หลายประเทศทั่วโลกยังคงปวดหัวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แพร่กระจายออกอย่างกว้างไกลไปแทบทุกทวีป และยังคงไร้หนทางในการยุติ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงกว่า 90,000 ราย และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ ‘สูงมาก’
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อระดับนานาชาติอย่าง The Guardian ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ โจนาธาน ดี ควิก (Jonathan D Quick) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Global Health จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก อดีตประธานองค์กร Global Health Council และเป็นผู้ประสานงานแห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เจ้าของหนังสือ The End of Epidemics: The Looming Threat to Humanity and How to Stop It (2018) ซึ่งมีเนื้อหาที่เขาพูดถึงมาตรการที่โลกจะสามารถป้องกันตัวเองได้จากการระบาดของโรคร้ายแรง เช่น ไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนนับล้าน และทำให้มนุษยชาติต้องย้อนถอยหลังกลับไปหลายสิบปี
ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เขาได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงของโลกต่อการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ทั้งยังให้คำแนะนำต่อการปฏิบัติตัวที่เราทุกคนสามารถร่วมมือทำได้ เพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และ adB ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจเพื่อช่วยให้คุณทำความเข้าใจ พร้อมนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี
01 สถานการณ์ที่ดีที่สุด vs สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่จีนถูกควบคุมไว้ได้ รวมถึงการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ค่อยๆ หมดลง หรือไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกเลยทั้งในระดับประเทศหรือทวีป จนกระทั่งการแพร่ระบาดยุติลงได้ในที่สุด
ส่วนสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ซึ่งหมายถึงการแพร่กระจายอย่างถาวรในประชากรมนุษย์
อย่างไรก็ตาม หากวัดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในตอนนี้ พบว่าโลกมีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับ ‘สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด’ สอดคล้องกับที่การที่ Marc Lipsitch นักวิชาการด้านระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คาดการณ์ไว้ว่า การระบาดของไวรัส COVID-19 จะกลายเป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล (อ่านเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/38oRBNC)
ตอนนี้เราได้เห็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแล้วใน 6 ทวีป (ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้ติดเชื้อบางส่วนจะไม่แสดงอาการ และเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนได้แล้ว ดังที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศจีน รวมถึงการระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศอิหร่าน อิตาลี และเกาหลีใต้
ถ้าหากมันกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) คำถามคือ มันจะเลวร้ายแค่ไหน และจะอยู่คู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่ – ปัจจุบันอัตราผู้ป่วยที่เสียชีวิตยังอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ – น้อยกว่า ซาร์ส (SARS) แต่มากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลถึง 20 เท่า และอย่าลืมว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ เช่น เราอาจประเมินช่วงเวลาที่บุคคลหนึ่งได้รับเชื้อต่ำเกินไป รวมถึงวิธีการอันหลากหลายที่ไวรัสจะสามารถแพร่กระจายออกไปได้ – สิ่งเหล่านี้เรายังไม่รู้แน่ชัด
02 หากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้น ยังพอมีสิ่งใดบ้างที่เราสามารถทำเพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด
เราสามารถทำได้โดยการระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มากขึ้น เพิ่มการมีส่วนรวมของประชาชนในการยับยั้งและป้องกันโรค รวมถึงสร้างมาตรการควบคุมการเดินทาง และสร้างความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานระดับแนวหน้า ได้ผ่านการวินิจฉัยแล้วว่าปลอดโรค เป็นผู้ที่ตื่นตัวและระมัดระวังอยู่เสมอ รวมทั้งมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะไม่ปล่อยให้ผู้ที่ยังอยู่ในความสงสัยว่าอาจติดเชื้อกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนส่วนใหญ่ของโลกยังไม่ตระหนักถึงอันตรายของไวรัสนี้มากพอ
