ประท้วงฮ่องกง: บทเรียนจากความเหลื่อมล้ำ โดย วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

ในปี 2019 ที่ผ่านมา น่าจะกล่าวได้ว่าเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกง เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างระเบียบโลกของศตวรรษที่ 21 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรุนแรงมากที่สุด

        การประท้วงที่ฮ่องกงในปีนี้เริ่มต้นจากการต่อต้านความพยายามของรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ภายใต้ผู้ว่าฯ แครี แลม ที่ผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางรัฐบาลอ้างเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในไต้หวัน (โดยฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน) ซึ่งผู้ต้องสงสัยเป็นชาวฮ่องกงที่ได้หลบหนีกลับมาอยู่ฮ่องกงหลังจากก่อเหตุแล้ว เนื่องจากการไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน ทำให้ฆาตกรรายนี้ รวมทั้งอาชญากรอีกหลายรายใช้ฮ่องกงเป็นที่กบดานหลบหนีจากแผ่นดินใหญ่ 

        อย่างไรก็ดี หากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง ก็จะเปิดช่องให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถแทรกแซงเสรีภาพทางการศาลของฮ่องกงได้––เพราะจะสามารถเรียกตัวผู้ต้องหาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินคดีของศาลฮ่องกงใดๆ ให้ไปรับการดำเนินคดีที่จีนผ่านกระบวนการยุติธรรมของจีน––ซึ่งย่อมเป็นการละเมิดหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่ทางฝ่ายจีนเคยให้คำมั่นว่าจะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี นับจากอังกฤษได้ส่งฮ่องกงคืนสู่จีนในปี 1997 

        ดังนั้น เมื่อรัฐบาลฮ่องกงพยายามผ่านร่างกฎหมายนี้ จึงมีผู้ออกมาประท้วงต่อต้านเป็นจำนวนมาก

 

         นางแครี แลม จึงได้ออกประกาศยอมระงับการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ยินยอมยกเลิกความพยายาม หากเป็นเพียงแต่ชะลอการนำกฎหมายผ่านสภาเป็นการชั่วคราวเท่านั้น การชุมนุมจึงยืดเยื้อบานปลายต่อไป โดยผู้ชุมนุมจะนัดกันออกมาชุมนุมเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือการเรียน และทำให้สามารถชุมนุมสืบต่อกันได้เป็นระยะเวลายาวนาน รัฐบาลจึงพยายามยุติการชุมนุมด้วยการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง––มีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางจำนวนมาก รวมถึงการยิงเข้าไปในพื้นที่สาธารณะอย่างสถานีรถไฟและสถานศึกษาด้วย จนผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัส นำไปสู่การเสียชีวิตและสูญหายของผู้ชุมนุมนับร้อย 

        ในวันที่ 4 กันยายน นางแครี แลม ได้ยินยอมประกาศยกเลิกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยสิ้นเชิง แต่เนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงเกินสมควรของเจ้าหน้าที่รัฐ และทางรัฐบาลปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งการที่ นางแครี แลม ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ และไม่ให้มีคณะกรรมการเสรีจากภายนอกมาตรวจสอบการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อผู้ประท้วง จึงทำให้การชุมนุมประท้วงยังคงดำเนินต่อไป และผู้ชุมนุมยังได้เพิ่มข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นจากเดิม––นำไปสู่การเรียกร้องให้ชาวฮ่องกงได้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลปักกิ่ง  

        อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลฮ่องกงต่างยืนยันไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ แถมยังเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบปรามขึ้นไปอีก จนทำให้เกิดเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ประท้วงในบริเวณมหาวิทยาลัยสำคัญหลายแห่งของฮ่องกงในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 

        ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นของฮ่องกง และปรากฏว่าฝ่ายที่สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย (ฝ่ายผู้ประท้วงและฝ่ายที่ต้องการได้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง) ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างล้นหลาม ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงต่อรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่งว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของฮ่องกงสนับสนุนแนวคิดที่ควรจะให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง และเป็นการเติมเชื้อไฟให้การประท้วงต่อเนื่องมาถึง ณ เวลานี้

        รากเหง้าของปัญหาการประท้วงในฮ่องกงที่แท้จริงแล้วมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พุ่งสูงขึ้นมากนับตั้งแต่การคืนฮ่องกงสู่จีน ที่มุ่งเอาใจนายทุนในฮ่องกงและเลือกสรรให้กลุ่มทุนเหล่านี้เข้ามาเป็นคณะกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 

        ประชาชนทั่วไปที่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพจึงมีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านอำนาจของรัฐบาลปักกิ่ง อีกทั้งเกิดแนวคิดที่ว่าหากมีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฮ่องกงให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อาจส่งผลให้ผู้ว่าฯ ใส่ใจกับปัญหาปากท้องของคนชั้นกลางและคนชั้นกรรมาชีพมากขึ้น  

        การแก้ไขปัญหานี้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลปักกิ่ง ที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในทศวรรษนี้

 


เรื่อง: ผศ. ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย