Odyssey Plan การออกแบบและตามหาชีวิตตัวเองในอนาคต ผ่านซีรีส์ดัง ‘Itaewon Class’ และ ‘Start-Up’

ช่วงนี้กักตัวทำงานกันอยู่ที่บ้าน มีใครดูซีรีส์เกาหลีกันบ้างคะ ยกมือกันหน่อย 

        การดูซีรีส์ก็คงเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้เราผ่อนคลาย และบางทีการที่เราได้อินไปกับเรื่องราวของซีรีส์ ก็ทำให้เรากลับมานึกถึงตัวเองต่างๆ นานาเหมือนกัน (หรือเปล่า)  ยิ่งในช่วงเวลานี้ถึงแม้จะเกิดเรื่องราวมากมายที่ทำให้เรากังวล สับสน หรือเหนื่อยล้าก็ตาม แต่ก็กลับเป็นช่วงที่เราเกิดคำถามกับตัวเองหลากหลาย ว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร ภาพในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร หลายคนคงกำลังทบทวนและหาตัวเองกันอยู่ บทความนี้เลยอยากยกเรื่องดีเอ็นเอ Design Thinker ของผู้ประกอบการมาแชร์ให้ผู้อ่าน โดยขอถอดคาแรกเตอร์ของตัวเอกในเรื่อง Itaewon Class กับ Start-Up ซีรีส์เกาหลีที่เล่าถึงการสร้างธุรกิจ SME/Startup 

        Itaewon Class เป็นเรื่องราวของพระเอกหนุ่ม ‘พัคแซรอย’ เขาเป็นเด็กหนุ่มกตัญญู แต่ด้วยชีวิตในวัยรุ่นที่หักเหจนทำให้ต้องอยู่ในเรือนจำ เขาสูญเสียพ่อ สูญเสียโอกาสการศึกษา แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ มุ่งมั่น ทำให้เขามุ่งไปสู่เป้าหมายสู่การเป็นเถ้าแก่ร้านทันบัม จนกระทั่งสร้างธุรกิจจนเติบโต

        เมื่อศึกษาคาแรกเตอร์ของ ‘พัคแซรอย’ ถึงแม้ว่าเขาจะมีช่วงชีวิตที่ต่างจากคนอื่น แต่เขาเองก็ยอมรับกับผลที่เกิดขึ้น ทำให้เขาสามารถเดินหน้าออกแบบชีวิตตัวเขาเองได้ เปรียบแล้วเหมือนกระบวนการ Designing Your life โดย ศาสตราจารย์บิล เบอร์เน็ตต์ จาก Stanford d.school ที่นำกระบวนการ Design Thinking มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบชีวิต ซึ่งบิลบอกไว้ว่า “จุดเริ่มต้นก่อนออกแบบชีวิต คือการยอมรับ (Accept)” 

        ‘พัคแซรอย’ เขายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเขา ทำให้เขาสามารถเดินหน้าต่อและสร้างภาพอนาคตของตัวเขาเองไว้ตั้งแต่เริ่ม เขาวางแผนชีวิตในแต่ละปีว่าเขาจะต้องทำอะไร เพื่อให้เขาไปสู่เป้าหมาย ซึ่งใน Designing Your Life เราเรียกการออกแบบชีวิตว่า Odyssey Plan คือการจินตนาการและวาดภาพชีวิตของตนเองที่จะเป็นไปได้ในอนาคต โดยการทำ Odyssey Plan นี้ในทีม Designing Thinking @UTCC เราจะให้นักศึกษาทำอย่างน้อย 3 แผน เพื่อให้เห็นทางเลือกในการออกแบบชีวิตของตนเอง 

        ต่อมาเมื่อเขาทำธุรกิจ คำพูดหนึ่งที่บอกว่า “คนของผมคือครอบครัวของผม” แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ (Empathize) ที่มีต่อลูกทีม เขาจริงใจและเปิดรับความคิดเห็น และเขาผลักดันทีมงานให้แสดงฝีมือ และเขาเองค่อยๆ ใส่ภาพอนาคตของร้านอาหารแก่ทีมงาน เพื่อให้มีภาพอนาคตร้านอาหารร่วมกัน นอกจากวางภาพอนาคตของตัวเองแล้วเขาได้วาดภาพอนาคตของร้านเขาเองด้วยและถ่ายทอดสิ่งนี้ต่อผู้เกี่ยวข้องให้มาอยู่ร่วมในภาพของเขา นอกจากนั้น พัคแซรอยยังออกไปเดินดูร้านอื่นๆ ในย่านอิแทวอนเป็นประจำ เขาสังเกตสิ่งที่เปลี่ยนแปลง แนวโน้มของตลาด นอกจากนั้นเขายังลองทำการตลาดแบบใหม่ เหมือนการได้ลองทำ Prototype ตอนนี้ โซอีซอ เข้ามาเป็นผู้จัดการ และทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย เขาเปิดใจและลองทำ ทำให้เขาเห็นไอเดียในการทำตลาดแบบใหม่… Design Thinker หนึ่งในดีเอ็นเอที่ฝังอยู่ในตัวผู้ประกอบการ 

        ต่อมาเรื่อง Start-Up พระเอกของเรื่อง ‘นัมโดซาน’ เด็กหนุ่มคนนี้มุ่งมั่นสร้างสตาร์ทอัพตั้งแต่เริ่มต้น เขาสร้างบริษัทซัมซานเทคขึ้น กับเพื่อนอีกสองคน ที่เรียกได้ว่าเป็นคนสายไอทีทั้งทีม เขาเก่งการเขียนโปรแกรมและพัฒนาระบบ AI และเมื่อทีมของเขาได้เข้าไปในโครงการ Sandbox เขาได้พบกับนางเอก ‘ดอลมี’ และวันที่ต้องเลือกว่าใครจะเป็นซีอีโอของบริษัทซัมซานเทค นัมโดซานขอให้ดอลมีเป็นซีอีโอของบริษัทฯ เขายอมรับว่าตัวเขาเองขาดกระบวนการคิดทางธุรกิจ และเขาเชื่อว่า ดอลมีจะนำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายได้ 

        ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตัวนัมโดซานในก่อนหน้านี้เขาสับสนในตัวเองและไม่รู้ทิศทางในการเดินหน้า แต่เมื่อเขายอมรับตัวเขาเอง และเห็นตัวเอง เขาก็มีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อ นั่นคือกระบวนการแรกของการออกแบบชีวิต การยอมรับ (Accept) และเข้าอกเข้าใจตัวเอง (Empathize) ที่ต้องรับฟังจากภายนอกและกลับมาฟังใจตัวเขาเอง จนกระทั่งยอมรับตัวตนของตัวเอง บอกได้ว่าการเริ่มต้นนั้นอย่างแรกคุณต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขั้น และตัวตน ณ ตอนนี้ และสังเกตได้ว่าเมื่อนัมโดซานยอมรับตัวเองเข้าใจตัวเองแล้ว เขาเริ่มเห็นหนทางในการเดินหน้าต่อและมีความสุขในการเดินทางสู่เป้าหมาย 

        ซีรีส์สองเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สนุกมาก ยิ่งเรานำกระบวนการ Design Thinking มาลองคิดร่วมไปด้วย เรายิ่งเข้าใจ กระบวนการคิดแบบนักออกแบบ หรือ Design Thinker จะเห็นว่าผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จมีดีเอ็นเอของ Design Thinker ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ช่วงนี้ก็กักตัวกันอยู่ก็ลองหยุดพักสมองมาดูซีรีส์ดีๆ คุณอาจจะเจอตัวคุณเองและแผนในการเดินหน้าต่อไป

Design Thinking Process

        กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) โดย Stanford d.school แบ่งขั้นตอนกระบวนการคิดออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test และการออกแบบชีวิตด้วยการคิดเชิงออกแบบได้เพิ่มกระบวนการแรกขึ้นมา คือ Accept (อ้างอิงโดย Bill Burnett & Dave Evans: Design Your Life)


อ้างอิงจาก: https://dschool.stanford.edu/resources และสื่อการสอนวิชาออกแบบชีวิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย Design Thinking Team @UTCC