A Beautiful Day in the Neighborhood

‘สามสิ่งสำคัญของชีวิต’ คำตอบจากภาพยนตร์ A Beautiful Day in the Neighborhood

“ทุกคน นี่คือลอยด์ นักเขียนที่เยี่ยมยอดที่สุด”

        เฟร็ด โรเจอร์ส (รับบทโดย ทอม แฮงส์) กระโดดออกมาจากฉาก ร้องบอกใครต่อใครว่านี่คือ ลอยด์ โวเกล (รับบทโดย แมทธิว เรย์) นักเขียนฝีมือฉกาจจากนิตยสารชื่อดังที่จะมาสัมภาษณ์ในวันนี้ ท่าทีของมิสเตอร์โรเจอร์สทำเอาลอยด์ตกอกตกใจ ที่ทั้งกองถ่ายต้องหยุดลงในขณะที่เขาย่องเงียบเข้ามาในฉาก แต่ในขณะเดียวกันก็อดยิ้มไม่ได้กับความใส่ใจ ที่มาพร้อมคำชื่นชมทักทายในอาชีพการงานของเขาในวันที่เขาไม่มั่นใจในตนเอง

        เฟร็ด โรเจอร์ส หรือ ‘มิสเตอร์โรเจอร์ส’ พิธีกรรายการ A Beautiful Day in the Neighborhood รายการโทรทัศน์ยอดฮิตในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1968 ที่ออกอากาศยาวนานถึง 31 ซีซัน 895 เอพิโสด โดยมีโจทย์ในการทำรายการเพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าตัวเอง รักตนเอง ผ่านการยอมรับทุกความรู้สึกที่มี

 

        “You’ve made this day a special day, by just being you. There’s no person in the whole world like you, and I like you, just the way you are.” —เธอได้ทำให้วันนี้เป็นวันพิเศษ เพียงแค่เป็นตัวเอง ไม่มีใครในโลกนี้ที่เป็นเหมือนเธอ และฉันก็ชอบเธอในแบบที่เธอเป็น

        ประโยคที่มิสเตอร์โรเจอร์สพูดให้ผู้ชมเด็กๆ ฟังทุกครั้งหลังจบรายการถูกยกขึ้นมาพูดต่อหน้าสภาคองเกรสในปี 1969 เพื่อคัดค้านการตัดงบสื่อสาธารณะในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ระหว่างสงครามเวียดนาม

        ในการพูดครั้งนั้น มิสเตอร์โรเจอร์สได้ให้เหตุผลสำคัญที่ทำให้สภาคองเกรสต้องเปลี่ยนใจไม่ตัดงบ (แถมยังเพิ่มงบประมาณให้สื่อสาธารณะอีกเท่าตัว)1 ว่าการทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ และการบ่มเพาะความรักต่อตนเองตั้งแต่เด็ก เชื่อมั่นในตนเองว่าพวกเขา “ได้ทำให้วันนี้เป็นวันพิเศษ เพียงแค่เป็นตัวเอง” อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่าไปออกรบเสียอีก

 

A Beautiful Day in the Neighborhood

 

        แม้ฉากในสภาคองเกรสนั้นจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนัง แต่คุณค่าที่มิสเตอร์โรเจอร์สฝากไว้อาจไม่ใช่เพียงงบประมาณรายการเด็กที่เพิ่มขึ้น หากเป็นตัวอย่างการใช้ชีวิต ตัวตนของมิสเตอร์โรเจอร์สที่ดูจะมีความสามารถพิเศษทำให้ใครต่อใครรู้สึกดีขึ้นกับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ต้องติดอยู่ในวีลแชร์ หรือแม้แต่กับลอยด์เอง ที่การได้พูดคุย ตามติดชีวิตของมิสเตอร์โรเจอร์สทำให้เขาได้เข้าใจว่าทำไมมิสเตอร์โรเจอร์สถึงเป็นที่รักของผู้คนมากมาย

