PM 2.5 จะเป็นคำที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยไปตลอดกาล จะมาเยี่ยมเยียนเราทุกปีแบบไม่มีวันพรากจากกัน มันจะมาพร้อมกับความหนาว ท่ามกลางอากาศเย็นที่คนเมืองหลวงรอคอย
ช่วงปลายฝนต้นหนาว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม เพราะความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่คลุมลงมาทั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมไม่พัด ตื่นเช้ามาจึงเห็นมหานครในหมอก ทว่าไม่ใช่ ‘หมอกขาว’ แต่เป็น ‘หมอกควันพิษ’ จากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ลอยปกคลุมมหานครเพราะไม่มีลมช่วยถ่ายเท
1
ผู้คนในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยในแถบภาคกลาง ต้องสูดลมหายใจที่เต็มไปด้วยฝุ่นขนาดเล็กจิ๋ว หรือ PM 2.5 อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูกของเราที่คอยทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงเล็ดลอดแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย
ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องประสบปัญหา PM 2.5 ผู้คนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือต่างก็ประสบปัญหาหมอกควันพิษอย่างรุนแรงจากการเผาซากพืชเกษตรกรรมในไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนการเผาป่าเพื่อบุกรุกพื้นที่เพาะปลูก
ที่สำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ชาวบ้านทางภาคเหนือจะประสบปัญหารุนแรงมากกว่าทุกภาคในประเทศ โดยสะท้อนจากการที่ค่า PM 2.5 ในพื้นที่มีความรุนแรงติดอันดับโลกทุกปี
ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว พี่น้องทางภาคใต้ก็หนีไม่พ้นปัญหาหมอกควันพิษเช่นกัน แต่เป็นหมอกควันพิษที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ หากแต่เป็นหมอกควันพิษที่ลอยมาจากเกาะในประเทศอินโดนีเซีย จากการเผาป่าและเผาซากไร่ปาล์มน้ำมันเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
2
หมอกควันพิษเป็นปัญหาใหญ่ของมหานครระดับโลก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศปีละประมาณ 7 ล้านคน จากโรคหัวใจ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคทางเดินหายใจ
เมื่อห้าหกสิบปีก่อน กรุงลอนดอนก็เคยประสบปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมจนส่งผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของเขาจัดการปัญหาอย่างจริงจังด้วยการย้ายโรงงานถ่านหิน ปิดโรงงานจำนวนมาก สร้างเลนจักรยาน ระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ ปลูกต้นไม้ รวมถึงเพิ่มสวนสาธารณะ จนทุกวันนี้ลอนดอนกลายเป็นมหานครที่มีอากาศดีในอันดับต้นๆ ของโลก
หรืออย่างจีน ที่นับเป็นตัวอย่างประเทศที่สุดแสนเลวร้ายในปัญหาหมอกควันพิษ เพราะปัญหาเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้ปักกิ่งและมหานครใหญ่ๆ ของจีนถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษแทบจะตลอดเวลา
หมอกควันพิษมาพร้อมกับความมุ่งหวังของรัฐบาลจีนที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดมาหลายสิบปี การสร้างอาคารสูงมากมาย การก่อสร้าง ควันจากท่อไอเสียรถหลายสิบล้านคัน สะสมกันนานเข้าจนกลายเป็นเมืองแห่งหมอกควันพิษโดยสิ้นเชิง
3
ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นผลกระทบระยะยาว ใช้เวลาสะสมนาน ก่อนจะส่งผลอย่างจริงจัง และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแก้ไขได้
แต่หลายปีก่อนรัฐบาลปักกิ่งเริ่มตื่นตัวและลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างเช่น เมื่อปริมาณหมอกควันพิษเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จะออกมาตรการชัดเจน อาทิ ปิดโรงเรียนบางแห่ง ห้ามคนออกจากบ้านบางช่วง ยุติการก่อสร้างทั้งหมดโดยสิ้นเชิง จำกัดการใช้รถยนต์ และที่สำคัญคือห้ามหน่วยราชการใช้รถยนต์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน
ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลจีนได้อนุมัติเงินนับแสนล้านบาทเพื่อทำให้หมอกควันพิษจางลง อาทิ สนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าด้วยการลดภาษีกับคนซื้อรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงาน กำจัดรถเก่าที่ปล่อยควันดำเป็นจำนวนหลายล้านคัน ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปิดโรงงานที่ปล่อยควันพิษอย่างเด็ดขาด และควบคุมการก่อสร้างอาคารอย่างเคร่งครัด
ดูเหมือนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกับจีนมีบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือเร่งการเจริญเติบโต ไม่ว่าเป็นเรื่องการก่อสร้าง ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ สะสมตัวขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดปัญหาลุกลามจนยากที่จะแก้ไข
4
ตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลไทยยังงัวเงีย
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยไม่เคยยอมรับว่ามลพิษทางอากาศเป็นวิกฤตใหญ่ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข หากใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ อาทิ ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ฉีดน้ำ รอให้ฝนตก หรือพอมีข่าวใหญ่ก็ไปตั้งด่านวัดระดับควันดำของท่อไอเสีย หรือส่งคนไปตรวจตามสถานที่ก่อสร้างหรือโรงงาน
ถามว่า แม้รัฐบาลจะมีแผนมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาต้นเหตุอย่างจริงจัง อาทิ การปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซล การจัดการอย่างเฉียบขาดกับโรงงานที่ทำผิด แต่พอเอาเข้าจริง รัฐบาลจะกล้าทำสักแค่ไหนกัน เพราะการทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายแห่ง—แถมที่ผ่านมายังมีการออกกฎหมายให้ตั้งโรงงานคุณภาพต่ำได้อย่างง่ายดาย ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างมลภาวะทางอากาศซ้ำเติมเข้าไปอีก—มาตรการของรัฐบาลที่ประกาศออกมาจึงมักเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
รัฐบาลไทยไม่เคยสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ แต่ใช้วิธีลูบหน้าปะจมูกมาโดยตลอด ประชาชนจึงต้องช่วยเหลือตัวเองกันต่อไป อาทิ หมั่นตรวจดูคุณภาพอากาศทุกวัน ใช้หน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย รวมถึงงดออกกำลังกายกลางแจ้งในบางช่วง ฯลฯ
PM 2.5 จะอยู่คู่ชีวิตเราไปตลอด ตราบใดที่เราไม่มีรัฐบาลที่จะสนใจคุณภาพชีวิตของคนเดินถนนอย่างจริงจัง