เลือกตั้ง 62

เลือกตั้ง 62: ผ่านไปแบบ ‘งงๆ’ ไว้ครั้งหน้า ‘จับตา’ กันใหม่ โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

เลือกตั้ง 62 ผ่านไปแบบ ‘งงๆ’ ระหว่างที่ประชาชนผู้ติดตามผลการเลือกตั้งยังคงสับสนกับความวุ่นวายในคืนการนับคะแนนและการรายงานผลคะแนน กกต. ก็พยายามจนสำเร็จที่จะไม่ชี้แจงและไม่ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็เดินหน้าไป เปลี่ยนประเด็นความสนใจให้มุ่งไปที่การจับมือกันของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งการซื้อตัวย้ายข้าง และการเปลี่ยนสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ฯลฯ

        เมื่อสามารถเปิดสภา เอา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาได้ ก็มีเรื่องราวตามมาอีกมากมาย จนสุดท้ายปมปัญหาต่างๆ ระหว่างการนับคะแนนและรายงานผลที่ยังไม่ถูกคลี่คลายก็เหลือพื้นที่ให้พูดถึงกันน้อยลง

        รู้หรือไม่ว่า สิบวันก่อนเลือกตั้ง พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เคยบอกกับประชาชนว่า การรายงานผลคะแนนจะใช้แอพพลิเคชัน Rapid Report และจะทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นเช่นนั้น—จนถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ผลคะแนนยังคงขึ้นๆ ลงๆ ไม่หยุดนิ่ง

        จำได้หรือไม่ว่า ในคืนวันที่ 24 มีนาคม อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวในเวลาประมาณ 21.27 น. ระหว่างที่ทุกคนยังตกอกตกใจกับผลคะแนนที่ขึ้นๆ ลงๆ อยู่นั่นเอง นอกจากเขาจะบอกว่า ไม่มีเครื่องคิดเลขสำหรับการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว เขายังบอกว่า “นับคะแนนไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์” ทั้งที่ผลคะแนนที่ถูกรายงานสู่สาธารณชนในช่วงเวลานั้นอยู่ที่ราว 66 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

        เคยทราบกันหรือไม่ว่า ช่วงสายของวันที่ 25 มีนาคม นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. อธิบายว่า กกต. จะประกาศคะแนนของผู้สมัครเพียง 94 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะบางเขตอาจมีเรื่องร้องเรียนให้ต้องตรวจสอบก่อน และอีกสามวันถัดมาจึงประกาศคะแนนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่า คะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สมัครกว่า 300 คน ได้น้อยกว่าคะแนน 94 เปอร์เซ็นต์ โดยความเปลี่ยนแปลงช่วงนี้ทำให้มีผลพลิกแพ้ชนะกันอย่างน้อยสองเขต

        แม้ความผิดปกติทั้งหมดนี้ กกต. จะบอกกับสาธารณชนว่าเป็นเพียงแค่ Human Error และได้แก้ไขแล้ว แต่กรณีที่ชัดเจนที่สุดของ ‘พรรคเพื่อนไทย’ ที่ผู้สมัครถูกตัดสิทธิไปแล้วทุกคนแต่มีคะแนนโผล่รวม 7 เขต กว่าสามแสนคะแนน กว่าจะแก้ไขได้กลับต้องรอถึงช่วงสายของวันรุ่งขึ้น ส่วนคะแนนที่ขึ้นๆ ลงๆ บวกๆ ลบๆ ช่วงค่ำและดึกของวันที่ 24 มีนาคม กลับไม่มีคำอธิบาย

        สาเหตุที่การเลือกตั้งรอบนี้มีคนหันมาสนใจ ตื่นตัว และตั้งคำถามกับการรายงานผลคะแนนมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะผลจาก กกต. ที่ออกมาแปลกๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมีภาพถ่าย คลิปวิดีโอ จากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ที่ปรากฏเป็นหลักฐานการนับคะแนนผิด บวกเลขผิด ขานคะแนนผิด ฯลฯ จนเป็นผลให้บางพรรคการเมืองได้ประโยชน์ ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ก็มาจากคนธรรมดาทุกคน

        เลือกตั้งผ่านมาจะเกือบปีแล้ว การเมืองไทยนับจากวันนั้นก็เดินหน้าไปแบบทุลักทุเล ความโปร่งใสและคำอธิบายจาก กกต. ยังไม่มี จนหลายคนเหนื่อยที่จะถามหากันอีกต่อไป 

        การเลือกตั้งครั้งหน้าๆ (ถ้ามี) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือเลือกตั้ง ส.ส. จะยังคงเป็นไปภายใต้กติกาที่ คสช. ออกแบบไว้ให้ตัวเองได้ประโยชน์ และควบคุมโดย กกต. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ชุดนี้ชุดเดิม ดังนั้น จึงคาดหวังได้ว่าอาจจะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ ไร้คำอธิบายขึ้นระหว่างการเลือกตั้งได้อีกมาก

        การ ‘จับตา’ โดยประชาชนคนธรรมดาที่เคยกระทำกัน จนสร้างความปวดหัวหนักใจให้กับคนมีอำนาจจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป แต่ต้องเพิ่มความจริงจังมากขึ้น เข้มข้นมากขึ้น เป็นระบบและเชื่อถือได้มากขึ้น องค์กรเอกชนที่จะร่วมมือกันสร้างระบบจับตาการเลือกตั้งขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีอยู่มากมาย แต่สำคัญกว่าคือ ต้องการอาสาสมัครคุณภาพจำนวนมาก ที่พร้อมลงแรงเพื่อสร้างการเลือกตั้งที่โปร่งใส 

        หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศมีมากกว่า 90,000 หน่วย ก็ต้องฝันอยากเห็นอาสาสมัครช่วยกันจับตาการเลือกตั้งครั้งหน้าๆ ครั้งละมากกว่า 90,000 คน

        คนไทยมีตั้งหกสิบล้าน… สบายอยู่แล้ว…

 


เรื่อง: ‘เป๋า’ – ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)