        มิสเตอร์โรเจอร์ส เสียชีวิตในปี 2003 ตำนานของเขาได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งผ่านการแสดงของ ทอม แฮงส์ ผู้บอกว่าฉากที่ได้เห็นมิสเตอร์โรเจอร์สนั่งลงคุยกับเด็กผู้ชายในวีลแชร์ สายตาจดจ่ออยู่กับเด็กผู้ชายตรงหน้า ราวกับว่าไม่มีใครอื่นเลยในฉากที่สำคัญไปกว่าเด็กผู้ชายคนนี้ วินาทีที่บทสนทนานั้นจบลง ผู้ชายต่างวัยสองคนก็ร้องเพลงประจำรายการ It’s You I Like ออกมา เป็นวินาทีที่ทำให้ ทอม แฮงส์ อ้าปากค้าง และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขารับเล่นบทนี้2

 

 

        บทที่เขาบอกว่าน่าทำความรู้จัก จับถอดบทเรียนจากตัวละครที่มีชีวิตจริง โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่สังคมเต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทัศนคติที่ดูจะเป็นกลไกป้องกันตัว สร้างเกราะกำบังจากสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลบิดเบือน ข่าวสารลวงหลอก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราควรจะส่งต่อทัศนคติจากความเจ็บปวดของเราไปให้คนรุ่นต่อไป

        การมองโลกในแง่ดี ‘โลกสวย’ ไม่จำเป็นต้องถูกถากถางก็ได้ มันอาจง่ายกว่าหากในวันที่รู้สึกดี เราแค่เปล่งเสียงออกมาว่า ‘มันช่างเป็นวันที่ดี’ (“It’s a beautiful day!”) หรือในวันที่ไม่ดีเท่าไหร่ ก็แค่ยอมรับมันไปว่าในวันนี้ เรารู้สึกแบบนี้ – และมันโอเค

 

A Beautiful Day in the Neighborhood

 

        “คุณล่ะ คุณมีเพื่อนคนพิเศษหรือเปล่า”

        “เพื่อนคนพิเศษ?”

        “ใช่ อาจจะเป็นตุ๊กตา ของเล่นที่รักมากๆ คุณมีเพื่อนแบบนั้นไหม”

        “มีครับ มิสเตอร์โรเจอร์ส”

        “เพื่อนคนพิเศษของคุณมีชื่อเรียกไหม”

        “อันที่จริงก็มีครับ มิสเตอร์โรเจอร์ส เขาชื่อว่า ‘Old Rabbit’”

        “โอ ‘Old Rabbit’ พนันได้เลยว่าคุณทั้งสองต้องอยู่ด้วยกันตั้งแต่เขายังเป็นกระต่ายหนุ่มแน่ๆ คุณอยากจะเล่าเรื่อง ‘Old Rabbit’ ให้ผมฟังสักหน่อยไหม”

        ส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในบทความ Can You Say … Hero?3 ของทอม จูโนด์ (Tom Junod) นักเขียนประจำนิตยสาร Esquire ผู้เป็นลอยด์ในชีวิตจริง

        คำถามของมิสเตอร์โรเจอร์สที่เปลี่ยนบทสัมภาษณ์ให้เป็นบทสนทนา เปลี่ยนบทบาทหน้าที่การงานให้เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ไม่รู้ว่ามันคือความทรงจำลึกๆ ความคิดถึง ‘Old Rabbit’ ของทอมเอง หรือความสนอกสนใจ ตั้งใจรับฟังของมิสเตอร์โรเจอร์สที่ทำให้ทอมหยุดเล่าเกี่ยวกับตุ๊กตาในวัยเด็กของเขาไม่ได้ จนทอมต้องเบรกตัวเอง บอกมิสเตอร์โรเจอร์สว่าเขาเป็นคนมาสัมภาษณ์ บทบาทผู้พูด-ผู้ฟังควรต้องสลับกันมากกว่า

        “รู้ไหมว่าเรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้คืออะไร” มิสเตอร์โรเจอร์สยิ้มเมื่อทอมบอกว่า เขาควรจะหยุดพูด และฟังเรื่องของมิสเตอร์โรเจอร์สตามหน้าที่นักสัมภาษณ์

        “เรื่องอะไรครับ”

        “คุยกับคุณ”

        บทสนทนาธรรมดาระหว่างเขากับมิสเตอร์โรเจอร์สที่กลายเป็นบทเรียนให้กับทอมเองโดยไม่ต้องขุดคุ้ยสัมภาษณ์ (เพราะหากถามไป มิสเตอร์โรเจอร์สก็จะยักไหล่เพียงว่า เขาไม่คิดว่าเขาเป็นฮีโร่ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จให้ใคร) การปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ความจริงแท้อ่อนโยนกับความรู้สึกของเขาเองที่ทำให้คนอื่นดูยอมเปลือยเปล่าลดเกราะกำบังห่อหุ้มตัวตนลง บทเรียนจากมิสเตอร์โรเจอร์สที่แท้ที่ซ่อนอยู่ในความเป็นเขาเอง ในท่าทีที่เขาปฏิบัติต่อผู้อื่นนั่นเอง

