ดราม่า ‘ไก่หลุม’ หรือ ‘ไก่กะทิ’ ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง?
ทำไมเราถึงต้องคำนึงถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ที่สุดท้ายย่อมกลายเป็นอาหาร?
adB สนทนากับ ‘เชฟต้น’ – ธิติฏฐ์ทัศนาขจร เชฟมิชลินสตาร์ เจ้าของร้านอาหาร Le Du (ฤดู), Baan (บ้าน), Mayrai (เมรัย) และ Nusara (นุสรา) ถึงประเด็นร้อนหลังจากคลิปสาธิตวิธีการทำเมนูดังกล่าวถูกเผยแพร่และก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคม กระทั่งนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ผลิตและเผยแพร่คลิปดังกล่าว
มากกว่าเรื่องดราม่ารายวันที่ผ่านมาแล้วผ่านไป – เราต้องการเจาะลึกว่าเชฟต้น ในฐานะที่เป็นเชฟผู้มุ่งมั่นเสิร์ฟอาหารทุกจาน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน เขามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร? อะไรคือสมดุลระหว่างการรักษาวัฒนธรรมดังเดิมกับมาตรฐานสากล
บทสนทนานี้จะเปิดเผยให้รู้ว่า ดราม่าไก่หลุมเป็นความน่าเศร้าที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมอาหารและปศุสัตว์ในบ้านเรายังเต็มไปด้วยความลึกลับดำมืดอีกมากมาย
ก่อนหน้านี้คุณรู้จักเมนู ‘ไก่หลุม’ หรือ ‘ไก่กะทิ’ มาก่อนหรือเปล่า
เคยได้ยินชื่อเมนูไก่กะทิมาก่อน แต่ความเข้าใจแรกของผมคือนึกว่าเป็นไก่บ้านที่เขาเลี้ยงด้วยการให้กินกะทิเท่านั้น ไม่รู้มาก่อนเลยว่ามันต้องถูกนำไปฝังในหลุมด้วย แล้วเราก็ไม่เคยกิน แต่พอได้เห็นจากโพสต์ที่เขาดราม่ากันก็เลยรู้ว่า เฮ้ย อย่างนี้มันไม่ใช่นี่หว่า ไอ้คำว่าไก่หลุมก็แตกต่างจากหมูหลุมอย่างสิ้นเชิง หมูหลุมคือการขุดบ่อให้หมูอยู่อย่างมีความสุข แต่ไก่หลุมคือการขุดหลุมเอาไก่ไปฝังดิน ต้องตากน้ำค้างตากแดดอยู่อย่างนั้นเพราะขยับตัวไปไหนไม่ได้เลย นี่มันคือการทรมานสัตว์ชัดๆ
ทำไมเราถึงต้องคำนึงถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ที่สุดท้ายก็ย่อมต้องกลายเป็นอาหารอยู่ดี
ผมว่ามันต้องแฟร์นะ เข้าใจว่าสัตว์ต้องตาย มนุษย์ก็ต้องตาย เราทุกคนล้วนต้องตายเหมือนกันทั้งนั้น แล้วมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่กินสัตว์อื่น เรามีชีวิตอย่างนี้มาเป็นพันๆ ปีโดยไม่มีข้อโต้แย้งอยู่แล้ว แต่ว่าก่อนที่สัตว์จะตายเราควรต้องเห็นอกเห็นใจมันด้วย ต้องขีดเส้นไว้บ้างว่าอย่างน้อยก่อนที่มันจะตาย เราควรจะแฟร์กับมัน เลี้ยงดูให้ดีหน่อย ไม่ทารุณมัน หรืออย่างน้อยขอให้มันแฮปปี้ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้ผมถือว่าแฟร์กับสัตว์
อะไรบ้างที่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์และไม่ควรทำอย่างยิ่ง
