‘Finger Lickin Good’ หรือ ‘อร่อยจนต้องเลียนิ้ว’ ผมเชื่อว่านี้คงเป็นคำที่ไม่ว่าใครได้ยินก็ต้องร้องอ๋อทันที ว่านี่คือสโลแกนของ KFC แฟรนไชส์ไก่ทอดจากเมืองเคนทักกี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของไก่ที่กรอบ จนเคี้ยวเสียงดังกรุบ
แต่ข้างในก็อัดแน่นไปด้วยเนื้อนุ่มๆ ร้อนๆ เคี้ยวง่าย และมีรสชาติที่อร่อยในแบบเฉพาะตัว ยากจะเลียนแบบ จนหลายครั้ง นักกินสายไก่ทอดทั้งหลายมัวแต่เพลิดเพลินจนต้องเผลอเลียนิ้วให้กับความอร่อยโดยไม่รู้ตัว
แต่รู้หรือไม่ครับว่า กว่าไก่ทอดแบรนด์ผู้พันที่มีอยู่ทุกหนแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา จะก่อร่างสร้างตัวจนมีชื่อเสียงในระดับโลกได้แบบนี้ มีต้นกำเนิดมาจากวันสำคัญของชายคนหนึ่ง ที่เขาต้องเลือกว่า จะตายไปจากโลกใบนี้หรือจะสู้ชีวิตต่อไป ด้วยความฝันครั้งสุดท้ายของเขา
วันนี้เราจะพาทุกท่านหวนกลับไปในยุค 90s ช่วงปีที่ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส (Harland Sanders) หรือผู้พันแซนเดอร์สที่เรารู้จักกัน เริ่มต้นหยิบไก่ชิ้นแรกขึ้นมาทอด ซึ่งนอกจากสูตรลับเฉพาะที่ใส่ลงไปนั้น ในกระทะยังเต็มไปด้วยความอดกลั้น ความฝัน และความพยายาม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่จะสร้างเรื่องราวบางอย่างให้โลกจำไม่รู้ลืม
ย้อนกลับไปในปี 1890 ช่วงที่ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ยังไม่มีตำแหน่งผู้พัน เป็นเพียงเด็กคนหนึ่งในครอบครัวสุดแสนรันทด ที่ผมต้องบอกเช่นนี้ก็เพราะเมื่อเขาอายุได้เพียงแค่ 6 ปี พ่อบังเกิดเกล้าแท้ๆ ก็ต้องลาจากโลกไปก่อน
ทำให้ความฝันที่จะใช้ชีวิตวัยเด็กแสนสดใสเหมือนกับเด็กคนอื่นเขาต้องปิดตายในทันที ตอนนั้น ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ในฐานะพี่คนโต ต้องทำหน้าที่ดูแลน้องอีกสองคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานบ้านทุกอย่างกลายเป็นเขาที่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เพียงลำพัง ซึ่งนั่นบังคับให้เขาต้องฝึกฝนทำอาหารด้วยเช่นกัน
ชีวิตเหมือนจะกำลังไปได้สวย เขาได้เข้าโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง แต่จุดพลิกผันก็เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 12 ขวบ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ต้องลาออกจากโรงเรียน หลังจากไม่ลงรอยกับพ่อเลี้ยงคนใหม่ในครอบครัว ถึงขั้นใช้กำลังทำร้ายร่างกายกัน
ในตอนนั้นเขาต้องหลบหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับลุง และเริ่มทำงานที่ฟาร์มในหมู่บ้านเฮนรี วิลล์ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานหลายๆ อย่าง ก่อนที่เขาต้องทำงานอีกมากมายเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทั้งเป็นนักดับเพลิง ฝึกงานที่ศาล ขายประกัน ขายยาง ทำงานที่สถานีขนส่ง
แน่นอนครับว่าฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ไม่ใช่คนยอมแพ้ต่อโชคชะตาง่ายๆ อย่างที่ผมเล่าไว้ในตอนต้น เขาพยายามทุกวิถีทางเพื่อยกระดับฐานะตัวเอง ให้สามารถอยู่ในสังคมแห่งนี้ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ครั้งหนึ่งเขายังเคยแอบโกงอายุตัวเองเพื่อสมัครเข้าไปเป็นทหาร แต่สุดท้ายความก็แตกและโดนไล่ออกมา
เขาจึงหันเห มาสมัครเข้าโรงเรียนกฎหมาย แต่ด้วยความสามารถที่ไม่ได้เรื่อง เขาจึงถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี จนตอนนั้นอาจถือได้ว่าความสามารถพิเศษของเขาจริงๆ นั้น ไม่ใช่การทำอาหาร แต่อาจเป็นการตกงาน และการพบเจอแต่ความล้มเหลวก็เป็นได้
ที่ต้องบอกแบบนี้ เพราะความล้มเหลวยังลามไปถึงชีวิตส่วนตัวของเขา ในช่วงนั้น ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ได้แต่งงานและมีลูกด้วยกันหนึ่งคน แต่สุดท้าย ภรรยาก็ทนกับชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จที่สุดแสนจะไม่เอาไหนของเขาไม่ไหว ได้หอบลูกหนีออกจากบ้านทิ้งฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส เอาไว้เพียงลำพัง
แต่ที่สุดของคำว่ารันทดจริงๆ คือช่วงที่ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ไปแอบซุ่มดูลูกที่หน้าบ้านหลังใหม่ของภรรยา เพื่อที่จะลักพาตัวลูกสุดที่รักมาอยู่ด้วยกัน โดยหวังว่าความรักระหว่างพ่อและลูกจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากมีชีวิตต่อไปได้ แต่คนล้มเหลวก็คือคนล้มเหลว เพราะปกติแล้ว ลูกชายของเขาต้องออกมาเล่นที่สวนหน้าบ้านเวลานี้ทุกวัน แต่ในวันที่เขาไปแอบซุ่มดูอยู่ โชคชะตากลับไม่เข้าข้างเขา เพราะไร้ซึ่งวี่แววของลูกชายที่จะออกมาเล่นหน้าบ้านแม้แต่น้อย ความฝันในการพาลูกมาอยู่ด้วยกันจึงต้องแหลกสลายไปที่สุด
เมื่อจิตใจที่พยายามฝืนชะตาชีวิตหมดแรงแล้วจริงๆ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ในตอนนั้น คือชายที่สิ้นหวังแบบสุดขีด เขาตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย ด้วยการเดินเข้าไปในสวนหลังบ้านพร้อมกระดาษและดินสอ เพื่อเขียนคำสั่งเสียครั้งสุดท้าย และหลังจากนั้นจะตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองด้วยการแขวนคอ แต่ ณ ช่วงเวลานั้นเองที่โชคชะตาเริ่มหันมาอยู่ข้างเดียวกับเขา ในขณะที่ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส กำลังทบทวนชีวิตตัวเองออกมาเป็นตัวอักษรครั้งสุดท้าย มีบางสิ่งที่เขาได้พบว่า มันถูกฝังท่ามกลางซากปลักหักพังที่ชื่อว่าความล้มเหลวมาโดยตลอด
ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ‘ใจที่รักในการทำอาหาร’ นั่นเอง
ใช่แล้ว ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส คิดในใจพลางย้อนไปว่า ที่ผ่านมาตัวเองทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้ดีมาโดยตลอด ทั้งในฐานะพี่คนโตที่ต้องทำอาหารเลี้ยงน้อง หรือพนักงานที่ต้องทำอาหารให้ลูกค้า นั่นจึงทำให้จดหมายสั่งเสียใบนั้นได้แปรสภาพเป็นประกาศแห่งความหวังที่ภายในเต็มไปด้วยสูตรทำอาหารทั้งชีวิตของเขา และหนึ่งในนั้นคือสูตรไก่ทอด ที่คลุกเคล้าเข้ากับสมุนไพรและเครื่องเทศ 11 ชนิด ที่เขาไม่เคยเปิดเผยเป็นที่สาธารณะ หลังจากนั้น ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ลุกขึ้นมาจากส่วนหลังบ้าน ปาดน้ำตาและหย่อนสูตรอาหารของเขาหลงในกระเป๋าเสื้อ มุ่งหน้าสู่ถนนที่ชื่อว่า เส้นทางชีวิตอีกครั้ง
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส มุ่งหน้าไปยังธนาคารในเมือง เพื่อขอยืมเงินจำนวน 87 ดอลลาร์ฯ จากเช็คประกันสังคมฉบับต่อไปของเขาแล้วนำเงินไปซื้อกล่องเปล่าและไก่จำนวนหนึ่ง เพื่อมาจัดแจงรังสรรค์ไก่ทอดสูตรผู้พันแซนเดอร์สขึ้นมา
แน่นอนว่าความอร่อยที่เราได้ชิมกันทุกวันนี้ก็ถูกปากคนในยุคนั้นเช่นกัน ไก่ทอดเครื่องเทศ 11 ชนิดของเขา ได้ถูกบอกต่อแบบปากต่อปากจนสุดท้ายเขาต้องขยายธุรกิจด้วยการซื้อปั๊มน้ำมันที่เมืองคอร์บิน ในรัฐเคนทักกี ซึ่งที่ตรงนี้เอง เขาได้เปิดร้านขายไก่ทอดแบบจริงจัง แต่เป็นความจริงจังขนาดกะทัดรัด ในห้องเช่าขนาดพร้อมเสิร์ฟเพียงแค่ 6 ที่นั่ง และเมื่อความอร่อยกระจายไปทั่วทุกมุมเมืองอย่างเข้มข้น จนมีลูกค้าประจำมากพอ ร้านไก่ทอดของเขาจึงขยายต่อด้วยการเปิดร้านอาหารฝั่งตรงข้ามปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม พร้อมรับลูกค้าได้มากถึง 140 ที่นั่ง และเป็นร้านอาหารชื่อดังในเมืองเคนทักกี ที่ทุกคนรู้จักกันในนาม Kentucky Fried Chicken of Harland Sanders
