ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจจีนเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว และยิ่งมากขึ้นไปอีกหลังผู้นำรุ่นที่ 3 ‘เจียงเจ๋อหมิน’ พาจีนเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ในปี ค.ศ. 2001
เมื่อข้อกีดกันทางการค้าลดลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือสัดส่วนการส่งออกของจีนในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นถึง 4.3 % ภายในปีเดียวกัน แต่ผลข้างเคียงจากการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มกำลังทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่แปดเปื้อนด้วยมลพิษมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก ทั้งยังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่รัฐฉกฉวยคดโกงผลประโยชน์จากประชาชน และคนงานหลาย 10 ล้านคนต้องสูญเสียงานในวิสาหกิจรัฐ จนเกิดการประท้วงนับหมื่นกรณีในแต่ละปี
เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่าน เวียนมาถึง ‘หูจิ่นเทา’ ผู้นำรุ่นที่ 4 เขาเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ถูกทิ้งไว้ด้วยแนวคิดการพัฒนาบนหลักวิทยาศาสตร์ (The Scientific Outlook on Developmen) ที่เน้นการพัฒนาแบบคำนึงถึงทุกๆ ด้าน เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาไม่นานเศรษฐกิจจีนก็ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ แต่ความชื่นบานมีอันต้องสะดุดลง เมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis) ทำให้กำลังซื้อของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของจีนถดถอย จีนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจึงต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจอีกรอบ โดยครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของผู้นำรุ่นที่ 5 ‘สีจิ้นผิง’
จีนยุคสีจิ้นผิงจึงจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้ลดการพึ่งพาตลาดภายนอก แต่เน้นให้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการแก้ไขความยากจน สร้างฐานะให้คนจีนรวยขึ้น เพื่อให้คนจีนที่รวยขึ้นเป็นตลาดสำคัญในการบริโภคสินค้าภายในประเทศ โดยปัจจุบัน อัตราการบริโภคภายในประเทศของจีนขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 40% ของ GDP และใน ค.ศ. 2017 จีนมีเศรษฐีพันล้านรายใหม่เกิดขึ้นสัปดาห์ละ 2 คน
ตัวเลขเหล่านั้นเป็นตัวชี้วัดว่ากรอบการพัฒนาประเทศของสีจิ้นผิงบรรลุเป้าหมายแล้วในระดับหนึ่ง แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการเติบโตของประชากรจำนวนมหาศาลในการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของจีน ประกอบกับการสนับสนุนจากรัฐบาลกำลังเปิดโอกาสให้ประชากรจีนสร้างความมั่งคั่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน