1
คุยกับเพื่อนพี่น้องหลายอาชีพ พบว่าผลกระทบจาก COVID-19 แรงไม่ใช่เล่น ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยว อีเวนต์ โฆษณา งานดีไซน์ วงดนตรี ฯลฯ ซึ่งถึงที่สุดก็คงกระจายไปทั่วทุกอุตสาหกรรมและอาชีพ ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบตรงไหนและเมื่อไหร่ แต่เมื่อได้ฟังเพื่อนๆ ก็พอจะมองเห็นว่าคนที่เอาตัวรอดไปได้จากวิกฤตนี้นอกจากมีแผนปรับตัวที่ดีแล้วยังต้องมีสายป่านที่ยาวอีกด้วย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเจ้าของธุรกิจเท่านั้น พนักงานต่างๆ ก็มีโอกาสถูกลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง ฟรีแลนซ์ก็อาจงานหดหาย ‘สายป่าน’ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับพยุงลมหายใจในสถานการณ์ไม่แน่นอน
2
หนังสือ The New Good Life เขียนโดย จอห์น ร็อบบินส์ ทายาทเจ้าของไอศกรีมบัสกิน ร็อบบินส์ ผู้เดินออกจากกองมรดกหลายล้านมาใช้ชีวิตเรียบง่ายในแบบที่ตัวเองเชื่อ เขียนถึง ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ในอีกมุมหนึ่งซึ่งมิใช่การให้เงินทำงานผ่าน passive income แต่คือการเริ่มต้นตั้งคำถามกับการใช้เงินของตัวเราเอง
3
เฮนรี เดวิด ธอโร เคยพูดทำนองว่า “สัดส่วนความร่ำรวยของเราเป็นไปตามปริมาณของสิ่งที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีมัน” ว่าง่ายๆ คือ ยิ่ง ‘ไม่มี’ ข้าวของได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่ง ‘มี’ เงินเหลือเท่านั้น
4
ในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่น่าทำคือสำรวจ ‘รูรั่ว’ ทางการเงินของตัวเอง หากต้องการยืดสายป่านก็ต้องอุดรูที่เงินไหลโดยไม่จำเป็น เช่น มื้ออาหารแพงๆ อาจต้องลดลง การสังสรรค์อาจปรับรูปแบบให้ประหยัดขึ้น เครื่องประดับตกแต่งทั้งบ้านและร่างกายอาจใช้ของเดิมๆ ไปก่อน และอะไรอื่นอีกมากมายของแต่ละคนที่เป็น ‘รายจ่ายไม่จำเป็น’ เหล่านี้ล้วนเป็นรูรั่วของกระเป๋าสตางค์ที่เราไม่ค่อยรู้ตัว เพราะมันได้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของเราไปแล้ว จอห์น ร็อบบินส์ แนะนำให้เขียนรายจ่ายออกมาทุกรายการ แล้วจะเห็นเองว่ารูไหนที่พอจะอุดได้บ้าง
5
สิ่งที่ต้องตรวจสอบอีกอย่างคือหนี้สิน หากได้เห็นตัวเลขชัดๆ ว่าเดือนหนึ่งเราต้องผ่อนอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดเราก็จะคิดหนักขึ้นเมื่อคิดจะซื้อของใหม่ที่ไม่จำเป็นหรือมีหนี้เพิ่ม การเห็นรายจ่ายและหนี้ของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเก็บเงินเพื่อยืดสายป่านของเรา
6
ต่อไปคือ รู้ค่าจ้างที่แท้จริง มีหลายอย่างลวงตาเราอยู่ เราอาจได้เงินเดือนจำนวนหนึ่ง แต่ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นรายจ่ายทั้งเรื่องเงินและเวลาแฝงมาด้วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าทางด่วน ราคาอาหารกลางวัน ราคากาแฟตอนนัดประชุม พอทำงานกลับบ้านดึกก็ต้องซื้ออาหารนอกบ้านซึ่งแพงกว่าทำเอง พอไม่มีเวลานักก็อาจต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก จ้างแม่บ้านทำความสะอาด ฯลฯ การมอง ‘รายจ่ายที่ซ่อนมา’ จะทำให้เราเห็น ‘รายได้สุทธิ’ ที่แท้จริงมากกว่าไปเห็นที่ ‘เงินเดือน’ เพราะของจริงที่เหลือในแต่ละเดือนนั้นน้อยกว่าตัวเลขนั้นพอสมควร จะได้วางแผนการจับจ่ายได้สมเหตุสมผลขึ้น
