Forex 3D

Forex 3D: อย่าหลงกลในผลตอบแทนที่สูงเวอร์ โดย ถนอม เกตุเอม

“พวกนี้มันโง่หรือเปล่า ไปลงทุนในอะไรก็ไม่รู้ที่เขาการันตีว่าจะได้ผลตอบแทนสูง ทั้งๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้”

        ผมมักจะเห็นข้อความแบบนี้ในคอมเมนต์ที่พูดถึงข่าวแชร์ลูกโซ่ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะบรรดาวงแชร์ออนไลน์ของแม่ต่างๆ หรือชื่อเรียกเท่ๆ อย่าง Forex 3D บ้าง ลงทุนในเทคโนโลยีต่างประเทศบ้าง แล้วแต่ว่าผู้ชักชวนจะสรรค์สร้างชื่ออะไรมาทำให้ดูน่าเชื่อถือ (แต่สุดท้ายก็จบลงแบบเดียวกันอยู่ดี)

        เอาเป็นว่า ถ้าพูดแบบรักษาความรู้สึกของผู้ฟัง คำพูดข้างต้นคงจะเปลี่ยนเป็นว่า คนทุกคนมีความรู้ในการลงทุนที่แตกต่างกัน และคนบางคนก็ไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำว่ากำลังลงทุนในอะไร เพราะเขาไม่รู้และไม่เข้าใจในการลงทุนนั่นเอง

 

        จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมนึกถึง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก เขาเคยพูดถึงกฎการลงทุนของเขาไว้ 2 ข้อว่า ข้อแรกคืออย่าขาดทุน และข้อที่สองคืออย่าลืมกฎข้อแรก

        ถ้าหากเรายึดกฎการลงทุนทั้งสองข้อของบัฟเฟตต์มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนจริง ผมเชื่อว่าหลายคนจะไม่กล้าลงทุนแบบมั่วซั่วเพราะกลัวขาดทุน และจะเริ่มตัดสินใจลงทุนจากสิ่งที่ตัวเองเข้าใจจริงๆ นั่นคือรู้ว่าตัวเองลงทุนในอะไรอยู่ และรู้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับมันเป็นไปได้ไหม ถ้ามันมากเกินไปจนไม่น่าเชื่อ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

        สมัยก่อน ผมมีคติประจำใจข้อหนึ่งที่คอยเตือนตัวเองเวลาเห็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีๆ เวอร์ๆ นั่นคือ “ถ้ามันดีขนาดนั้น คนก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว เขาคงมาลงทุนแบบนี้กันหมดทั้งโลกแล้วล่ะ เพราะบัฟเฟตต์ที่ว่าลงทุนเก่งๆ ยังได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปีเท่านั้น”

        แต่คำพูดที่ถูกเอามาหักล้างสิ่งในที่ผมพูดมักจะเป็นคำพูดในทำนองว่า “ไม่เห็น ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มี” หรือถ้าคนพูดมั่นใจในตัวเองยิ่งกว่านั้น อาจจะเปลี่ยนเป็นคำว่า “บัฟเฟตต์ไม่ใช่พ่อ เขาทำไม่ได้ แต่เราทำได้ไง” (ฮา) โดยที่ไม่เกรงใจคำว่านักลงทุนอันดับต้นๆ ของโลกเลยแม้แต่น้อย

        เมื่อได้ยินคำหักล้างแบบนี้บ่อยๆ ผมเลยคิดว่า สิ่งที่เราควรสอนให้สังคมรับรู้และป้องกันในเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ว่าเริ่มต้นแก้จากตัวเองก่อน โดยการเรียนรู้ในสิ่งที่ลงทุน แต่ให้มองไปที่คนอื่นแทนดีกว่า ด้วยคำถามใหม่ว่า “ถ้าเงินลงทุนนั้นพังขึ้นมา จะมีใครลำบากไปกับเราบ้าง”

        ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอาเงินไปลงทุนใน XXX แล้วเงินหายไปทั้งหมด จะเกิดปัญหากับใครบ้าง เช่น ตัวเราเองไม่มีเงินใช้จ่าย คนรอบตัวที่เราไปขอเงินเขามาต้องชีวิตพังทลาย หนี้ที่ต้องผ่อน รายได้สำหรับจุนเจือครอบครัวไม่มีเหลือ หรือพูดง่ายๆ คือทบทวนให้ดีเสียก่อนว่าจะมีใครซวยเพราะการตัดสินใจของเราบ้าง คำถามแบบนี้น่าจะเหมาะสมกว่ามาคอยพร่ำสอนว่าเราต้องรู้และเข้าใจในสิ่งที่ลงทุน เพราะในยุคที่โลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว จนเราสนใจความรู้สึกคนรอบข้างน้อยกว่าตัวเอง

 

        ท้ายที่สุดแล้ว ผมมองว่าการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดของคนแต่ละคนนั้น ไม่ควรจบแค่คำว่า ‘โง่’ หรือ ‘ไม่รู้’ แล้วก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการลงทุนครั้งใหม่ต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องถามตัวเองก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง คือเหตุผลที่เราเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้นั้นคืออะไร และถ้าเราตัดสินใจผิดพลาดขึ้นมา ชีวิตของเราและคนรอบตัวจะเกิดปัญหามากน้อยแค่ไหน

        เพราะถ้าเราเปรียบการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นการลงทุน เราก็ไม่ควรจะขาดทุน เช่นเดียวกับที่ปู่บัฟเฟตต์ได้บอกไว้

 


เรื่อง: ‘บักหนอม’ – ถนอม เกตุเอม, ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษีแห่ง aomMONEY และ TaxBugnoms