เชื่อว่าตอนนี้คนทำธุรกิจหลายๆ คนต่างกำลังเผชิญกับสภาวะ ‘มืดแปดด้าน’ จากผลกระทบของ COVID-19
มากกว่าสามเดือนที่เศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก คนนับล้านต้องตกงาน และหลายธุรกิจต้องปิดตัว ไม่ว่าธุรกิจใหญ่อย่างสายการบิน ไปจนถึงธุรกิจเล็กๆ อย่างร้านอาหาร ต่างก็ได้รับผลกระทบตามกันเป็นลูกโซ่ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ และทางออกนั้นอาจเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จยิ่งกว่าเดิม เหมือนที่ ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) เคยทำสำเร็จในช่วงวิกฤตโรค SARS เมื่อปี 2003
ปัจจุบันอาลีบาบาเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมียอดขายรวมเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 31.5 ล้านล้านบาท แต่นอกจากธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซที่นับว่าเป็นธุรกิจหลักแล้ว ทางอาลีบาบายังมีบริษัทในเครืออีกหลากหลายซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจชำระบริการ, โลจิสติกส์, ระบบ Cloud Computing, ธุรกิจสื่อและการบันเทิง ไปจนถึงธุรกิจเทคโนโลยีต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัทอาลีบาบามีอัตราการเติบโตสูงถึง 35% และมีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 960 ล้านคนทั่วโลก
แต่กว่าอาลีบาบาจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะพวกเขาต้องก้าวผ่านอะไรมากมายกว่าจะปีนมาถึงยอดของความสำเร็จ เราจึงอยากพาทุกคนย้อนไปทำความรู้จักจุดตั้งต้นของอาลีบาบากันก่อน และดูว่าขวากหนามอะไรบ้างที่หล่อหลอมให้เขาแข็งแกร่งได้อย่างทุกวันนี้
เริ่มแรกไอเดียการก่อตั้งอาลีบาบาถูกจุดประกายขึ้นเมื่อ ‘แจ็ก หม่า’ มีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1995 และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เขารู้จักกับอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อลองค้นหาคำว่า ‘เบียร์’ เขากลับไม่เจอผลการค้นหาอะไรที่เกี่ยวกับประเทศจีนเลย ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก และก็มีเบียร์ดีๆ อยู่มากมาย
เมื่อ แจ็ก หม่า กลับมายังประเทศจีนเขาจึงรวบรวมเงินจากเพื่อนๆ และภรรยา จำนวนประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6 แสนบาท) มาลงทุนเปิดเว็บไซต์ ‘China Yellow Pages’ ซึ่งเป็นเว็บไซต์คอนเซ็ปต์เหมือนสมุดหน้าเหลืองออนไลน์ที่รวบรวมรายชื่อบริษัทและสินค้าต่างๆ ในจีนเอาไว้ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ชาวจีนมีโอกาสได้เปิดประตูสู่โลกอันกว้างใหญ่ภายในคลิกเดียว แต่ แจ็ก หม่า เลือกที่จะลาออกไปทำงานในศูนย์อีคอมเมิร์ซแห่งชาติอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับไปตั้งต้นทำธุรกิจอีกครั้งในอพาร์ตเมนต์ส่วนตัวที่เมืองหางโจว พร้อมกับเพื่อน 17 คน และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Alibaba เว็บขายของแบบ Business-to-Business หรือ B2B สำหรับผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าในจีน
“วันนี้ทุกคนอยู่ที่นี่เพื่อมาหารือกันว่าเราจะทำอะไรใน 5 ปี ถึง 10 ปี ต่อจากนี้ อนาคตอาลีบาบาจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่เราทำ China Yellow Pages ผมพูดเสมอว่าคู่แข่งของเราไม่ใช่คนจีน แต่เป็นคนใน Silicon Valley เราไม่ได้ทำเว็บสำหรับคนจีน แต่ทำเว็บสำหรับคนทั้งโลก”
นี่คือประโยคที่ แจ็ก หม่า กล่าวปลุกใจพนักงาน 17 คน ของเขาขณะเริ่มก่อตั้งบริษัท โดยที่ไม่อีกกี่ปีต่อมาเขาก็สามารถทำได้จริงๆ แต่ในช่วงแรกไม่มีใครคิดอย่างนั้น เพราะตอนนั้นประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่แค่ 2 ล้านคน และใน 2 ล้านคนก็มีแค่ 1% เท่านั้นที่ออนไลน์ตลอดเวลา ยิ่งอาลีบาบาให้บริการทุกอย่างฟรี ยิ่งทำให้บริษัทไม่มีรายได้เข้ามา ซ้ำร้ายไปกว่านั้นพวกเขายังเจอวิกฤตฟองสบู่ดอตคอมอีก
ช่วงเวลานั้น แจ็ก หม่า ต้องลดค่าใช้จ่ายลงทุกอย่าง ฝั่งนักลงทุนเองก็มองว่าอาลีบาบามีแต่เผาเงินทิ้งไปทุกวัน แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี ยังไม่ทันที่บริษัทจะฟื้นตัวได้อาลีบาบาก็ต้องเจอวิกฤตอีกครั้ง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค SARS ในจีน ก่อนจะแพร่ระบาดไปกว่า 26 ประเทศทั่วโลก
จุดพีกของอาลีบาบาในช่วงที่โรค SARS แพร่ระบาดคือการตัดสินใจเข้าร่วมงาน ‘กว่างโจว์ แฟร์’ หรืองานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออกและนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน แม้ว่าบริษัทจะทำยอดขายได้ดีจากงานแฟร์ดังกล่าว แต่ก็มีพนักงานคนหนึ่งในบริษัทได้รับเชื้อไวรัส SARS กลับมาเป็นของแถม ภาพลักษณ์ของอาลีบาบาจึงติดลบในฐานะที่นำโรคนี้มาสู่ชุมชน แต่อาลีบาบาก็แก้ไขปัญหาด้วยการสั่งให้พนักงานกว่า 400 คน ยกคอมพิวเตอร์ของบริษัทกลับไปทำงานที่บ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และเพื่อให้การบริการลูกค่าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรูปแบบการ Work From Home ของอาลีบาบานั้น พนักงานบอกเล่าว่า พวกเขาทำงานกันวันละ 12 ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาเริ่มงานตอน 8.00 น. และเลิกงานตอน 20.00 น. เหมือนวันทำงานปกติ เพียงแต่ไม่มีการจับกลุ่มคุยกัน ไม่มีการกินข้าวเย็นพร้อมกัน ส่วนโทรศัพท์ของฝ่ายดูแลลูกค้าก็จะถูกโอนไปที่บ้านของพนักงาน แต่ด้วยความที่คนจีนอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ เวลามีโทรศัพท์เข้ามาสมาชิกในบ้านของพนักงานจึงต้องให้ความร่วมมือด้วยการพูดว่า “บริษัทอาลีบาบา สวัสดีครับ/ค่ะ” ทุกครั้ง การดำเนินงานจึงเป็นไปอย่างราบรื่น จนลูกค้ารู้สึกเซอร์ไพรส์มาก เมื่อมารู้ทีหลังว่าพนักงานทำงานกันที่บ้านมาโดยตลอด และถึงแม้ว่าพนักงานจะอยู่กระจัดกระจายคนละที่ แต่ แจ็ก หม่า ก็พยายามสร้างความสนุกสนานด้วยการแข่งขันร้องคาราโอเกะออนไลน์หรือจัดกิจกรรมพูดคุยระหว่างเพื่อนพนักงานเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกัน
ระหว่างที่พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อกักกันโรค ในอีกด้านหนึ่ง แจ็ก หม่า ก็มีการตั้งทีมงานบางส่วนขึ้นมาเพื่อสร้างเว็บไซต์ ‘เถาเป่า’ (Taobao) แพลตฟอร์มค้าปลีกแบบ Customer to Customer หรือ C2C ที่ให้คนต้องการขายสินค้าสามารถเข้ามาเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ เหมือนบรรดาเว็บไซต์ยอดฮิตที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน ทีมงานกลุ่มนั้นใช้เวลาเพียงอาทิตย์เดียวในการพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าว ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 พฤษภาคม 2003
ผลก็คือ เถาเป่ามาได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะตอนนั้นทุกคนต่างก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ชาวจีนจึงเริ่มหันมาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสั่งซื้อสินค้าแทนการออกไปใช้จ่ายนอกบ้าน ไม่นาน เถาเป่าก็ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ eBay อีคอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกันที่ทุ่มเงินกว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.6 พันล้านบาท) สร้าง ‘Eachnet’ เพื่อบุกตลาดจีน และครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 70-80% ในขณะนั้น
แจ็ก หม่า เคยเปรียบไว้ว่า “eBay เป็นเหมือนฉลามในมหาสมุทร แต่เถาเป่าเป็นจระเข้แห่งแม่น้ำแยงซี ถ้าเราต่อสู้กันในมหาสมุทร เราแพ้แน่ แต่ถ้าสมรภูมิคือแม่น้ำ เราจะเป็นผู้ชนะ”
คำพูดของ แจ็ก หม่า ถือว่าไม่เกินจริงไปนัก เพราะตลอดเวลาอาลีบาบาพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับเถาเป่าด้วยการอนุญาตให้ผู้ใช้ใหม่ขายสินค้าในเถาเป่าได้ฟรีเป็นเวลา 3 ปี พร้อมสร้างระบบการจ่ายเงินที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนจีนอย่าง Alipay ขึ้นมาให้เป็นแผนกหนึ่งของเถาเป่า เพราะในตอนนั้น คนจีนผู้ยังใช้บัตรเครดิตกันน้อย Alipay จึงช่วยให้ลูกค้าสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของ Alipay ได้เลย ภายหลังพวกเขาก็เปิดระบบเติมเงินและจับมือกับสถาบันการเงินมากกว่าร้อยรายให้เข้าร่วมกับ Alipay อีก จนทุกวันนี้คนจีนส่วนใหญ่แทบไม่ต้องพกเงินสดออกจากบ้านแล้ว
ไม่เพียงแค่เรื่องการเงินที่อาลีบาบาจะต้องสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับคนจีน แต่ยังมีเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่พวกเขาจะต้องปลุกปั้นขึ้นมาด้วย เพราะยุคนั้นใครๆ ก็กลัวว่าซื้อของออนไลน์จะถูกหลอก จะได้ของไม่มีคุณภาพ แต่พวกเขาก็แก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบพูดคุยกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในเถาเป่า ซึ่งไม่ใช่แค่การตอบโต้ซื้อขายแบบทั่วไป แต่เป็นคอมมูนิตี้ที่ผูกโยงกับอุปนิสัยของคนจีนที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เถาเป่าจึงกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ หลายคนจึงกลายเป็นเพื่อน หลายคนถึงกับแต่งงานกันเลยก็มี
การเข้าใจลูกค้า ทำให้ในที่สุดการต่อสู้ระหว่างบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งอย่างอาลีบาบากับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง eBay ถึงจุดสิ้นสุดในปี 2006 เมื่อเถาเป่าสามารถพลิกโผขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดได้เกินกว่า 60% จน eBay ตัดสินใจยอมยกธงขาวถอนตัวออกจากจีน และเถาเป่าก็กลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ทำให้ชื่อของอาลีบาบาและแจ็ก หม่า เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ทุกวันนี้เถาเป่าจึงมีผู้ใช้งานมากกว่า 600 ล้านคนต่อเดือน ทำเงินได้มากกว่า 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และพาอาลีบาบาก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก การมาของโรค SARS ในครั้งนั้นจึงเหมือนเป็นตัวกลางที่ทำให้คนจีนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ทั้งยังผลักดันให้ร้านค้าปลีกหันไปบุกตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีก 5 บทเรียนที่ ‘พอร์เตอร์ เอริสแมน’ (Porter Erisman) อดีตรองประธานกรรมการอาลีบาบา ออกมาเผยว่าวิธีการเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้อาลีบาบารอดพ้นจากการปิดตัวมาได้ แต่ยังทำให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตโรค SARS ด้วย ลองดูว่ามีบทเรียนไหนบ้างที่ตรงกับสถานการณ์ที่คุณเจออยู่
บทเรียนที่หนึ่ง: ความปลอดภัยของพนักงานสำคัญที่สุด
เมื่อพนักงานคนหนึ่งของอาลีบาบาได้รับเชื้อไวรัสซาร์สกลับมา ทางบริษัทก็ตัดสินใจให้พนักงาน Work From Home ทันที แต่สำหรับพนักงานกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้อย่างฝ่ายสต็อกสินค้า ฝ่ายขนส่ง ทางอาลีบาบาก็เพิ่มงบประมาณในการดูแลด้านสุขภาพเพื่อปกป้องพนักงานให้ได้มากที่สุด เพราะหากพนักงานคนหนึ่งป่วยอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานคนอื่นๆ และในที่สุดก็จะส่งผลต่อการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท
บทเรียนที่สอง: ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น
การยอมรับความจริงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากเราวางแผนงานในปี 2020 เอาไว้แล้วอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ทุกอย่างกลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือลูกค้ายกเลิกการสั่งซื้อสินค้าและบริการของคุณเพราะ COVID-19 ผลกำไรที่ควรจะได้จึงหายไปในพริบตา แต่ประสบการณ์ที่อาลีบาบาสอนเอริสแมนว่า ยิ่งผู้ประกอบการสามารถยอมรับความเป็นจริงได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งสามารถเริ่มต้นมองหาโอกาสใหม่ๆ ได้เร็วมากขึ้น ซึ่ง แจ็ก หม่า ก็ชอบเสมอพูดว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การยึดติดอยู่กับโอกาสที่เสียไปจึงไม่ได้ช่วยให้เราสามารถวางแผนหาโอกาสใหม่ๆ ในอนาคตได้ เมื่อเจอวิกฤตโรค SARS แจ็ก หม่า จึงไม่เสียเวลาไปนั่งคิดกับโอกาสที่สูญเสียไป แต่ลงมือหาโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจโดยทันที นั่นคือจุดที่ แจ็ก หม่า สร้างเถาเป่าขึ้นมานั่นเอง
บทเรียนที่สาม: อย่ารีรอที่จะตัดสินใจสิ่งที่ยากที่สุด
คนทำธุรกิจนอกจากจะทำให้พนักงานและครอบครัวปลอดภัยจากโรคระบาดแล้ว เป้าหมายของคุณก็คือการทำให้บริษัทอยู่รอด นี่คงเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเราจะเลือกเลิกจ้างพนักงานหรือเลิกกิจการไปเลย
สองปีก่อนหน้าจะเกิดโรค SARS ช่วงวิกฤตฟองสบู่ดอตคอม อาลีบาบาเจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก แต่ความที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพนักงานทุกคนมา ทำให้ แจ็ก หม่า ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเลิกจ้างพวกเขาเลยทันที ผลก็คือบริษัทต้องสูญเสียเงินที่มีไปแทบทั้งหมดเพื่อพยุงพนักงานเอาไว้ จนเกือบถึงขั้นจะต้องเลิกกิจการ สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นการตอบแทน และบอกกับพนักงานเหล่านั้นว่าหากบริษัทผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เราจะพยายามจ้างพวกคุณกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเมื่ออาลีบาบาเริ่มเติบโตและทำกำไรได้มากขึ้นก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้จริงๆ
ประเด็นที่เอริสแมนต้องการจะสื่อไม่ใช่การบอกว่าให้เลิกจ้างพนักงานไปเลย แต่บทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จากอาลีบาบาคือ ผู้นำในช่วงวิกฤตควรเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่ยากลำบากมากกว่าหลีกเลี่ยงมัน เพราะจะไม่มีใครที่ได้รับผลดีเลย หากยืดเวลาออกไป จนความล่าช้ากลายมาเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของบริษัท
บทเรียนที่สี่: ทีมเวิร์กคือพลัง
สิ่งหนึ่งที่เอริสแมนทึ่งที่สุดในการทำงานกับอาลีบาบาคือตัวแจ็ก หม่า เพราะเขาเรียนรู้ที่จะรับมือกับวิกฤตต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่นอาจจะตั้งรับไม่ทัน แต่สำหรับ แจ็ก หม่า ยิ่งเจอวิกฤตยิ่งมีแรงฮึดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง eBay, วิกฤตฟองสบู่ดอตคอม หรือวิกฤตโรค SARS เขากลับมองว่าเหตุการณ์เหล่าเป็นความท้าทายที่ช่วยสร้างความสามัคคีให้กับพนักงานเสมอ
