Pixar Studio: เก่งไม่พอ ต้องกล้าด้วย ถึงจะเป็นหนึ่ง

นีโม ปลาเล็ก หัวใจโต๊ โต, A Bug’s Life ตัวบั๊กส์ หัวใจไม่บั๊กส์, Monsters, Inc. บริษัทรับจ้างหลอน ไม่จำกัด, วอลล์ – อี หุ่นจิ๋วหัวใจเกินร้อย และ ทอยสตอรี่ ชื่อเหล่านี้คุณคงได้ยินผ่านหู ในฐานะแอนิเมชันเรื่องโปรดที่หล่อหลอมวัยเด็กของพวกเราคลุกเคล้าเข้ากับจินตนาการที่ไร้สิ้นสุดของเหล่าตัวการ์ตูนที่สุดแสนจะนึกฝัน 

        ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากฝีมือการสร้างสรรค์ของ ‘พิกซาร์’ แอนิเมชันสตูดิโอที่สามารถออกแบบทั้งตัวละคร เรื่องราว ให้มีชีวิตชีวา เนรมิตความแฟนตาซีของตัวการ์ตูนให้สมจริง สมจัง จนเรียกน้ำตาจากผู้ชมอย่างเราๆ ได้อยู่บ่อยครั้ง 

        อะไรคือเคล็ดลับของ พิกซาร์ สตูดิโอ?

        วันนี้ a day BULLETIN Podcast รายการ About a Brand จะพาผู้ฟังทุกท่านย้อนรอยผ่านตัวการ์ตูนสุดรัก ไปสัมผัสเบื้องหลังการทำงานที่เรียกได้ว่า ทั้งกล้า บ้าบิ่น และไม่สนใจใครทั้งสิ้นของ พิกซาร์ สตูดิโอกัน ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนั้น เราจะขอเล่าผ่านกุญแจชิ้นสำคัญของสตูดิโอผ่านชายที่ชื่อ เอ็ดวิน แคตมัลล์

 

 

        ย้อนกลับไปในปี 1979 นายเอ็ดวิน แคตมัลล์ เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้วยความหลงไหลงานแอนิเมชันที่เขาติดตามผ่านดิสนีย์​สตูดิโอยักใหญ่ในช่วงนั้นอยู่ตลอด เขาจึงยื่นสมัครเข้าลูคัส ฟิล์ม สตูดิโอผลิตหนังชื่อหนังของจอร์จ ลูคัส เจ้าพ่อผู้เนรมิตสงครามจักรวาลอย่าง Star wars

        หน้าที่ของเขาในลูคัสฟิล์มขณะนั้นคือการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญ คือการออกแบบโปรแกรมสำหรับถ่ายทำฉากโบยบินของยานลำโปรดของแฟนคลับสตาร์วอร์อย่าง X Wings และรายละเอียดบางส่วนใน Star Trek II: The Wrath of Khan 

        จนในปี 1983 วงการแอนิเมชันได้เริ่มมีการสั่นสะเทือน กระเพื่อมครั้งใหญ่ โดยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จาก จอห์น ลาสเซตเตอร์ นักวาดภาพเคลื่อนไหวคนสำคัญจากดิสนีย์ ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมวงกับลูคัสฟิล์ม ซึ่งเขาเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ลูคัสฟิล์มกลายเป็นแอนิเมชันสตูดิโอแถวหน้าในอนาคต

        “ลาสเซตเตอร์ เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เก่งนะ ในดิสนีย์เรามองเขาเป็นขุมทรัพย์ทางสมอง เพราะเขามาช่วงรังสรรค์เรื่องราวและตัวละครในดิสนีย์ให้มีความรู้สึกนึกคิด มีอารมณ์มากขึ้น เขาเป็นคนที่ทำให้พวกเรามั่นใจว่า แอนิเมชันที่สร้างขึ้นมาจะเป็นมนุษย์มากกว่าหุ่นยนต์” นี่คือความเห็นของ ทอม สแต็ก หัวหน้าฝ่ายการเงินของดิสนีย์ ต่อเพื่อนร่วมงานที่กำลังไปเป็นกำลังสำคัญให้ลูคัสฟิล์ม

