callversation

เพิ่มอรรถรสให้ชีวิตออนไลน์ เปิดใจรับฟังความต่างผ่าน ‘Callversation’ เครื่องมือสานสัมพันธ์

เห็นด้วยกับประโยคนี้มากน้อยแค่ไหน

        “COVID-19 ทำให้โลกดีขึ้น?”

        “ด่าแต่ไม่เสนอทางออก = ไร้ค่า”

        “ผัดกะเพราที่ดี ไม่ควรมีผักอื่นที่ไม่ใช่กะเพรา”

        หลากคำถามจาก ‘Callversation’ คุยสนุกทุกเวลาคอล เกมที่ชวนผู้คนมาเปิดบทสนทนา เชื่อมความสัมพันธ์ แม้ไม่เจอหน้ากันหลายวัน และเฉลิมฉลองความหลากหลายของความคิดเห็นไปพร้อมๆ กัน 

        “การไม่ทำ ไม่สนใจอะไรเลยต่างหากไร้ค่าที่สุด”

        “คำด่า มันคือความรู้สึกที่ระเบิดออกมา มันต้องมีอะไรที่กระแทกใจเขามากๆ ถึงจะด่าออกมา การด่ามันทำให้เกิด moment of learning ได้”

        “แต่ถ้าแค่พ่นคำหยาบออกมา ไม่มีเนื้อหาอยู่ข้างใน นั่นเรียกว่า hate speech มันต้องแยกกันให้ได้”

        บทสนทนาคุยกันไปมาจากคำถามตั้งต้นที่ว่า ‘ด่าแต่ไม่เสนอทางออก = ไร้ค่า’ (หรือไม่) หนึ่งในหลายคำถามจาก Callversation ที่มีมากมายหลายหมวด ตั้งแต่ politics, entertainment, education, random, love & life ไปจนถึง moral dilemma ทางเลือกวัดใจในชีวิตจริง ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดใจ ได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้รู้จักกันจากคำตอบที่สะท้อนประสบการณ์ว่าคนตรงหน้าเราผ่านอะไรมาถึงได้มีคุณค่า มีความเชื่อในชีวิตเช่นนี้

 

callversation

 

        ‘Callversation’ โปรเจ็กต์ใหม่จาก Glow Story ครีเอทีฟเอเจนซี ‘ขี้เล่า’ ที่เราจดจำเขาได้จากการเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ เบื้องหลังทั้งงานทอล์ก แคมเปญ หรืองานสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และแม้ในช่วงเวลานี้ที่งานอีเวนต์ต่างๆ จะหยุดชะงักไป แต่ความสนใจในเรื่องเล่าของผู้คน และความมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงดูจะไม่เคยหยุดพักเลย

        ในวันที่เราเจอกันไม่ได้ แต่เรายังสื่อสารกันได้

        ในวันที่ยังสร้างอิมแพ็กต์จากงานข้างนอกไม่ได้

        แต่พวกเขาเชื่อว่ายังสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในได้

        ความเชื่อในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Change Lab’ ยูนิตใหม่ใน Glow Story ที่มี ‘Callversation’ เป็นสิ่งทดลองชิ้นแรกจากห้องแล็บเพื่อการสร้างอิมแพ็กต์ให้เกิดขึ้นในสังคม

 

callversation

 

        “ในวันนี้ที่ทุกคนต้อง go online ต้องห่างกัน มันเลยทำให้สิ่งที่เราเชื่อมาตลอดในเรื่องของ deep meaningful conversation บทสนทนาลึกซึ้งที่มีความหมาย นั้นยิ่งมีความสำคัญชัดเจนมากขึ้น การได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้พูดคุย ได้รับฟัง มันเติมเต็มความต้องการเรื่อง sense of belonging ของคน ทำให้ไม่จิตตก ไม่เหงาเกินไปในเวลาที่ต้องห่างกันนี้”

        ‘บี๋’ – นภัส มุทุตานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Glow Story กล่าวถึงที่มาที่ไปว่าทำไม ‘Callversation’ ถึงคลอดออกมาเป็นผลงานทดลองชิ้นแรกจาก Change Lab 

        “เรื่องสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นโจทย์ของ Glow มาตลอด ต้นปีเราเลยคุยกันว่าต้องมี Change Lab เป็นยูนิตที่เราจะได้มุ่งเรื่องการสร้างอิมแพ็กต์อย่างจริงจัง และที่สำคัญ คือให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในทีมได้ทำ ‘passion project’ ร่วมกันด้วย เพราะปกติเราจะแบ่งกันทำงาน แต่โปรเจ็กต์ของ Change Lab นี้ทุกคนในทีมจะมีส่วนร่วมหมด”

        ‘พิ’ – พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ Change Lab ยูนิตใหม่ของ Glow Story ที่เป็นพื้นที่ทดลองขยายผลการเปลี่ยนแปลงที่ Glow Story มุ่งมั่นมาตลอด และเป็นคอมมอนรูม พื้นที่ที่ทุกคนในทีมจะได้มารวมตัว ‘เล่น’ ‘ลอง’ ในสิ่งที่พวกเขาอยากทำ หลังจากกระจายแยกย้ายทำงานตามหน้าที่แต่ละคน

        “ถ้าคิดเป็นโปรเจ็กต์ 1 ปี อิมแพ็กต์ 1 ล้านคน มันนานไป เยอะไป วัดยากไป กว่าจะถึงเดือน 12 ในระหว่างเดือนที่ 1-11 เราห่วงว่าคนในทีมจะรู้สึกยังไง ไม่อยากให้จุดพลุเสร็จแล้วหมดแรง แล้วดับ เราเลยอยากทำอะไรที่สนุกมากกว่า เพราะเชื่อว่าอะไรที่มันสนุก คนจะทำมันต่อเอง”

        ‘แคน’ – นพัชธวัช วงษ์เจริญสิน ‘Change Manager’ ผู้ดูแล Change Lab และผู้ทำคลอด ‘Callversation’ ให้เกิดขึ้น จากโจทย์ที่ได้รับมาว่า อยากให้ Change Lab เป็นห้องทดลองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของ Glow Story แคนได้เปลี่ยนวิกฤตในช่วงโควิดนี้ที่งานเอเจนซีที่เป็นงานหลักของบริษัทถูกระงับชั่วคราว ให้เป็นโอกาสที่คนในทีมทุกคนได้มาร่วมหัวลงแรงกันทำ ‘passion project’ ที่ทุกคนในทีมสนใจร่วมกัน และปลุกปั้น สร้างสรรค์มันขึ้นมาจากความถนัด ทักษะหลากหลายของคนในทีม

        “หัวใจของ Glow คือความสนุก และการสร้าง positive change เราเลยอยากให้ Change Lab เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการด้วย ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์”

        “แต่ก่อนทำงานเราจะมุ่งเน้นผลลัพธ์ เราคุยกันหนักมากว่างานนี้จะสร้างอิมแพ็กต์อะไร แล้วมันก็เครียดนะ แต่เราอยากให้ Change Lab เป็นอะไรที่ง่าย หลายๆ ครั้งความเปลี่ยนแปลงมันไม่เกิดขึ้น เพราะคนรู้สึก paralyzed ว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเราคิดว่าเราค่อยๆ ใช้สิ่งที่เรามีขยับไปทีละนิดก็ได้ ตราบใดที่เรายังมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่”

        “ผลปลายทางมันเป็นยังไง เรายังบอกไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันสร้าง engagement และ empower คนในทีมด้วยการทำให้ทุกคนรู้สึกว่าถ้าเขาอยากทำอะไร เขาลองทำได้เลย และมีทีมที่พร้อมจะซัพพอร์ตด้วย”

        บี๋ พิ แคน สลับกันเล่าถึงความเชื่อ ความฝันที่พวกเขามีต่อ ‘Change Lab’ ยูนิตใหม่ที่เพิ่งเริ่มเมื่อต้นปี และได้ใช้วิกฤตในช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะรวบรวมพลังคนในทีมมาปลุกปั้นกับฝันที่พวกเขามีร่วมกัน

 

callversation

 

        “จำได้ว่าวันที่ส่งใบสมัครเข้าร่วมทีม เขียนว่าอยากให้การที่ทุกคนยกมือถามคำถามได้เป็นเรื่องปกติ”

        แคนเล่าย้อนถึงวันที่เข้ามาร่วมงานกับ Glow Story ใหม่ๆ ว่าความฝันที่เขาอยากเห็นจากการทำงานที่นี่คืออะไร และกลายเป็นว่าความฝันของเขาที่อยากเห็นสังคมที่การยกมือถามเป็นเรื่องธรรมดานั้นไม่ต่างจากคุณค่าเรื่อง ‘ความหลากหลาย’ ที่คนในทีมเชื่อมั่นเสมอมา 

        “เราเชื่อว่าคนต้องการ deep meaningful conversation ที่ทำให้เราได้เป็นทั้งผู้พูด ผู้ฟัง และเป็นส่วนหนึ่งกับผู้อื่น เราว่าเรื่องความสัมพันธ์มันเป็นความต้องการพื้นฐาน ต่อให้จะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้หรือไม่ก็ตาม

        “หลายคำถามง่ายๆ มันพาเราไปไกลมาก หรือแม้แต่ taboo บางอย่างที่คนอาจไม่พูดกัน พอทำเป็นเกมมันก็ง่ายต่อการคุยกันมากขึ้น

        “บางคนที่มาเล่นด้วยกันนี่ยังไม่รู้เลยบ้านอยู่แถวไหน แต่บทสนทนามันทำให้เรารู้จักที่มาที่ไปของชีวิตเขาแล้ว ได้ฟังว่ากลัวอะไร ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน มันก็เป็นการสร้างความไว้ใจ ความสนิทสนมแบบใหม่ โดยไม่ต้องใช้ icebreaking เดิมๆ อย่างการพาไปกินเหล้า รับน้อง เต้นไก่ย่าง อะไรแบบนั้น”

        ความเชื่อใน deep meaningful conversation การสร้างความสัมพันธ์ สร้างสังคมที่เคารพความหลากหลาย ผ่านบทสนทนาที่ลึกซึ้งและมีความหมาย ที่กลายเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟให้แคน พิ บี๋ และทีม Glow Story เลือกที่จะลงมือทำ ‘Callversation’ ให้เป็นโปรเจ็กต์แรกจากห้องทดลองของพวกเขา หลังจากหลายไอเดียที่พวกเขาระดมสมองคิดกันตั้งแต่โควิด-19 เริ่มดูท่าว่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน

        “พอมาอธิบาย ก็ฟังดูเหมือนว่า ‘Callversation’ นั้นใช่ไปหมด แต่จริงๆ แล้วไอเดียนี้อาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ถ้าตอนระดมสมองกัน เราเลือกไอเดียอื่น ไอเดียนี้อาจไม่ถูกเลือกเลยก็ได้ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลานี้ที่เราต้องแยกกันอยู่ มันเลยทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมาที่เราหาอุดมคติในการทำงาน หาไอเดียที่ถูกต้อง จริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก มันก็เป็นแค่การลงมือทำ แล้วสิ่งที่ทำมันจะมีความหมายอย่างไร มันก็เป็นการตกตะกอนย้อนหลังทั้งนั้น

        “คนมักจำ Glow ในฐานะคนพูด คนปล่อยข้อมูล คนสื่อสาร แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำได้ดีไม่ใช่การพูดเก่ง แต่เราเชื่อว่าเรามีกระบวนการฟังที่ดี เช่น เวลาเรา curate ทอล์ก เราฟังเป็นชั่วโมง เราพูดสรุปจริงๆ ไม่กี่นาทีเอง Callversation มันเลยคล้ายเป็นการสะท้อนกระบวนการฟังเบื้องหลังของเราที่คนไม่ค่อยเห็น ว่าเราฟังอย่างไร ถึงได้เรื่องเล่าที่สวยงามออกมา”