 

A Beautiful Day in the Neighborhood

 

        เวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต

        งานที่สำคัญที่สุดในชีวิต

        คนที่สำคัญที่สุดในชีวิต

        สามสิ่งสำคัญของชีวิตที่เราต่างพยายามหาคำตอบ ราวกับว่าคำตอบนั้นจะต้องเป็นเวลาเดียว งานเดียว บุคคลเดียวเท่านั้นในชีวิตที่เรามองว่าสำคัญ ‘ที่สุด’

 

        หากการกระทำของมิสเตอร์โรเจอร์สดูจะเป็นกุญแจสำคัญไขประตูสู่ความลับของการมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ว่าไม่มีเวลาอื่นใดสำคัญมากไปกว่าเวลานี้ ไม่มีการงานอื่นใดสำคัญไปกว่างานที่ทำอยู่ในตอนนี้ และไม่มีใครสำคัญมากไปกว่าคนที่อยู่กับเราในชั่วขณะนี้ – ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กในวีลแชร์ คนที่มาสัมภาษณ์พูดคุยกับเรา หรือใครที่อยู่ตรงหน้าเราก็ตาม

 

        “นึกถึงคนที่รักเรา และทำให้เราเป็นเราในวันนี้”

        อีกครั้งที่ความพยายามของลอยด์ในการซักถามสัมภาษณ์มิสเตอร์โรเจอร์สไม่ประสบความสำเร็จเอาเท่าไหร่ เมื่อมิสเตอร์โรเจอร์สชวนเขาพูดคุยอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า การได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับมิสเตอร์โรเจอร์สตรงหน้านั้น มีเขานั่งหลับตา ‘นึกถึงคนที่รักเรา และทำให้เราเป็นเราในวันนี้’ ในความเงียบไปพร้อมๆ กัน ดูจะทำให้เขาได้รู้จักมิสเตอร์โรเจอร์สมากไปกว่าที่เคย และได้คำตอบเฉลยว่าทำไมมิสเตอร์โรเจอร์สถึงเป็นที่รักของผู้คนได้มากขนาดนี้ หมดความสงสัยว่านั่นเป็นเพียงการเสแสร้งแกล้งทำ หรือเป็นตัวตนจริงๆ ความรู้สึกที่ได้จากการอยู่ร่วมกับมิสเตอร์โรเจอร์สที่ทำให้ทอมเขียนบทสัมภาษณ์ชิ้นอมตะ Can You Say … Hero? ถึงมิสเตอร์โรเจอร์สออกมาได้

        บทสัมภาษณ์ที่ดูจะไม่ได้บันทึกว่ามิสเตอร์โรเจอร์สพูดอะไร หรือมีคำเท่ๆ เสียเท่าไหร่ มากไปกว่านั้นคือเป็นบทสัมภาษณ์ที่ทำให้ทอม ผู้เขียนได้ถอดความเป็นตัวเองออกมา ดึงความจริงใจในวัยที่มีเพื่อนตุ๊กตาชื่อว่า ‘Old Rabbit’ กลับมา บทสัมภาษณ์ที่ทำให้ทอมโอบรับความรู้สึกของตัวเองอย่างแท้จริงได้อีกครั้ง บทสัมภาษณ์ที่เปลี่ยนความเคว้งคว้างว่างเปล่าในใจให้กลายเป็นคำขอบคุณเมื่อนึกถึง ‘คนที่รักเรา และทำให้เราเป็นเราในวันนี้’ คนคนนั้นที่อาจเป็นใครก็ได้ที่อยู่ตรงหน้า คนที่ทำให้นาทีนั้นเป็นเวลาที่สำคัญที่สุด เป็นงานที่สำคัญที่สุด ราวกับเราเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา และสอนให้เราใช้ชีวิตทุกนาทีเช่นนั้นเรื่อยไป

        จนถึงวันที่จากไป

        กลายเป็นเพียงความทรงจำงดงามของใครอีกคน

 


อ้างอิง: