FluidityofChange-BACC

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fludity of Change): สุนทรียศาสตร์ เวลา และสิ่งแวดล้อมในวันพรุ่งนี้

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

       ชื่อนิทรรศการบนผนังสีขาวทรงโค้งด้านหน้า ที่ราวกับทำนาย และท้าทายความสามารถในการลื่นไหลปรับตัวของนิทรรศการนี้ตามที่ศิลปะแต่ชิ้นได้สื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ 

       การเปลี่ยนแปลงที่แรกเริ่มเดิมทีนั้นมาในหัวข้อ ‘บริบทของสุนทรียศาสตร์ เวลา และสิ่งแวดล้อมในวันพรุ่งนี้’ ที่จะพูดถึงความรู้สึกของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่มีต่อศิลปะในอนาคต เพื่อที่จะสื่อสารประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-สิ่งแวดล้อม-และศิลปะ ว่าทุกส่วนล้วนเป็นองคาพยพเดียวกัน และเมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไปนั้น ส่วนอื่นก็ต้องเปลี่ยนแปลง – เป็นเรื่องธรรมดา

       แต่ใครจะไปคิดว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังเตรียมตัวดำเนินการ จนถึงปัจจุบันที่นิทรรศการกำลังดำเนินไป โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เรียกร้องให้เราทุกคน ไม่พ้นวงการศิลปะต้องปรับตัว ลื่นไหลไปตามกระแสธารความเปลี่ยนแปลง 

       a day BULLETIN พูดคุยกับ ‘อาจารย์ก้อง’ – สืบแสง แสงวชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ‘คุณริน’ – รินรดา ณ เชียงใหม่ ผู้จัดการโครงการฝ่ายนิทรรศการ และ ‘คุณโก้’ – อมรแมน เปี่ยมรุ่งเรือง เจ้าหน้าที่ควบคุมการติดตั้งนิทรรศการและประสานงานนิทรรศการ ที่พาเราชมนิทรรศการ ‘20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)’ บนชั้น 9 หอศิลปฯ ถึงที่มาที่ไปของโครงการ ‘Early Years Project’ (EYP) ปีที่ 5 และค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปะที่ศิลปินตั้งใจสื่อสาร และเข้าชมนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Tour การปรับตัวยศิลปะเข้าสู่โลกออนไลน์เป็นครั้งแรกของหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (bacc)

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

นิทรรศการ ‘เปลี่ยน’ ที่เป็นผลจากความตั้งใจบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่เปลี่ยนแปลง 

       อาจารย์ก้อง : EYP คือโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ คนอาจรู้จักกันว่าเป็นการประกวดศิลปิน แต่มันมากกว่านั้น มันเป็นการสอนศิลปินให้ทำงานเป็นในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การเขียน proposal ขอทุน การสื่อสารความคิดตัวเอง การนำเสนองาน ไปจนถึงการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทั้งภัณฑารักษ์ ผู้ให้ทุน ผู้ติดตั้งงาน คนมากมายที่เขาต้องทำงานร่วมด้วยตลอดกระบวนการในการจัดงานศิลปะครั้งหนึ่ง

       เราใช้คำว่าบ่มเพาะ เพราะมันคือการเตรียมตัวพวกเขา และสร้างเครือข่ายที่ไม่ใช่เฉพาะศิลปินด้วยกัน แต่ยังรวมถึงเครือข่ายนักวิชาการ นักวิจารณ์ ภาคประชาสังคม หรือหอศิลปฯ เอง 

วิวัฒนาการของ EYP จากปีที่ 1 ถึงปีที่ 5

       คุณริน : ในโครงการ ศิลปินจะได้ทำงานกับฝ่ายการศึกษาผ่าน critique session ที่จะมีนักวิชาการมาช่วยวิจารณ์งานของเขา 

       อาจารย์ก้อง : เพื่อให้ศิลปินทำงานได้สมบูรณ์ที่สุด สมบูรณ์ขั้นแรกในความรู้สึกของศิลปินเอง สอง เมื่อได้มุมมองเสริมจากคณะกรรมการ และสุดท้ายเมื่อเขาตัดสินใจว่างานนี้จะเป็นอย่างไร เขาออกแบบได้เลยว่างานนี้จะเป็นงานชิ้นที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง หรือมันจะเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ต่อๆไป 

       อาจารย์ก้อง : ปีนี้เราได้ผู้เชิญประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ตั้งแต่ 1. คุณไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปินร่วมสมัย และนักแสดงคุณภาพ สื่อสารมุมมองผ่านความหลากหลายทางเพศ 2. ผศ. ดร. ประพล คำจิ่ม อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก 3. ผศ. ดร. ศุภชัย อารีรุ่งเรือง นักวิจารณ์ และอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 4. คุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินร่วมสมัยหญิงและนักภูมิสถาปนิก มีประสบการณ์ด้านการทำงานกับพื้นที่เฉพาะ และ 5. คุณสุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จากบริษัท Millcon Steel ผู้สนับสนุนนิทรรศการ ที่จะเป็นตัวแทนมุมมองผู้ชมที่ไม่ได้มีความรู้ด้านศิลปะโดยตรง ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะถ้าหากคนดูบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง ศิลปินก็ต้องทบทวนการสื่อสารใหม่ 

มุมมองที่หลากหลายมากขึ้นของคณะกรรมการ ส่งผลต่องานศิลปะมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

       อาจารย์ก้อง : ความเป็น hybridity เป็นลักษณะของคนในยุคสมัยนี้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ความเป็น multifunction ต่างๆ ก็เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนทำงานวงการนี้ เช่น คนประสานงานโครงการต้องวิจารณ์งานได้ สื่อสารกับคนดูได้ ฯลฯ แต่สุดท้ายศิลปินเขาจะสร้างสรรค์งานแบบไหน อันนี้เราไม่ก้าวก่าย

ในความหลากหลายของผลงาน และแบ็กกราวด์ศิลปิน เราเห็นจุดร่วมอะไรที่ปรากฏในงานศิลปะของศิลปินยุคสมัยนี้บ้าง

       อาจารย์ก้อง : ที่เห็นชัดเลยคือมิติเรื่อง interaction ความสัมพันธ์ ระหว่างคนดู – ผลงานของศิลปิน – และพื้นที่

       ก่อนหน้านี้ศิลปะจะมีความเป็น passive คือเมื่อศิลปินทำเสร็จ งานก็เสร็จแล้ว แต่สมัยนี้ศิลปินรู้สึกว่างานศิลปะไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ในตัวมันเองอีกแล้ว แม้แต่ศิลปินระดับโลก งานก็ดูออกมาในลักษณะที่เปิดให้ผู้ชมมาร่วมสร้าง co-create ผลงานศิลปะกันมากขึ้น โดยที่งานมันเรียกให้คนเข้ามามีส่วนร่วมเอง มันไม่ใช่แค่การติดป้ายบอกว่า จับได้ สัมผัสได้ อีกแล้ว

       สิ่งนี้มันก็สะท้อนให้เห็นว่าคนมีความต้องการความสัมพันธ์มากขึ้น ธรรมชาติเราเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว  

       คุณโก้ : การสร้างประสบการณ์ร่วมมันก็ช่วยทำให้ผู้คนจดจำงานศิลปะได้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะมาตลอด เวลาหอศิลปฯ มีงาน คนไม่ได้แค่อยากมาเดินเฉยๆ เขาอยากมีส่วนร่วมด้วย มันก็เป็นกระแส เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ศิลปินบางคนแค่อยากสร้างสรรค์งาน ไม่ได้เรียกร้องให้คนมาปฏิสัมพันธ์อะไร แบบนี้ก็ได้ ไม่เป็นไร 

 

FluidityofChange-BACC

นอกจาก interaction ระหว่างงานศิลปะและผู้ชม ยังมีจุดร่วมอื่นๆ ในผลงานของศิลปินทั้ง 8 คน อีกไหม

       อาจารย์ก้อง : นอกจากน้ันก็ยังมีเรื่องการใช้วัสดุเหลือใช้ ซึ่งมันเป็นธีมของหอศิลปฯ ปีนี้ด้วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่กระแสการนำวัสดุเก่ามาใช้ใหม่มันมาอยู่แล้ว และความเป็นท้องถิ่น ซึ่งสองจุดร่วมนี้มันก็ทำให้เกิดอีกจุดร่วมตามมา คือความเป็น craftmanship ความเป็นหัตถศิลป์ งานฝีมือต่างๆ 

       คุณริน : อีกคุณลักษณะพิเศษของงานปีนี้คือการจัดพื้นที่ของอาจารย์ก้องและพี่โก้ ปกติงานแต่ละชิ้นจะจัดแสดงแยก มีห้อง หรือมีฉากกั้น แต่ปีนี้เป็นพื้นที่เปิดกว้าง ศิลปินต้องหาทางจัดแสดงงานร่วมกับคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน 

       อาจารย์ก้อง : เราอยากฝึกศิลปินในโครงการให้ได้เรียนรู้ว่างานศิลปะไม่ใช่ทำเสร็จแล้วเสร็จเลย คุณต้องรู้จักการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ช่วยคุณติดตั้งงานให้สำเร็จลุล่วงได้

งานศิลปะยุคใหม่ดูเชิญชวนให้ศิลปินและผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ผ่านชิ้นงานกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้พื้นที่ร่วมกันมากกว่าเคย แต่การเปลี่ยนแปลงฉับพลันตอนนี้ดูจะผลักโลกให้เป็น contact-free world และต่างคนต่างอยู่ในพื้นที่ตัวเอง คิดว่าโลกศิลปะหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร และศิลปินควรปรับตัวอย่างไร

       อาจารย์ก้อง : ในเรื่องความต้องการ คิดว่าจากที่คนโหยหา craftmanship มากขึ้นอยู่แล้ว คนจะยิ่งโหยหาความประณีต ความใกล้ชิด ผลผลิตจากคนสู่คนมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ทุกฝ่ายในงานศิลปะก็ต้องปรับตัว โดยที่เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องพื้นที่ งานอาจไม่สามารถถูกจำกัดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้อีกแล้ว แต่อาจจะต้องกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ที่มีผู้ชมเล็กลง หรือถ้าจะเปิดกว้าง ก็คงต้องอาศัยพื้นที่ออนไลน์ ในการเข้าถึงผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น

        นอกจากนั้น การใช้งบประมาณก็จะต้องถูกคิดใหม่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ในขณะที่เราดูข่าวตอนนี้ มีคนลำบาก อดอยาก ฆ่าตัวตาย จะมาจัดงานศิลปะใช้งบหลายล้านก็ต้องคิดใหม่เหมือนกัน ทำอย่างไรเงินที่ใช้ไปจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่ก่อนคนอาจจะคิดว่าศิลปะยิ่งดูไม่รู้เรื่อง ยิ่งเป็นศิลปะ แต่มันจะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว คิดว่าความเป็นพื้นที่เฉพาะถิ่นจะมีมากยิ่งขึ้น งานจะไม่เป็นลักษณะ internationalism แล้ว ตอนนี้ก็ดูว่าศิลปินหันมามองสิ่งที่อยู่รอบตัวทั้งวัสดุ ชุมชนมากขึ้น 

       คุณริน : เราเชื่อในความเป็นสถาบันศิลปะ แต่ตอนนี้เราอาจต้องกลับด้านพีระมิดใหม่ ไม่ใช่ฐานกว้าง หอคอยอยู่บนยอดอีกต่อไปแล้ว คิดว่าจากศิลปะที่มาจากสถาบัน จะเปลี่ยนเป็นศิลปะที่มาจากความเป็น network เครือข่ายของศิลปินที่ทำงานร่วมกันในกลุ่มย่อยมากขึ้น

Virtual Tour ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย อยากเชิญชวนอะไรให้คนมารับชมงานนิทรรศการศิลปะในรูปแบบใหม่นี้

       อาจารย์ก้อง : นี่เป็นนิทรรศการที่เกิดขึ้นในช่วงข้อต่อของโควิด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 จนถึงตอนนี้ที่ท้าทายศิลปิน คนทำงานทุกฝ่ายมากว่าจะปรับตัวอย่างไร ถ้าพื้นที่จัดแสดงหลักอย่างหอศิลปฯ เปิดให้เข้าชมไม่ได้

       นี่อาจเป็นการบันทึกทางสังคมผ่านงานศิลปะ ที่ทำให้เกิดภาพ nostalgia ว่าโลกก่อนโควิด-19 นั้นเคยเป็นอย่างไร 

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘อิสระ ตื่นอยู่ เบิกบาน สงบเย็น’
โดย รัตนา สุจริต

       เมื่อเดินเข้าห้องมาก็พบกับแสงไฟสีม่วงชมพูสะดุดตา เหนือกล่องใสที่มีต้นกล้ากำลังถูกบ่มเพาะอยู่ข้างใน ผลงานที่เล่นกับความเป็นพื้นที่และเวลา ที่ชิ้นงานจะเปลี่ยนไปตามการเติบโตของต้นกล้า และความท้าทายของการนำพืชมาเพาะปลูกในอาคาร โดยอาศัยเพียงแค่แสงไฟนีออนที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่มนุษย์พยายามใช้เทคโนโลยีควบคุมธรรมชาติ แต่ความท้าทายในการเพาะปลูกพืชในอาคาร ก็ดูจะตั้งคำถามต่อความพยายามของมนุษย์นี้ไปในตัว

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘Social Weaving, An Artistic Research Project’
โดย อวิกา สมัครสมาน

       ‘Multifunctionality’ ที่อาจารย์ก้องพูดถึงระหว่างการสัมภาษณ์ว่าเป็นหนึ่งในคุณลักษณะร่วมกันที่พบในศิลปินรุ่นใหม่ ที่สะท้อนผ่านผลงาน ‘Social Weaving’ ได้อย่างชัดเจน กับเครื่องทอผ้าสีสันสดใส แต่ในขณะเดียวกันก็ละม้ายคล้ายคลึงกับเครื่องออกกำลังกายในสวนสาธารณะ ที่ศิลปินได้ประสานสองสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน เปลี่ยนกิจกรรมอย่างการทอผ้า และการออกกำลังกายที่ปกติแล้วต่างคนต่างทำให้กลายมาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้การผลิต (production) ไม่โดดเดี่ยว ไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากผู้คนอย่างเช่นเคย 

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘Home for Heaven’
โดย ญาณุศักดิ์ เนาว์แสง

       ‘ตุง’ งานฝีมือชิ้นเล็กที่เมื่อนำมาปะติดปะต่อแล้วกลายเป็นงานศิลปะรูปบ้านชิ้นใหญ่ คล้ายกับประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่ถักทอความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันก็ล้วนถูกสร้างสรรค์มาจากความผูกพันของคนแต่ละคนทั้งนั้น และไม่ใช่แค่ความรักระหว่างคนกับคนเท่านั้น หากบ้านที่สร้างจากตุงนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อของ ‘ศาลตาศาลยาย’ ที่มีความหมายถึงความผูกพันระหว่างคนเป็น คนตาย สปิริต จิตวิญญาณของบรรพบุรุษ และผีบ้านผีเรือนที่ปกป้องคุ้มครองพวกเขาด้วยเช่นกัน

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘ตาบอดคลำช้าง’
โดย ธนนันท์ ใจสว่าง

       ‘ตาบอดคลำช้าง’ ในความหมายตามพจนานุกรมไทยอาจมีความหมายไม่ดีเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่กับงานชิ้นนี้ที่น่าสนใจทั้งความหมายที่ซ่อนอยู่และกระบวนการผลิตที่ศิลปินทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตา ผ่านการแปลงภาพวาดช้างในความรู้สึกและแปลงจินตนาการเป็นงานประติมากรรมด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้หลากหลาย ที่เลียนแบบเส้นสายที่ผู้พิการได้วาดออกมา และเปิดให้ผู้ชมได้ลองคลำสัมผัสช้างในจินตนาการผ่านผิวสัมผัสที่ต่างไปโดยมีช้างเป็นตัวกลางเชื่อมต่อความรู้สึกระหว่างผู้พิการทางสายตา-ศิลปิน-ผู้ชม

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘ฉันไม่ปรากฏ ฉันจึงมีอยู่’
โดย
สรีนา สัตถาผล

       นั่งร้านก่อสร้าง และถุงกระสอบลายทางสีสันสดใส หรือที่เรียกติดตลกกันว่า ‘ถุง Balenciaga’ เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นตา แต่ไม่คุ้นชินกันเท่าไหร่ในการถูกนำมาใช้เป็นเบื้องหน้าการจัดแสดง – อย่างมากก็เพียงเป็นสิ่งที่ถูกใช้งานอยู่เบื้องหลังแล้วหายไป ไม่ต่างอะไรกับ live performance ชิ้นนี้ที่ศิลปินเลือกใช้วัสดุพื้นบ้าน สัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงานมาประกอบการแสดงที่เปลี่ยนไปแต่ละครั้ง ที่ได้ยินว่าทรงพลังทุกครั้งเมื่อเหล่านักแสดงรวมตัวกันหิ้วถุงกระสอบสีสันจัดจ้านเดินไปในย่านศูนย์การค้าใจกลางเมือง ก่อนที่จะหายไป – หายไปในถุงใบนั้น ไม่ต่างจากชีวิตที่หายไปในข้าวของแบรนด์เนมเหล่านั้นในความเป็นจริง

 

FluidityofChange-BACC

‘เรื่องเล่า 796 กิโลเมตร: บทสนทนาระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ’
โดย รัตนกานต์ กาญจนพันธุ์บุญ

       ผ้าสีเทาหม่นถูกแขวนไว้มุมห้องฝั่งหนึ่งของนิทรรศการ สีมืดๆ มัวๆ ทำให้เราเกือบเดินผ่านด้วยซ้ำ จนกระทั่งเห็นเศษเขม่าดำบนพื้นห้อง และกลิ่น ที่ไม่รุนแรงแต่ก็ระคายจมูกพอให้หันกลับมามองงานศิลปะชิ้นนี้ ที่ประสบการณ์ก่อนจะได้ชมงานนั้นสะท้อนสภาพปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือได้สมจริง ปัญหาที่ยิ่งเกิดขึ้นนาน ยิ่งดูจะผ่านความสนใจของผู้คนไป แต่ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ ในสักวันเศษเขม่าควันก็จะเข้าตา กลิ่นเผาไหม้ก็จะกระทบจมูก รบกวนการใช้ชีวิตจนเราต้องหันกลับมามองอยู่ดี – สิ่งเดียวที่ต่างไป ก็แค่เพียงในชีวิตจริง การหันกลับมามองวันนั้น อาจจะสายไป

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)v

‘Mainstay of Three Times / The Pillar Monument’
โดย สุชน สุจิต

       หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมบริษัทผลิตและจำหน่ายเหล็กถึงมาสนับสนุนการจัดนิทรรศการศิลปะ แต่คำถามนั้นอาจหมดไปเมื่อได้เห็นงานประติมากรรมเหล็กเชื่อมที่ตั้งอยู่กลางห้องจัดแสดงสุดท้ายชิ้นนี้ งานที่ทำจากเหล็กเก่ามีสนิมขึ้นเลียนแบบกระดูกสันหลังของมนุษย์ที่บิดเบี้ยว คุดคู้ลงบนแผ่นกระดานเหล็กใบใหญ่ที่เปิดให้ผู้ชมสามารถเขียนระบายความรู้สึกใดๆ ออกมาได้ การสื่อสารอย่างอิสระ จากจิตใต้สำนึกที่ทำงานคล้ายกับกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์จิตใจของมนุษย์ แต่ในบางครั้งมนุษย์ที่มีกระดูกสันหลังตั้งตรงกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากสัตว์ที่มีกระดูกสัตว์หลังแนวขวางตามพื้นโลก หรือที่เรียกกันว่าสัตว์เดรัจฉานนั่นเอง 

 

20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fluidity of Change)

‘Soul / The myth / Giant / instagram.com/ronarong.b / Absurd’
โดย รณรงค์ บุตรทองแก้ว

       ลายเส้นเรียบง่ายแต่แน่นรกเต็มแคนวาสดูสับสนวุ่นวาย คล้ายกับความรู้สึกของศิลปินในแต่ละวันที่ต้องพบเจอผู้คนในสังคมที่เราต่างดิ้นรน จนต้องหาทางระบายออกมาเป็นลายเส้นดิบๆ ตรงไปตรงมาต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพื่อบันทึกความรู้สึกนั้นออกมา การผสมผสานระหว่างงานฝีมืออย่างการวาดภาพและการใช้เทคโนโลยีภาพพิมพ์อิงก์เจ็ตบนกล่องไฟที่ทำให้เกิดงานโมชันกราฟิก ดูจะเป็นเทคนิคที่สะท้อนงานศิลปะร่วมสมัยที่ประยุกต์ใช้ ‘the best of both worlds’ สิ่งที่ดีที่สุดของโลก manual และ automated ได้เป็นอย่างดี

 

       “การปรับตัวนั้นเกิดขึ้นแน่นอน อย่าไปกังวลใจกับมัน”

       อาจารย์ก้องทวนชื่อนิทรรศการ ‘20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fludity of Change)’ บนผนังสีขาวอีกครั้งหลังเราเดินบรรจบกลับมายังจุดเริ่มต้นของทางเข้าชมนิทรรศการ 

       ในวันที่ใครต่อใครต่างพูดถึง ‘New Normal’ ทำนายทายทักว่าโลกใหม่จะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องทำนาย เพราะไม่ว่าจะรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะยังคงดำเนินต่อไปในกระแสธารของการแปรเปลี่ยนที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ปรับตัวตามอยู่ทุกวัน 

 


นิทรรศการ ‘20/20 ‘เปลี่ยน’ (Fludity of Change)’ จัดที่ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 กันยายน 2563 หรือเข้าชมนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Tour ได้ที่นี่