เมื่อชื่อเสียงเริ่มก่อร้างขึ้นมา เป้าหมายต่อไปคือการโปรโมตความอร่อยให้โลกได้รู้จัก แซนเดอร์สได้พาตัวเองไปมีส่วนร่วมอื่นทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะ อินฟลูเอนเซอร์แห่งวงการอาหาร ในยุคนั้น เขาได้เข้าร่วมสมาคมโรตารี่, สภาหอการค้า และสมาคมทางความเชื่ออย่างฟรีเมสันส์ (Freemasons) และแน่นอน ว่าเขาไม่ลืมจะโปรโมตไก่ทอดของเขาให้ทุกคนได้ลิ้มลอง
จนในช่วงอายุ 60 เขาได้รับตำแหน่งผู้พัน จากรองผู้ว่าการรัฐเคนทักกีที่ ซึ่งนั่นถือเป็น จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการสุด ในการสร้าง Personal Branding ให้กับธุรกิจของเขา เพราะหลังจากนั้นไม่ว่าจะไปที่ไหน หรือทำอะไร เราก็จะเห็นผู้พันแซนเดอร์ส มาพร้อมกับชุดสูทสีขาว เคล้าไปกับสีหนวดและผมของเขา และที่ขาดไม่ได้เลยคือจะต้องมีไม้เท้าติดตัวมาด้วยอยู่เสมอ
หลังจากนั้นผู้พันได้พาความฝันของตัวเอง ไปไกลอีกขั้นด้วยการปรับแผนธุรกิจกร้านไก่ทอด ให้กลายเป็นแฟรนไชส์ที่จะมีอยู่ในทุกมุมเมืองของสหรัฐอเมริกา
ในปี 1952 เขาหยิบเงินพียง 105 เหรียญดอลลาร์ฯ เดินทางไปพร้อมกับกระดาษสูตรทอดไก่ในกระเป๋าเสื้อของเขาเพียงลำพัง เพื่อไปขายกรรมวิธีการทอดไก่ในแบบของ KFC ให้กับเจ้าของร้านอาหาร และภัตตาคารทั่วสหรัฐอเมริกา โดยจะคิดค่าแฟรนไชส์เพียงแค่ 5 เซนต์ต่อไก่หนึ่งชิ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่าสูตรนี้ไม่ใช่สูตรออริจินัลแท้จริง เพราะผู้พันแซนเดอร์สมีการปรับแต่งให้สามารถทำได้ง่าย เหมาะสำหรับพ่อครัว แม่ครัวทั่วไปมากยิ่งขึ้น
แม้การขยับขยายจะเหน็ดเหนื่อยและสาหัสอย่างมาก จากการที่เขาต้องเดินทางไปคุยกับเจ้าของร้านทุกคน เพื่อให้ทิศทางไก่ทอด KFC มีมาตรฐานตามที่วางไว้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ ในปี 1960 ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 70 ปี ก็มีสาขาแฟรนไชส์กว่า 400 ร้าน ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยในปี 1963 มีรายงานว่า เขาสามารถทำกำไรได้กว่า 300,000 ดอลลาร์ฯ เลยทีเดียว
และเมื่อขอบข่ายของธุรกิจได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางเกินความสามารถที่ผู้พันแซนเดอร์สจะรองรับได้ เขาก็ได้ตัดสินใจขายธุรกิจให้กับกลุ่มนักลงทุน โดยการนำของ จอห์น วาย บราวน์ จูเนียร์ อดีตผู้ว่าการรัฐเคนทักกี และ แจ็ก แมสซี จากเมืองแนชวิลล์ โดยที่เขายังคงดำรงตำแหน่งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ อยู่เป็นระยะ
สุดท้ายในปี 1980 ผู้พันแซนเดอร์สเสียชีวิต โดยมีอายุรวม 90 ปี แต่ถึงแม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แต่ไก่ทอดสูตรลับเฉพาะของเขายังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และกลายมาเป็นไก่ทอดที่คนทั่วโลกต้องเคยลิ้มรสความอร่อย
สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องราวผู้พันแซนเดอร์ส คือการได้เห็นความสำเร็จกับความล้มเหลวห่างกันเพียงแค่พลิกฝ่ามือ ได้เห็นการตัดสินใจว่าเลือกที่จะ ‘สู้ต่อ’ หรือ ‘ยอมแพ้’ โดยสำหรับผู้พันแซนเดอร์ส ชีวิตที่ล้มเหลวหลายสิบครั้ง มันคือเชื้อไฟครั้งดีให้เขาลองครั้งที่ 11 ต่อ ก่อนที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จ และเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล
หากวันนั้นผู้พันแซนเดอร์สยอมแพ้ต่อชีวิตในสวนหลังบ้าน โลกเราคงไม่มีไก่ทอดสุดแสนอร่อยให้ได้กินจนต้องดูดนิ้วกันอย่างทุกวันนี้