สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ถามสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน: การเมืองเดือดๆ ในเดือนตุลาคม อ่านเล่มไหนดี?

เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง? ทำไมอำนาจนิยมที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม หนำซ้ำยังล้มเหลวในการบริหารบ้านเมืองถึงยังนั่งบนบัลลังก์สั่งการได้ตามอำเภอใจ? 

        ถ้าจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างถึงราก คงต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจพลังการต่อสู้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรือนับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยถูกฝังลงในสังคมไทยก็ว่าได้ 

        ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เราทึ่งในอายุอานามที่ยังน้อยของพวกเขา เราทึ่งในความแหลมคมทางความคิด เราทึ่งในความกล้าหาญที่อยู่เบื้องหลัง 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน และเราเชื่อว่าสายธารของความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยของผู้คนในสังคม ส่วนหนึ่งย่อมได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันไม่มากก็น้อย – หากคุณได้ติดตามข่าวการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คุณย่อมได้เห็นภาพของเด็กนักเรียนที่ชูหนังสือของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ขึ้นมาอย่างโดดเด่นท้าทาย 

        ในช่วงตุลาคม เดือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน a day BULLETIN ต่อสายสนทนากับ ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ด้วยอยากรู้ว่าการตื่นตัวในการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่เพิ่มยอดขายของสำนักพิมพ์ให้งดงามขึ้นอย่างไร พร้อมทั้งขอให้เขาแนะนำหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านในช่วงเดือนตุลาคม – เดือนที่เราเชื่อว่าการเมืองไทยปัจจุบันจะร้อนระอุดุเดือดที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่น่าจะทำให้หนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขายดีแบบเทน้ำเทท่าเลยใช่ไหม

        สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทำหนังสือแนวสังคมการเมือง หรือหนังสือเชิงวิชาการ โดยหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์เราออกมาเมื่อปี 2546 ถึงตอนนี้ปี 2563 ก็ถือว่าอยู่มาราว 17-18 ปี เรามีแฟนประจำที่ตามอ่านอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วหนังสือของเราก็ถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิชาการ หรือเป็นหนังสือสำหรับอ่านในวิชาเรียนด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วที่ผ่านมายอดขายของเราไม่ขี้เหร่อยู่แล้วนะ 

        ช่วงที่ยอดขายหนังสือของสำนักพิมพ์เราโตขึ้นแบบก้าวกระโดดจริงๆ เกิดขึ้นสองครั้ง คือ ช่วงที่มีหนังสือปกใหม่ออกมา กับอีกช่วงคือในงานหนังสือตอนต้นปี 2562 หรือช่วงหลังเลือกตั้ง ซึ่งเราได้กลุ่มคนอ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ ยอดขายจึงมากับกระแสการตื่นตัวของคนกลุ่มนี้ด้วย แต่ว่าถ้าจะเปรียบเทียบกับหนังสือเบสต์เซลเลอร์ทั้งหลาย หนังสือของเราก็ไม่ได้ขายดีแบบเทน้ำเทท่าขนาดนั้น ถือว่าพอทรงตัวอยู่ได้ ดังนั้น ต้องบอกว่ากระแสการเมืองทำให้หนังสือขายดีขึ้นก็จริง แต่มันต้องสัมพันธ์ความสนใจของคนต่อเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

คนรุ่นใหม่นิยมอ่านเล่มไหน

        ตอนนี้หนังสือที่ขายดีอันดับต้นๆ ของเรามีสองเล่ม คือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง กับประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งตีพิมพ์มาได้หลายปีแล้ว ซึ่งยอดขายก็พอประมาณ ได้มีโอกาสพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง แต่ช่วงหลังๆ มานี้ยอดขายสองเล่มนี้พุ่งขึ้นมาเยอะเพราะกระแสการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนอ่านรุ่นใหม่ๆ สนใจเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วก็หนังสือเกี่ยวกับกษัตริย์ศึกษา 

        อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแห่งหนึ่งไว้ถึงเรื่องการอ่านหนังสือเกี่ยวกับสังคมการเมืองของคนรุ่นใหม่ไว้ว่าเนื้อหาหลักๆ ที่พวกเขาสนใจอ่านแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย หนังสือที่เกี่ยวกับรัฐวิพากษ์ หนังสือที่เกี่ยวกับกษัตริย์ศึกษา และหนังสือเชิงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ซึ่งส่วนใหญ่หนังสือของฟ้าเดียวกันก็จะจัดอยู่ในทั้งสี่กลุ่มที่ว่ามานี่แหละ 

        อีกอย่างก็คือการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียมีผลต่อการขาย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาผมไม่คิดว่าสื่อออนไลน์ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง แต่ผมคิดว่าสื่อออนไลน์ทำให้คนทำหนังสือกับคนอ่านหนังสือวิ่งเข้าหากันได้โดยตรงเลย ถ้าคุณมีคอนเทนต์ที่ตอบสนองความอยากรู้ของคน คุณขายได้แน่ ก่อนหน้านี้ตอนที่เรายังไม่มีโซเชียลมีเดีย การที่หนังสือจะไปถึงคนอ่านต้องมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หรือรายเดือนแนะนำให้ โดยเขาจะเขียนถึงประมาณสี่ห้าบรรทัดเท่านั้น มีรูปปกให้นิดหนึ่ง ซึ่งต้องรอให้คนได้มาอ่านคอลัมน์เล็กๆ ตรงนั้นแล้วเขาถึงจะรู้จักหนังสือเรา แต่โซเชียลมีเดียทำให้เราส่งคอนเทนต์ไปถึงผู้อ่านได้โดยตรงเลย เราอยากจะเขียน จะโพสต์คลิปโปรโมต หรืออยากจะกิจกรรมอะไรก็ได้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือยอดขายในออนไลน์ เฉพาะปี 2563 เราต้องพิมพ์ซ้ำประมาณสิบกว่าปก เช่น หนังสือชุดรวมบทความของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล หนังสือชุดสยามพากษ์ ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่จะมาจากการที่เขาได้อ่านหนังสือสักเล่มหนึ่งในบรรดาชุดหนังสือเหล่านี้แล้วก็ตามมาเก็บหนังสืออื่นๆ ในชุดเดียวกัน และเวลาสั่งซื้อในออนไลน์คนก็มักจะซื้อมากกว่าหนึ่งเล่มด้วย 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

แล้วช่วงนี้เล่มไหนขายดีที่สุด 

        ตอนนี้คงต้องเป็น ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง เพราะเป็นเล่มใหม่ที่สุด คนที่เป็นกลุ่มนักอ่านหน้าใหม่และคนที่เป็นแฟนประจำก็ได้ซื้อ ส่วนอีกเล่มหนึ่งคือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งหลังจากมีนักเรียนไปชูในการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 5 กันยายน ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นมาถึงสี่ห้าร้อยเล่มภายในสองถึงสามวัน แล้วคนที่ซื้อเล่มนี้ตอนนี้ก็จะเป็นกลุ่มคนอ่านหน้าใหม่ทั้งหมด

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี จะพาคนอ่านไปพบคำตอบในเรื่องใดบ้าง 

        คืออย่างนี้ หนังสือจำนวนหนึ่งของเราคือหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมือง เราพยายามจะทำให้คนได้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องอดีต ประวัติศาสตร์คือความเปลี่ยนแปลงและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีหลายๆ เรื่องที่คุณไม่สามารถทำความเข้าใจปัญหาปัจจุบันโดยตัดขาดจากอดีตได้ เช่น คุณไม่สามารถเข้าใจว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาได้ยังไง ทำไมเขาถึงอยู่ในอำนาจได้นาน หรือทำไมอยู่ดีๆ ปัญหาเรื่องพระราชอำนาจถึงโผล่ขึ้นมา 

        หากคุณดูแค่สถานการณ์ปัจจุบัน หรือข่าวรายวัน คุณจะเห็นว่า เฮ้ย ทำไมต้องยุบพรรคอนาคตใหม่ ตกลงว่ามีการกู้เงินกันจริงมั้ย แต่ทำไมพรรคอื่นกู้แล้วไม่โดนอะไร ซึ่งถ้าเราอยากรู้แค่ว่ากู้จริงมั้ย กู้มากหรือกู้น้อย เราก็จะได้คำตอบแบบหนึ่ง แต่ถ้ามองให้ไกลหน่อย คุณจะได้เห็นในอีกมุมหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ก็พยายามจะพาคุณไปหามุมมองทางประวัติศาสตร์เปิดให้เห็นมุมที่กว้างขึ้น เช่น ทำให้เห็นปฏิกิริยาของฝ่ายขวาไทยต่อความคิดที่แหวกแนว เมื่อมีความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นมาฝ่ายขวามีวิธีจัดการยังไง ซึ่งก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราพยายามจะนำเสนอโดยไม่ได้บอกว่าจะต้องเชื่อเรานะ ผมคิดว่าถ้าอ่านเล่มนี้แล้วคุณจะตีความแบบฝ่ายขวาไปเลยก็ได้ จะคิดว่าอเมริกันอยู่เบื้องหลังแบบที่ฝ่ายขวาไทยในปัจจุบันชอบคิดกันก็ได้ 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ในช่วงตุลาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีความหมายในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีเล่มไหนที่เหมาะแก่การอ่านในเดือนนี้บ้าง 

        มีเล่มหนึ่งที่หลายคนเอ่ยปากชมว่าเป็นงานที่ดีก็คือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ไอเดียของเล่มนี้คือเขาจะไม่ได้บอกว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีคนไฮด์ปาร์กกี่คน หรือว่า อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เดินออกจากธรรมศาสตร์ตอนกี่โมง แต่อาจารย์ประจักษ์พยายามบอกว่า เฮ้ย ทำไมคนจำนวนหลักแสนหลักล้านของประเทศไทยถึงออกมากันในวันนี้ มีความคิดอะไรชี้นำ รูปแบบการก่อตัวของนักศึกษาเป็นยังไง แล้วในขบวนการใหญ่มีการผสมผสานผสานกันแบบไหน ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ตรงไหน 

        ที่จริงแล้วงานเล่มนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอ่านในช่วงตุลาคมด้วยซ้ำ แต่เราสามารถอ่านได้ตลอด มันจะทำให้เห็นว่างานวิชาการที่รุ่มรวยด้วยชุดข้อมูลและกรอบการวิเคราะห์มันเป็นอย่างไร ซึ่งมันจะสามารถตอบคำถามในหลายๆ เรื่องในทุกวันนี้ได้ด้วย เช่น เราจะเห็นว่าคน 14 ตุลาฯ จำนวนหนึ่งที่เคยเชียร์ประชาธิปไตย ทำไมวันนี้ถึงกลายเป็นคนแอนตี้ประชาธิปไตย หนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นรากฐานที่ส่งผลมาถึงปรากฏการณ์ในปัจจุบันนี้

คุณคิดว่าหนังสือเล่มไหนของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ‘เบิ้ม’ ที่สุด

        (หัวเราะ) เราว่าคงจะเป็นวารสารฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่หน้าปกเลียนแบบโฆษณาน้ำอัดลมชื่อดัง แต่พูดตรงๆ ว่าเนื้อหาบางอย่างในนั้นก็อาจจะเชยไปแล้วถ้าเทียบกับการรับรู้ของผู้คนในตอนนี้ เพราะปกนั้นออกมาตั้งแต่ปี 2548 หรือราว 14-15 ปีที่แล้ว ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เราเอาประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์มาพูดในหนังสือ และด้วยความโดดเด่นของการดีไซน์หน้าปกด้วยแหละ และถึงแม้เนื้อหาอาจจะเชยไปบ้าง แต่ก็มีคนบอกว่ามันมีความเป็นหนึ่งในไอคอนของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่ ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดจะเอากลับมาพิมพ์ซ้ำแล้วด้วย 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ใครคือคนที่คุณอยากให้เขาอ่านหนังสือของฟ้าเดียวกันมากที่สุด 

        ผมอยากพูดเป็นภาพกว้างมากกว่าจะเจาะจงบุคคลนะ ผมอยากให้ฝ่ายขวาได้อ่าน คุณอาจจะไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่ลองเปิดใจอ่านดู เพื่อจะตอบคำถามว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงได้รู้สึกว่ามันตอบหลายๆ คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ 

        เราเริ่มทำสำนักพิมพ์เมื่อหลายสิบปีที่แล้วด้วยความรู้สึกว่า ณ ตอนนั้นมันยังไม่มีหนังสือที่ตอบสนองสิ่งที่เราอยากรู้ ซึ่งเป็นความรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองเท่านั้นนะ แต่เราเองก็สนใจเรื่องเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเรื่องเชิงวัฒนธรรมด้วย พูดง่ายๆ ว่าอะไรตามที่เป็นความรู้ แม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจว่าทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามอธิบายความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของพวกเขา คืออะไรที่มันมีน้ำหนักมากพอ มันเวิร์กมากพอ เราก็พร้อมที่จะอ่านและถกเถียง 

 


นิทรรศการ ‘แขวน’ 

ชวนคุณไปแกะรอยประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และรำลึกถึงบทเรียนของความสูญเสียครั้งใหญ่ของสังคมไทยกับนิทรรศการ ‘แขวน’ ที่เกิดขึ้นผ่านแนวคิด หลักฐาน+ข้อเท็จจริง และพื้นที่+เทคโนโลยี โดยมีการนำเทคโนโลยี AR มาช่วยให้คนปัจจุบันสามารถเห็นภาพเสมือนจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 44 ปีก่อนได้อย่างชัดเจน 

นิทรรศการจัดตั้งแต่วันนี้ถึง 25 ตุลาคม 2563 บริเวณโถงหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.  

ชมบรรยากาศของนิทรรศการเบื้องต้นได้ที่: https://bit.ly/33riDVp 

ภาพโดย: ธนศิลป์ มีเพียร