รองเท้านันยาง

‘นันยาง’ กับบทเรียนการต่อสู้สินค้าลอกเลียน สู่ตำนานแห่งรองเท้าไทย

จะมีสักกี่คนที่ไม่รู้จักรองเท้านันยาง ไอเทมสุดเก๋าที่ผ่านช่วงเวลาวัยเรียนมาด้วยกัน หรือช่วงเวลาวัยเล่น รองเท้าแตะตราช้างดาวก็ของสามัญประจำบ้านที่ใส่ลุยได้ทุกแดดทุกฝน 

        เป็นเวลามากกว่า 60 ปีที่รองเท้าภายใต้แบรนด์นันยางอยู่คู่กับคนไทย แม้จะดูเหมือนว่าการทำรองเท้านักเรียนกับรองเท้าแตะเป็นของคลาสสิกที่ทุกคนต้องใช้ แต่ความจริงแล้วนันยางไม่ได้เริ่มต้นมาจากการเป็นรองเท้านักเรียน และตลอดเส้นทางการสร้างตำนานให้กับแบรนด์ นันยางยังเจออุปสรรคมาหลายอย่าง แม้จะไม่ใช่วิกฤตใหญ่ แต่ก็สร้างแรงสั่นคลอนต่อความมั่นคงของบริษัทไม่น้อย โดยเฉพาะการเอาชนะสินค้าลอกเลียนแบบ

        ย้อนกลับไปเมื่อราว พ.ศ. 2460 ‘ซู ถิง ฟาง’ หรือ ‘คุณวิชัย ซอโสตถิกุล’ โล่สำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทย หลังจากสร้างเนื้อสร้างตัวสักพักหนึ่ง เขาก็เริ่มทำธุรกิจกับชาวสิงคโปร์เพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ หนึ่งในคือรองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลยี่ห้อหนำเอี๊ย ที่แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        ในช่วง 2 ปีแรก ธุรกิจรองเท้าหนำเอี๊ยยังไม่ได้สร้างกำไรให้ แต่ภายหลังลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างเริ่มติดใจในความทนทาน พร้อมกล่าวติดตลกกันถึงคุณภาพของรองหนำเอี้ยด้วยว่าใส่เดินทำงานข้ามภูเขา ไป-กลับ ได้สบาย แต่ถ้าเป็นรองเท้ายี่ห้ออื่น ขาไปพัง ขากลับต้องเตรียมไปอีกคู่ 

        เมื่อรองเท้ากลายเป็นสินค้ายอดนิยม คุณวิชัยจึงลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นลง และหันมาเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว พร้อมเปลี่ยนชื่อหนำเอี๊ย ที่เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ให้เป็นหนันหยาง (Nan-Yang) ในภาษาจีนกลางเพื่อให้ติดปากคนไทยมากขึ้น ชื่อ ‘นันยาง’ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา 

        จุดเปลี่ยนของรองเท้านันยางจากผู้นำเข้ากลายมาเป็นผู้ผลิตด้วยตัวเอง เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2490 หลังภาครัฐมีนโยบายเชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนสินค้าไทย คุณวิชัยจึงตัดสินใจซื้อกิจการและกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยจากสิงคโปร์เพื่อก่อตั้งฐานการผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทย โดยมีช่างรองเท้าชาวสิงค์โปร์กว่า 30 คน เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเป็นพนักงานกลุ่มแรก รองเท้า 70 คู่ ที่ประทับคำว่า ‘Made in Thailand’ คู่กับโลโก้ ‘นันยางตราช้างดาว’ จึงเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 หลังจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ 4 ปีก่อนหน้านั้น

        เมื่อการผลิตรองเท้าผ้าใบอยู่ตัว พวกเขาก็เริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการผลิต ‘รองเท้าแตะตราช้างดาว’ ขึ้นเข้ากับ การบริบทสังคมไทยที่เมื่อเราอยู่บ้านก็ใส่รองเท้าแตะ ไปทำงานถึงค่อยใส่ผ้าใบ ซึ่งเมื่อสินค้าออกมาก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามด้วยเอกลักษณ์ที่ใส่สบาย ทนทาน และราคาประหยัด 

 

รองเท้านันยาง

 