03 ‘เวลาและความเชื่อมั่น’ มีความสำคัญยิ่งต่อการจัดการกับโรคระบาด
‘ความล่าช้า’ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการสังเกตเห็นถึงสิ่งผิดปกติที่นำมาสู่การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งระยะเวลาของการนำข้อมูลไปสู่ส่วนกลางที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่ล่าช้าเกินไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น
ในปี 2018 มูลนิธิเกตส์ (Gates Foundation จัดตั้งโดย บิล เกตส์ และภรรยา) ได้ทำการจำลองการระบาดใหญ่ของไข้หวัด (flu pandemic) พบว่า หลังจากการระบาดหนึ่งเดือน จะมีผู้เสียชีวิตราว 28,000 ราย หากผ่านการระบาดไปถึงสามเดือนจะมีผู้เสียชีวิตราว 10 ล้านคน และถ้าหากไวรัสยังแพร่ระบาดต่อไปถึงหกเดือนจะส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตมากถึง 33 ล้านคนทั่วโลก (อ่านเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/2x72QNP) ถึงแม้ว่าไวรัสที่ใช้ในการทดลองดังกล่าวจะเป็นไวรัสชนิดที่ติดต่อได้ง่ายกว่าและเป็นอันตรายมากกว่า COVID-19 แต่ตัวอย่างนี้ก็พอจะเตือนภัยล่วงหน้าได้ว่า โรคระบาดทั้งหมดสามารถแพร่กระจายได้แบบเท่าทวีคูณ ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการระบาดได้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง – และสิ่งที่น่ากลัวคือ ปัจจุบันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่เดือนที่สามแล้ว
ส่วนเรื่องความเชื่อมั่นเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และการให้ข้อมูลที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ตรวจสอบได้ ไม่ลวงหลอกประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือรัฐไม่สามารถจัดการข้อนี้ได้ ประชาชนจะหมดความเชื่อมั่นและหยุดให้ความร่วมมือ
04 จริงหรือไม่ที่จีนสามารถสร้างวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ได้แล้ว
ยังไม่ใช่, ตอนนี้บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ อย่าง Moderna Therapeutics น่าจะเป็นบริษัทเดียวที่มีวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ซึ่งจะพร้อมสำหรับการใช้ทดลองในมนุษย์ช่วงเมษายนนี้ (อ่านเพิ่มเติมที่ https://time.com/5790545/first-covid-19-vaccine) ขณะที่บริษัทของจีนยังถือเป็นหน้าใหม่ของตลาดวัคซีนระดับโลก แต่อย่างน้อยที่สุดยังมีหนึ่งบริษัทจากจีน อย่าง Clover Biopharmaceuticals ที่อยู่ในระหว่างศึกษาและพัฒนาวัคซีนต้นไวรัสชนิดนี้อยู่เช่นกัน
05 ถ้าหาก ไวรัส COVID-19 มีต้นกำเนิดมาจากตลาดค้าสัตว์ในเมืองอู่ฮั่น ตลาดดังกล่าวควรถูกแบนโดยรัฐบาลหรือเปล่า
รัฐบาลจีนเคยลองทำแล้วหลังจากการระบาดของซาร์ส (SARS) ผลปรากฏว่าการแบนตลาดค้าสัตว์ยิ่งทำให้เกิดการค้าใต้ดินที่ผิดกฎหมายมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเฝ้าระวังอย่างแข็งขันและตรวจตราอย่างเข้มงวด เช่นการคุมเข้มต่อการคัดเลือกประชากรสัตว์ปีกในเอเชีย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดการระบาดของไข้หวัดนกที่เคยระบาดในช่วงก่อนหน้านี้
06 การควบคุมโรคระบาดของจีนในครั้งนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
ดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHS) ได้วิเคราะห์จากปัจจัยที่สำคัญ 6 อย่าง ได้แก่ การป้องกัน (prevention), การตรวจจับ (detection), ความรวดเร็วในการโต้ตอบและรับมือ (response), ระบบสาธารณสุข (health system), ความเสี่ยงทางสภาพแวดล้อม (risk environment) และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (compliance with international standards) พบว่า ไม่มีประเทศใดเลยที่ได้คะแนนเต็มในทุกมิติ
จีนสามารถตรวจจับและรับมือได้ในระดับที่ค่อนข้างดี ส่วนในมิติของระบบสาธารณสุข แม้จะมีความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถมากแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าการป้องกันของจีนยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ โดยเฉพาะความปลอดภัยทางอาหาร
07 สิ่งที่ควรเร่งมือทำในตอนนี้
ถ้าวัดจากสถานการณ์ปัจจุบันจะข้อเท็จจริงที่ว่า ‘น้อยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดที่พบผู้ติดเชื้อ’ มีความพร้อมต่อการเผชิญโรคระบาดครั้งนี้ นั่นย่อมแปลว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง และบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงย่อมหมายถึงพวกเราด้วย – เพราะเราจะปลอดภัยก็ต่อเมื่อเราได้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเพิ่มการลงทุนสำหรับการเตียมการ และที่สำคัญคือผู้นำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมประชาชนทุกระดับจะต้องเพิ่มความสนใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
อ้างอิง: