ปัญญาประดิษฐ์

จากรูปปั้นสัตว์อสูรของชาวกรีก-โรมัน สู่การพัฒนาเป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ และ Siri ในวันนี้

ประวัติศาสตร์ของ AI เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณที่มีตำนานเรื่องราวและข่าวลือเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตประดิษฐ์ที่มีสติปัญญา เมล็ดพันธุ์แห่ง AI สมัยใหม่ถูกปลูกฝังโดยนักปรัชญาคลาสสิกที่พยายามอธิบายกระบวนการคิดของมนุษย์ผ่านเครื่องประดิษฐ์จักรกลให้ออกมาเป็นรูปแบบของสัญลักษณ์

        จนนำไปสู่การประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ครั้งแรกในปี 1940 เป็นเครื่องจักรที่ใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ที่เบื้องหลังมีแนวคิดที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเริ่มพูดคุยอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสมองจักรกลในอนาคต ก่อนที่สถาบันการวิจัย AI จะก่อตั้งขึ้นในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้น ณ วิทยาลัยดาร์ตมัธ ในช่วงฤดูร้อนปี 1956 และได้มีการทำนายว่า ในอนาคต หุ่นยนต์จะถูกพัฒนาให้ทัดเทียมและอาจเหนือกว่ามนุษย์ในที่สุด

ตำนานกรีก

        มนุษย์และหุ่นยนต์แท้จริงแล้วกำเนิดขึ้นพร้อมกันในยุคของเทพเจ้า ในตำนานของพิกเมเลียน (Pygmalion) มีข่าวลือเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุในการสรรค์สร้างเครื่องจักรที่มีความคิดและปั้นแต่งออกมาเป็นสัตว์ประหลาดต่างๆ เช่น โกเลม ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ที่จะพัฒนากลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

        จากแนวคิดการสร้างหุ่นยนต์จากรูปปั้น ได้ต่อยอดให้เหล่านักประดิษฐ์มีศรัทธาและแนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์ที่สวมใส่จิตวิญญาณของเทพเจ้า เปรียบเสมือนปัญญาประดิษฐ์ (ในสมัยนั้นใช้คำว่า ‘อวตาร’) โดยมีการบันทึกไว้ว่านี่คือ ‘การค้นพบโดยธรรมชาติอันแท้จริงของพระเจ้าที่มนุษย์สามารถทำซ้ำได้’ ก่อนที่เทคโนโลยีและแนวคิดเรื่องอัลกอริทึมจะถูกต่อยอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ปัญญาประดิษฐ์

1943

        วอร์เรน แมคคัลลอช์ และ วอลเธอร์ พิตซ์ ใช้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ของสมองในเชิงกายภาพ ตรรกศาสตร์ และทฤษฎีการคำนวณมาผสม และร่วมกันสร้างแบบจำลองหน่วยประสาทเดี่ยว (neurons) ขึ้นมา 

        ต่อมา มาร์วิน มินสกี และ ดีน เอ็ดมอนด์ นักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้ร่วมกันพัฒนา ‘แบบจำลองหน่วยประสาทเดี่ยว’ ให้กลายเป็นระบบโครงข่ายใยประสาทตัวแรกของโลกโดยใช้ชื่อว่า SNARC ที่สร้างจากหลอดสุญญากาศ 3,000 หลอด และจำลองหน่วยประสาท 40 หน่วย ซึ่งนำไปสู่การทดสอบความสามารถของเครื่องจักรว่ามีสามัญสำนึกและความรู้สึกนึกคิดหรือไม่ 

 

ปัญญาประดิษฐ์

1950

        ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์ ทำงานเพื่อถอดรหัสปริศนาที่กองทัพเยอรมันใช้เพื่อส่งข้อความอย่างปลอดภัยด้วยการสร้างเครื่อง Bombe ที่ใช้ในการถอดรหัสข้อความของเครื่องอินิกมา (Enigma Machines) และ Bombe Machines สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวนำไปสู่วางรากฐานการสร้างเครื่องจักรที่สามารถสนทนากับมนุษย์และนำไปสู่การสร้าง ‘อัจฉริยะจักรกล’ ขึ้นมา

1956

        จอห์น แมคคาร์ธี นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันได้จัดการประชุม Dartmouth Conference ซึ่งมีการนำคำว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ มาใช้เป็นครั้งแรก ในช่วงเวลานี้ ศูนย์วิจัยโผล่ขึ้นมาทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อสำรวจศักยภาพของ AI ในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่คาดการณ์กันว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

1960

        นักวิจัยได้เน้นการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และทฤษฎีทางเรขาคณิต ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมัน และนำไปสู่พัฒนาการไอเดียเครื่องจักรในหุ่นยนต์อัจฉริยะ WABOT-1 ที่ต่อมาถูกสร้างขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2515

