Earth day

‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ ที่เชื่อว่าขยะไม่ใช่วายร้าย หากเราร่วมมือจัดการแยกขยะได้

“วันโลก แท้จริงควรจะเป็นวันที่เรามาเฉลิมฉลองกับความสวยงามของโลก ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่กลายเป็นวันที่เราหันกลับมาดูโลกแล้วเห็นว่าโลกแย่ลงแค่ไหน”

       ข้อความในเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ที่แม้ช่วงนี้ขยะจะไม่หายไป แถมยังดูมีวี่แววจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ‘ลุงซาเล้ง’ อย่าง เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ก็ยังไม่หายไป ยังคงสื่อสารถึงความสำคัญของการแยกขยะ รักษาโลกต่อไป อย่างไม่หวั่นแม้ในวันขยะเพิ่มขึ้นหนักมาก

       a day BULLETIN ต่อสายพูดคุยกับเปรม หรือ ‘ลุงซาเล้ง’ จากเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เนื่องในปีที่ 50 ของวัน Earth Day ที่ก่อตั้งโดย เกย์ลอร์ด เนลสัน นักการเมืองชาวอเมริกันและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ผลักดันเรื่องงสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีเป็นวัน Earth Day ตั้งแต่ปี 1970 จนในปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วม 193 ประเทศ 

       แต่ในวันที่ผู้คนบนโลกต่างวุ่นวายกับการปกป้องดูแลตนเองให้ห่างไกลจากไวรัส วันนี้โลกที่เราไม่ได้ออกจากบ้านไปเห็นมาสักพักเป็นอย่างไรบ้าง และในระหว่างที่เราอาจต้องพึ่ง food delivery ที่มีของแถมเป็นบรรจุภัณฑ์กองพะเนิน เราจะจัดการกับมันได้อย่างไร ให้เป็นการรักษาตนเองและรักษ์โลกด้วยไปพร้อมกัน 

 

Earth day
Image from: อนิรุทร์ เอื้อวิทยา https://adaymagazine.com/uncle-saleng

 

ช่วงนี้กิจการรับซื้อขยะรีไซเคิลของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับผลกระทบเช่นกิจการอื่นๆ บ้างหรือเปล่า

        ขยะที่มาถึงเราตอนนี้มันก็น้อยลง เพราะคนคัดแยกขยะน้อยลง และพวกห้างร้านก็ปิด

ทำไมถึงน้อยลง ในเมื่อใครต่างก็บอกว่าช่วงนี้ขยะจาก food delivery นั้นเพิ่มมากขึ้น

        ขยะมันไปกระจายอยู่ตามบ้านเรือนแทน และในระดับครัวเรือนของเรา คนก็แยกขยะกันน้อยอยู่แล้ว ปกติขยะตามครัวเรือนจะเข้าสู่การจัดเก็บของเทศบาล ของ อบต. กทม. แต่อีกส่วนคือขยะที่มาจากภาคธุรกิจกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งปกติเขาจะเก็บคัดแยกอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีจำนวนมาก เช่น เวลาเราไปกินข้าวที่ร้านอาหารมีขวดน้ำ ถ้าเป็นร้านใหญ่ๆ เขาจะเก็บขวดเอาไว้ขายต่อ ก็เป็นรายได้เสริมนิดหน่อย แต่พอจากขวดน้ำเป็นร้อยเป็นพันขวดต่อวันในที่เดียว ตอนนี้มันกลายเป็นย่อยๆ ไปตามบ้าน ที่คนไม่แยกกัน พอไม่แยกมันก็เข้าสู่การจัดการโดย กทม. ทันที

        พนักงานเก็บขยะเองเขาก็มีแยกบ้าง แต่เท่าที่ได้คุยกับคนแยกขยะ เขาก็บอกว่าแยกน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะกลัวไวรัสด้วย ผมเองทำงานอยู่ที่อยู่เชียงใหม่ เคยคุยกับเทศบาลที่แต่ก่อนเขาก็แยกอยู่ จากแต่ก่อนวันละคัน ก็เหลือสองวันต่อคัน หมายถึงขยะที่แยกจากถุงขยะของชาวบ้าน และคนคัดแยกก็บอกว่าเขาไม่ทำ เพราะกลัวเอาไวรัสกลับบ้าน ก็มีความกลัวแบบนี้เหมือนกัน พอไม่ได้แยก ขยะก็ไปลงที่บ่อขยะมากขึ้น บางจุดก็เพิ่มเป็นสองเท่าเลย

กังวลไหม จำนวนขยะเพิ่มขึ้น แต่การจัดการแยกขยะกลับน้อยลง 

        ก็กังวล แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับว่ามันได้รับผลกระทบกันหมด นี่พยายามมองว่าเป็นเวลาดีที่ทำให้คนอยู่บ้าน อยากชวนว่าถ้ามีเวลามากขึ้น ก็อาจมาลองช่วยกันแยกขยะ ลองดูสิว่าขยะในบ้านชิ้นไหนที่สามารถแยกได้บ้าง

แล้วเวลาที่คนอยู่บ้านมากขึ้น อยู่กันหลายคนมากขึ้น ความพยายามในการแยกระดับในครัวเรือนเพิ่มขึ้นไหม 

        เท่าที่เห็นก็คิดว่าคนพยายามแยกเพิ่มค่อนข้างเยอะ แต่ระบบของเรามันไม่ได้เอื้อขนาดนั้น อย่างเช่น เราคัดแยกในบ้าน คัดแยกอย่างดีเลย ล้างถุง ทำความสะอาดเรียบร้อย เอาไปตั้งหน้าบ้าน ไปแอบดูด้วยว่าคนเก็บขยะทำอย่างไร เขาก็เห็นว่าขยะที่แยกถูกนำไปใส่รถขยะเลย เอาไปอัดเลย เขาก็เสียใจ

        บางคนเขียนหน้าถุงด้วยเลยนะ พลาสติก กระดาษ จนต้องไปถามพนักงานแยกขยะเลยว่าทำไมแยกให้แล้วถึงไม่แยกต่อ เขาก็บอกว่า ราคามันตก เพราะเศรษฐกิจด้วยแหละ ตอนนี้ราคาขยะรีไซเคิลตกหมด ยกเว้นกระดาษที่กลับมาดีขึ้น เพราะว่าคนใช้ส่งของ delivery มันเยอะขึ้น ความต้องการมันสูงขึ้น แต่นอกนั้นขยะรีไซเคิลราคาตกหมดเลย

แล้วถ้าแยกไป เขาก็อัดรวมอยู่ดี อย่างนี้ควรแยกอยู่ไหม หรือทำอย่างไรดี

        การแยกมันดีอยู่แล้ว ผมเรียกว่ามันเพิ่มความเป็นไปได้ในการให้ขยะรอดจากบ่อ ถ้าเราไม่แยกเลยมันก็ไปบ่อแน่นอน แต่ถ้าเราแยก มันจะเพิ่มโอกาสที่จะเข้าไปสู่กระบวนการสักสองสามกระบวนการ เช่น ถ้าเราแยกแล้วตั้งทิ้งไว้หน้าบ้าน ทางรอดแรก สมมติว่ามีซาเล้งที่ยังทำงานอยู่ เขาก็จะเก็บเป็นถุงง่ายๆ ได้เลย หรือทางที่สอง ก็อาจมีพนักงานเก็บขยะหลังรถที่เขาเห็นว่าเราแยกแล้วเขาก็เก็บไปขาย มันก็จะไปอยู่ถังพักขยะ ซึ่งก็จะมีพนักงานช่วยคัดแยกอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มความเป็นไปได้ในการเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล 

        แต่ส่วนใหญ่พอเราเห็นว่าขยะโดนอัด เราก็ท้อ หมดกำลังใจ ก็ไม่แยก แต่ถ้าแยกอย่างน้อยที่สุดคือมันเพิ่มความเป็นไปได้

