คนสี่รุ่น

เราเลือกอะไรในชีวิตได้บ้าง? ความแตกต่างของคนสี่รุ่นในมุมมองของ เดชรัต สุขกำเนิด

ช่วงนี้ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันมากเป็นพิเศษ สัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับน้องๆ ถึงประเด็นนี้ และบังเอิญว่าน้องคนหนึ่งก็พูดถึงเจตจำนงของการเลือกด้วยตนเอง หรืออาจเรียกว่า Free Will (เจตจำนงเสรี) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน 

        ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย – ส่วนที่เห็นด้วยคือคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเลือกของตนจริงๆ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือผมเชื่อเอาเองว่า Free Will ควรจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกรุ่น เพียงแต่โอกาสและเงื่อนไขในการเลือกของแต่ละคน แต่ละรุ่น อาจแตกต่างกัน ซึ่ง ‘การได้เลือก’ และ ‘การไม่ได้เลือก’ ของคนแต่ละรุ่นก็มีผลโดยตรงจากลักษณะและความนึกคิดของคนรุ่นนั้นๆ

        เพื่อที่จะขยายความความเชื่อดังกล่าวของผม ผมจึงใช้วิธีสังเกต ‘ความทรงจำ’ และประสบการณ์ของตัวเองที่มีต่อคน 4 รุ่นที่ผมมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ได้แก่ รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นผม และรุ่นลูกผม โดยมองผ่านการเลือกใน 4 ด้านหลักคือ 

        1. การเลือกคู่ชีวิต 

        2. การเลือกอาชีพ 

        3. การเลือกเรียน 

        4. การเลือกรับส่งข้อมูลข่าวสาร 

        การเลือกวิธีการศึกษาแบบสังเกตจากความทรงจำย่อมแปลว่าบทความนี้มิได้มีฐานะเป็นบทความวิชาการแต่อย่างใด เป็นเพียงข้อสังเกตให้นำไปขบคิดหรือถกเถียงกันต่อไปเท่านั้น 

การเลือกของรุ่นปู่ย่าตายาย

        ผมรำลึกถึงการพูดคุยกับปู่ย่าตายายของผม จำได้ว่า ผมแทบไม่ได้ยินปู่ย่าตายายเล่าถึงการเลือกคู่ครองมากนัก และเท่าที่ทราบจากคุณพ่อคุณแม่คือการเลือกคู่ครองในช่วงเวลานั้นยังอยู่ในการกำกับดูแลของคนรุ่นพ่อแม่ (หมายถึงทวดของผม)

        ส่วนการเลือกที่ผมได้ยินจากคนรุ่นปู่ย่าตายายมากที่สุดก็คือการเลือกอาชีพ ซึ่งจากมุมมองของผมพบว่า การเลือกอาชีพในรุ่นนั้นมีความเปิดกว้างไม่น้อย เพราะนอกจากจะเลือกสิ่งที่ตนเองอยากทำแล้ว ยังมีการเลือกภูมิลำเนาที่จะตั้งถิ่นฐานหรือสร้างกิจการได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่สำคัญคือการเลือกอาชีพในยุคนั้นแม้จะเกี่ยวพันกับความชำนิชำนาญของคน แต่มิได้ถูกผูกมัด (อย่างสมบูรณ์) ไว้กับมาตรฐานของวิชาชีพที่ต้องผ่านการศึกษาในระบบ

        พูดง่ายๆ คือสังคมในยุคนั้น ยังมีที่ว่างสำหรับหมอและช่าง เช่นเดียวกับแพทย์และวิศวกรที่จบการศึกษาในระบบ

        แน่นอนว่าการเลือกข้อมูลข่าวสารของคนรุ่นปู่ย่าตายายมีความจำกัดในแง่ของความกว้างขวางในการกระจายข้อมูล อันเป็นผลมาจากความจำกัดของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่จากที่ผมได้คุยกับพวกเขาก็ทำให้สัมผัสได้ถึงความ ‘ลุ่มลึก’ และ ‘หลากหลาย’ ของข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในนั้น (อำเภอสวี จังหวัดชุมพร) แบบที่ไม่ค่อยเห็นใครในปัจจุบันพูดถึง 

การเลือกของคนรุ่นพ่อแม่

        การปลดล็อกที่สำคัญในการเลือกของคนรุ่นพ่อแม่ในความคิดของผมคือ ‘การเลือกคู่ครอง’ แม้ว่าในยุคปู่ย่าจะมีเสียงเรียกร้องในการเลือกคู่ครองปรากฏอยู่ในวรรณกรรมคลาสสิกสมัยนั้นหลายเรื่อง (เช่น แผลเก่า และ แผ่นดินของเรา ฯลฯ) แต่มันยังไม่ใช่ปรากฏการณ์ทั่วไป ส่วนคนในรุ่นพ่อแม่ การเลือกคู่ครองด้วยตัวเองดูจะเป็นเรื่องทั่วไปในสังคมยุคนั้นแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในหมู่ชนชั้นกลางอย่างพ่อแม่ของผม 

        ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ถูกล็อกมากขึ้นคือ ‘การเลือกอาชีพของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่’ ซึ่งเริ่มผูกติดไว้กับมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานการศึกษา ดังนั้นการจะ ‘เป็น’ อะไร หรือประกอบอาชีพอะไรของคนรุ่นพ่อแม่จึงต้องผ่านเงื่อนไขทางการศึกษา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและกลายเป็นอุปสรรคสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในยุคสมัยนั้น แต่หรับผู้ที่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและผ่านมาได้ อย่างพ่อกับแม่ของผม – การเลือกอาชีพก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ยากมากนักสำหรับพวกเขา 

        ในยุคพ่อแม่ การเลือกรับข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างมากกว่ารุ่นก่อน แน่นอนว่าโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์มีบทบาทกับคนรุ่นนี้เป็นอย่างมาก

พวกเขาคือรุ่นที่เรียกร้อง ‘สื่อเสรี’ และ ‘สื่อสาธารณะ’ แต่การเลือกรับข่าวสารของพ่อแม่จะแตกต่างจากคนรุ่นผม และโดยเฉพาะคนรุ่นลูกผมเป็นอย่างมาก ทั้งด้านช่องทางและปริมาณการรับข่าวสารในชีวิตประจำวัน 

การเลือกของคนรุ่นผม

        สืบเนื่องจากยุคของพ่อแม่ การเลือกคู่ครองของคนรุ่นผมจึงแทบไม่ได้ถูกควบคุมโดยพ่อแม่อีกแล้ว แต่การเลือกอาชีพของเรากลับขึ้นอยู่กับระบบมาตรฐานการศึกษาแบบเต็มตัว แถมด้วยจำนวนเพื่อนที่อยู่ร่วมรุ่นกันมาจนเข้าสู่ช่วงเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ทั้งจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเรียนต่อมัธยมที่เพิ่มขึ้น) ทำให้การแข่งขันในระบบการศึกษาและอาชีพในยุคของผมจึงเข้มข้นมาก

ความเข้มข้นของการแข่งขันเพื่อ ‘เลือก’ การเรียนและการงาน กลายเป็น ‘ลักษณะเฉพาะ’ ของคนรุ่นผม อย่างเช่น โรงเรียนกวดวิชาเป็นสิ่งที่ลงหลักปักฐานในคนรุ่นผม และในขณะเดียวกันก็กลายเป็น ‘ความตึงเครียด’

        เพื่อนรุ่นผมหลายๆ คนถูกกำหนดกรอบในการเรียนจากความคาดหวังหรือการวางแผนของคนรุ่นพ่อแม่ คล้ายกับว่า การควบคุมของพ่อแม่ได้เคลื่อนย้ายจาก ‘คู่ครอง’ มาสู่ ‘การศึกษา’

        อย่างไรก็ดี ในช่วงตอนกลางของชีวิตในหมู่คนรุ่นผม หลายๆ สิ่งในชีวิตของพวกเราเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสาร และโอกาสในการทำอาชีพ เพื่อนของผมหลายคนจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ๆ (โดยไม่ต้องขออนุญาตพ่อแม่อีก) และหลังจากผ่านวัยกลางคนมา พวกเราก็ได้รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากผ่านระบบดิจิตอล แม้จะยังไม่เท่ารุ่นลูกของเราก็ตาม 

        ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยความเปิดกว้างของเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อนๆ ของผมหลายคนและตัวผมเองก็เริ่มเป็น ‘ผู้ส่งสาร’ ถึงผู้คนวงกว้าง แทนที่จะเป็นผู้รับสาร (เป็นหลัก) แบบคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ อย่างไรก็ดี ความมีอิสระเสรีในการส่งสารของผู้คนได้ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อสื่อเสรีหรือสื่อสาธารณะเริ่มลดลงไปด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า 

การเลือกของคนรุ่นลูก

        ผมยอมรับว่าการเลือกของคนรุ่นลูกของผมได้รับการเปิดกว้างในระดับที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อน ซึ่งไม่ได้แปลว่า ‘ไม่ดี’ หรือ ‘ไม่ควรเกิดขึ้น’ แต่เป็นเพราะผมไม่เคยคาดคิดมาก่อนต่างหาก 

        เริ่มจาก ‘การเลือกคู่ครอง’ ที่ค่อยๆ ขยายตัวและเปลี่ยนนิยามไปสู่ ‘การเลือกคู่ชีวิต’ ที่มิได้จำกัดเฉพาะหญิงชายอีกต่อไป แน่นอนว่า การขยายนิยามดังกล่าวอาจจะดูแปลกสำหรับคนรุ่นก่อน แถมยังติดขัดด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายที่เป็นอยู่ แต่สำหรับผม การขยายนิยามครั้งนี้ก็ทำให้คำว่า ‘คู่ชีวิต’ มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น มากกว่าคำว่า ‘คู่ครอง’ ในความหมายเดิม

        ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การเลือกอาชีพและการเลือกการศึกษาเรียนรู้กลับมา ‘เปิดกว้าง’ มากขึ้น อาชีพใหม่ๆ ที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยได้ยินมาก่อนเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น เกมเมอร์ คนพากย์เกม ฯลฯ) และที่สำคัญอาชีพใหม่ๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกล็อกไว้ด้วยระบบการศึกษา – ไม่เหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่ และคนรุ่นผม 

        ในแง่ของรูปแบบและเนื้อหาการเรียนรู้ก็เปิดกว้างมากขึ้น ตามความเปิดกว้างของข้อมูลข่าวสารในระบบดิจิตอลและโซเชียลมีเดีย การได้เลือก ‘ข้อมูลข่าวสาร’ ของคนรุ่นลูกจึงกลายเป็นความเปิดกว้างในเส้นทางชีวิตและอาชีพของตนแบบที่ไม่เกิดขึ้นในคนรุ่นผม จนกลายเป็นข้อสังเกตในตอนต้นว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเลือกเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ดี หลายๆ อย่างในชีวิตของคนรุ่นลูกผม ไม่ได้เปลี่ยนไวหรือเลือกได้มากเหมือนกับข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่เขาต้องเรียน การเข้าแถวก่อนเข้าเรียน ผมทรงนักเรียน รวมถึงความคาดหวังของพ่อแม่เกี่ยวกับการศึกษาและอาชีพ ฯลฯ จนกลายเป็น ‘ความกดดัน’ หรือ ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างสิ่งที่เลือกได้ (และอยากเลือก) กับสิ่งที่เลือกไม่ได้ (หรือไม่มีให้เลือก)

        เด็กๆ รุ่นใหม่จึงมักอึดอัดกับ ‘การเลือกไม่ได้’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขามองว่าการเลือกไม่ได้ (หรือการบังคับ) ดังกล่าว ไม่ได้เกิดมาจากประโยชน์ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง 

        ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ คำว่า ‘ความพร้อมเพรียง’ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่บางส่วนอาจจะอึดอัดกับเครื่องแบบและพิธีกรรมเพื่อความพร้อมเพรียงในโรงเรียน เช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติ เพราะมิได้มองเห็นว่าตนเองจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไรกับการเข้าแถวและฟังคุณครูกล่าว (โรงเรียนสามารถส่งข้อความที่ต้องการประกาศเข้ามาในไลน์ก็ได้ เป็นต้น) หรือการใส่ถุงเท้าลายเดียวกัน แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ‘ความพร้อมเพรียง’ ที่พวกเขาเลือกเองว่าเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นคัฟเวอร์ หรือการแปรอักษร ซึ่งต้องการความพร้อมเพรียง (และความอดทน) ในระดับที่สูงกว่าการเข้าแถวตอนเช้าเป็นอย่างมาก 

        ดังนั้น ในมุมของผม ภาวะความต้องการ ‘การเลือกได้’ หรือ Free Will ของคนรุ่นลูกผม คือสิ่งที่เป็นปกติอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ แต่การเลือกหลายอย่างของคนรุ่นผมไม่ได้ก้าวข้าม ‘ความคุ้นเคย’ (ย้ำว่าความคุ้นเคย ไม่ใช่ผลประโยชน์) ของคนรุ่นก่อนหน้าบางกลุ่มไปมาก (เช่น การเป็นคู่ชีวิตที่มิใช่ชาย-หญิง การปฏิเสธการเรียนรู้และกฎระเบียบในระบบการศึกษากระแสหลัก) จนการเลือกของคนรุ่นผมก็อาจจะกลายเป็น ‘ความกดดัน’ สำหรับคนรุ่นก่อนหน้านั้นเช่นกัน 

สรุป

        จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ‘เจตจำนงเสรี’ หรือ Free Will อาจจะมีอยู่ในคนทุกรุ่น และยากที่จะบอกได้ว่าคนรุ่นใดมีเจตจำนงนี้มากกว่าหรือน้อยกว่ากัน แต่โอกาสและเงื่อนไขของการได้ใช้เจตจำนงนี้ต่างหากที่อาจจะแตกต่างกันตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละรุ่น 

        อย่างไรก็ดี โอกาสที่เราได้เลือกและสิ่งที่เราได้เลือกก็ได้บ่มเพาะตัวเรา (และคนรุ่นอื่นๆ) ให้กลายมาเป็นตัวเราอย่างที่เราเป็น ดังนั้น เพียงแค่เราเข้าใจโอกาสและเงื่อนไขที่เราได้เลือกและไม่ได้เลือก (ซึ่งส่งผลต่อการเป็นตัวเราในแต่ละรุ่น) เราก็น่าจะเข้าใจซึ่งกันและกันได้ดีขึ้น

        และเราอาจจะเข้าใจด้วยว่า ปัญหาใหญ่ที่พวกเราทุกรุ่นเผชิญมาร่วมกัน ตั้งแต่ปู่ย่าจนถึงรุ่นหลาน (แม้ว่าเวลาจะต่างกันเกือบ 100 ปี) คือสิ่งที่เรา ‘ไม่ได้เลือก’ หรือ ‘เลือกไม่ได้’ มากกว่า

 


เรื่อง: เดชรัต สุขกำเนิด