหน้านี้ เนื้อหาทางพระพุทธศาสนาในภาพยนตร์เรื่องนี้เบาบางกว่ามากนัก และไม่น่าจะถูกแบน
จากอดีตถึงปัจจุบันและต่อไป เชื่อว่าการปะทะกันทางความคิดระหว่างศิลปะและความเชื่อทางศาสนาจะยังคงดำเนินต่อไปอีกไม่จบสิ้น สิ่งสำคัญที่จะหาทางออกให้กับปัญหานี้อาจไม่ใช่การมองหาว่าใครถูกหรือใครผิด แต่เป็นการยอมรับความดี ความงาม ความเชื่อ ให้ความคิดเห็นอันแตกต่างที่ไม่ทำร้ายใคร ให้เมล็ดพันธุ์แรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้งอกงามขึ้นบ้าง เหมือนที่ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็น ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“การไปมองว่าลบหลู่ศาสนาจึงเป็นเรื่องบ้าบอคอแตก และถึงขึ้นให้เด็กไปกราบไหว้ขอโทษก็ทำให้เด็กสั่นไหวและส่งผลถึงเด็กทั่วประเทศ เพราะต่อไปถ้าผู้ใหญ่ด่าเขาก็จะไม่กล้าทำอะไรอีก แล้วหันไปลอกเลียนแบบ ผมถามว่าเด็กที่วาดรูปพระพุทธเจ้าให้เหมือนมากที่สุดมีกี่คน คำตอบคือมีจำนวนมาก แต่คนที่กล้าทำให้เกิดความแตกต่างมีบ้างไหม คำตอบคือน้อย และเด็กคนนี้กล้าและไม่ผิดด้วย เนื่องจากอุลตร้าแมนที่เป็นตัวละครดีที่สุดตามสติปัญญาของเด็ก”
ที่มา:
- www.facebook.com/mr.mtelecom/videos/10157897221761742
- https://anowl.co/anowlrod/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B/long_roob15/?fbclid=IwAR1cIMS_Lj1LYcoJOuhKmdcWAkZHsVWyNkNTodCZpltFzuBS9_seYVcaoTE
- www.facebook.com/groups/146935972023961/permalink/2719481534769379
- www.amarintv.com/news-update/news-14345/296421
- https://issuu.com/nicolehradenahmad/docs/_______________
- www.gqthailand.com/life/article/to-ban-or-not-ban-where-is-the-freedom