ในช่วงที่เกิดวิกฤตโรค SARS แจ็ก หม่าก็สื่อสารกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ เพื่อให้พนักงานเข้าใจตรงกันว่าการอยู่รอดของอาลีบาบานั้นไม่ใช่แค่เพื่ออาลีบาบาเอง แต่ยังหมายถึงห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาลีบาบาทั้งหมดให้สามารถอยู่รอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
เอริสแมนถึงกับเอ่ยปากออกมาเลยว่า ผู้นำไม่ได้ถูกทดสอบอย่างแท้จริงในช่วงเวลาปกติ แต่พวกเขาจะถูกทดสอบในช่วงเวลาเกิดวิกฤต และวิธีการตอบสนองต่อปัญหาในฐานะผู้นำ ก็เป็นสิ่งที่ชี้ได้ว่าว่าบริษัทของคุณจะเดินหน้าต่อได้หรือย่ำแย่ลง
บทเรียนสุดท้าย: มองหาโอกาส ท่ามกลางวิกฤต
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ แจ็ก หม่าบอกว่าให้มองหาโอกาสว่า ลูกค้ากลุ่มไหนที่ยังมีศักยภาพ ทำอย่างไรที่บริษัทจะช่วยลูกค้ากลุ่มนั้นได้ และเขาก็มองออกว่าลูกค้า SME ที่มีอยู่ทั่วประเทศมีศักยภาพแต่มีเงินทุนน้อย การจะเปิดร้านในช่วงโรคระบาดเป็นเรื่องยาก ถ้าหากใช้เครื่องมือออนไลน์ในการช่วยลูกค้ากลุ่มนี้ให้เติบโตได้อาลีบาบาก็จะอยู่ได้เช่นกัน อาลีบาบาจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลชวนธุรกิจ SME ร้านค้าออฟไลน์มาอยู่เถาเป่า เป็นผลให้เถาเป่าประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
ทั้งหมดนี้คือ 5 บทเรียนหลักๆ จากอาลีบาบาในวันที่พวกเขาพลิกวิกฤตโรค SARS ให้เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีพลังอำนาจเปลี่ยนโฉมวงการธุรกิจโลกได้
เราหวังว่า 5 บทเรียนนี้อาจจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบที่กำลังเผชิญกับความท้าทายแบบเดียวกันอยู่ไม่มากก็น้อย และเมื่อวิกฤตนี้ผ่านไปทั้งผู้ประกอบการหรือพนักงานอาจจะแข็งแกร่งมากขึ้นเหมือนอาลีบาบาเป็นอยู่ ท้ายที่สุดของฝากประโยคหนึ่งของ แจ็ก หม่า เอาว่า
“Today is cruel. Tomorrow is crueler. And the day after tomorrow is beautiful.” —วันนี้มันโหดร้าย พรุ่งนี้นั้นจะโหดร้ายกว่า แต่ถ้าผ่านมันไปได้ วันที่สดใสจะมาถึงอย่างแน่นอน
ที่มา:
- www.businessinsider.com/the-story-of-jack-ma-founder-of-alibaba-2014-9
- www.alizila.com/alibaba-group-march-2020-quarter-earnings
- www.finnomena.com/investment-reader/alibaba
- www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/jack-ma.html
- https://books.google.co.th/books?id=H8ptDwAAQBAJ&pg=PT7&lpg=PT7&dq=%E2%80%98China+Yellow+Pages
- https://books.google.co.th/books?id=WZtPCwAAQBAJ&pg=PA19&lpg=PA19&dq=china+yellow+page+jack+ma
- www.blognone.com/node/72393
- www.bbc.com/thai/international-51275277
- https://entrepreneurshandbook.co/how-jack-ma-led-alibaba-through-the-2003-sars-outbreak-fb2f8412e712
- https://portal.settrade.com/blog/10000li/2015/09/24/1622
- www.businessinsider.com/how-alibaba-survived-2003-sars-crisis-under-jack-ma-2020-3
- https://books.google.co.th/books?id=OkIhDgAAQBAJ&pg=PA249&lpg=PA249&dq
- www.alizila.com/alibaba-coronavirus-efforts
- www.cnbc.com/2020/03/26/chinas-2002-2003-sars-outbreak-helped-alibaba-become-e-commerce-giant.html
- https://tdri.or.th/2016/10/alibaba-ecommerce