ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และนับวันยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้กับบรรดาผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย ‘Digital Transformation’ จึงเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ท่ามกลางความแปรปวนของสถานการณ์โควิด-19 แนวคิดในการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล แนวทางรอดและการไปต่อของผู้ประกอบการที่ควรตระหนัก และให้ความสำคัญควรเป็นสิ่งใด?
เรามีโอกาสเข้าร่วมงาน ADTE Virtual Opening Day การเปิดตัว ‘สถาบัน ADTE (เอดเต้) หรือ Academy for Digital Transformation by ETDA’ ซึ่ง ‘ETDA (เอ็ตด้า)’ พัฒนาขึ้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการ เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในหลากหลายมิติทางออนไลน์ ท่ามกลางความแปรปรวนของสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ แน่นอนว่าบรรดาผู้ประกอบการต่างก็ได้รับบาดเจ็บกันไปไม่น้อย
ในช่วงแรกของงานคือ การร่วมแชร์ประสบการณ์การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการทั้งธุรกิจ SME ‘ต้น’ – ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu และธุรกิจสตาร์ทอัพ ‘โจ้’ – รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับ ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA และ ดร. ตฤณ ทวิธารานนท์ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ ETDA ถึงแนวทางการสร้างธุรกิจที่กำลังจะล้มให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นนี้ และทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัวรับกับดิจิทัลอย่างเต็มตัว
1
“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ADTE จึงไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม แต่เป็นศูนย์กลางของความรู้ด้าน e-Transaction ในทุกมิติ ที่จะพาคนไทย Go Digital เพราะในสภาวะเช่นนี้ เราไม่สามารถใช้ระบบการทำงานแอนะล็อกแบบเดิมๆ ได้ ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐต้องปรับตัวเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่ดิจิทัล เพื่อให้ทำธุรกรรมได้รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่ง ETDA พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ”
ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA ได้กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวจากสังคมแอนะล็อก (Analog) สู่สังคมดิจิทัล (Digital) เพื่อตอบโจทย์กับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
“สิ่งหนึ่งที่สตาร์ทอัพต้องมีคือการปรับตัวให้ไว รวมถึงแนวทางในการทำให้ธุรกิจยังอยู่รอด เราต้องเอาแนวทางของธุรกิจ SME เข้ามาช่วย ต้องคิดนอกกรอบว่าจะทำอย่างไรให้สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตนี้ได้ ซึ่งเราก็ปรับตัวจากการจองคิวร้านอาหาร ขยับตัวเข้าไปธนาคาร หรือช่วยเหลือทางภาครัฐ เช่น เข้าไปช่วยเหลือระบบสาธารณสุขทำโรงพยาบาลสนามให้ทำงานได้ง่ายขึ้นไม่ต้องใช้ระบบกระดาษ เพราะสถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้ ทุกอย่างต้องลดการใช้กำลังคน และนำดิจิทัลเข้ามาเพิ่มความรวดเร็ว และปลอดภัย”
รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ได้พูดถึงมุมมองทักษะของผู้ประการธุรกิจท่ามกลางสถาการณ์วิกฤตในขณะนี้ถึงแนวทางการเอาตัวรอดเพื่อพยุงให้ธุรกิจยังคงอยู่ต่อไปได้
“จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราก็ปรับเอาดิจิทัลเข้ามาช่วยพยุงธุรกิจ จากการขายชาบูแถมหม้อในโควิดระลอกแรกใช้ระบบจองบัตรคอนเสิร์ต และโควิดรอบสามกลับมาธุรกิจเรากำลังจะตายจะทำยังไงให้กระแสเงินสดเข้ามาให้ได้มากที่สุด เราจึงกลับมานึกถึงความต้องการของคน ตอนนี้คนอยากกินทุเรียน จึงเกิดเป็น ‘Penguin Eat Durian’ ซึ่งผมคิดว่าธุรกิจ SME ก็พยายามปรับตัวและทำงานแบบธุรกิจ Start Up มากยิ่งขึ้น คือต้องปรับตัวให้ไว พยายามปรับธุรกิจเปลี่ยนลูกเล่น อะไรที่ง่ายและสะดวกที่สุดเราต้องทำไปก่อน เรามองแค่ว่าแต่ละวันเราต้องมีรายได้เข้ามา นั้นคือการทำธุรกิจแบบ Day to Day Plan”
ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu ได้พูดถึงวิธีคิดและแนวทางในการพยุงธุรกิจที่กำลังจะล้มให้อยู่รอดต่อไปได้ด้วยการปรับตัวให้ไว และ Back to Basic ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
“ตอนนี้ ไม่ใช่ New Normal แต่คือ Abnormal ดังนั้น การ ‘เร่ง’ ปรับตัวอาจไม่ทัน แต่เราต้อง ‘รีบ’ ผ่านไปให้ได้ เพราะถ้าไม่ Do เราก็ Die ท่ามกลางสถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงที่ภาครัฐและเอกชนต้องรีบปรับตัวสู่ดิจิทัล ท้ายที่สุดการจะเปลี่ยนเป็น ‘Digital Transformation’ สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจรับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล บรรดาผู้ประกอบการต้องขับเคลื่อนด้วยตัวคุณเอง เปิดใจ เปลี่ยนระบบความคิด ETDA ได้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจในการทำธุรกรรมได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล และช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆ ในการนำเทคโนโลยีไปต่อยอด และสร้างธุรกิจ”
