“ความสำเร็จนี้ แดงยกเครดิตให้ กทม.”
‘แดง’ – ผศ. ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) พูดประโยคข้างบนบ่อย ย้ำแล้วย้ำอีก ทั้งระหว่างบทสนทนา เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอเอง และส่งข้อความมาหาเราหลังสัมภาษณ์ผ่านไปหลายวัน
เดือนมิถุนายน 2563 เราได้เห็นข่าวสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ชื่อเดิมคือ พระปกเกล้าสกายปาร์ก) ถูกพูดถึงอย่างชื่นชมในวงกว้าง สวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมืองชั้นใน หรือ ‘กรุงเทพฯ 250’ ที่แถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
ถ้าพูดถึงในมุมการออกแบบ โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC (การออกแบบเมือง), บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด (ภูมิสถาปนิก) และบริษัท เอ็นเจ็ดเอ จำกัด (สถาปนิก) ตัวโครงสร้างปรับปรุงจากโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างไม่เสร็จ จนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบสะพานคนเดินเชื่อมฝั่งธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
แม้แสงไฟแห่งความยินดีจะส่องไปที่ UddC แต่มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอและทีมที่ต้องบอกว่าเราควรชื่นชมกรุงเทพมหานคร สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการโยธา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ยังไม่นับผู้คนมากมายในชุมชนรายล้อมที่มาช่วยให้ข้อมูล เพื่อให้สะพานร้างกลายเป็นแสงแห่งความหวังในการพัฒนาเมือง
คนเมืองอย่างเราเข้าใจว่า การพัฒนาเมืองคือเอาแบบสวยๆ คนเก่งๆ มาทำงานกับรัฐ
ถ้าเกิดเหตุติดขัดหรือเรื่องไม่น่าพอใจ เรามักด่ารัฐก่อนเสมอ
แต่โลกความจริงไม่ได้เป็นเส้นตรง เบื้องหลังงานที่ดีมีเหตุและปัจจัยมากมายที่ต้องคิด วิเคราะห์ เจรจา
ที่ผ่านมาเราได้อ่านเบื้องหลังของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาในมุมการออกแบบ บทความนี้เราถามนิรมล เจาะไปที่เบื้องหลังการพูดคุย เจรจา และประสานงานเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ถ้าสะพานนี้สร้างความหวังให้คนพัฒนาเมือง ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถอดรหัสว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีโครงการดีๆ แบบนี้อีกในอนาคต
สะพานเชื่อมคน
จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นในปี 2558
การแถลงข่าว ‘กรุงเทพฯ 250’ เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ห้องโถงประชุมอันโอ่อ่าในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ในแผนมีโครงการฟื้นฟูเมืองแบบสวยงาม ทุกโครงการฟังดูน่าตื่นเต้นไปหมด
แต่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเป็นโครงการเดียวที่เสร็จก่อนจากแผนนั้น เป็นงานที่ผู้ว่าราชการอนุมัติเป็นโครงการแรก เพราะการทำงานไม่ซับซ้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เยอะ งบประมาณไม่สูง คุ้มกว่าการสร้างสะพานใหม่
“ตอนเสนอโครงการ เราคิดหมด ที่บอกว่า High Impact, High Visibility มันต้อง Less Complexity ด้วย ถ้าคุณต้องทำโครงการหลายพันล้าน เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน มันก็เกิดยาก แต่สะพานนี้ไม่ได้เจ็บปวดมากกับการอนุมัติงบระดับนี้ของ กทม. แล้วอิมแพ็กต์มันได้สูง” นิรมลเล่า