        จากนั้นธุรกิจของรุ่นหนึ่งก็ถูกส่งไม้ต่อให้รุ่นสอง ‘คุณเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล’ ผู้เป็นลูกชายในปี พ.ศ. 2500 ช่วงนั้นรองเท้าจากต่างประเทศเริ่มเข้ามา คุณเพียรศักดิ์จึงใช้การตลาดเข้ามาช่วยทำให้นันยางโดดเด่นขึ้น ด้วยการออกแบบรองเท้านันยางรุ่น 205-S สำหรับกีฬาแบดมินตันโดยเฉพาะ พร้อมเปลี่ยนรองเท้าพื้นสีน้ำตาลให้เป็นสีเขียว ซึ่งนับเป็นสีที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น ประกอบกับคุณเพียรศักดิ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมแบดมินตัน รองเท้านันยางจึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแบดมินตันชาวไทย ก่อนจะขยายความนิยมไปสู่นักกีฬาตระกร้อที่ต้องการรองเท้าที่ยึดเกาะพื้นเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถคอนโทรลบอลได้สะดวก 

        ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2515 นันยางมองเห็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีจำนวนคงที่ทุกปี และมีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย คนกลุ่มนี้ต้องการรองเท้าที่แข็งแรงและมีหน้าตาเหมือนกัน 

        ใช่แล้ว, กลุ่มนั้นก็คือ ‘นักเรียน’ นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมารองเท้านันยางรุ่น 205-S ก็อยู่คู่เท้านักเรียนมาจนถึงปัจจุบัน 

 

รองเท้านันยาง

 

        ความนิยมของนันยางยังไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ไทยเท่านั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใส่นันยางเช่นกัน โดยตลาดเพื่อนบ้านที่ใหญ่ที่สุดก็คือประเทศพม่า เพราะคนที่นั่นชอบใส่รองเท้าแตะ ใส่กันในทุกวาระโอกาส รองเท้าแตะตราช้างดาวที่ทั้งทนและถูกจึงได้รับความนิยมมากตั้งแต่พม่ายังไม่เปิดประเทศ สมัยนั้นพ่อค้าต้องใช้วิธีหิ้วข้ามแดนด้วยการเหน็บไปกับขอบโสร่งรอบเอว แล้วใส่ไปอีกคู่ เพื่อเอากลับไปขายที่พม่า ส่วนคนอินโดนีเซียก็ใช้รองเท้าผ้าใบนันยางเป็นรองเท้านักเรียนเหมือนไทย 

        นับตั้งแต่วันแรกที่ผลิตปัจจุบันรองเท้าผ้าใบนันยางและรองเท้าแตะตราช้างดาวผลิตมาแล้วมากกว่า 300 ล้านคู่แม้พวกเขาจะไม่เจอวิกฤตซัดอย่างตรงๆ แต่การเอาชนะคู่แข่งที่ผลิตของลอกเลียนแบบก็เป็นบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของแบรนด์เช่นเดียวกัน

        คุณชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทายาทรุ่นที่ 3 ของนันยางเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530-2540 ถือเป็นช่วงที่บริษัทเจอปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบจากคู่แข่ง โดยทำเหมือนนันยางทุกรายละเอียด แต่ตัดโลโก้นันยางตราช้างดาวออกไป แล้วใส่โลโก้ของเขาเข้าไปแทน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับนันยางว่าถ้ารองเท้าหน้าตาเหมือนกันจะสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างไรว่าคุณสมบัติต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่ทางนันยางก็พยายามชูว่านันยางใช้ยางธรรมชาติ 100% จึงมีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทน ไม่ลื่น ถ้าเดินจะมีเสียงเอี๊ยดๆ พร้อมใส่เพิ่มโลโก้ ‘Nanyang’ ที่เป็นภาษาอังกฤษลงบนรองเท้าเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทราบว่านี่คือรองเท้านันยางของแท้  

        เดิมทีนันยางเน้นขายอย่างเดียวในยุคแรก เมื่อเจอปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบพวกเขาจึงเริ่มหันมาทำการตลาดอย่างจริงจัง โดยนำเรื่องราวความเก๋าที่ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อมาจนถึงรุ่นลูกมาสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้บริโภค และความเป็นตำนานที่สั่งสมมากว่า 60 ปีก็ทำให้นันยางแตกต่างจากรองเท้านักเรียนของแบรนด์อื่น  

 

 

        ส่วนรองเท้าแตะตราช้างดาวที่มีคู่แข่งสารพัดดาว แต่ขายในราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่งนั้น นันยางก็แก้ปัญหานี้ด้วยการขยันสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าใครเคยใส่รองเท้าแตะตราช้างดาวจะรู้เลยว่าแม้หน้าตาจะเหมือนกัน แต่คุณภาพของเขาคุ้มกับราคากว่าจริงๆ เรียกว่าให้คุณภาพเป็นตัวบอกผู้บริโภคเองว่าของใครดีกว่ากัน 

        อีกปัญหาหนึ่งที่นันยางเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือปัญหาราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้ายังจำกันได้ช่วงหนึ่งราคายางพาราเคยพุ่งไปสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็มีผลต่อราคารองเท้าโดยตรง แต่จะขึ้นราคารองเท้าให้สูงขึ้นตามก็ไม่ได้ นันยางจึงวางแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อขายยางพาราล่วงหน้าเพื่อล็อกราคาไว้ให้อยู่ในต้นทุนที่ยอมรับได้ โดยมีคู่ค้าคอยส่งสัญญาณว่าวันนี้ราคาจะขึ้นหรือลง พร้อมมีการสร้างสต๊อกเก็บยางพาราเพิ่มขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าต่อให้ราคาขึ้นสูงก็จะยังมียางพาราเพียงพอสำหรับใช้ในการผลิต 

        คุณชัยพัชร์กล่าวตามตรงว่าช่วงที่ราคายางขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 190-200 บาทนั้น บริษัทต้องยอมขาดทุนเพราะไม่สามารถขึ้นราคารองเท้าได้ แต่จะหยุดผลิตก็ไม่ได้เช่นกันเพราะยังมีพนักงานมากกว่าหมื่นชีวิตที่ต้องดูแล ขณะเดียวกันก็มีสินค้าลักษณะเดียวกันในตลาดวางขายอยู่ นันยางจึงต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ 

        สุดท้ายพวกเขาก็ผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ ทุกวันนี้แม้ตลาดกลุ่มนักเรียนจะไม่เติบโต เพราะประชากรวัยเด็กลดลง ทั้งยังมีคู่แข่งเป็นสิบรายในตลาด แต่นันยางยังคงเป็นเบอร์หนึ่งที่ครองส่วนแบ่งการได้ถึง 43% ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท และด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ไม่ได้อยู่กับที่ทำให้ปีที่ผ่านมานันยางยังคงสามารถเติบโตได้อีกกว่า 10% 

        อาจกล่าวได้ว่าระหว่างที่พวกเขาก้าวข้ามอุปสรรคมายืนอยู่ในฐานะตำนาน นันยางก็พยายามสร้างตำนานบทใหม่ขึ้นมาด้วยพร้อมๆ กัน และตลอดการก้าวย่างอยู่ถนนสายแห่งความสำเร็จนี้ นันยางก็ทิ้งบทเรียนไว้ให้ด้วยกัน 4 ข้อ 

 

รองเท้านันยาง

 

1. ฟังก์ชันต้องมาก่อนแฟชั่น

        สิ่งหนึ่งที่นันยางให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ คือการทำรองเท้าโดยเน้นฟังก์ชัน ไม่ได้เน้นแฟชั่น เราจึงเห็นได้ว่าแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี หน้าตารองเท้านันยางเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น การที่พวกเขาจะตัดสินใจออกสินค้ารุ่นใหม่ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่ามันจะอยู่ได้อย่างน้อย 10 ปี

        ทายาทรุ่น 3 อีกคนอย่าง คุณจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยฝ่ายการตลาดและการขาย เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากนันยางทำรองเท้าแฟชั่น ก็เป็นแค่หนึ่งในแฟชั่นแบรนด์ที่มีเป็น 1,000 แบรนด์ การเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีคู่แข่งจำนวนมากถือเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่การยึดแนวทางเดิมแบบ Functional Shoes เป็นสิ่งที่ทำให้นันยางยืนอยู่ได้มากว่า 60 ปีแล้ว แนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้จริง เพราะรองเท้าผ้าใบรุ่น 205-S กับรองเท้าแตะช้างดาวสีขาวฟ้าที่ยึดตามรูปแบบเดิมๆ ก็ยังใส่ได้ต่อเนื่องเหนือกาลเวลา