 

ปัญญาประดิษฐ์

1961 

        บริษัท General Motors (GM) ทำการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกเพื่อยกชิ้นส่วนโลหะที่มีอุณหภูมิสูงในสายการผลิต โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า Unimate และในปี 1968 ก็มีการใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ ที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์และควบคุมโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเท่ากับห้องรับแขก 1 ห้อง

1964 

        เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบการสนทนา หรือที่เรียกกันว่า ‘แชตบอต’ ถูกศึกษาและพัฒนาโดย ศาสตราจารย์ โจเซฟ ไวเซนบวม และต่อยอดไปเป็นโปรแกรมเอลิซ่า (Eliza) โดยใช้หลักการเลือกรูปแบบการตอบบทสนทนาด้วยภาษาและสถิติ หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาระบบมากมาย มีการใช้การเรียนรู้เชิงลึกและปัญญาประดิษฐ์ โดยหลายคนกล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ได้มาถึงจุดที่มนุษย์สามารถนำมาใช้งานได้จริง เพราะหลังจากนั้นก็เกิดกระแสการพัฒนาหุ่นยนต์โต้ตอบการสนทนาแบบนี้ขึ้นอีกมากมาย

1970-1990

        แม้กระแสเทคโนโลยี AI ทั่วโลกจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีมาหลายทศวรรษ แต่นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็พบความจริงว่าเป็นการยากที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์สักชิ้นหนึ่งที่มีความฉลาดให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่ามนุษย์ เพราะ AI ต้องใช้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล เครื่องคอมพิวเตอร์เองก็ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างดีพอที่จะประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่นี้ได้ รัฐบาลและองค์กรต่างสูญเสียความศรัทธาใน AI ไป ดังนั้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 ถึงกลางปี ​​1990 จึงเป็นยุคมืดของเทคโนโลยี AI ที่ขาดทั้งเงินลงทุนและบุคลากรที่ขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม AI Winters

1990 

        บริษัทจากสหรัฐอเมริกา เริ่มให้ความสนใจ AI อีกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนการพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นที่ 5 เพื่อความก้าวหน้าของการเรียนรู้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ที่ชื่นชอบและเฝ้ารอการเกิดขึ้นของ AI ที่ฉลาดล้ำ เชื่อว่าในไม่ช้าคอมพิวเตอร์จะสามารถทำการสนทนาแปลภาษาตีความรูปภาพและใช้หลักการเหตุผลเช่นเดียวกับที่มนุษย์คิด แต่ทำได้ดีกว่า

 

ปัญญาประดิษฐ์

1997-2011 

        จากความเชื่อมั่นของนักประดิษฐ์ นำไปสู่การท้าทายความชาญฉลาดของมนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการแข่งขันหมากรุกระหว่าง แกรี กาสปาโรฟ แชมป์หมากรุกโลกชาวรัสเซีย และ Deep Blue เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนและบริษัทไอบีเอ็ม แน่นอนว่า Deep Blue เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ และกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ที่สร้างความฮือฮาให้กับทั้งโลกว่า ‘ในตอนนี้ AI ได้เหนือกว่ามนุษย์เรียบร้อยแล้ว’

        ศาสตร์ทางด้าน AI และเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากกระแสที่เกิดขึ้นในเกมแข่งขันหมากรุก นักวิจัยเริ่มใช้ AI เข้ามาแก้ไขปัญหาหลายอย่างในด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ทั้งทฤษฎีความน่าจะเป็นแบบเบย์ (Bayesian network) แบบจำลองมาร์คอฟซ่อนเร้น (hidden markov model) และทฤษฎีสารสนเทศ (Information theory) 

        ทางฝั่งของเทคโนโลยีก็เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเช่นกัน ในยุคนี้เป็นจุดกำเนิดของสมาร์ตโฟนที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ AI อย่างเช่น Siri หรือเครื่องมือในการค้นหาผ่านรูปภาพของ Google เป็นต้น

2011-ปัจจุบ้น

        ปัจจุบัน AI กำลังปรับตัวและพัฒนาผ่านการเข้าถึงของข้อมูลจำนวนมาก ที่เรียกกันว่า Big Data เป็นยุคที่คอมพิวเตอร์ราคาถูก ทำงานได้รวดเร็ว เต็มไปด้วยเทคนิคการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรขั้นสูงที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์การประมวลผลไปใช้กับปัญหาต่างๆ ในความเป็นจริง 

        อีกทั้ง Mckinsey Global Institute สถาบันวิจัยชั้นนำทางธุรกิจและการจัดการของโลก ได้ประเมินไว้ว่าในอนาคตการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากจะทำให้ AI เป็น ‘เทคโนโลยีที่พลิกโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม’ ในที่สุด