ที่ไม่ซับซ้อนเพราะมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของแค่ 2 แห่ง เจ้าของเดิมของสะพานคือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน จากนั้นก็ถ่ายโอนมาให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งมีงานหลักคือดูแลถนนและสะพานทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เมื่อเป็นดังนั้น แผนปรับปรุงโครงสร้างแต่เดิมเลยเป็นการเปลี่ยนสะพานด้วนให้เป็นช่องทางสำหรับรถเมล์ ไม่มีการเดินอยู่ในสมการ
“การคุยกับหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ กทม. กับหน่วยงานที่ต้องดู 70 กว่าจังหวัดเป็นคนละเรื่อง ภารกิจเขาก็เยอะ กทม. เลยใช้เวลาในการคุย แผนเดิมที่เป็นช่องรถเมล์เป็นนโยบายที่ค้างไว้ พอยุคสมัยเปลี่ยน เมืองมีระบบรางแล้ว การสัญจรทางเท้า จักรยาน และประเด็นทางสิ่งแวดล้อมกลับมามีความสำคัญ กทม. ก็สามารถเจรจาจนสุดท้ายก็บรรลุฉันทามติ”
ข้อดีหลักๆ ของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาคือการเชื่อมคน เพราะมันคือสะพานที่ทำให้คนเดินโดยเฉพาะ
กรุงเทพฯ มีสองฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ความเจริญจากการลงทุนมักจะอยู่ฝั่งพระนคร ทั้งตึกสูงและห้างสรรพสินค้า ส่วนฝั่งธนฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย ราคาไม่โหดเท่าในเมือง คนจึงเลือกมาซื้อบ้านฝั่งนี้ แล้วข้ามสะพานมาทำงานที่ฝั่งพระนครทุกเช้า-เย็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสะพานข้ามแม่น้ำจึงมีการจราจรหนาแน่น
“เมื่อสะพานเชื่อมฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครได้ ข้อดียิ่งทวีคูณ เราขึ้นรถไฟใต้ดินมา แวะร้านดอกไม้ ร้านกาแฟน่ารักๆ ย่านปากคลอง เช่น นภสร Time to Table ซื้อดอกไม้เสร็จ เราไม่ข้ามมาฝั่งธนหรอก แค่คิดว่านั่งแท็กซี่แล้วต้องขับม้วนวนมากะดีจีน คลองสาน ฟังดูยากเย็น ไม่ไปแล้ว”
ความจริงโครงการสร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครอยากทำมาตลอด แต่การสร้างสะพานใหม่ใช้งบมหาศาล การปรับปรุงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจึงเป็นกรณีพิเศษที่ดีกับทุกฝ่ายมาก
จุดเด่นของสะพานที่เชื่อมเมืองสองฝั่งดูจะไม่ใช่จุดสนใจมากเท่าการเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำที่ฟังดูเป็นข่าวได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีข้อดี
“จริงๆ แดงไม่ได้คิดอะไรกับสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก” นิรมลพูดถึงจุดเด่นที่อยู่บนคำโปรยในแทบทุกบทความที่เขียนถึงสะพาน “แต่คิดว่ามันช่วยให้ Policy-maker หันมามองเรื่องนี้ คนทำก็รู้สึกว่ามันเป็นความภาคภูมิใจ ไอเดียสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ นักศึกษาลูกศิษย์แดงเสนอทุกปีทุกจังหวัด ฝันกันมานานในหลายประเทศอย่างลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ก มันมาเสร็จที่นี่
“สะพานยาว 280 เมตร กว้าง 8 เมตร มันเป็นโครงการที่ไม่ได้ใหญ่เลย แต่ในเชิง meaning แดงว่าสำคัญ แล้วโครงการนี้ให้กำลังใจข้าราชการที่อยากเห็นเมืองดี ให้เขามีความหวัง ทำแล้วคนชอบ ทำแล้วคนสนับสนุน แล้วพอดีเลย เห็นโครงการพัฒนาคลองโอ่งอ่างไหมคะ เราจะเห็นภาษาการออกแบบ เห็นการใช้วัสดุใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบเดิม มีความร่วมสมัยขึ้น คนทำคือเหล่าลูกศิษย์คนรุ่นใหม่ที่จบหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง จากจุฬาฯ และอีกหลายที่ มันมาบรรจบกันพอดี เราเดินขึ้นไปถึงเยาวราชได้ภายใน 15 นาที
งานหลักของการออกแบบเมืองคือการเจรจา
หลายคนเข้าใจว่า Urban Designer มีหน้าที่สร้างเมือง
“ความจริงหน้าที่หลักๆ ของ Urban Designer คือการเจรจา ประสานประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม เพราะเมืองมีคนอยู่มากมาย การประสานประโยชน์ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความสนใจของคนกลุ่มต่างๆ คือ ถ้าเขาสูญเสียเยอะ ไม่ได้อะไรเลย เขาก็ไม่ทำ มันจะไปต่อไม่ได้” นิรมลเล่า