 

รองเท้านันยาง

 

2. คงความคลาสสิก แต่ไม่หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 

        แม้นันยางจะประกาศกร้าวว่าพวกเขาเน้นฟังก์ชัน ไม่เน้นแฟชั่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านันยางจะหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 

        ช่วง 3-4 ปีมานี้เราจึงเห็นนันยางเดินหน้าจับมือกับแบรนด์หรือบุคคลมีชื่อเสียงมากมายเพื่อออกคอลเลกชันพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น ‘แสตมป์ อภิวัชร์’, ‘ก้อย สุวรรณเกต’ ดีไซเนอร์ไทยผู้โด่งดังในอเมริกา, ‘ฮาจิเมะ โซรายามะ’ ศิลปินระดับโลกชาวญี่ปุ่น , และ ‘Kraftka’ ศูนย์รวมนักออกแบบรองเท้าสนีกเกอร์จากทั่วโลก โดยที่การออกคอลเลกชันพิเศษนั้นก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมของรองเท้านันยางเอาไว้อยู่ จะมีก็แต่ Nanyang Sugar และ Nanyang Zafari สองดีไซน์ใหม่ที่หน้าตาต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับนันยางที่เราคุ้นตา แต่สองรุนนี้ผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะยังคงอยู่ได้อย่างยาวนาน ทั้งยังสามารถขยับมาเจาะตลาดกลุ่มนักเรียนหญิง และกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ใช่แค่นักเรียนให้สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาสด้วย  

        ด้านรองเท้าแตะตราช้างดาวที่มีหน้าตาเหมือนเดิมมาตั้งแต่เริ่มผลิต นันยางก็พยายามขยายตลาดด้วยการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มพระสงฆ์ เพราะเดิมทีพระสงฆ์ใช้รองเท้าแตะตราช้างดาวอยู่แล้ว แต่สีสันที่ฉูดฉาดอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่ นันยางจึงผลิตสีน้ำตาลออกมา ซึ่งก็สวยจนคนทั่วไปเห็นแล้วยังอยากซื้อใส่ตาม 

        อีกทั้งพวกเขายังผลิตรุ่นสีดำและสีขาวออกมาเอาใจคนรุ่นใหม่สายมินิมอลด้วย แต่จริงๆ แล้วไอเดียแรกสุดเกิดจากความตั้งใจจะเจาะตลาดในประเทศเมียนมาเพราะคนที่นั่นนิยมรองเท้าแตะสีดำ กลายเป็นว่าเมื่อวางขายก็ได้ตลาดทั้งสองกลุ่มเลย

 

3. หยิบกระแสสังคมมาเล่าเรื่องผ่านรองเท้า 

        สิ่งหนึ่งที่นันยางทำได้ดีคือการหยิบกระแสสังคมมาเล่น อะไรที่เป็นเทรนด์อยู่ในช่วงนั้นนันยางไม่มีพลาด ล่าสุดช่วงล็อกดาวน์ที่ตามมหาวิทยาลัยเปิดกลุ่มขายของออนไลน์ นันยางก็หยิบเทรนด์นั้นมาสร้างสรรค์เป็นรองเท้าช้างดาว 2 รุ่นพิเศษ ‘เหลืองแดง-ไวท์พิ้งค์ COVID Edition’ เพื่อเอาใจชาวจุฬา-ธรรมศาสตร์ พร้อมบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติด้วย   

        อีกรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามคือ NanyangRED ที่เกิดจากคำประกาศกร้าวในช่วงสโมสรลิเวอร์พูลผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2018-19 ว่า 

        “ถ้าลิเวอร์พูลได้แชมป์ จะผลิตรองเท้าผ้าใบสีแดง” 

        แล้วก็ได้แชมป์จริง นันยางจึงทำตามสัญญา แต่ในตอนที่เปิดพรีออร์เดอร์ นันยางก็ไม่ลืมที่จะใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการจำกัดเวลาพรีออเดอร์ 96 นาที ให้เข้ากับเวลาการแข่งขันฟุตบอล 90 นาที และช่วงทดเวลาบาดเจ็บ 6 นาที ในนัดชิงชนะเลิศที่ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ได้ ฐานแฟนนันยางบวกกับฐานแฟนลิเวอร์พูลที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทำให้เพียงแค่เวลาชั่วโมงกว่าๆ NanyangRED มียอดจองมากถึง 12,598 คู่ 

 

รองเท้านันยาง

 

        ด้านรองเท้าแตะตราช้างดาว นันยางนำแนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาสร้างสรรค์เป็นรุ่น  ‘KHYA (ขยะ)’ ที่ทำมาจากขยะในทะเล 5 กิโลกรัม ซึ่งตลอดทั้งโปรเจ็กต์มียอดสั่งซื้อมากกว่า 2 หมื่นคู่ หรือคิดเป็นขยะประมาณแสนกิโลกรัมที่ นันยางช่วยกำจัดออกไปจากท้องทะเล

        คุณจักรพลเล่าว่านันยางจะผลิตทำรองเท้าลิมิเต็ดเอดิชันปีละครั้ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้สินค้าและแบรนด์ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ โดยเริ่มจากบอร์ดบริหารพูดคุยเตรียมการกันในช่วงใกล้ๆ กลางปี ว่าจะเลือกทำคอนเซ็ปต์ไหน ซึ่งไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องเล่นกับกระแสสังคมเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีคอนเซ็ปต์ไอเดียต่างๆ ที่ไม่อิงกับกระแสด้วยก็ได้

 

รองเท้านันยาง

 

4. รักษาร้านอาแปะเอาไว้ แต่ไม่ลืมจะปรับตัวเข้าหาออนไลน์ 

        เชื่อไหมว่ารองเท้านันยางไม่มีวางขายในห้างสรรพสินค้า ถ้าจะมีก็เฉพาะช่วงก่อนเปิดเทอมเท่านั้น แต่ร้านที่จะสามารถหาซื้อนันยางได้ตลอดทั้งปีก็คือร้านอาแปะหรือร้านขายรองเท้าตามตลาดทั่วไปนั่นเอง 

        ร้านอาแปะถือเป็นช่องทางในการวางขายที่นันยางใช้มาตั้งแต่แรกๆ เลย เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงชาวบ้านได้ง่าย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดร้านอาแปะนี่แหละคือห้างสรรพสินค้าขนาดย่อมของเมือง อีกร้านที่เหนือความคาดหมายมากๆ ก็คือร้านไทวัสดุ เพราะเป็นรองเท้าโปรดที่ช่างชอบใช้ แต่เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่นันยางจึงเพิ่มการขายผ่านแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์อย่าง Lazada และ Shopee 

        ข้อดีอย่างหนึ่งของการหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในทำการตลาด ช่วยให้พวกเขาสามารถคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะหากเป็นยุคก่อนการจะออกสินค้าใหม่ต้องใช้งบมหาศาลเพื่อทำโฆษณาการจะลองอะไรต้องคิดให้ถี่ถ้วน ซึ่งตรงข้ามกับออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้สามารถลองอะไรใหม่ๆ ได้เต็มที่โดยใช้งบน้อยลง  

 

        จากเรื่องราวที่นันยางทิ้งไว้ จะเห็นได้ว่าทุกก้าวย่างของแบรนด์นี้มีความเชื่อมโยงกับสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย และอยู่ในความสนใจของคนไทยอยู่เสมอ โดยที่ไม่ละทิ้งตัวตนของไปตามกระแส แต่ใช้กระแสทำให้ตัวตนของนันยางเด่นชัดขึ้น เหมือนกับที่คุณจักรพลเคยกล่าวไว้ว่า ปรัชญาในการทำธุรกิจของนันยางนั้น เปรียบเสมือนปลาที่แวกว่ายอยู่ในทะเล เราอาจจะเป็นปลาที่ว่ายช้าที่สุด แต่เราจะว่ายทวนน้ำไปเรื่อยๆ และพยายามหลบหลีกอุปสรรคต่างๆ ให้ได้ หรือที่ไหนโล่งหน่อยก็อาจจะว่ายเร็วหน่อยเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดเราจะไม่ปล่อยให้ตัวเองตายเป็นอันขาด 

 


ที่มา: