ทำแท้งถูกกฏหมาย

การทำแท้งถูกกฎหมาย หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ถูกปิดเงียบในสังคม

เมื่อเอ่ยถึง ‘การทำแท้ง’  สิ่งที่มักจะตามมาคือการตัดสินว่า ‘ผิด’ หรือ ‘ไม่ผิด’ 

       หากพิจารณาตามค่านิยมทางสังคม การทำแท้งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม แต่หากพิจารณาในทางกฎหมาย ประเทศไทยไม่ได้ถึงกับห้ามเด็ดขาด เพราะมีการอนุญาตให้ทำแท้งได้ในบางกรณี แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับถูกเก็บไว้เงียบเอาไว้ให้ฉายเด่นอยู่แค่ในหน้าเอกสารทางกฎหมาย เรื่องที่คนส่วนใหญ่ควรจะรู้จึงกลับมีเพียงแค่คนส่วนน้อยที่รู้ และปัญหาที่ตามมาจากความ ‘ไม่รู้’  ก็เหมือนกับบีบทางเลือกให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมตัดสินใจไปเลือกใช้บริการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยแทน 

       จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2010-2014 ขององค์การอนามัยโลก พบว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 56 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้มีประมาณ 25 ล้านครั้งเป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในจำนวนนี้ 97% เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

       ปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยยิ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากในช่วง COVID-19 เพราะการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง ไม่สามารถเดินทางไปรับบริการยังสถานบริการที่ถูกกฎหมายได้ จึงมีโอกาสสูงมากที่พวกเธอจะหันไปพึ่งการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ตอนนี้หน่วยงานรัฐยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือ หรือแม้ในยามปกติความรู้เรื่องการทำแท้งที่ถูกกฎหมายก็ไม่ถูกป่าวประกาศออกไปให้สาธารณชนรู้ด้วยซ้ำ 

       ขณะที่ในสหราชอาณาจักร รัฐบาลอนุมัติให้ผู้หญิงอายุครรภ์ต่ำกว่า 10 สัปดาห์ สามารถขอรับยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone) และยาไมโซพรอสทอล (Misoprostol) จากแพทย์มาทำแท้งด้วยตัวเองที่บ้านได้เป็นเวลา 2 ปีหรือจนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้น โดยยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลกและหากอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ การใช้ยาจะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงถึง 97.7% (อ้างอิงจากงานวิจัยใน pubmed.ncbi

       ในประเทศไทยเองก็มีการจดทะเบียนยาตัวนี้ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเงื่อนไขว่าต้องให้กรมอนามัยควบคุมการแจกจ่ายยาและจัดให้ยานี้เป็นยาควบคุม ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น หากมีผู้มาขอรับยานี้แพทย์ต้องเขียนรายงานการจ่ายยาส่งกรมอนามัยอย่างละเอียด 

       น่าเสียดายที่เรามีทรัพยากรอยู่ในมือ มีสถานบริการที่ถูกกฎหมาย มีกองทุนช่วยเหลือ แต่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมกลับต้องไปเลือกทางที่เสี่ยง เพราะกฎหมายและค่านิยมครอบให้คนในสังคมไม่กล้าที่จะพูดเรื่องนี้ออกมา 

 

ทำแท้งถูกกฏหมาย

สิทธิของตัวเองที่ถูกจำกัดด้วยคนอื่น 

       การออกมาพูดถึงเรื่องการทำแท้ง หลายเสียงจากสังคมที่ต่อต้านคงจะพุ่งเป้าไปที่ความผิดพลาดในการคุมกำเนิด ‘ทำไมไม่คุมตั้งแต่แรกล่ะ’ ‘ทำไมปล่อยให้ท้อง’ ‘ทำไมไม่ควบคุมอารมณ์ทางเพศของตัวเอง’ สารพัดคำถามที่ถูกโยนไปให้อีกฝ่าย โดยที่ในความเป็นจริงทุกคนไม่ได้มีความพร้อมที่จะสามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ ยิ่งในสภาวะที่พวกเขาต้องตกงาน ใช้ชีวิตวันต่ออันอย่างไม่รู้อนาคต ค่าถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดไม่ถึงร้อย อาจจะเป็นค่าอาหารตลอดทั้งวันของเขา ซึ่งทางกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ระบุว่าวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้หญิง 47 ล้านคน ใน 114 ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลางไม่สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น โดยคาดว่าการณ์ว่าหากมาตรการล็อกดาวน์ดำเนินไปอีก 6 เดือน จะเกิดการตั้งครรภ์แบบไม่ได้ตั้งใจ 7 ล้านกรณี และทุกๆ 3 เดือนที่มาตรการล็อกดาวน์ยังดำเนินต่อไป จะมีผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านรายที่ไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ได้  

       นอกจากนั้นการทำแท้งถือเป็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ที่ควรเลือกได้ว่าจะตั้งท้องหรือไม่ และหากตั้งท้องเมื่อไม่พร้อมเธอก็ควรมีสิทธิเลือกทำแท้งได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางศาสนามาชี้นิ้วให้เกิดการเลือกปฏิบัติจนกระทบต่อสิทธิทางสุขภาพและความเป็นส่วนตัวของผู้หญิง

       ในมุมของคนที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้มาตลอด สุไลพร ชลวิไล และ นิศารัตน์​ จงวิศาล สอง​นักกิจกรรมอิสระ อาสาสมัครจาก ‘กลุ่มทำทาง’ กลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาจากกรณีข่าวซากศพทารกกว่า 2,002 ศพในวัดไผ่เงินโชตนารามเมื่อปี 2553 เพื่อผลักดันเชิงนโยบายและช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งให้สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย ให้สัมภาษณ์กับ a day BULLETIN ว่าไม่ง่ายเลยที่จะเรียกร้องเรื่องสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัย เพราะสังคมไทยไม่ได้สอนให้ตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้ แต่สอนเราให้ ‘ชิน’ กับทุกปัญหาแทน

       “เมื่อระบบโครงสร้างอำนาจมันเป็นแบบนี้ ก็เหมือนเราต้องต่อสู้กับระบบด้วยตัวเราเองคนเดียว ผู้หญิงที่ต้องการจะเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยคนหนึ่งจะต้องไปฟ้องร้องหมอ ฟ้องร้องใครเพื่อให้เขาได้ทำแท้งอย่างนั้นเหรอ มันยากและเป็นเรื่องที่โดนตีตราจากสังคมด้วย ขนาดเราเคลื่อนไหวกันเป็นกลุ่มยังยากเลย เพราะระบบโครงสร้าง บรรยากาศที่เราอยู่ สังคมที่เราเติบโตมา และการให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมบ้านเรามันไม่เอื้อให้กับคนที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะมันเป็นประเด็นที่ประณามผู้หญิงโดยตรงในขณะที่สังคมที่ให้คุณค่ากับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่มองคนทุกคนเท่าเทียมกัน คนในสังคมเขาก็ถูกหล่อหลอมมาให้ตระหนักในเรื่องความสำคัญในเรื่องสิทธิของตนเอง และการเคารพสิทธิผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเขามากกว่าเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

       สุไลพรมองว่าเมื่อพูดถึงเรื่องหลักสิทธิพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง คนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ยังคงต้องทำงานอย่างหนักกันต่อไป เพราะเราไม่ได้ถูกสอนให้ลุกขึ้นมาปกป้องหรือเรียกร้องสิทธิของเรา คนอาจจะมองว่าผู้หญิงเท่ากับผู้ชายแล้ว แต่พอพูดถึง ‘สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์’ น้อยคนจะรู้ว่ามันแปลว่าอะไร หรือรู้ว่าการทำแท้งก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะว่าเราไม่ได้เรียนเรื่องพวกนี้มาเลย จึงไม่แปลกที่เรื่องทำแท้งจะถูกมองแต่ในแง่มุมเชิงศีลธรรมอยู่เกือบตลอดเวลา มากกว่าจะมองเห็นมันในมุมของสิทธิของผู้หญิง หรือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ฉะนั้น ประเด็นที่คนจะออกมาเรียกร้องสิทธิส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องการเมืองที่เห็นกันตลอด แต่พอเป็นเรื่องอื่นๆ เราชินกับมันจนไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิของเรา 