ในทีม UddC ไม่ได้มีแค่นักออกแบบ แต่มีทีมรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่จะวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis) ให้รู้ว่างานนี้มีใครเอี่ยวบ้าง มี interest และ power มากน้อยแค่ไหน จะคุยกับเขาเมื่อไหร่ และอย่างไร
ไม่มีแบบใดที่ดีทั้งหมด ไม่มีอะไรเสียเลย การแลกเปลี่ยนต้องสมเหตุสมผล งานด้านเมืองที่ผ่านมาที่ไม่ได้ผลเหตุผลหนึ่งก็อาจจะเพราะจัดสรรการแลกเปลี่ยนได้ไม่เท่าเทียมมากพอ
ถ้าเราสวมบทบาทเป็น UddC วิเคราะห์คนที่เกี่ยวข้อง มองไปทางฝั่งเมือง กรุงเทพมหานครแบ่งการปกครองเป็นเขต แต่ระบบเขตเป็นระบบที่แต่งตั้ง อำนาจและทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ต่างจากเขตของมหานครอื่นๆ เป็นเหมือน Sheriff มากกว่า Mayor เน้นงานด้าน Administrative มากกว่า Government
“แดงโชคดีที่ได้ทำงานกับหลายเขต ทั้งเขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตพระนคร เขตปทุมวัน ผอ. เขตน่ารักทุกคนค่ะ แต่เวลาทำงานเรารู้เลยว่าความซับซ้อนของระบบที่ทั้งรวมศูนย์และแยกส่วนในเวลาเดียวกัน เรื่องนี้เรื่องเล็กแต่ต้องไปขอคนนั้นก่อน ในเขตเองจะทำอะไรที ใช้เวลาเยอะ อันนี้ไม่ใช่แค่ กทม. แต่คือรัฐไทย ปัญหาเดียวกัน”
มองมาที่ฝั่งประชาชน สิ่งที่คนกลัวมากคือการเวนคืน ไม่มีใครแฮปปี้ ถ้าต้องแลกบ้านไปกับการพัฒนาเมืองโดยไม่ได้อะไรกลับมาอย่างเป็นธรรม
“ทีมออกแบบจริงๆ เป็นเหมือนไข่แดง ทีมที่ลุยแนวหน้าคือทีมสังคม ทีมรัฐศาสตร์ ลงไปคุยก่อน โดนด่าก็โดนด่าก่อน ตอนพัฒนาโครงการริมน้ำยานนาวา คนมาถึงก็แทบจะชาร์จเลย ต่อว่าจะมาเวนคืนใช่ไหม เราจะมีคีย์เวิร์ดในการคุย ทำงานมาตรงนี้ก็จะพอรู้ว่าคนนอยด์เรื่องอะไร ต้องพูดเลยว่าเราจะทำงานฟื้นฟู เมืองโดยไม่มีการเวนคืน แค่นี้เขาก็สบายใจแล้ว ถึงจะเริ่มคุยได้”
นิรมลคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจของงานนี้คือการสื่อสาร ให้ข้อมูลที่แข็งแรง มีเหตุผล และเปิดกว้างให้สาธารณะได้ให้ความเห็น ทำตัวเลือกให้ดู งานออกแบบที่สวยงาม มาพร้อมข้อมูลมาให้ประกอบการตัดสินใจ
ผู้อำนวยการ UddC ยกตัวอย่างการออกแบบทางเดินในสวนลอยฟ้า ที่ทีมออกแบบตั้งใจยกระดับให้โค้งสูงขึ้นจากระดับสะพาน ลัดเลาะไปตามแนวต้นไม้ เกิดจากการวิเคราะห์ว่าอยากให้คนมาเดินรู้สึกอย่างไร ถ้าไม่อยากให้คนเห็นรถติด ก็ต้องทำทางให้คนเดินเหนือรถ ถ้าทางโค้งทั้งหมดก็น่าเบื่อ ก็ทำแค่จุดเดียวและออกแบบให้คนต้องเลี้ยวหลบต้นไม้บ้าง มีเพิงให้คนนั่ง มีร่มเงา ทุกรายละเอียดคิดโดยมีเหตุผลมารองรับ สอดคล้องทั้งในแง่การใช้งานและความสวยงาม
ใช่ สะพานนี้น่าขึ้นไปถ่ายรูป แต่ภาพที่เราเห็นก่อนลงอินสตาแกรมก็ให้ได้มากกว่าความสวยงามเช่นกัน
“เวลาที่เราอยากให้คนรู้จักเรื่องเมือง วิธีที่ทรงพลังที่สุดคือยืนอยู่ข้างบนแล้วมองลงมา เราจะเห็นเลเยอร์ของเมืองที่บอกเล่าวิวัฒนาการ มองไปยังวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร คุณจะเห็นประวัติศาตร์ตั้งแต่สมัยธนบุรี พอมองไปทางซีกสีลม ถนนเจริญกรุง เราจะเห็นอีกเลเยอร์หนึ่ง เป็น Layor of Time เวลาคุณเล่าเรื่องเมืองผ่านสองภาพนี้ คนถึงรู้สึกเชื่อมโยงและอินกับเมือง มีความอยากให้เมืองมันดีขึ้น ไม่งั้นวันๆ เราก็มีแต่บ้านกับที่ทำงาน”
เข้าใจคน เห็นใจรัฐ อย่างมี empathy
เมื่อสวนลอยฟ้าเสร็จ มันจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง
ความหวัง และความเป็นไปได้ คือคำตอบ
