ชาวสวนกาแฟ

ชาวกาแฟต้นน้ำกับความ ‘ร้อนระบม’ ในกระแสกาแฟ ‘สกัดเย็น’

การล่มสลายลงอย่างเฉียบพลันของวัฒธรรมการดื่มกาแฟในคาเฟ่เพราะวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นการดิ้นรนและปรับตัวของร้านกาแฟและโรงคั่วต่างๆ 

        เราเห็นความพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการเสิร์ฟกาแฟในร้าน มาเป็นการเสิร์ฟแบบเดลิเวอรีผ่านการสั่งทางออนไลน์ เราเห็นความนิยมในการทำกาแฟบรรจุขวดพร้อมดื่มที่มีทั้งแบบสกัดเย็น (Cold Brew) และแบบสกัดร้อน (Hot Brew) นอกจากนี้เรายังเห็นนวัตกรรมอีกหลายอย่างที่ถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของกาแฟสกัดเย็นเข้มข้น (Cold Brew Concentrate) หรือแม้แต่กาแฟเอสเพรสโซสกัดร้อนบรรจุขวดที่ขายพร้อมวัตถุดิบการทำ Signature Drinks ต่างๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและอรรถรสในการดื่มกาแฟที่บ้านให้เหมือนนั่งอยู่ในคาเฟ่ 

        การเกิดขึ้นและการซื้อขายของผลิตภัณฑ์กาแฟใหม่ๆ อย่างแพร่หลาย เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดีและน่าตื่นเต้นไม่น้อยในสถานการณ์ปัจจุบันที่ย่ำแย่สำหรับวงการกาแฟ แต่ถึงแม้เราจะได้เห็นผลกระทบและการปรับตัวของเหล่าบรรดาร้านกาแฟและโรงคั่วต่างๆ อย่างชัดเจน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง แต่เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกพบเห็นตามหน้าสื่อโซเชียลฯ  ไม่ว่าจะผ่านโพสต์ที่โปรโมตเพื่อขายผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟต่างๆ ก็ตาม เรื่องนั้นก็คือ ‘ชีวิตของชาวสวนผู้ปลูกกาแฟ’ ที่ทำงานอยู่ต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานกาแฟ

        ผมในฐานะนักพัฒนากาแฟและผู้ประกอบการโรงสีกาแฟ อยากจะขอกล่าวถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวต้นน้ำ หรือผู้ผลิต ‘เมล็ดกาแฟดิบ’ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สารกาแฟ’ ในวิกฤตการณ์นี้ ให้ผู้ดื่มกาแฟได้ฟังเพื่อที่ทุกคนจะได้มีกำลังใจและความกระตือรือร้นในการดื่มกาแฟท่ามกลางภาวะปัจจุบันกันมากขึ้น

 

ชาวสวนกาแฟ

โควิดมาช้าไป 3 เดือน

        ฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟในประเทศไทยจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเมษายน การเตรียมตัวเพื่อผลิตกาแฟจะเริ่มต้นก่อนฤดูกาล และจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ทั้งจำนวนการผลิตทั้งหมดเพราะการเปลี่ยนแปลงของยอดสั่งซื้อ หรือวิธีและเทคนิคการแปรรูปต่างๆ รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน

        สถานการณ์ของชาวต้นน้ำจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หากวิกฤตการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูกาล การคำนวณความต้องการใช้กาแฟของโรงคั่วต่างๆ จะถูกปรับลดได้ทันเวลาก่อนฤดูกาลการผลิต แต่การเกิดวิกฤตการณ์ในช่วงปลายฤดูที่การผลิตสารกาแฟของชาวสวนนั้นเสร็จสิ้นไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ความต้องการที่ลดลงเป็นจำนวนมากส่งผลร้ายต่อการระบายวัตถุดิบที่ล้นตลาด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ต้นทุนที่ชาวสวนแบกรับมาทั้งฤดูกาลก็ทำให้ไม่สามารถลดราคาเพื่อให้ปล่อยผลผลิตง่ายขึ้นได้  

        จากการพูดคุยกับกลุ่มร้านกาแฟและโรงคั่วต่างๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ยอดขายจะลดลงเป็นจำนวนมากในกลุ่มร้านกาแฟที่ยังทำการขายอยู่ ยอดขายอาจตกลงถึง 80% จากสถานการณ์ปกติ แต่มีร้านกาแฟจำนวนไม่น้อยที่เลือกปิดกิจการชั่วคราวในระหว่างนี้ ซึ่งหมายความว่า ความต้องการในการใช้สารกาแฟในขณะนี้ก็ลดลงเป็นจำนวนที่เกือบจะเทียบเท่ากัน

 

ชาวสวนกาแฟ

ผลผลิตที่ล้นตลาดข้ามปี

        วัตถุดิบที่เกินจำนวนความต้องการ ทำให้ต้องมีการต่อรองกันระหว่างชาวสวนและคู่ค้าในส่วนปลายน้ำ การแก้ปัญหาที่หลายโรงคั่วพยายามทำกันอยู่ก็คือการต่อรองขอผ่อนจ่ายสินค้าในระยะเวลายาวขึ้น และอาจจะต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตขึ้นมาแล้วในฤดูกาลนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งส่งผลให้ต้องลดจำนวนการผลิตในปีหน้าลงอีก ท้ายที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ให้มูลค่าของผลผลิตกาแฟนั้นลดลงในฤดูกาลหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวสวนกาแฟในระยะสองปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

        มีนวัตกรรมหลายอย่างที่โรงคั่วกาแฟหลายแห่งพยายามใช้เพื่อยืดอายุตัวเมล็ดกาแฟดิบ เช่น การใช้ถุงกักเก็บความชื้น (GrainPro / Ecotact) เพื่อรักษาความชื้นของเมล็ดกาแฟดิบให้คงที่ ยิ่งไปกว่านั้นบางโรงคั่วที่สามารถมีกำลังจ่ายได้มากพอ ได้มีการนำเมล็ดกาแฟดิบไปแช่ในห้องเก็บความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพให้อยู่ได้นานยิ่งขึ้น แต่สำหรับโรงคั่วที่ใช้กาแฟจำนวนน้อยก็มีทางเลือกในการเก็บรักษาคุณภาพเมล็ดกาแฟดิบด้วยวิธีการแบ่งเก็บลงถุงสุญญากาศและเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง วิธีการทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เดียวกันคือการพยายามลดผลกระทบของสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจกาแฟ

 

ชาวสวนกาแฟ

หนี้สินที่ยังต้องจ่าย

        ปัญหาเชิงโครงสร้างสำหรับภาคเกษตรกรรมในประเทศไทยคือปัญหาหนี้สินของเกษตรกร รวมถึงชาวสวนกาแฟเองก็พบเจอปัญหานี้ไม่ต่างกัน ในวิกฤตการณ์ปัจจุบัน ทำให้ปัญหานี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก ค่าใช้จ่ายในการผลิตกาแฟที่ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่กู้ยืมมาและมีดอกเบี้ยที่สูง ไม่สามารถแปลงเป็นรายได้สูงนัก ทำให้วัฏจักรการเป็นหนี้ของชาวสวนนั้นยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก 

        ในชีวิตชาวสวนกาแฟคนหนึ่ง ค่าใช้จ่ายหลักจะมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลกาแฟเชอรีและค่าแปรรูป, ค่าปุ๋ยเพื่อรักษาคุณภาพและเพิ่มผลผลิต และค่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น ค่าผ่อนรถกระบะในการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ทั้งหมดนี้ชาวสวนจะต้องกู้ยืมมาเกือบทั้งสิ้น ซึ่งหลายครั้งเป็นการกู้ยืมแบบนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง 

        ไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ชาวสวนต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน เพื่อผ่อนชำระหนี้สิน ซึ่งการกู้ยืมนอกระบบนี้เป็นทางเลือกเดียวที่อาจทำได้ เนื่องจากชาวสวนเองไม่สามารถนำที่ดินทำกินที่ไม่มีโฉนดครอบครองไปเป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืมตามระบบได้ ในสถานการณ์ปัจจุบันการผ่อนปรนจากเจ้าหนี้ไฟแนนซ์ไม่ได้เป็นไปอย่างทั่วถึง และจะขึ้นกับนโยบายของสถาบันการเงินนั้นๆ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่ลูกหนี้ทุกคนเจอเป็นปัญหาระดับประเทศที่เกิดขึ้นจากเหตุผลเดียวกัน

 

ชาวสวนกาแฟ

มาตรการรัฐที่ไม่ตอบโจทย์

        มาตรการต่างๆ ของรัฐที่ออกมาไม่ได้มีผลมากนักต่อการโอบอุ้มกลุ่มชาวสวนซึ่งเป็นต้นน้ำของวงการกาแฟ เกษตรกรที่ผมทำงานด้วยอย่างใกล้ชิดไม่มีใครประสบความสำเร็จในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งมีเหตุผลต่างๆ นานา บ้างก็มีแค่หนึ่งคนในครอบครัวที่มีสมุดปกเขียวยืนยันอาชีพเกษตรกร บ้างก็เหตุเพราะเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต บ้างทั้งขึ้นบัญชีเกษตรกรก็แล้ว แจ้งกับเกษตรอำเภอตามคำแนะนำก็แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมตัวเองว่าจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ 

        ปัญหาเรื่องการไม่ได้รับการช่วยเหลือเฉพาะหน้านี้ สืบเนื่องจากพื้นที่ทำกินของชาวสวนกาแฟอยู่ในเขตป่า และไม่ได้เป็นที่ที่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ที่สามารถยืนยันความเป็นเจ้าของได้ จะมีก็เพียงแต่ข้อตกลงตามประเพณีภายในชุมชนถึงการกำหนดขอบเขตความเป็นเจ้าของ ทำให้พวกเขาเหล่านี้ตกสำรวจในหลายๆ มาตรการของรัฐ และยากที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

        ในมุมของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่กาแฟถัดจากผู้ผลิตเมล็ดกาแฟดิบอย่างโรงคั่วหรือร้านกาแฟ ซึ่งอาจจะมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินทุนตามมาตรการ Soft Loan ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังหากกู้มาเพื่อชำระข้อผูกมัดทางการเงินต่างๆ ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครแน่ใจว่าหลังจากวิกฤตการณ์คลี่คลายลง ความต้องการในการดื่มกาแฟจะเปลี่ยนไปหรือกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่

ชาวสวนกาแฟ

ไฟป่าที่เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต

        ในขณะที่โรคระบาดทำให้การขายเมล็ดกาแฟดิบทำได้ยากขึ้น ชาวสวนกาแฟยังต้องเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตอย่างปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในพื้นที่ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ปัญหาไฟป่าได้ทำลายพื้นที่ทำกินและต้นกาแฟในปีนี้อย่างรุนแรง มีบางรายที่ผูกอนาคตไว้กับสวนกาแฟที่มีสายพันธ์ุใหม่ๆ และรอผลผลิตมากว่าสี่ปี ก็ต้องมาเห็นสวนตัวเองไหม้ลง ทำลายความฝันที่จะทำกาแฟให้ดีขึ้น และมากไปกว่านั้นไฟป่าที่ไม่มีใครทราบสาเหตุได้แน่ชัดในทุกครั้ง ยังทำให้สภาวะอากาศในภาคเหนือเลวร้ายอย่างมาก เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายและการติดเชื้อจากโรคระบาด โควิด-19 เข้าไปอีก 

        ซึ่งในขณะที่คนดื่มกาแฟกำลังอินกับกระแสกาแฟสกัดเย็น และกำลังหัดดื่มกาแฟอยู่ที่บ้านในช่วง Social Distancing เพื่อนๆ ผู้ปลูกกาแฟเหล่านี้แหละที่ไปสู้รบกับเพลิงพิโรธที่กำลังทำลายผลผลิตในปีหน้า และเสี่ยงชีวิตทั้งจากไฟและจากโรคระบาดไปพร้อมๆ กัน

 

ชาวสวนกาแฟ ชาวสวนกาแฟ

 

        ผลกระทบที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานธุรกิจกาแฟนั้นเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เราได้เห็นการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ จากร้านกาแฟและโรงคั่ว ที่ตามมาด้วยพฤติกรรมการดื่มที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ตามสื่อโซเชียลฯ ต่างๆ แต่การพูดถึงผลกระทบที่มีต่อชาวต้นน้ำหรือผู้ผลิตเมล็ดกาแฟดิบนั้นแทบไม่ถูกกล่าวถึง 

        จากปัญหาที่กล่าวมานี้ ตัวละครในห่วงโซ่อุปทานทุกคนมีหน้าที่ที่จะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟกลับมาเป็นตลาดที่น่าตื่นเต้นดั่งยุคก่อนโควิด-19 ที่ประเทศไทยเราเป็นตัวอย่างโมเดลความสัมพันธ์และการพัฒนาที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำให้กับวงการอุตสาหกรรมกาแฟโลกได้ 

        แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ของคนทำกาแฟนั้นมีความหวังขึ้นมากที่สุดคือ ‘ผู้บริโภค’ ที่หวังว่าจะเปิดรับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในรูปแบบใหม่ๆ อย่างยั่งยืน ผมเคยเปรยกับเพื่อนที่เปิดร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟว่า หากพวกเขาที่อยู่ปลายน้ำรอด พวกเราที่อยู่ต้นน้ำรวมถึงผมเองในฐานะผู้ประกอบการก็จะรอด แต่เพื่อนๆ ปลายน้ำจะรอดไม่ได้จากวิกฤตการณ์นี้ หากทุกคนดื่มกาแฟกันน้อยลง