โทมัส พูเอโย (Tomas Pueyo) นักเขียนที่มีผลงานประจำอยู่ใน medium.com เพิ่งมีบทความใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยการนำตัวเลขต่างๆ มาวิเคราะห์ และนำเสนอออกมาเป็นกราฟที่ละเอียด แต่ดูง่ายและเข้าใจได้ไม่ยาก
กราฟสำคัญกราฟแรกคือไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ในมณฑลหูเป่ย (ซึ่งต้องบอกว่าเป็นมณฑลที่มีขนาดใหญ่ว่าสเปนทั้งประเทศ) จะเห็นว่า หลังเกิดการ ‘ปิดเมือง’ หรือ Lockdown ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างฉับพลัน ทำให้กราฟที่มีแนวโน้มสูงชันขึ้น ลาดลงมาในทันที
. กราฟถัดมาที่น่าสนใจก็คือกราฟนี้ จะเห็นว่าหลังมีการปิดเมืองต่างๆ ในจีนอย่างเข้มงวดแล้ว ตัวเลขในเมืองต่างๆ ของจีน (ยกเว้นหูเป่ย) ไม่เพิ่มสูงขึ้น คือกราฟมีลักษณะราบลงอย่างรวดเร็ว
แต่ถ้าไปดูประเทศอื่น เช่น อิหร่าน อิตาลี และเกาหลีใต้ กราฟกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยประเทศที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่ากราฟไม่ได้พุ่งสูงมากนัก คือญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย และฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เคยเผชิญกับโรคซาร์สมาก่อน ทีมสาธารณสุขจึงรับมือได้ดี
ที่จริง เกาหลีใต้ก็ควรจะรับมือได้ดีเหมือนกัน แต่บังเอิญว่าเกาหลีใต้เกิด super spreaders ขึ้นมา ทำให้ส่งผ่านการติดเชื้อไปสู่คนหลายพันคน แต่ก่อนหน้านั้นถือว่ามีการควบคุมโรคได้ดีเช่นกัน
คำถามถัดมาก็คือ ‘ตัวเลข’ ที่เราเห็นอยู่นี้ เป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้มากแค่ไหน?
องค์การอนามัยโลกให้อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 อยู่ที่ 3.4% แต่ตัวเลขนี้เป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า
พบว่าตัวเลขจริงๆ มีตั้งแต่ 0.6% (ในเกาหลีใต้) จนถึง 4.4% (ในอิหร่าน) คำถามก็คือทำไมแต่ละประเทศถึงมีอัตราการตายแตกต่างกันอย่างนั้น เขาพบว่า ประเทศที่มีการเตรียมตัวดี จะมีอัตราการตายอยู่ที่ราว 0.5%-0.9% แต่ประเทศที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือ อัตราการตายจะอยู่ที่ราว 3-5%
แล้วอะไรคือการรับมือที่ว่า?
คำตอบของผู้เขียนบทความนี้ก็คือ Social Distancing หรือการ ‘ไม่เข้าสังคม’ ด้วยวิธีต่างๆ
เขาสรุปออกมาเป็นกราฟที่เข้าใจง่ายว่า เพียงมีมาตรการ Social Distancing (เช่น การปิดเมือง, สั่งห้ามออกจากบ้าน, ทำงานจากบ้าน ฯลฯ) เร็วขึ้นเพียง 1 วัน ก็ทำให้อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างมาก คือกราฟเอนราบลง
ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่รู้จริงๆ ว่าใครได้รับเชื้อโดยไม่แสดงอาการบ้าง ในปัจจุบัน โลกมีผู้ป่วยที่ไม่รู้ว่าติดจากที่ไหนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าคำนวณจากอัตราการตาย เช่น สมมติใช้อัตราการตายที่ 1% แล้วพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน ก็แปลว่าควรจะมีคนติดเชื้อ 100 คน แต่ส่วนใหญ่แล้ว พบว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการในประเทศต่างๆ (ที่ก็ต้องถกเถียงกันอีกว่าตัวเลขควรจะเป็นแบบไหน) มักจะไม่ถึง
ข้อแนะนำในบทความนี้ถึงนักการเมืองและผู้มีอำนาจ
– สั่งให้มีพื้นที่ lockdown หรือปิดเมือง โดยไม่มีการเข้าออก ยกเว้นเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือมีเหตุผลในด้านการทำงาน
– หลีกเลี่ยงการเดินทางไปไหนมาไหนในพื้นที่ปิดล้อม ยกเว้นเหตุฉุกเฉิน
– คนที่มีอาการ ไม่ว่าจะเป็น COVID-19 หรือเป็นหวัดอื่นๆ ให้อยู่บ้าน ห้ามออกไปไหน
– ปิดสถานศึกษา โรงยิม พิพิธภัณฑ์ สระว่ายน้ำ โรงหนัง ฯลฯ สถานที่ที่มีคนไปรวมตัวกันมากๆ
– ร้านอาหารและบาร์ต่างๆ ควรจำกัดเวลา และขยายระยะของโต๊ะให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
– พิจารณาปิดสถานบันเทิง
– อีเวนต์ใหญ่ๆ ควรสั่งเลิก
ทั้งหมดนี้เป็นการทำตามวิธีการของจีน ที่ในตอนนี้จะเห็นว่าได้ผลดีทีเดียว คือใช้ยาแรงตั้งแต่ต้นเพื่อระงับเหตุ เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม
อย่างไรก็ตาม ในความพยายามระงับยับยั้งการแพร่กระจายของ COVID-19 สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากคือ ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง คนด้อยโอกาสจะเสียเปรียบและได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่นๆ เช่น คนทำงานรับจ้างรายวัน คนจนเมือง รวมถึงคนไร้บ้าน ฯลฯ
ที่มา: https://medium.com/@tomaspueyo/coronavirus-act-today-or-people-will-die-f4d3d9cd99ca