        หน้าที่สำคัญของ ลาสเซตเตอร์ ในแผนกคอมพิวเตอร์คือการออกแบบรูปร่างหน้าตาตัวละครให้มีอารมณ์มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเขาได้ฝากผลงานชิ้นเอกเอาไว้ในยุคนั้นคือ The Adventures of André & Wally B. เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ไปเจอผึ้งกลางป่าใหญ่ ซึ่งเป็นผลงานยุคแรกๆ ของวงการแอนิเมชันที่ตัวละครที่มีความยืดหยุ่น ซับซ้อน และมีการริเริ่มเคลื่อนไหว

 

 

ที่บอกว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกก็เพราะ The Adventures of André & Wally B. เป็นแอนิเมชัน 3D เรื่องแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์แทบทั้งหมด ซึ่งคนที่ผลักดันให้ ลาสเซตเตอร์เลือกจะทำแอนิเมชันแบบนี้ แทนที่จะใช้วิธีวาดรูปแบบ 2D ลงกระดาษ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็น เอ็ดวิน แคตมัลล์ หนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยฝันที่อยากจะพัฒนาวงการแอนิเมชัน 

        เมื่อหยิบอย่าง เอ็ดวิน แคตมัลล์ ที่เก่งในเรื่องซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และหยางอย่าง จอห์น ลาสเซตเตอร์ ผู้คร่ำหวอดในการเสกชีวิตให้กับตัวการ์ตูนมารวมตัวกัน ทำให้ผลงานในยุคนั้นของลูคัสฟิล์มวูบวาบน่าจับตามอง โดยเฉพาะในส่วนของหนังสั้น

        ความโดดเด่นที่เกิดขึ้นทำให้ สตีฟ จ็อบส์ หัวเรือใหญ่จากบริษัทแอปเปิ้ลที่เริ่มเห็นถึงความเก่งกาจของสองหน่อนี้ ตัดสินใจยื่นเงินจำนวน 10 ล้านเหรียญฯ ขอซื้อส่วนหนึ่งของลูคัสฟิล์มที่มีทั้งแอนิเมเตอร์มือฉมังทั้งสองคนนี้อยู่แยกออกมา ก่อนที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่โดยใช้ชื่อว่า พิกซาร์สตูดิโอ ในปี 1986 โดยเบื้องต้น สตีฟ จ็อบส์ วางพิกซาร์ ให้เป็นลูกมือของแอปเปิ้ลด้วยการเป็นบริษัทฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ระดับไฮเอนด์ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักคือพิกซาร์อิมเมจคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นระบบที่จำหน่ายให้กับหน่วยงานราชการและชุมชนทางการแพทย์

        แต่ สตีฟ จ็อบส์ เองก็รู้ว่าสิ่งที่เขาเพิ่งจ่ายเงินไป 10 ล้านดอลลาร์ฯ มีของดีอะไรซ่อนอยู่

        ในสัญญาการซื้อข่ายพิกซาร์สตูดิโอ ระหว่างแอปเปิ้ลกับลูคัสฟิล์ม สตีฟ จ็อบส์ ได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำหรับในการผลิตผลงานแอนิเมชัน ซึ่งจะหยิบระบบพิกซาร์อิมเมจคอมพิวเตอร์มาปรับปรุงเข้ากับ CAPS โครงการเฉพาะของแอปเปิ้ล เพื่อผลิตแอนิเมชันโดยเฉพาะ

        และในที่สุด เอ็ดวิน แคตมัลล์ และ จอห์น ลาสเซตเตอร์ ก็ผลิตผลงานชิ้นแรกภายใต้ชื่อของพิกซาร์ สตูดิโอ ออกมา 

        ทุกครั้งก่อนจะเริ่มดูแอนิเมชันจากค่ายพิกซาร์ คุณอาจจะเคยเห็นแอนิเมชันโปรโมตสตูดิโอที่เป็นเจ้าโคมไฟกำลังเดินไปเหยียบตัว I จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของพิกซาร์สตูดิโอ ความจริงแล้วโลโก้ที่เราเห็นนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก Luxo Jr. แอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องแรกของพิกซาร์สตูดิโอ ที่สร้างชื่อให้กับบริษัทและพัฒนาไปไกลจนถึงขั้นได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมในปี 1987 อีกด้วย

 

 

ความสำเร็จครั้งดังกล่าวส่งผลให้มีบริษัทมากหน้าหลายตาเข้ามายื่นโอกาสมากมาย รวมไปถึงดิสนีย์ที่ตอนนี้เริ่มเห็นแววของบริษัทเล็กๆ แห่งนี้ จึงได้เข้าทำสัญญากับพิกซาร์ สตูดิโอ ว่าจะผลิตแอนิเมชันร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือแอนิเมชันที่ครองใจคนทั้งโลกอย่าง ทอยสตอรี่

        “เรารู้ว่าคอมพิวเตอร์ทำแอนิเมชันแบบไหนได้บ้าง เรารู้ว่าจุดแข็งคืออะไร และเราก็รู้ดีเช่นกันว่าจุดอ่อนคืออะไร การที่จะทำมนุษย์ให้สมจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะไม่ว่าจะทำออกมากี่ที มันก็จะดูเหมือนของเล่นพลาสติกชิ้นหนึ่งมากกว่า พวกเราเลยมาคิดต่อว่า แล้วทำไมเราไม่ทำแอนิเมชันที่เกี่ยวกับของเล่นพลาสติกไปเลยล่ะ”

        ไอเดียง่ายๆ ของ จอห์น ลาสเซตเตอร์ ถูกต่อยอดอย่างรวดเร็วเพราะนอกจากจะกลบปัญหาชิ้นใหญ่ของวงการแอนิเมชันในขณะนั้นอย่างการทำมนุษย์ได้แนบเนียน มันยังเป็นลู่ทางใหม่ที่ไม่เคยมีใครจะทำแอนิเมชันบอกเล่ามุมมองของวัยเด็กผ่านของเล่นเลย 

 

 

        ทอยสตอรี่ จึงกลายเป็นแอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของโลกที่ทำด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกแทบทั้งหมด กวาดเงินไปสูงถึง 373 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างเพียง 30 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น

        “ทอยสตอรี่ สำหรับพวกเราแล้ว มันเป็นแอนิเมชันที่น่ารังเกียจในวงการแอนิเมเตอร์มาก มันมีข้อผิดพลาดมากมาย ความไม่สมจริงของตัวละคร ทุกอย่างดูเป็นงานเร่งไปหมด ดูเป็นงานที่ไร้ซึ่งมาตรฐานของการทำแอนิเมชัน แต่ความที่มันแปลกใหม่ และไม่อยู่ในขนบนี่แหละมั้ง ถึงทำให้มันกลายเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก” เอ็ดวิน แคตมัลล์ ในฐานะประธานใหญ่ของพิกซาร์เคยให้ความเห็นกับแอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของพวกเขา

        หลังจากความสำเร็จของ ทอยสตอรี่ พิกซาร์ก็เลิกทุกกิจการที่ทำอยู่ หันมามุ่งหน้ากับแอนิเมชันขนาดยาวอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งที่ทำให้พิกซาร์หันมาเอาดีทางด้านนี้ ก็เป็นคำแนะนำจากหัวเรือใหญ่อย่าง สตีฟ จ็อบส์ เช่นกัน เอ็ดวิน แคตมัลล์ เคยเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้กินอาหารเย็นกับสตีฟ จ็อบส์ ในซานฟรานซิสโก ในวันนั้นหัวหน้าใหญ่ได้พูดอย่างเปิดอกกับเขา ซึ่งมีประโยคหนึ่งที่จะจดจำอยู่ในหัวใจเขาตลอดชีวิต วันนั้นสตีฟบอกว่า ‘คุณรู้ไหมอายุขัยของคอมพิวเตอร์และบริษัทแอปเปิ้ลของผม มันอาจมีอยู่แค่ 3 ปี แต่สิ่งที่พวกคุณสร้างกันมา มันจะถูกจดจำโดยโลกใบนี้ตลอดไปเลยล่ะ’

        หลังจากนั้น พิกซาร์สตูดิโอก็มีผลงานออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องทั้ง A Bug’s Life (1998), Toy Story 2 (1999), Finding Nemo (2003) และ The Incredibles (2004) จนในช่วงที่เขากำลังจะเริ่มโปรเจ็กต์เรื่อง Cars บริษัท Walt Disney ที่เคยร่วมคว้าความสำเร็จมากับพวกเขา ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อ Pixar Animation Studios  มูลค่าประมาณ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลง เอ็ดวิน แคตมัลล์ และ จอห์น ลาสเซตเตอร์ ยังรับตำแหน่งผู้นำของ Walt Disney Animation Studios Pixar 

        แน่นอนว่าสตีฟ จ๊อบส์ยอมขายบริษัทราคา 7 พันล้านของตัวเอง จากที่เคยซื้อมาในราคา 10 ล้านเท่านั้น และหลังจากนั้นพิกซาร์ สตูดิโอภายใต้ชายคาของ วอลต์ ดิสนีย์ ก็ผลิตงานออกมาสร้างชื่อและเป็นที่รู้จักในถึงปัจจุบัน

 

 

        ฟังดูเหมือนว่าเส้นทางของพิกซาร์จะสวยหรู โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของบริษัทที่เต็มไปด้วยความกล้าบ้าบิ่น จะมีระบบการบริหารและกระบวนการคิดในการทำงานมาแล้วอย่างรอบคอบ

        หากมาว่ากันด้วนเคล็ดลับที่ทำให้พิกซาร์ประสบความสำเร็จ เอ็ดวิน แคตมัลล์ ได้สรุปข้อคิดเอาไว้ในหนังสือ Creativity, Inc. ที่เขียนโดยตัวของเขาเอง ซึ่งเราจะขอหยิบยกเคล็ดลับ 3 ข้อสำคัญที่ทำให้พิกซาร์สตูดิโอกลายเป็นสตูดิโอชั้นนำของโลก

 

1. ไม่ยึดติดกับความซ้ำซาก

        หากมองข้ามงานสร้าง สิ่งสำคัญที่ทำให้แอนิเมชันของพิกซาร์เข้ามาครองใจผู้ชมได้คือการเสาะหาประสบการณ์ในการรับชมแอนิเมชันอันแปลกใหม่มาเล่าเรื่อง พิกซาร์มีกฎลับในการทำงานด้วยการ ‘ไม่’ ทำสิ่งเหล่านี้ที่เป็นขนบของการสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชันลงไปในหนังเด็ดขาด เช่น จะไม่ยอมมีหมู่บ้านแสนสงบสุข ไม่มีเรื่องราวความรัก รวมไปถึงจะไม่มีวายร้าย 

        ซึ่งกฎลับแบบนี้เกิดขึ้นมานั้นเกิดจากความดื้อรั้นต่อดิสนีย์ ที่พยายามตีกรอบผลงานของพิกซาร์สตูดิโอที่ต้องการให้ทำแอนิเมชันตามสูตรสำเร็จ ซึ่งพิกซาร์ สตูดิโอ ที่บุกเบิกสิ่งแปลกใหม่มาตลอด ก็รู้ทันทีว่าการอยู่แต่ในกรอบแบบนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อบริษัทของพวกเขาอย่างแน่นอน

 

2. มาตรฐานการสร้างต้องดีเยี่ยม การ์ดต้องไม่ตก

        ถึงภาพจะออกมาดูเด็กๆ น่ารัก แต่เบื่องหลังของพิกซาร์ สตูดิโอ กลับเต็มไปด้วยทีมงานที่จริงจังในการทำแอนิเมชันอยู่เสมอ นับตั้งแต่ ทอยสตอรี่ ที่แอนิเมเตอร์ส่วนหนึ่งลงทุนใส่รองเท้าที่ติดอยู่บนแผ่นไม้เพื่อที่จะสร้างภาพแอนิเมชันทหารพลาสติก ให้ถูกต้อง ใน Finding Nemo บริษัทก็ได้ส่งให้ทีมแอนิเมเตอร์ไปเรียน มีนวิทยา (Ichthyology) เพื่อให้ทำแอนิเมชันสัตว์ใต้ทะเลต่างๆ ได้ไม่ผิดจากความจริง หรือใน Ratatouille  ก็ให้แอนิเมเตอร์ทำการการเลี้ยงหนูในสตูดิโอตลอดเวลาที่เริ่มถ่ายทำเรื่องนี้

 

3. ระบบ BrainTrust ที่ทำให้เขากลายเป็นสตูดิโอชั้นนำระดับโลก

        นี่เป็นอาวุธชิ้นสำคัญที่สุดของพิกซาร์ สตูดิโอ เพราะในยุคสมัยที่บริษัทอื่นๆ ต่างมีเทคโนโลยี ทรัพยากร และความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่แพ้กัน พิกซาร์ สตูดิโอเริ่มมีการสร้างระบบเพื่อยืนระยะความเป็นหนึ่งให้ยาวนานมากขึ้น

        ระบบที่สำคัญที่สุดคือระบบ BrainTrust ที่ในทุกสามเดือนจะมีการนัดประชุม ซึ่งจะให้สิทธิ์ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเที่ยม ในการประชุมครั้งนั้นจะไม่มีหัวหน้าหรือลูกน้อง ทุกคนสามารถเสนอและสั่งการได้หมด ซึ่งนั่นก็จะทำให้ไอเดียต่างๆ จากพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัทมีสิทธิ์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโปรเจ็กต์ในอนาคตกันถ้วนหน้า ซึ่งหากโปรเจ็กต์ไหนได้ผ่านการคัดเลือก ผู้ที่เสนอก็มีสิทธิ์ในการควบคุม สั่งการ ในขั้นตอนการสร้างแอนิเมชันเรื่องนั้นได้แทบทั้งสิ้น 

        สรุปแล้ว แก่นของความสำเร็จของพิกซาร์สตูดิโอคือ ‘การสร้างสิ่งใหม่’ นี่คือสำคัญที่ เอ็ดวิน แคตมัลล์ วางทิศทางให้บริษัทนี้ตลอด ตั้งแต่การเลือกใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกทำแอนิเมชันทั้งหมด แทนการทำแอนิเมชันแบบวาดมือ การเลือกจะบอกเล่าชีวิตในวัยเด็กผ่านของเล่นแทนที่จะเป็นมนุษย์ รวมไปถึงความกล้าที่จะเผชิญความเสี่ยง ด้วยการลองทำสิ่งแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในวงการแอนิเมชัน

        เพราะสำหรับพิกซาร์ สตูดิโอ ผู้ที่กล้าและบ้าบิ่นเท่านั้น คือคนที่จะยืนอยู่ต้นลำธารและเป็นผู้นำที่ถือครองความสำเร็จได้ตลอดไป

        และนี่คือเรื่องเล่าของพิกซาร์ แอนิเมชันสตูดิโอชั้นนำที่ได้ให้ข้อคิดและบทเรียนแก่เราว่า หากคุณอยากเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่กำลังทำอยู่ จนอย่ากลัวกับความล้มเหลว จงกล้าและลงมือทำไปกับสิ่งใหม่ๆ ที่โลกยังไม่เคยสร้างขึ้นมา