ดร. ตฤณ ทวิธารานนท์ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ ETDA ได้พูดถึงแนวทางการปรับเปลี่ยน Digital Transformation ท่ามกลางสถานการณ์ขณะนี้เป็นช่วงที่ภาครัฐและเอกชนต้องรีบปรับตัวสู่ดิจิทัล
2
หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการในการพยุงธุรกิจที่กำลังจะตายให้อยู่รอด และได้เห็นมุมมองการทำธุรกิจ SME และ Start Up ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ต่างก็นำวิธีคิดของแต่ละธุรกิจมาปรับใช้เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอด ในช่วงที่สองเป็นการจำลองหลักสูตรของสถาบัน ADTE (เอดเต้) เตรียมพร้อมให้บรรดาผู้ประกอบการ และคนทั่วไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ขณะนี้ ที่ทุกอย่างต้องเป็นดิจิทัลไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป
ความสำคัญของ Digital ID – กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในยุคดิจิตอล
ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้จะมีกฎหมายรับรองให้ ‘ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์’ มีผลเทียบเท่า ‘กระดาษ’ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจ และไม่รู้ว่าการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำกันบนดิจิทัลหรือผ่านทางออนไลน์ แบบไหนบ้างที่กฎหมายรับรอง ADTE (เอดเต้) จึงเข้ามาเป็นแหล่งความรู้ให้กับคนไทย และ Digital ID เป็นอีกตัวช่วยในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมผ่านทางดิจิทัล จึงได้มี พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คุ้มครองผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ เพื่อให้การยืนยันตัวตนเป็นไปตามเงื่อนไข ถูกต้องปลอดภัยตรงตามมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทาง ETDA (เอ็ตด้า) ได้ดูแลกฎหมายส่วนนี้อยู่เพื่อรองรับการทำงานด้านธุรกรรมการเงินให้ทั้งหน่วยงานเอกชน และรัฐทำงานได้ง่ายมากขึ้น
ปรับตัวรับกับ E-Platform ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
การใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป เอกสารกระดาษกำลังก้าวเข้าสู่รูปแบบดิจิทัล การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document มีตั้งแต่สร้างเอกสาร e-Signature (การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์) การเก็บรักษาเพื่อเป็นพยานหลักฐาน ‘e-Document’ เข้ามาช่วยป้องกันช่องโหว่ของการทำธุรกรรมผ่านกระดาษอย่างการปลอมแปลงเอกสารให้หมดไป ส่วน e-Signature เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ลงนามในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผ่านออนไลน์ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ เมื่อปรับเข้าสู่สังคมดิจิทัลช่วยให้เราทำธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว และตรวจสอบได้
Cybersecurity: ธุรกิจจะมั่นคงปลอดภัยปลอดภัยในการให้บริการได้อย่างไร เมื่อต้องใช้ E-Platform
โลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัล ธุรกิจจึงต้องปรับให้อยู่รอด การนำ E-Platform มาใช้เพื่อให้บริการทางธุรกิจมีกุญแจสำคัญในการทำให้ E-Platform ใช้งานได้ต้องอาศัยความมั่นคงปลอดภัย ธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จ สิ่งนี้สำคัญไม่แพ้การวางกลยุทธ์ทางการตลาด เมื่อธุรกิจมีความน่าเชื่อถือก็พร้อมที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบกำไร ในสถานการณ์ COVID-19 มักพบปัญหาการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล อย่างการสร้างโดเมนที่ใกล้เคียงกับเว็บไซต์ของราชการ จะอุดรูรั่วของข้อมูลได้ต้องป้องกันทั้งระบบและผู้ใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น
เมื่อการเข้ามาของอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบดิจิทัลสิ่งสำคัญที่ทำให้การปรับตัวสู่สังคมดิจิทัลเกิดความยั่งยืนคือ การเปลี่ยนระบบความคิดของผู้ใช้ ต้องยอมเปิดใจให้อิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด
แต่สุดท้ายแล้ว Digital Transformation ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลแทบจะครบวงจร เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากจนเกินไปก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป ETDA จึงเข้ามามีอิทธิพลในเรื่องของกฎหมาย กระบวนการมาตรฐาน วิธีการคิดและการออกแบบ รวมไปถึงเรื่องธุรกิจ ที่ต้องใช้ E-Platform บนความปลอดภัยและวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและเพื่อให้ธุรกิจไปรอดในยุคนี้ ซึ่งเหล่านี้ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th/th/
เรื่อง: รัตนาวดี เพิ่มพวก