        “ไม่ใช่แค่เรื่องทำแท้ง แต่ทุกๆ เรื่องที่คนตัวเล็กๆ จะต้องอ้อนวอนเพื่อขอรับบริการ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิของเขา แล้วเราพูดเรื่องสิทธิ เราก็จะโดนถามกลับมาว่าแล้วหน้าที่ล่ะ จริงๆ ก็มีคนบอกว่าสังคมนี้มันไม่ได้ให้คุณค่าเรื่องสิทธิแต่มันพูดกันเรื่องหน้าที่ และบางครั้งเรารู้แล้วว่ามีสิทธิแต่ก็ไปทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะสังคมเรายอมรับในความไม่เท่าเทียมอยู่เป็นปกติ และเราก็ชินกับมันมาตลอด”

 

ทำแท้งถูกกฏหมาย

การทำแท้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายในเวลาเดียวกัน 

       หลายคนอาจยังข้องใจอยู่ว่าทำไมการทำแท้งถึงสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ในเมื่อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ระบุไว้ชัดเจนว่า หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก มีความผิด ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 302 ก็ระบุว่าผู้ทำให้หญิงแท้งลูกโดยความยินยอมก็มีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

       อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญอยู่ที่มาตรา 305 ที่ยกเว้นความผิดเอาไว้ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ที่มีใบอนุญาตและเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง กรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือตั้งครรภ์ขณะอายุไม่ถึง 15 ปี รวมทั้งกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่  

       นอกจากนี้ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการทำแท้ง ทางการแพทย์ก็ระบุเงื่อนไขนอกเหนือจากมาตรา 305 ยกเว้นไว้ว่า แพทย์สามารถทำแท้งโดยที่ตัวเองและหญิงตั้งครรภ์ไม่มีความผิดได้ในกรณีที่ผู้หญิงมีปัญหาหาสุขภาพกายและปัญหาสุขภาพทางจิต โดยจะต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ใช่ผู้เป็นคนทำแท้งอย่างน้อยหนึ่งคน รวมถึงกรณีมีความเครียดอย่างรุนแรงเพราะพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงที่จะพิการ และเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง  

       ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายแม้จะมีการยกเว้นไว้ แต่ก็มีเงื่อนไขที่อ่านครั้งแรกชวนให้เข้าใจทันทีว่า หากแค่ท้องไม่พร้อมโดยไม่เข้าข่ายกรณียกเว้น ก็ไม่มีสิทธิเดินไปขอรับบริการได้ ทั้งที่หากผู้หญิงท้องไม่พร้อม หมอสามารถวินิจฉัยตามเกณฑ์ของกรมสุขภาพจิตได้ว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า ไม่ต้องการตั้งครรภ์ หรือการตั้งครรภ์ในครั้งนี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต แต่เพราะกฎหมายของไทยดำเนินไปอย่างคลุมเครือ จะถูกก็ไม่ถูก จะผิดก็ไม่ผิด บางคนจึงเข้าใจว่าการทำแท้งผิดทุกกรณี 

       “กฎหมายมีปัญหามาก เวลาคนถามว่าถูกกฎหมาย หรือไม่ถูกกฎหมายก็ไม่รู้จะตอบยังไงดีให้เขาเข้าใจง่ายๆ  เพราะมันมีบัญญัติความผิดเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยกเว้นไว้ในมาตรา 305 และก็มีข้อบังคับแพทยสภามาขยายความว่าทำได้ ถ้าหมอเป็นคนทำ ทำได้ถ้ากรณีข่มขืน หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือทำได้เมื่อมารดามีปัญหาสุขภาพ คำว่าสุขภาพก็มีการตีความว่ามันรวมถึงสุขภาพจิต แล้วผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็มีความเครียดทั้งนั้น เขามีปัญหาสุขภาพจิตทุกคน เขาถึงได้มายุติ ถ้ามองไปที่จุดนี้จุดเดียวมันถูกกฎหมาย เราไปรับบริการได้ เรามีสถานบริการภายใต้รัฐและเอกชนที่ให้บริการอย่างถูกกฎหมาย

        “ถ้าถามเรา เราจะพูดตลอดเวลาว่าการทำแท้งในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และกฎหมายเป็นสิ่งที่มีข้อบกพร่องอยู่ เราต้องการให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดผู้หญิงในมาตรา 301 แต่ทุกคนก็ยังเห็นด้วยว่าการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัยก็ควรจะมีความผิด คนที่ขายยาและไม่รับผิดชอบก็ต้องมีความผิดอยู่ เพราะฉะนั้น กฎหมายนี้มันจึงซับซ้อนมากแทนที่จะตั้งต้นว่ามันไม่ผิด แล้วค่อยไปบอกว่าผิดในกรณีไหน แต่ไปตั้งต้นว่าผิด และถูกในกรณีไหนแทน เรื่องมันก็เลยวุ่นวาย”  

 

ทำแท้งถูกกฏหมาย

 

       แต่จุดเปลี่ยนของกฎหมายที่บังคับใช้มายาวนานกว่า 60 ปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ‘ศรีสมัย เชื้อชาติ’ แพทย์ที่โดนดำเนินคดีจากการเปิดคลินิกให้บริการทำแท้งยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม ห้ามเลือกปฏิบัติ ทั้งเรื่องเชื้อชาติ อายุ เพศ ฯลฯ และมาตรา 28 เรื่องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ก็ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 ที่กำหนดว่ากฎหมายมีได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นหรือไม่ 

       ซึ่งผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และเห็นด้วยว่า มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือ มาตรา 28 ส่วนมาตรา 305 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีมติเสียงว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 

       โดยปกติในคดีทั่วไปเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ถือว่ามีผลบังคับใช้ทันทีและผูกพันหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหมายความว่ามีผลให้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ แต่ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ด้วยว่าให้คำวินิจฉัยมีผลในอีก 360 วัน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส  COVID-19 ประเด็นนี้ก็ตกออกไปจากกระแสสังคม สรุปแล้ว ณ วันนี้เราก็ไม่รู้ความคืบหน้าเลยว่ากฎหมายจะถูกแก้ไขว่าอย่างไร 

       “หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา เขาก็บอกว่าต้องแก้กฎหมายนี้ภายใน 1 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วเป้าหมายที่เราต้องการคืออยากให้ยกเลิกไปเลย เพราะถ้ายกเลิกมาตรา 301 แพทย์ก็จะไม่ผิดไปด้วย แต่นักกฎหมายและแพทย์ก็ยังมีความกังวลว่าเดี๋ยวผู้หญิงมาใช้บริการในอายุครรภ์ที่เยอะเกินไป เขาก็เลยพยายามที่จะกำหนดอายุครรภ์เอาไว้ แต่การกำหนดอายุครรภ์ หมายความว่ายังมีความผิดอยู่ดี ซึ่งคุณก็ต้องมาทำในอายุครรภ์ที่ต่ำกว่าที่เขากำหนด และอีกด้านที่เขาไม่ให้ยกเลิกเลย อาจเพราะกังวลว่าคนจะมาทำแท้งเยอะขึ้น สังคมก็จะโจมตีว่าประเทศไทยทำแท้งได้ถูกกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เห็นว่าเขาเชิญหลายภาคส่วนมาพิจารณาว่าควรจะแก้ไขอย่างไร แต่เขาไม่ได้เชิญเราที่ทำงานกับผู้หญิงทำแท้ง กลายเป็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มีส่วนร่วม มันจึงเป็นเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจหลายๆ อย่าง” สุไลพรกล่าวพร้อมมองว่าหากยังยืนแก้ไขด้วยการกำหนดอายุครรภ์ต่อไปก็ขอให้เป็นการกำหนดอายุครรภ์สูงสุด 24 สัปดาห์ เท่ากับที่หลายประเทศใช้ แต่ทางที่ดีควรยกเลิกไปเลยดีกว่า 

COVID-19 ทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้ว หนักขึ้นเป็นเท่าตัว 

       อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วง COVID-19 สร้างความลำบากให้กับผู้หญิงทั่วโลกอย่างไรบ้าง แต่ในส่วนของประเทศไทย ก่อนจะเกิดวิกฤต COVID-19 ที่มีปัญหาหลายอย่างต้องแก้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กลับยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านั้นขยายใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว 

       จากข้อมูลของสายปรึกษาท้องไม่พร้อม โทร. 1663 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และกลุ่มทำทาง พบว่านับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก ฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพวกเธอต้องพบกับความยากลำบากในการเข้ารับบริการมากขึ้น เนื่องจากสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการส่งต่อการทำแท้งในเครือข่ายอาสา RSA ที่แต่เดิมมีอยู่ 142 แห่ง ใน 42 จังหวัด ขณะนี้ลดลงเหลืออยู่เพียง 71 แห่ง ใน 39 จังหวัดเท่านั้น และในจำนวนนี้มีเพียง 40 แห่งที่รับส่งต่อให้บริการจากจังหวัดอื่นหรือจังหวัดในเขตบริการสุขภาพเดียวกัน ทั้งยังมีหน่วยบริการเพียง 4 แห่งทั่วประเทศไทยที่ให้บริการสำหรับกรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 

       ถ้าหากใครเคยไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิประกันสุขภาพของตัวเอง คุณจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการที่แพทย์จะออกใบส่งตัวให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในกรณีไปทำแท้งด้วยแล้ว… แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย 

 

ทำแท้งถูกกฏหมาย

 

       “ปัญหามันเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมี COVID-19 หรือไม่มีก็ตาม เพียงแต่ว่า COVID-19 ทำให้ปัญหามันถี่ขึ้นและหนักขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ปัญหาเรื่องการเดินทาง และปัญหาเรื่องการลางานหรือหยุดงาน ซึ่งก็จะนำไปสู่การขาดรายได้ และการเข้าถึงบริการจากรัฐหรือคลินิกเอกชนที่ถูกกฎหมายมันก็ยุ่งยาก เข้าถึงยาก เดินทางยาก” นิศารัตน์​ ผู้รับหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งจากกลุ่มทำทาง ชี้แจ้งว่าปกติจะมีคนเข้ามาปรึกษาวันหนึ่งไม่เกิน 12 ราย แต่ในช่วง COVID-19 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 13-20 รายต่อวัน บางวันก็มีถึง 30 รายต่อวัน และกรณีที่พบมากขึ้นก็คือ ‘ไม่มีเงิน’ หรือ ‘ตกงาน’ 

       เมื่อมีปัญหาด้านการเงิน สิ่งที่กลุ่มทำทางสามารถช่วยได้ก็คือ ดำเนินเรื่องขอเงินช่วยเหลือผ่าน ‘กองทุนช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พร้อม’ โดยกองทุนนี้เป็นกองทุนพึ่งพาตัวเอง ไม่ใช่ของรัฐ อยู่ได้ด้วยการมีคนบริจาคเข้ามา และมีผู้หญิงที่เคยได้รับความช่วยเหลือคืนเงินกลับมา (สามารถร่วมบริจาคได้ที่ choicesforum.org)

       “ผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องการทำแท้ง เขามีปัญหาเรื่องการเงินเยอะมาก เพราะค่าใช้จ่ายในการทำแท้งมี 2 ส่วน คือค่าบริการและค่าเดินทาง ค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 3,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นการขอรับยามาใช้เองที่บ้านหรือการไปรับบริการที่คลินิกขั้นต่ำก็ 3,000 บาท ยิ่งอายุครรภ์สูงก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน และก็ต้องมีค่าเดินทางเพิ่มขึ้นมาอีกในช่วง COVID-19 ดังนั้น ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ และต้องเดินทางไปรับบริการข้ามจังหวัด อย่างน้อยเขาต้องมีเงินประมาณ 5,000 บาท ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เยอะมาก

       “จริงๆ แล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีงบสนับสนุนตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพให้ 3,000 บาทต่อราย แต่ปัญหาคือ นอกจากจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีบริการทำแท้งแล้ว ยังต้องเป็นโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับเครือข่ายให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วย แปลว่าถ้าโรงพยาบาลที่คุณมีสิทธิหลักประกันสุขภาพอยู่ ไม่ได้เข้าร่วมกับเครือข่ายให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย คุณก็ต้องเดินทางไปยังจังหวัดที่มี แต่ก็ต้องมีใบโอนสิทธิหรือใบส่งตัว ปัญหาจึงเริ่มแต่แรกเลยว่า ถ้าเขาไม่มีบริการทำแท้ง แล้วเขาจะสนับสนุนผู้หญิงให้ไปเข้ารับบริการจริงๆ เหรอ จะออกใบส่งตัวให้ได้จริงไหม ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มาเราก็ยังไม่เคยเจอกรณีโรงพยาบาลต้นทางออกใบส่งตัวให้ได้เลยแม้แต่กรณีเดียว เพราะฉะนั้น หมายความว่าต่อให้มีงบประมาณสนับสนุนคนก็เข้าไม่ถึงอย่างแท้จริง ซึ่งหากเลือกโอนย้ายสิทธิมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องใช้เวลา แต่การทำแท้งอายุครรภ์คุณรอไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันเหมือนกับว่าสิ่งที่มีอยู่ มีอุปสรรคเยอะในการเข้าถึง มีก็เลยเหมือนไม่มี” สุไลพรกล่าวเสริม 

       เมื่ออายุครรภ์รอไม่ได้และหน่วยงานภาครัฐยังไม่เสนอทางออกให้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมและกลุ่มทำทางจึงลุกขึ้นมาร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมอนามัย ซึ่งลงนามโดย 56 องค์กรภาคีทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมผู้ลงนามรายบุคคลอีก 559 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้กรมอนามัยพิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยในช่วงเวลานี้ พร้อมเสนอว่ารัฐควรแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น จัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดชั่วคราวสำหรับแจกจ่ายให้ทั่วถึง, ใช้ระบบ Telemedicine สำหรับการปรึกษาออนไลน์ก่อนและภายหลังการใช้ยาในผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง ซึ่งมีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์และมีผลตรวจอัลตร้าซาวนด์ยืนยัน, รัฐควรพัฒนานโยบายในระยะยาวสนับสนุนให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งควรเปิดให้บริการทำแท้งหรืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และรัฐควรประกาศเผยแพร่ข้อมูลนโยบายการให้บริการทำแท้งอย่างปลอดภัยที่ชัดเจนให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ

 

ทำแท้งถูกกฏหมาย

 

       “การให้ข้อมูลกับประชาชนไม่ได้แปลว่าจะทำให้คนแห่ไปทำแท้งกันมากขึ้น เพราะความรู้ ข้อมูล เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีปัญหา เราไม่ได้เป็นคนที่ท้องไม่พร้อม แต่เรารู้ไว้มันไม่เสียหาย แต่ว่าพอเป็นเรื่องทำแท้งเขาไม่กล้าประกาศ นี่เป็นสิ่งที่เราต่อสู้และเรียกร้องมากๆ ว่าเขาควรประกาศให้มากกว่านี้ว่า คนมีทางเลือกตรงไหนบ้าง เขาจะได้ไม่ต้องไปหาซื้อยาเถื่อนออนไลน์” สุไลพรกล่าว 

       งานวิจัยจาก Guttmacher Institute พบว่าในประเทศที่การทำแท้งผิดกฎหมายหรืออนุญาตเฉพาะบางกรณีความปลอดภัยจากการทำแท้งมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ขณะที่ในประเทศแถบยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และอเมริกาเหนือ ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างกว้างเกือบ 9 ใน 10 ของการทำแท้งมีความปลอดภัย 

       อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่ห้ามเข้าถึงการทำแท้งไม่ได้ทำให้อัตราการการทำแท้งลดลง กลับกันประเทศที่เปิดกว้างให้ทำได้อย่างถูกกฎหมายมีอัตราการทำแท้งที่ต่ำมาก เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีอัตราการทำแท้งเพียง 9.7 ต่อจำนวนผู้หญิง 1,000 คนเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด และความเท่าเทียมทางเพศเป็นสำคัญ  

       ระยะหลังมานี้หลายประเทศเริ่มมีการยอมรับสิทธิในการเลือกทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ก็มีหลายประเทศที่ยังห้ามเด็ดขาด ทั้งที่อิสระในการตัดสินใจต่อเรือนร่างของตัวเองถือเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

       หากมองด้วยสายตาของคนนอกที่ไม่ได้ประสบปัญหากับตัวเอง ก็อาจไม่เห็นภาพว่าทำไมการทำแท้งถูกกฎหมายถึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อได้มามองผ่านเลนส์ของคนที่ทำงานคลุกคลีกับผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งและผลักดันประเด็นนี้มานับสิบปีก็เห็นว่ากฎหมายคลุมเครือหรือค่านิยมของสังคมบังคับให้ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือก ซึ่งมันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราควรเพิ่ม ‘ทางเลือก’ ให้กับพวกเขาและชูประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 


ที่มา :