7
คำแนะนำของจอห์นอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน แต่อาจปรับใช้ได้ในบางกรณี เราอาจลดการเดินทางลงได้บ้าง ลดราคาที่จ่ายไปในการประชุมที่ร้านกาแฟร้านเบเกอรี่ลงได้บ้าง จัดสรรเวลาเพื่อทำอะไรเองบ้างเป็นการลดรายจ่าย แรกๆ อาจไม่ชิน แต่พอทำจนชินแล้วอาจพบว่า การลดรายจ่ายทำให้เราเหลือเงินเท่าเดิม แต่ไม่ต้องทำงานมากเท่าเดิม เพราะการทำงานมากบางครั้งก็มาพร้อมการจ่ายที่มากด้วย เช่น บางคนอาจจ่ายไปกับการสังสรรค์หลังเลิกงานเพื่อคลายเครียด ถ้าบ่อยเกินไปก็อาจเข้าข่าย #เสียหายไปกันเท่าไหร่กับคำว่าแก้เครียด
8
เสื้อผ้า อาหาร เสริมสวย เหล่านี้ล้วนสามารถนำมาพิจารณาเพื่ออุดรูรั่วได้ทั้งหมด
9
ความบันเทิง เราจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงมากน้อยแค่ไหน มีวิธีที่สามารถสร้างความบันเทิงขึ้นในครอบครัวได้ง่ายๆ บ้างไหม ค่าดูแลสุขภาพ ค่าสมัครสมาชิกทั้งหลายแหล่ กิจกรรมอดิเรกต่างๆ มีอะไรที่จ่ายซ้ำๆ โดยไม่จำเป็นไหม มีอุปกรณ์ใดที่มีเยอะล้นเกินหรือเปล่า
10
จอห์นใช้คำแรงว่า พวกเรามักบริโภคอย่างขาดสติ สุดท้ายแล้วเงินที่เราจ่ายไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ถูกแลกมาด้วย ‘ชีวิต’ ซึ่งคือเวลา สุขภาพ ความเหนื่อยที่เราต้องไปหาเงินมาบริโภคสิ่งเหล่านั้น
11
การได้รู้ว่า ‘เงินหายไปไหน’ และได้เห็น ‘รายจ่าย’ แบบเต็มๆ ตาจะทำให้เราเห็นภาพกระป๋องน้ำที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เราเป็นคนเลือกเองว่าจะอุดรูไหน ใหญ่หรือเล็ก ก่อนหรือหลัง
12
ชีวิตพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเสมอเมื่อวิกฤตมาถึง หากยังยึดติดกับไลฟ์สไตล์แบบเดิม อยากใช้ชีวิตแบบเดิมก็อาจต้องเป็นทุกข์เมื่อรายได้ไม่เท่าเดิม หรือกระทั่งงานที่ทำอยู่อาจไม่ได้ทำต่อไปแล้ว ในทางตรงกันข้าม, วิกฤตอาจทำให้เราได้สติเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง และหันมามอง ‘ไลฟ์สไตล์’ ของตัวเองว่ามีรูรั่วอยู่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้เราใช้ชีวิตอย่าง make sense หรือสมเหตุสมผลมากขึ้น
13
แล้วเราอาจจะพบว่าธอโรพูดถูก การมีเยอะขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากการทำงานมากขึ้นเสมอไป แต่อาจเกิดจากการ ‘อยาก’ ให้น้อยลง หรือใช้เกินจำเป็นให้น้อยลง
14
ในสถานการณ์เช่นนี้คงยังไม่ต้องคิดไปถึงอิสรภาพทางการเงินหรอก ลำพังแค่ประคองตัวให้ผ่านไปแบบไม่บอบช้ำก็นับว่าเก่งแล้ว วิกฤตอาจยังมาไม่ถึงตัว แต่การเตรียมตัวที่เร็วย่อมทำให้รับวิกฤตได้ดีกว่า
15
ทางที่ดีควรรีบอุดรูรั่วก่อนที่จะไม่มีน้ำในกระป๋องให้อุด, ผมเองก็เริ่มสำรวจรูรั่วของตัวเองแล้วเหมือนกัน
16
มีคนบอกว่าใครรอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปก็นับว่าแข็งแกร่งมาก หลังจากนั้นจะมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ถ้าทำได้เราควรหาวิธียืดสายป่านออกไปให้ยาวที่สุด
รอด-ไม่รอด อาจขึ้นอยู่กับ รั่ว-ไม่รั่ว
เรื่อง: นิ้วกลม @Roundfinger