ภาพจำของพื้นที่สาธารณะส่วนมากจะเท่ากับสวน ซึ่งไม่ต้องเป็นแบบนั้นทั้งหมด สวนลอยฟ้าพิสูจน์แล้วว่ามันอยู่บนสะพานเก่าได้ ต่อไปเราอาจจะเห็นพื้นที่ใต้ทางด่วนหรือที่อื่นๆ เปลี่ยนมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
การได้เห็นโครงการนี้ที่มีแนวคิดใหม่แบบนี้เกิดขึ้น จึงเป็นความหวังของคนทำงานเมือง
นิรมลเล่าว่า ตอนเธอสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในปี 2536 เป็นช่วงที่ศาสตร์ภูมิสถาปัตยกรรมกำลังหยั่งรากในสังคมไทย
ผ่านมาหลายปี ศาสตร์นี้แตกแขนงต่อยอดไปสู่หลายองค์ประกอบ การพัฒนาเมืองเป็นหนึ่งในนั้น ทุกวันนี้มีคนสนใจเรื่องเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การทำงานด้านนี้แม้ในวันที่คนเริ่มเข้าใจแล้วก็ยังไม่ง่าย กับบ้านเรา อุปสรรคหลักคือโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย ต้องผ่านขั้นตอนและเวลายาวนาน
เงื่อนไขและปัจจัยเป็นเช่นนี้ การทำงานยิ่งต้องอาศัยความเข้าใจและเห็นใจ
“ทุกอย่างไม่ได้เกิดแบบข้ามคืนหรือพลิกฝ่ามือ แดงคิดว่า empathy สำคัญ คือมีความเข้าอกเข้าใจต่อ ข้อจำกัด เวลาเจรจาบางทีก็ต้อง roleplay ในใจ ถ้าเราเป็นเขา เราจะกังวลอะไร ทำอะไรไม่ได้บ้าง
“แดงเห็นบ่อย ที่พอภาครัฐไม่เอาด้วย นักออกแบบบางคนอาจจะคิดว่าเขาโง่ ก็จบแค่นั้น ไม่ได้คุยอะไรต่อ compromise ได้ไหม เราก็ต้องเข้าใจว่าระเบียบราชการมันเยอะ แล้วเขากลัวโดนอะไรเยอะแยะไปหมด ตรวจสอบจนคนมันไม่กล้าทำอะไร แค่ว่าเขายอมให้เราคุยก็ต้องขอบคุณเขาแล้วนะ แดงคิดอย่างนี้
คนทั่วไปมอง กทม. ในแง่ลบ ในความเป็นจริงตลอดช่วงเวลา 5 ปี มีหลายครั้งที่โครงการเจออุปสรรค คนที่ผลักดันชงกลับขึ้นไปคือข้าราชการประจำของ กทม.
การเจรจาแบบทุบโต๊ะ จะเอาให้ได้ จึงไม่ใช่วิธีที่ดี empathy คือคำที่เธอยึดมั่นและใส่ใจ
“ถ้าอยากให้เกิดการสร้างสรรค์กับงานพัฒนาเมือง ก็ต้องสามารถเชื้อเชิญคนที่แตกต่างให้เข้ามาช่วย ทำงาน ให้เรื่องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าไปด่าเขาอย่างเดียว ไม่มีวันเกิด ไม่มีใครชอบถูกว่า แดงบอกทีมเสมอ ว่าพร้อมเจรจากับประนีประนอม แต่เราต้องมี integrity จุดยืนเราต้องไม่เสีย ถอยได้แค่ไหนมากที่สุด ต้องรู้ตรงนี้
“คนจะยอมเจรจากับเรา ก็ต่อเมื่อเขาเชื่อถือไว้วางใจเรา เวลาดีไซเนอร์อยากเปลี่ยนเมือง คุณก็ต้องทำให้เขาเชื่อว่าไว้ใจเราได้”
สะพานแห่งความหวัง
หลังสัมภาษณ์เสร็จ นิรมลและทีม UddC ชวนผมขึ้นไปเดินบนสวน
ภาพเมืองกรุงเทพฯ ที่ได้เห็น เมื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่เธอเล่า จึงมีความหมายยิ่งขึ้นกว่าทุกครั้ง
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาไม่ได้เล่าแค่เรื่องเมือง แต่ยังเล่าเรื่องผู้คนที่อยู่เบื้องหลัง สะพานนี้จะไม่ได้เชื่อมแค่คนสองฝั่งแม่น้ำ แต่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเมืองและประชาชน ช่องโหว่ที่เคยกว้างหายไปด้วยสะพานความกว้าง 8 เมตรแห่งนี้
หมายเหตุ:
บุคคลฝ่ายรัฐผู้เกี่ยวข้องกับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
- กรุงเทพมหานครฝ่ายการเมือง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- กรุงเทพมหานครฝ่ายข้าราชการประจำ ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร, วัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร
- สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (ผู้จ้าง UddC ศึกษาโครงการกรุงเทพฯ 250 ในปี 2558) สมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง, สุนทรี เสริญสุขสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง
- สำนักการโยธา ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
- และอื่นๆ อีกมากมาย