การขุดหลุมขังมันไว้นี่คือการทารุณกรรมแบบสุดขั้วเลย คงไม่ต้องเถียงกันแล้วล่ะ เพราะมันคือที่สุดของที่สุด แต่ผมคิดว่ามันยังมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ใหญ่ๆ ที่ทารุณกรรมสัตว์เหมือนกัน เช่นการเลี้ยงไก่นี่ก็เป็นกรณีที่น่าหยิบมาพูดถึง เนื่องจากผมไม่มีข้อมูลเรื่องการเลี้ยงไก่ในเมืองไทย ผมจะขอยกตัวอย่างถึงวิธีการเลี้ยงไก่ในอเมริกาแล้วกัน
ที่นั่นเขาเลี้ยงไก่ไว้ในโกดังใหญ่ๆ เท่าสนามฟุตบอล โดยที่ปิดไฟมืดอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มันมองเห็นอะไรเลย ไก่ทุกตัวมีหน้าที่แค่กิน นั่งอยู่เฉยๆ ตาบอด แล้วก็ก้นเป็นแผลกดทับเนื่องจากอยู่กันอย่างแออัด ขยับตัวไม่ได้ แบบนี้สำหรับผมคือไม่โอเค ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ไก่แต่ละตัวมีพื้นที่วิ่งเล่นเท่าสนามฟุตบอลนะ แต่มันควรจะมีพื้นที่มากกว่ากรงขังแคบๆ ที่แออัดและมีชีวิตที่ย่ำแย่แบบนั้น
ระหว่างการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม กับมาตรฐานสากล คุณคิดว่าเราควรจะบาลานซ์ทั้งสองสิ่งที่มักจะสวนทางกันอย่างไร
ผมคิดว่าง่ายที่สุดคือคอมมอนเซนส์ จริงอยู่ที่มันมีมาตรฐานใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยบางองค์กร หลายอย่างที่ดูตลกเกินไปผมก็ไม่เชื่อ อย่างเช่นเรื่องลิงเก็บมะพร้าว ผมว่ามันไร้สาระ นี่คือเรื่องทางการเมือง คือสิ่งที่ฝรั่งมาโจมตีเราอย่างไม่เข้าใจ ผมไม่โอเค สำหรับคอมมอนเซนส์คือแบบนี้ เมื่อพูดถึงลิงเก็บมะพร้าว คนไทยจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นการทารุณกรรมสัตว์อยู่แล้ว หรือเมื่อพูดถึงคนขี่ช้าง หรือช้างลากซุงก็ตาม มันก็เป็นวัฒนธรรมของเรา คือการเทรนนิงช้าง เลี้ยงช้างให้ออกลูกมาก็เท่านั้น
เมืองไทยตอนนี้ก็หมดสมัยจับช้างป่าไปแล้ว แต่เวลาที่เขาโจมตีเราเขามักจะเลือกชี้ไปที่สถานที่ที่มันมีปัญหา ซึ่งอันนั้นเราก็ต้องมาคุยกันว่าสถานที่นั้นทำไม่ถูกอย่างไร แล้วปรับปรุง ไม่ใช่ว่าพอเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วเราต้องยุติการมีควานช้างไปเลย การกระทำแบบนี้คือการกระทำที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนและช้าง เพราะฉะนั้น อย่าเหมาว่าทุกอย่างเป็นเรื่อง Animal Welfare แต่ถ้าเป็นเรื่องไก่หลุม ผมว่าแม้แต่คนไทยเองยังรับไม่ได้ รวมถึงการกินสมองลิงด้วย ไม่โอเคเลย
ร้านอาหารของคุณให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) มากแค่ไหน
ให้ความสำคัญมาก อย่างหมูที่ใช้เสิร์ฟในทุกร้านของผมจะใช้ของ Sloane’s เพราะเรารู้ว่าเขามีฟาร์ม เลี้ยงดี มีพื้นที่ให้เดิน และปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนไก่ เราใช้ไก่จากแทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม ของ คุณอำนาจ เรียนสร้อย ผมจะไปเยี่ยมฟาร์มของเขาที่นครปฐมทุกปี บางปีก็ไปถึงสองครั้ง เราจึงเห็นทุกอย่าง จนไว้วางใจได้ว่าไก่ของเขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจริงๆ มีที่ให้วิ่ง เรียกได้ว่าเป็น Free Range จริงๆ ไม่ใช่แบบที่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ใช้บอกว่าตัวเองก็เป็น Free Range แต่ในความเป็นจริงแล้วจำกัดอยู่ภายใต้กรอบเล็กๆ เช่นมีพื้นที่จำนวนเท่านี้ๆ นะ ซึ่งถือว่าแคบมาก ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าแฟร์ต่อสัตว์จริงๆ
แต่ที่ฟาร์มของคุณอำนาจเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยเลย มีต้นกระถินขึ้นเต็มไปหมดให้ไก่ได้วิ่งเล่น จิกกินได้ตามสบาย นี่คือการเลี้ยงดูมันอย่างแฟร์ ให้มันมีชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น เจอแดด เจอฝน เจอดิน ได้ทำอะไรอย่างที่มันควรจะทำตามธรรมชาติ แล้วที่สำคัญคือที่ฟาร์มนี้จะไม่ตัดปากไก่ หลายคนอาจไม่รู้ว่าไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มใหญ่ๆ จะต้องถูกตัดปากด้วย เหตุผลก็คือพอปล่อยให้ไก่มีจะงอยปากตามธรรมชาติ มันจะเลือกกินอาหารบางอย่าง และเขี่ยอาหารบางอย่างทิ้ง แต่การตัดปากจะทำให้มันเลือกจิกกินอาหารไม่ได้ จึงต้องกินทุกอย่าง ดังนั้น ตัวมันจึงโตไว นี่คือการทำให้ไก่พิการ นี่คือความไม่แฟร์กับสัตว์ แต่กลับไม่มีใครพูดว่าผิด
คุณคิดว่าประเด็นดราม่าอย่างไก่หลุมจะมีพลังมากพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวงการปศุสัตว์และอาหารได้ไหม
ไก่หลุมมันเป็นภาพที่เล็กมากและมีคนทำน้อยมากนะ แต่สิ่งที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารจริงๆ ก็คือสิ่งที่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทำกันอยู่ ซึ่งไม่โอเค แต่ผมคิดว่าก็คงไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของบริษัทที่ใหญ่มากๆ มันมีทั้งการล็อบบี้ และเรื่องทางการเมือง
เอาง่ายๆ คือวันนี้คนไทยรู้หรือเปล่าว่าไก่ที่พวกเราบริโภคกันอยู่มันต้องถูกตัดปากตั้งแต่ตอนยังเล็กๆ มันถูกเลี้ยงอย่างเบียดเสียดกัน ไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน แล้วเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปต้องมีชีวิตแบบนี้ เราจะยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ไหม หรือถ้าอุตสาหกรรมใหญ่ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ผมคิดว่าก็น่าจะให้สื่อเข้าไปดูเลยว่าฟาร์มเป็นยังไง ไม่เอาฟาร์มจัดฉากนะ แล้วคนจะได้รู้ว่าที่มาที่ไปของไก่ที่คุณเอามาขายมันเป็นยังไง ไม่ใช่ให้เข้าไปดูแต่ที่โรงงานแปรรูปสัตว์แล้วบอกว่าเราทำสะอาด มีมาตรฐาน แน่นอนว่ามันต้องสะอาดอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือก่อนหน้านั้นล่ะเป็นยังไง มีชีวิตแบบไหน
คุณคิดอย่างไรกับเมนูอื่นๆ ที่ถูกตั้งคำถามเหมือนกัน เช่น หูฉลาม ฟัวกราส์ กระทั่งเมนูบ้านๆ อย่างกุ้งเต้น
ถ้าเป็นการกินหูฉลาม… ผมต่อต้านอยู่แล้ว เพราะไม่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่โอเค รู้ใช่ไหมว่าเรือที่คอยจับฉลามมาทำเมนูหูฉลามเขาจะจับมันขึ้นมาตัดเอาเฉพาะหูของมันไว้ แล้วปล่อยมันกลับลงไปในทะเล ซึ่งถือว่าขัดกับหลักมนุษยธรรมต่อสัตว์อย่างชัดเจน แต่สำหรับเรื่องฉลามผมก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน คือผมยอมรับวัฒนธรรมของบางประเทศที่เขาบริโภคกัน เช่นที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นเมืองเกาะ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขากินฉลามกันเป็นเรื่องปกติ เพราะน่านน้ำที่นั่นมีฉลามเยอะมาก ที่สำคัญคือเขาไม่ได้กินแค่หูเท่านั้น หากคุณไปไต้หวันคุณจะเห็นร้านอาหารที่ทำเมนูฉลามแบบ Nose to Tail ก็คือกินทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเนื้อและหนัง กระทั่งเครื่องใน แล้วเขาเปิดร้านมา 80-90 ปี รู้วิธีการเอาฉลามมาทำให้อร่อยและกินได้จริง แบบนี้ผมโอเค เพราะผมมองว่าฉลามคือหนึ่งในสัตว์น้ำเหมือนกัน ไม่ใช่สัตว์วีไอพี ดังนั้น ทำไมจะกินไม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการที่เรากินแต่หูแล้วเอาส่วนอื่นทิ้งไปโดยไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เลย
ส่วนฟัวกราส์ ปกติผมเป็นคนไม่กินอยู่แล้ว และผมไม่ได้มีความรู้มาก ผมไม่เคยไปฟาร์ม ไม่รู้ว่ามันโหดร้ายทารุณอย่างไร มันก็มีทั้งคนที่เขาบอกว่ามันไม่โอเค มีคนที่บอกว่ามันเป็นวิธีการเลี้ยงที่มีมาตั้งแต่โบราณ กระทั่งบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอะไร ดังนั้น ผมไม่มีความรู้ จึงไม่รู้ว่าจะคอมเมนต์ยังไง
อีกเมนูอย่างกุ้งเต้น ผมว่าการกินกุ้งเต้นไม่ได้เป็นการทารุณกรรมสัตว์นะ เพราะมันเป็นช่วงเวลาแค่แป๊บเดียว คือผมมองว่าเวลาสัตว์จะตาย มันต้องมีช่วงเวลาถูกเชือดอยู่แล้ว ไม่ว่าไก่หรือหมูจะถูกเลี้ยงมาดีอย่างไร แต่พอถึงเวลาเข้าโรงเชือดก็ย่อมแปลว่ามันโดนฆ่า สุดท้ายมันก็ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่สิ่งที่สำคัญคือตอนที่มันยังอยู่มันโอเคมั้ย ผมเป็นคนที่กินปลาหมึกสดๆ ที่จับขึ้นมาจากตู้แล้วแล่กินเลย ถามว่า นี่ไงมันยังขยับอยู่เลย ถ้าเราหยิบขึ้นมาทำกินสดๆ แปลว่าเราทรมานมันสิ ผมว่าไม่ใช่ เพราะไม่ว่าจะกินสดหรือไม่สด ค่ามันย่อมเท่ากันอยู่ดี ปลาหมึกสดคือปลาหมึกที่จับมากินแบบเป็นๆ แต่ปลาหมึกไม่สดคือปลาหมึกที่จับขึ้นมาเหมือนกัน เพียงแต่มันมาในสภาพตายแล้วและถูกใส่น้ำแข็งมา แต่ตอนก่อนที่มันจะตาย ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึกสดหรือไม่สด มันก็ทรมานเท่ากันอยู่ดี ผมจึงไม่ซีเรียส กับเรื่องกุ้งเต้นก็เช่นเดียวกัน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่คุณอยู่ในวงการอาหาร พอจะมองเห็นไหมว่าความตระหนักต่อเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
มีความเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร ผมเปิดร้าน Le Du (ฤดู) มาเจ็ดปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมแทบจะเป็นเชฟคนแรกๆ ที่เข้าไปคุยกับพี่อำนาจที่ฟาร์มไก่ เช่นเดียวกับพี่โบ (ดวงพร ทรงวิศวะ) และพี่ดีแลน (ดีแลน โจนส์) จากร้านโบ.ลาน ที่ก็ใช้ไก่จากฟาร์มแทนคุณเช่นเดียวกัน เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจเลย คนไทยยังไม่รู้ ตอนนี้รู้มากขึ้น แต่ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ ยังไงก็ตามเมื่อเชฟรู้ เชฟก็พยายามจะ educate สื่อและคนกิน เมื่อคนสงสัยว่าไก่ Free Range มันจะดีกว่าไก่ที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ยังไง เราก็ต้องอธิบายเขา รวมถึงอาหารแต่ละเมนูที่เราเสิร์ฟที่ร้าน Baan (บ้าน) เราก็พยายามจะอธิบายว่าของที่เอามามันต่างกันยังไง หมูถูกเลี้ยงแบบไหน ไก่ถูกเลี้ยงยังไง เนื้อที่เราใช้มาจากไหน พูดง่ายๆ ว่าวงการอาหารมีการพัฒนาขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ไปถึงคนในระดับแมส
ผมคิดว่าทางออกที่อาจจะเป็นไปได้ในสมัยนี้คือคนต้องเห็นภาพ สื่อต้องมีบทบาทในการนำเสนอ แล้วเขาก็จะเข้าใจและนึกออก เช่นเดียวกับเรื่องไก่หลุม พอทุกคนได้เห็นภาพว่าไก่มันโดนฝังอยู่ในหลุม ออกไปไหนไม่ได้ คนก็ไม่โอเค แต่อย่างไรก็ตามมันก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้บริษัทใหญ่ๆ ยินยอมให้เข้าไปถ่ายทำกระบวนการในฟาร์มจริงๆ แต่ถ้าภาพเหล่านั้นมันหลุดออกมาได้ เช่นเดียวกับเคสที่เกิดขึ้นในอเมริกา พอคนเห็นภาพความทุกข์ทรมานเหล่านั้น คุณยังกินไก่ลงหรือเปล่าล่ะ ด้วยเหตุนี้มูฟเมนต์วีแกนที่อเมริกาจึงรุนแรงมาก แต่นั่นก็เป็นความสุดขั้วในอีกแบบหนึ่ง ผมว่าที่สุดแล้วประเด็นสำคัญไม่เกี่ยวกับการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ เราต้องดูว่ามันมายังไงมากกว่า
ดังนั้น หน้าที่ในการ educate สังคมส่วนหนึ่งจึงเป็นของเชฟ และในขณะเดียวกันมันก็เป็นหน้าที่ของสื่อด้วย ที่จะต้องทำให้คนหมู่มากรู้ว่ามันแตกต่างกันยังไง เพราะทุกวันนี้คนก็ยังถามมาอยู่เสมอว่าจริงๆ แล้วการเลี้ยงแบบ Free Range มันต่างจากการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมยังไง คำถามนี้มักจะไม่ค่อยมีคนตอบ แต่คนจะตอบได้ว่าทำไมเราถึงไม่ควรกินไก่หลุม เพราะมันคือการทารุณกรรม อันนี้เห็นได้ชัดเพราะเราเห็นภาพกันจะๆ เลย
นอกจากเรื่องทางจริยธรรมแล้ว การทารุณกรรมสัตว์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารยังส่งผลเสียในมิติใดอีกบ้าง
เรื่องของระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเกี่ยวพันกันไปทั้งระบบ เริ่มต้นจากที่มาของอาหารไก่ สิ่งที่เขานิยมผสมลงไปในอาหารไก่คือปลาป่นใช่ไหม ทีนี้คุณลองไปดูรายชื่อเจ้าของบริษัทปลาป่นใหญ่ๆ ในเมืองไทยสิ แล้วจะพบว่าพวกเขาล้วนมีสายสัมพันธ์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เลี้ยงสัตว์ เหตุผลคือเพราะว่าไก่ต้องการแคลเซียมจากปลา วิธีการทำให้อาหารไก่ราคาถูกที่สุดก็คือใช้ปลาป่น ซึ่งปลาป่นส่วนมากจะมาจากสัตว์ทะเลที่เหลือจากการจับ เอาไปขายไม่ได้ เพราะเวลาจับเขาใช้อวนตาถี่ดักจับสัตว์ทะเลขึ้นมาเยอะๆ คัดเอาตัวที่ขนาดใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาดไปขาย ส่วนพวกปลาซิว ปลาสร้อย หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่เหลือเขาก็จะเอามาทำปลาป่น ขายต่อให้บริษัทที่เลี้ยงสัตว์ในราคาถูก โดยไม่สนว่าปลาตัวเล็กๆ เหล่านั้นจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เมื่อเติบโตขึ้นไปแล้วจะมีราคา ดังนั้น เมืองไทยจึงเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ทำธุรกิจปลาป่นแล้วส่งขายต่างประเทศด้วย นี่เราพูดถึงแค่อาหารไก่ก็รู้แล้วว่ามันแย่ต่อระบบนิเวศในธรรมชาติมากมายแค่ไหน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นด้วยซ้ำ แต่ประเด็นสำคัญคือ เขาพยายามปกปิดว่าประเด็นอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทั้งๆ ที่มันทำลายระบบนิเวศบ้านเราอย่างรุนแรงมาก
อุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารของประเทศอื่นๆ ในโลกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมาเฟียเหมือนประเทศไทยหรือเปล่า
ทุกที่เป็นเหมือนกันหมด คนที่คุมอาหารได้ก็คือหนึ่งในคนที่คุมโลกได้ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเลย ในอเมริกามีการล็อบบี้แทบทุกวงการ ต้องบอกว่าเป็นมาเฟียที่ยิ่งกว่ามาเฟียซะอีก สิ่งเหล่านี้คือความตกต่ำย่ำแย่ของมนุษยชาติ ผมขอสรุปสั้นๆ อย่างนี้แล้วกัน เพราะถ้าเกิดให้พูดเรื่องนี้จริงๆ มันจะยาวมาก
สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)
คือการที่สัตว์ได้รับการเลี้ยงและดูแลโดยคำนึงถึงเรื่อง ‘ความสุขกาย สบายใจของสัตว์’ ได้รับการบัญญัติให้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการโดยสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดไว้ว่าสัตว์จะมีสุขภาวะที่ดีได้จะต้องประกอบด้วยอิสระทั้ง 5 ข้อ (Five Freedoms) ดังนี้
- Freedom from hunger and thirst อิสระจากความหิวกระหาย สัตว์ทั้งหลายต้องได้รับอาหารที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสม
- Freedom from discomfort เป็นอิสระจากความไม่สบายกาย หรือก็คือการได้อยู่อาศัยในสถานที่ที่เหมาะสม
- Freedom from pain, injury and disease เป็นอิสระจากความเจ็บป่วยและโรคภัย สัตว์ต้องมีสุขภาพที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง
- Freedom from fear and distress เป็นอิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ
- Freedom to express normal behavior สัตว์ต้องมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของตนเอง
ภาพ: Instagram: cheftonn / Reuters / Getty Images