        พิเล่าถึงเบื้องหลังของการระดมสมองว่าถ้าไม่ใช่ Callversation นี้ ไอเดียอื่นๆ ที่พวกเขาคิดจะทำกันนั้นมีอะไรบ้าง และดูเหมือนว่าไอเดียที่ดีนั้นไม่ได้มาจากการคิดเค้นค้นหาไอเดียที่ ‘ดีที่สุด’ ที่อาจไม่มีจริง ไอเดียที่ดี แท้จริงนั้นก็คือไอเดียที่ได้รับการนำไปทดลอง ลงมือทำก็แค่นั้น

        “พอมีโควิด-19 มันยิ่งทำให้คนเห็นเยอะว่าระบบที่ผ่านมามันมีช่องโหว่ตรงไหน แต่เวลาพูดถึง ‘ระบบ’ มันฟังดูใหญ่ จะไปเปลี่ยนมันได้ไง แต่ต้องอย่าลืมว่าระบบต่างๆ นั้นล้วนถูกสร้างขึ้นมาด้วยคน และการเริ่มลงมือทำของคนก็มาจากไอเดีย และไอเดียที่ดีก็มาจากการพูดคุยที่เปิดรับความหลากหลายของความเห็นทั้งนั้น

        “Callversation ตอนนี้มันเป็นเบบี๋มาก แต่ถ้ามันทำให้คนเกิด ‘radical empathy’ ต่อกัน มันก็อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่ไปกระตุ้นให้เกิด new normal ใหม่ ที่คนเรายอมรับความแตกต่างของกันและกันได้ ไม่ต้องไปแปะป้ายอะไร แค่รับฟัง เข้าใจว่าเขาเจอประสบการณ์มาแบบไหน และหาทางสร้างความจริงใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ด้วยกัน”

 

callversation

 

        เราร่วมถ่ายรูปผ่านหน้าจอ ‘screenshot’ ตามธรรมเนียมส่งท้าย ‘Callversation’ น่าแปลกที่การสนทนาผ่านหน้าจอนี้ไม่ ‘ดูดพลัง’ อย่างที่ใครต่อใครมักกล่าวถึงการประชุมออนไลน์ว่ามันช่างน่าเหนื่อยหน่าย แต่สองชั่วโมงกว่ากับการพูดคุยกับพวกเขาเหล่า Glowers กลับ ‘เติมพลัง’ ได้อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะ ก. กลไกเกมที่ออกแบบให้ Callversation นั้นสนุกและง่าย, หรือ ข. เพราะบทสนทนาลึกซึ้งนั้นเติมเต็มความต้องการสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานแม้จะผ่านหน้าจอ หรือ ค. เพราะเราได้รับพลังจากพวกเขาว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มได้เลย ไม่ต้องรีรอ 

        หรืออาจจะเป็นทั้งหมดที่ว่ามา ทั้งข้อ ก. ข. และ ค. เลยก็เป็นได้

        เพราะคำตอบที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่มี มีแค่คำตอบที่หลากหลาย

        พอๆ กันกับไอเดียที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่มี

        มีแค่ไอเดียที่ได้รับการลงมือทำ

 


        ทดลอง Callversation เกมที่จะเพิ่มอรรถรสของบทสนทนาให้ลึกซึ้งและมีสีสันในช่วงเวลาที่เราต้องห่างกันได้ง่ายๆ เพียงเปิด Zoom หรือ video conference อื่นๆ แล้วให้ใครสักคนแชร์สกรีนหน้าจอ www.callversation.co ที่คุณสามารถเลือกหมวดคำถามที่อยากคุย แล้วดื่มด่ำกับบทสนทนาออกรสออกชาติเต็มที่ได้เลย

        เล่นเสร็จแล้วอย่าลืมถ่ายรูปบันทึกความทรงจำดีๆ ร่วมกัน พร้อมติดแฮชแท็ก #Callversation หรือติดตามบทสนทนาจากผู้คนอื่นๆ ได้ที่ IG: Callversation, Twitter: @Callversation, FB Page: Callversation