อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า คนไทยนับถือ ‘ศาสนาไทย’ คือศาสนาผี ที่นำเอาพุทธ พราหมณ์ที่ไม่ขัดกับผีมาประดับ ดังนั้น สิ่งที่ดูเหมือนเป็นของพุทธและพราหมณ์ จึงมี ‘ผี’ อยู่เบื้องหลัง
พระพุทธรูปเกิดขึ้นโดยพวกเชื้อสายกรีก-โรมันที่ตกค้างในอินเดีย โดยมีลักษณะเหมือนเทพกรีกซึ่งเหมือนคนจริง แต่ก่อนสมัยนั้นพุทธศาสนาไม่มีพุทธรูป แต่จะมีลักษณะเป็นบัลลังก์ว่างๆ หรือใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น พระบาท ธรรมจักร และตรีรัตนะ ฯลฯ
ครั้นอินเดียพัฒนาพระพุทธรูปในแบบของตนเอง พระพุทธรูปจึงไม่ได้มีไว้แทนรูปเหมือนบุคคล หรือแทนเจ้าชายสิทธัตถะที่ออกบวชอีกต่อไป แต่จะมีไว้แทน ‘สภาวะพุทธะ’ ตามแนวคิดของมหายาน
ต่อมาเมื่อพุทธศาสนามาอยู่ในอุษาคเนย์ ศาสนาผีได้ใช้รูปเคารพทั้งของพุทธ-พราหมณ์ แทนผี หรือบุคคลที่ตายไปแล้ว ดังนั้น พระพุทธรูปในสังคมไทยจึงมีอิทธิฤทธิ์ สามารถบนบานสานกล่าว มีของที่ชอบและไม่ชอบ มีอัตลักษณ์ของตนเอง พูดคุยติดต่อสื่อสาร ทั้งยังยกใครต่อใครเป็นลูกได้
ที่ยกตัวอย่างลักษณะของพระพุทธรูปในแต่ละสังคมขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า แม้แต่พระพุทธรูปก็มีหลายความหมาย แต่สังคมไทยทำให้พระพุทธรูปมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น มีอิทธิฤทธิ์และ ‘แรง’ กว่าที่จะเป็นในคติพุทธศาสนา อันเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่ท้าทายไม่ได้
กรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมนที่กลายเป็นที่ถกเถียงกันรุนแรงมากเป็นพิเศษ เพราะการปรากฏขึ้นของสิ่งนี้เท่ากับเป็นการไปท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ในบริบทไทยๆ มากกว่าจะท้าทายรากฐานความคิดในพุทธศาสนา ถึงแม้ว่ารูปที่สร้างออกมาจะไม่ได้มุ่งวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนัก
อีกทั้งความสับสนใน ‘งานศิลปะ’ และ ‘รูปเคารพ’ ของไทยที่ไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจน อย่างไหนที่เรียกว่าศิลปะ และอย่างไหนทำขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพ ซึ่งส่งผลให้สิ่งที่เป็นงานศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์
ศิลปะโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาสนาในสังคมไทย จึงต้องเป็นไปในแนวทางสรรเสริญ และแม้แต่ไปในทางบวกอย่างอุลตร้าแมนก็ยังรับไม่ได้เพราะทำสิ่งที่อยู่นอกขนบจารีต
ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับงานศิลปะวิพากษ์ สิ่งที่เราควรทำคือวิพากษ์วิจารณ์กลับไป แต่ในกรณีพุทธอุลตร้าแมนกลับมีการให้ไปขอขมา ซึ่งกระทำภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมของสังคมไทยเอง
พระพุทธรูปอุลตร้าแมนและความเดือดดาลที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนสังคมไทย ที่ไม่เข้าใจความสับสนของตน ไม่ว่าในทางความรู้ความเข้าใจต่อศาสนา สังคม รวมถึงยังสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำเรายิ่งกว่าศาสนาไหนๆ
เรื่อง: คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร