Design Thinking Process คุณค่าของชีวิตที่ได้มาจากการ ‘ขอบคุณ’ ตัวเอง

“ชีวิตนั้นอยู่ยาก แต่เราต้องอยู่ให้ได้” 

        ข้อความนี้ผมอ่านเจอในช่วงที่โควิดกำลังระบาดอย่างหนัก ประโยคนี้สะท้อนถึงช่วงเวลาแย่ๆ ในชีวิตของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีปัญหาชีวิตที่หนักเบาไม่เท่ากัน บางคนอาจจะยังมีงานทำ บางคนเพิ่งตกงาน บางคนไม่มีงานทำมานานแล้ว บางคนกำลังป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่หาเตียงไม่ได้ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

        คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราจะผ่านช่วงเวลาแย่ๆ แบบนี้ไปได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาต่างๆ ดูรุมเร้าไปหมด กำลังใจในชีวิตก็น้อยลง เบื้องต้นผมคิดว่าปัญหาชีวิตของแต่ละคนมีความซับซ้อนแตกต่างกัน แต่ละปัญหาก็ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไข เพียงแต่เราอาจต้องนำแนวคิดบางอย่างไปปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้น ซึ่งวันนี้ผมก็มีแนวคิดที่น่าสนใจ 2 ข้อมาแนะนำ เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะลองนำไปใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตได้

ข้อแรก พยายามแยกปัญหาที่เราไม่มีทางแก้ไขได้ออกไป และจัดการเฉพาะปัญหาที่เราแก้ไขได้

        ในหนังสือขายดีอย่าง Designing Your Life ที่เขียนโดย บิล เบอร์เน็ตต์  และ เดฟ อีวานส์ ได้อธิบายว่า ปัญหาบางประเภทเราไม่มีทางแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยากมากในทางปฏิบัติ เช่น ทำอย่างไรเราถึงจะสู้อำนาจรัฐได้ ทำอย่างไรรายได้เฉลี่ยของอาชีพนักเขียนจึงจะสูงเหมือนอาชีพแพทย์ ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า ‘ปัญหาแรงโน้มถ่วง’ (Gravity problems) เป็นปัญหาที่เราแทบจะไม่มีทางแก้ไขได้ จึงไม่ควรเสียเวลาไปแก้ไข เราควรแยกปัญหาประเภทนี้ออกจากชีวิต เพื่อให้เหลือเฉพาะปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้

        ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะลูกค้าสั่งซื้อสินค้าของเราน้อยลงในช่วงที่โควิด-19 ระบาด แน่นอนว่าโรคระบาดถือเป็นปัญหาแรงโน้มถ่วงที่เราแก้ไขไม่ได้ ในขณะที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าน้อยลงถือเป็นปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้ โดยเราอาจลดราคาสินค้าหรือเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น หรือถ้าเรามีปัญหากลัวติดโควิด-19 เพราะเรายังไม่ได้ฉีดวัคซีน แม้ว่าเราเคยลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ก็ถูกเลื่อนเพราะวัคซีนขาดแคลน ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนก็เป็นปัญหาแรงโน้มถ่วงที่เราแก้ไขไม่ได้ เราทำได้เพียงระวังตัวเองไม่ให้ติดโควิด-19 หรือซื้อยาที่จำเป็นมาเตรียมไว้ที่บ้าน 

        จะเห็นได้ว่าทั้งปัญหาเรื่องโควิด-19 ระบาด หรือการขาดแคลนวัคซีน เป็นปัญหาแรงโน้มถ่วงที่เราควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเราจึงควรแยกปัญหานี้ออกไป อย่าแบกไว้ ความทุกข์ในชีวิตจะได้น้อยลง ซึ่งบางทีเราอาจต้องพูดคำว่า ‘ช่างมัน’ กับบางเรื่อง นอกจากนี้การแยกปัญหาแรงโน้มถ่วงออกจากปัญหาที่แก้ไขได้ มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการนิยามปัญหา (Define) ในกระบวนการคิดแบบ Design Thinking เพราะถ้าเราสามารถแยกแยะและระบุปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เราจะรู้สึกว่าปัญหานั้นไม่ซับซ้อนจนเกินไปและสามารถหาทางออกได้ง่ายขึ้น

ข้อที่สอง คือ ลองพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ ทุกวัน เพื่อให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น 

        ข้อนี้มาจากผลการวิจัยของ โรเบิร์ต เอ็มมอนส์ และ ไมเคิล แมคคัลเลอ ที่พบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เขียนคำขอบคุณอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์เป็นเวลา 10 สัปดาห์ หรือเขียนต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะรู้สึกซาบซึ้ง มีอารมณ์เชิงบวก รวมถึงมีทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตและนอนหลับได้ดีขึ้น

        โดยเราอาจพูดขอบคุณเรื่องอะไรก็ได้วันละครั้ง เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาก็พูดกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่เรายังแข็งแรง ปลอดภัยจากโควิด-19’ ‘ขอบคุณที่เรายังมีครอบครัวที่คอยห่วงใยเรา’ หรือระหว่างวันก็พูดกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่เรายังมีงานทำอยู่’ ‘ขอบคุณที่มีเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก’ ‘ขอบคุณที่ได้กินผัดไทยอร่อยๆ’ ‘ขอบคุณที่ได้ดูซีรีส์เกาหลีสนุกๆ’

        นอกจากนี้ เราอาจลองหาข้อดีจากสถานการณ์แย่ๆ แล้วพูดขอบคุณก็ได้ เช่น ขณะที่รถติด เราพูดอาจกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่รถติด ทำให้เรามีเวลานั่งฟังเพลงเพราะๆ นานขึ้น’ หรือขณะที่งานล้นมือ เราอาจพูดกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่เจ้านายเห็นคุณค่าของเรา เลยสั่งงานมาเยอะ’ หรือขณะที่ลิฟต์เสีย เราต้องเดินขึ้นบันไดหนีไฟ เราอาจพูดกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่วันนี้ได้เดินออกกำลังกาย หุ่นดีขึ้นแน่ๆ’ หรือขณะที่ยืนต่อคิวซื้อข้าวราดแกง เราโดนคนอื่นแซงคิว เราอาจพูดกับตัวเองว่า ‘ขอบคุณที่ได้ต่อคิวนานๆ จะได้มีเวลาเลือกดูกับข้าวมากขึ้น’

        การพูดขอบคุณกับตัวเองทุกวัน นอกจากจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างมากต่อการนำไปใช้ในกระบวนการคิดแบบ Design Thinking โดยก่อนที่เราจะเริ่มคิดแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างไอเดีย (Ideate) ร่วมกับคนอื่น เราควรปรับอารมณ์ตัวเองให้เป็นเชิงบวก มีสมองที่ปลอดโปร่ง เพื่อให้การระดมสมองหาตัวเลือกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

        จากแนวคิดทั้งสองข้อข้างต้น จะเห็นว่าเมื่อเราพบปัญหาที่ซับซ้อน เราควรทำให้ปัญหานั้นเล็กลงด้วยการแยกปัญหาทั้งก้อนออกจากกัน แล้วค่อยๆ แก้ไขปัญหาทีละก้อน ซึ่งในช่วงที่มีปัญหามากมายรุมเร้านั้น คนทั่วไปมักจะมีอารมณ์เชิงลบ เพราะตัวเองกำลังจมดิ่งลงไปในปัญหา ดังนั้น การรู้จักขอบคุณเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ก็สามารถดึงให้ตัวเองกลับมามีอารมณ์เชิงบวก มีสมองปลอดโปร่งพอที่จะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้

        สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์แย่ๆ ในช่วงนี้ไปได้ วันหนึ่งเราอาจจะกลับมาพูดกับตัวเองว่า “ขอบคุณช่วงเวลาแย่ๆ ที่ทำให้เรารู้จักคุณค่าของทุกเรื่องในชีวิตมากขึ้น” 


ภาพ: Unsplash