ทำอย่างไรจะให้ขยะที่เราแยกแล้ว ถูกนำไปรีไซเคิลมากขึ้น

        ปกติพนักงานเก็บขยะเขาก็พยายามจะแยกกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะขยะที่มีราคา แต่อันนี้มันต้องพึ่งนโยบายรัฐในการเพิ่มมูลค่าให้ขยะรีไซเคิล

‘ลุงซาเล้ง’ มักบอกว่าพลาสติกไม่ใช่วายร้าย แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการ โดยเฉพาะพลาสติกที่ ‘เบา แยกยาก และไม่ย่อยสลาย’ ซึ่งเป็นพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนี้ เราควรจัดการกับพลาสติกเหล่านี้ที่มากับการขนส่งอาหารอย่างไร 

        มันต้องรวบรวม ถ้าของที่มันเบา เราต้องรวบรวมปริมาณให้ได้ประมาณหนึ่ง หรือต้องอาศัยคนใช้และผู้บริโภคเป็นผู้รวบรวม เช่น กล่องพลาสติกจะขายได้เฉพาะเกรด PP ถ้าเราล้างเก็บไว้ พอเยอะเป็นตั้งๆ เก็บทีเดียวก็คุ้มกว่า

 

Earth day
Image from: อนิรุทร์ เอื้อวิทยา https://adaymagazine.com/uncle-saleng

ความต้องการผู้บริโภค เปลี่ยนผู้ประกอบการได้จริงไหม 

        ผมว่าอย่างน้อยคนก็รู้สึกดีกับแพ็กเกจธรรมชาติมากกว่า เช่น กล่องชานอ้อย หมูปิ้งใบตอง มันจะฟีลกู๊ดอยู่แล้ว ถ้าทำให้เป็น norm ได้ ทำให้ราคาไม่สูงมาก หาซื้อไม่ยากมาก ผมว่ามันมีแนวโน้มอยู่แล้ว แต่ปัญหาตอนนี้คือหายาก เข้าถึงยาก จัดการยาก ราคาสูง

        แต่ในภาพรวม ผมว่าผู้บริโภคยังไม่มีอำนาจมากขนาดที่จะไปสั่งผู้ผลิตขนาดนั้น เราอาจกดดันได้นิดหน่อย แต่สุดท้ายจะอยู่ที่ภาครัฐในการออกกฎหมาย

แล้วอย่างความพยายามของภาครัฐในการลดพลาสติกกันในปีที่แล้ว คิดว่าเห็นผลบ้างหรือยัง  

        มันก็เห็นผลส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่านโยบายของรัฐยังเป็นไปในแนวทางการขอความร่วมมือ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น มันเลยมีความย่อหย่อน แต่ภาคเอกชนก็มีการตอบรับดีนะครับ มีการทำโครงการนี่นั่น แต่พอมาเล่นเป็นกฎหมายมันเลยหย่อนอยู่ ก็มีบ้างที่ไม่สนใจจริงๆ

        ส่วนตัวเชื่อว่าภาคธุรกิจ ผู้บริโภคทุกคน เอาจริงๆ ไม่น่ามีใครอยากทำลายธรรมชาติ การที่ภาคเอกชนมาเสนอตัวว่าจะไม่ทำลายธรรมชาติ ผู้บริโภคย่อมรู้สึกดีอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกแย่ หรือไม่ได้รับความสะดวกไปด้วย โดยพื้นฐานเชื่อว่าทุกคนอยากเลือกสิ่งที่มันดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่สะดวก เขาก็มีเหตุผลที่จะไม่ทำตาม 

ตอนนี้ใครๆ ก็พยายามคาดการณ์ ‘new normal’ หลังจากนี้ คิดว่าการระบาดครั้งนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนในเรื่องการจัดการขยะกันอย่างไร 

        ผมว่าเขาน่าจะสั่งอาหารเดลิเวอรีกันเยอะขึ้น เคยสั่งแล้วก็จะชิน สั่งกันมากขึ้น ร้านค้าก็จะหันมาใช้แพ็กเกจกันเป็นหลัก ถ้าเกิดความเคยชินแล้ว เราก็ต้องดูว่าจะมาทำอย่างไรกับมัน

มีไอเดียหรือข้อเสนอแนะไหม ว่าเราควรเตรียมรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้อย่างไร 

        ผมอยากให้มันเป็นกฎหมายมากกว่า ต้องบอกว่าเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนได้อยู่แล้ว สมมติเราบอกว่าจะจัดการขยะเดลิเวอรี เต็มที่ก็ไม่ถึง 5% ของขยะทั้งหมด คนเขาก็จะทิ้งกันปกติ เราต้องจัดระบบทั้งหมดใหม่ ต้องตอบคำถามก่อนว่าเราจะให้อิสรภาพของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้บรรจุภัณฑ์หรือเปล่า ถ้าเราให้อิสรภาพเขา เราก็ต้องมากำหนดว่าการทิ้งต้องมีข้อจำกัด บังคับว่าขยะเดลิเวอรีต้องมีการจัดการ เช่น เอาไปเผาทำพลังงาน หรือระบุไปเลยว่าถ้าเป็นร้านอาหาร แล้วมีเศษอาหารปะปนอยู่ในขยะเราไม่เก็บ ต้องตั้งกฎบางอย่างแบบนี้ หรือง่ายกว่านั้นก็คือไปเปลี่ยนที่ตัวธุรกิจ กำหนดให้ใช้พลาสติกเกรดเดียวกัน แบบนี้ระบบการจัดการก็จะง่ายขึ้น

เวลาพูดว่าต้องเปลี่ยนทั้งระบบมันดูซับซ้อนเหลือเกิน มีตัวอย่างโมเดลการจัดการขยะที่ไหนไหมที่ทำให้เห็นว่าการจัดการเป็นระบบนั้นทำได้ง่ายและเป็นไปได้จริง 

        ผมชอบการจัดการของญี่ปุ่น คือการแยกขยะของญี่ปุ่นเขาจะมีการระบุว่าอันไหนเผาได้ อันไหนเป็นโลหะ กำหนดเลยว่าวันจันทร์ อังคาร จะเก็บขยะที่มีสัญลักษณ์แบบไหน ออกแบบมาตั้งแต่ตอนผลิตเลยว่าผู้ผลิตต้องระบุสัญลักษณ์แบบไหนกับสินค้า และสื่อสารผู้บริโภคว่าขยะสัญลักษณ์ไหน ทิ้งวันอะไร คือต้องคิดเป็นระบบให้ได้ 

        แต่ในเมืองไทยเราไปทำทีละจุด เช่น ห้ามใช้ถุงพลาสติก ตั้งโรงงานเผาขยะ พอทำทีละจุดแบบนี้มันก็ไม่สำเร็จ ถ้าจะทำจริงๆ สมมติตั้งโรงงานเผาขยะแล้วก็ต้องสื่อสารผู้บริโภคให้รู้จักว่าขยะเผาได้คืออะไร แบบไหนเผาได้ แต่ตอนนี้ความพยายามมันไม่ต่อเนื่องกัน

 

Earth day

ถ้าจัดการขยะในระดับประเทศมันยากไป ทำในระดับชุมชนหรือจังหวัด พอเป็นไปได้ไหม

       ผมว่ามันยากนะ ตอนนี้ระบบมันไม่เอื้อ คือระบบจัดการขยะในแต่ละท้องถิ่นต้องโอเค แต่นโยบายยังไงก็ต้องมาจากส่วนกลาง ตอนนี้เราใช้ระบบที่ไหนแข็งแกร่งที่นั่นทำ คือชุมชนไหน กำนันบ้านไหนแข็งแกร่งก็บอกให้ลูกบ้านทำตามได้บ้าง เพราะจำนวนคนมันไม่เยอะ แต่ถึงอย่างนั้นชุมชนที่ทำได้ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ยังต้องสอนเรื่องย่อยๆ มาก เช่น ตอนนี้ในลำพูนที่ผมอยู่ ก็เป็นลำพูน zero waste แต่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด มันจะเป็นที่ไป แต่เราควรทำภาพใหญ่กว่านั้น สุดท้ายถ้าอยากเห็นผลในภาพรวม ยังไงก็ต้องทำร่วมกันอยู่ดี

มีความเห็นสองทาง บ้างว่าการระบาดครั้งนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นระยะสั้น บ้างว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงระยะยาว เราจะทำอย่างไรที่จะขยายผลสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงนี้ให้ยาวขึ้น และไม่ทำลายโลกระยะยาวด้วย 

        เห็นด้วยว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นตอนนี้ไม่ได้ยั่งยืน คือแค่มนุษย์อยู่บ้านนี่มลพิษลดชัดเจนมาก มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะพอคนออกมาก็จะเหมือนเดิม แต่มันทำให้เราเห็นภาพว่าถ้าคนช่วยกันทั้งระบบ มลพิษก็ลดลงได้ ภาพตอนนี้เป็นตัวอย่างยืนยันว่าถ้าเราสร้างระบบให้คนลดการใช้ทรัพยากรได้ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นได้

        แต่ผมเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมนั่นแหละ อย่างเป้าหมายของสหประชาชาติที่จะลดคาร์บอนภายในปี 2050 นั้นใช้เงินทุนสูงมาก พอมาเกิดปัญหาแบบนี้ มันจะถูกโยกงบประมาณ แล้วงบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะถูกดึงออกไป

เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สองปัญหาที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าปากท้องยังไม่อิ่ม ก็ยากที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว

        ใช่ ถึงกับมีคนพูดเลยว่าบางทีเรื่องรักษ์โลกมันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ทุกอย่างแพงกว่าหมด มันเป็นเรื่องคนรวย ถ้าไม่รวย เขาไม่สนใจหรอก ยังไงปากท้องต้องมาก่อน จะรักษ์โลกอย่างไร แต่ถ้ากล่องโฟมถูกกว่า ยังไงก็ซื้อโฟม

        เอาจริงๆ พอมีโควิด-19 ผมไม่กล้าโพสต์เกี่ยวกับการรณรงค์เท่าไหร่เลยนะ เพราะว่ามันส่งผลกระทบจริงๆ ชีวิตคนนั้นสำคัญอยู่แล้ว เราไม่สามารถบังคับคนตอนนี้ได้ ผมเข้าใจว่าช่วงนี้เราต้องใส่ใจชีวิตคนมากกว่า เช่น ถ้าไปบอกว่าอย่าใส่มาสก์ใช้แล้วทิ้งนี่โดนแน่ ตอนนี้มันจำเป็นอยู่แล้วแหละที่ขยะต้องเยอะขึ้น ห้ามไม่ได้ แต่เราก็ต้องใส่ใจ คอยดูสถานการณ์ว่าหลังจากนี้เราจะจัดการกับมันอย่างไร

เหมือนอย่างที่ ‘ลุงซาเล้ง’ พยายามสื่อสารมาตลอดว่าขยะที่เราใช้ไม่ใช่วายร้าย แต่คือการจัดการขยะของเรามากกว่า

        ใช่ อย่างหน้ากากเองก็เผาเป็นพลังงานได้เลยนะ บางด้วย เพียงแต่เราไม่เคยเจอหน้ากากนับล้านชิ้นต่อวันมาก่อน ไม่เคยมีใครเตรียมการเรื่องนี้ แต่สมมติว่าเรามีระบบการเผาที่ดี เช่น เอาขยะจากหน้ากากไปทำพลังงาน มันต้องหาทางจัดการให้ได้

มันเป็นปัญหาระยะยาวก็จริง แต่ถ้าไม่จัดการตอนนี้ก็จะเป็นปัญหาเข้าสักวัน สุดท้ายอยู่ที่การเลือกใช้ เลือกจัดการของผู้บริโภค ผู้ผลิต และนโยบายที่ต้องเอื้อให้เกิดการจัดการทั้งระบบ 

        ใช่แล้วครับ

 

Earth day

 

ปีที่แล้วดูคนตื่นตัวกับการลดขยะ แต่ปีนี้ดันเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมาทำให้ขยะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ท้อบ้างไหมกับการสื่อสารเรื่องนี้มานาน

        ไม่ท้อ แต่ผมแค่กลัวว่ามันจะเกิด norm ใหม่ กลัวคนจะมองว่า single use คือพระเจ้า เราจะได้ปลอดภัยจากไวรัส สมมติว่าโควิด-19 จะลากยาวเป็นปี แล้วคนชิน คิดว่า single use เป็นฮีโร่ อันนี้ผมกลัว กลัวว่าพฤติกรรมคนจะเปลี่ยนกลับยาก เอาเข้าจริงๆ single use ก็ไม่ได้สะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ single use เป็นความอนามัยขึ้นมา กลัวว่าที่เคยรณรงค์มาตลอดจะหายไป ก็ต้องมาเริ่มสื่อสารกันใหม่

วันนี้เป็นวัน Earth Day ‘วันคุ้มครองโลก’ มีข้อความอะไรที่อยากสื่อสารเป็นพิเศษไหม 

        จริงๆ แล้วมันแปลกนิดหนึ่ง มันควรเป็นวันที่เราแฮปปี้ ภาษาไทยคือคำว่า ‘วันคุ้มครองโลก’ ทำไมต้องคุ้มครองเหรอ ถ้าเป็นต่างประเทศ ความสำคัญของวันนี้คือควรทำให้เรารู้สึเฉลิมฉลอง แต่ของเรา ด้วยถ้อยคำทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นห่วง ต้องกังวล ทั้งที่จริงๆ เราควรจะฉลองสิ่งที่โลกมีอยู่มากกว่า

        อาจจะไม่มีอะไรให้ฉลองในเวลานี้ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ก็ไม่ได้แน่ขนาดนั้น ขนาดไวรัสเรายังพ่ายแพ้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ภัยของโลกร้อนผมว่ามันรุนแรงกว่านะ ภัยของไวรัสส่งผลต่อมนุษย์ในระยะสั้น แต่โลกร้อนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดระยะยาว ส่งผลกระทบต่อน้ำ อากาศ ทุกอย่างเลย มันทำลายขนาดนั้น ผมว่าโลกร้อนน่ากลัวกว่า และไวรัสก็ทำให้เราเห็นว่ามนุษย์เราไม่พร้อมรับมือกับปัญหาใหญ่

เริ่มมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับการระบาดของไวรัส

        ผมไม่แน่ใจว่าสัมพันธ์กันโดยตรงอย่างไร แต่ความคล้ายคือมันเป็นปัญหาที่พอเกิดขึ้นแล้วกระทบเลย เราไม่ทันตั้งตัว ส่วนความต่างคือไวรัสมันเร็ว มันกระทบเราโดยตรง คนเลยกลัว แต่โลกร้อนทำคนตายมากกว่านะ เพียงแต่ยังมองไม่เห็น ยังอีกไกล มันค่อยๆ ทำลาย คนเลยยังไม่ตื่นกลัวกับมัน 

ระมัดระวัง รับมือกับปัญหาด่วนระยะสั้นได้ แต่อย่าชะล่าใจกับปัญหาระยะยาว 

        ใช่ อยากให้รักษาสุขภาพ รักษาใจ ใจที่ยังมองโลกในแง่ดี มองโลกให้สวยงามก่อน อย่ามองเป็นแง่ลบไปหมด 

จะสั่งอะไรมากินฉลอง Earth Day

        ปกติผมทำกับข้าวกินเอง ผมไม่เคยสั่งเลยนะเดลิเวอรี ผมอยู่ลำพูน ผมออกไปซื้อของอาทิตย์ละครั้ง ทำกับข้าวกินเองทั้งอาทิตย์ ผมขี้เกียจสั่ง แพงด้วย ทำกินเองได้ ก็เลยไม่สั่ง