บัตรเครดิต

หนี้บัตรเครดิตท่วมหัว จะเอาตัว (ยังไง) ให้รอด

บัตรเครดิตถือเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่สร้างความสะดวกสบายให้ใครหลายคน สามารถใช้จ่ายได้ทันที ไม่ต้องเป็นกังวลว่าเงินในกระเป๋าหรือเงินในบัญชีจะไม่พอ เราก็เอาวงเงินนั้นแหละมาผ่อนจ่ายสินค้าไปก่อน แถมยังมีระบบสะสมคะแนนเพื่อนำแต้มมารับสิทธิพิเศษต่างๆ

        แต่ความสะดวกสบายก็อาจมาพร้อมกับความยุ่งยากในภายหลัง เพราะส่วนใหญ่แล้วบัตรเครดิตมักจะให้วงเงินสูงกว่าเงินเดือน (หลายเท่า) ทำให้หลายคนใช้จ่ายเกินตัว รับภาระค่าใช้จ่ายหลังสรุปยอดไม่ไหว ทำจ่ายได้แค่ยอดขั้นต่ำ ดอกเบี้ยก็ทบสะสมทับไปทับมา เกิดภาวะหนี้บัตรเครดิต และหากดูจำนวนบัตรเครดิตรวมทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20 ล้านใบ โดยมีบัตรที่เคลื่อนไหวประจำประมาณ 14 ล้านใบ และในจำนวนหนี้นี้ มีบัญชีที่มีปัญหาหรือค้างชำระประมาณ 1 ล้านใบ  แต่ที่น่าตกใจกว่านี้คือ มียอดค้างชำระตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        แล้วสาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนทางแก้ไขให้หลุดจากสภาวะนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ก่อนอื่นต้องดูจากสาเหตุก่อน

        1. มีบัตรหลายใบ: ลองเปิดดูกระเป๋าของคุณแล้วนับบัตรเครดิตว่ามีทั้งหมดกี่ใบ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มีปัญหาหรือค้างชำระหนี้มักจะมีบัตรหลายใบ ยิ่งมีบัตรมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสใช้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ก่อหนี้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นเช่นกัน

        2.ใช้ไปเรื่อยๆ: ผู้ที่มีปัญหาหนี้สินบัตรเครดิตมักมีพฤติกรรมชอบใช้จ่ายผ่านบัตร ไม่ว่าจะซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่บาท ไปจนถึงซื้อสินค้าในราคาหลายหมื่นหลายแสนบาทก็ยังรูดบัตรเครดิต และเมื่อถึงเวลาชำระคืนก็ใช้วิธีผ่อนจ่ายขั้นต่ำ

        3. เบิกถอนเงินสด: บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่ง หลายคนจึงใช้เป็นตัวช่วยในช่วงที่เงินขาดมือ บางคนจึงเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตมาใช้จ่าย และชำระหนี้แบบยอดขั้นต่ำ ซึ่งการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้นส่วนใหญ่แล้วจะมีดอกเบี้ยที่สูงมากจนน่าตกใจ

        4. ชำระหนี้บัตรเป็นลำดับสุดท้าย: เมื่อหนี้บัตรเครดิตสามารถชำระตามยอดขั้นต่ำได้ ทำให้หลายคนมักชำระหนี้เรื่องอื่นๆ ก่อน ส่วนหนี้บัตรเครดิตจะจ่ายเป็นลำดับสุดท้าย และไม่ค่อยจ่ายแบบเต็มจำนวน ส่งผลให้ผู้ถือบัตรต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่ออื่นๆ

        เมื่อหนี้บัตรเครดิตเริ่มส่งผลต่อชีวิตและสภาพคล่องทางการเงิน การหาหนทางให้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สินจากเงินพลาสติกให้เร็วที่สุดจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม ซึ่งก็มีวิธีการต่อไปนี้

        1. หยุดใช้บัตรเครดิต: ฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่ปัญหาหนี้สิน (พร้อมดอกเบี้ยที่มาพร้อมกับหนี้สิน) นั้นเกิดจากบัตรเครดิต วิธีแรกที่ต้องทำคือหยุดใช้บัตรเครดิตทันทีเพื่อหยุดการสร้างหนี้สินเพิ่มและวางแผนจัดการแก้ปัญหาหนี้สินให้หมดโดยเร็ว

        2. ทยอยจ่ายหนี้ให้เร็วที่สุด: บัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 20% ต่อปี ที่สำคัญหากไม่จ่ายค่าบัตรเครดิตภายในวันที่กำหนดจะถูกคิดดอกเบี้ยจากวันที่รูดบัตรทันที โดยคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ดังนั้น หากเลือกชำระแบบขั้นต่ำ 10% จะมีปัญหาเรื่องภาระดอกเบี้ยที่งอกเงยไปเรื่อยๆ เพราะสถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ย 2 ขั้น โดยแบ่งเป็นขั้นแรก คิดดอกเบี้ยจากรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมด ขั้นที่สอง คิดจากเงินคงเหลือหลังจากที่จ่ายขั้นต้นไปแล้ว ดังนั้น เมื่อหยุดใช้บัตรเครดิตแล้วก็ต้องเร่งจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่ยังค้างอยู่ให้หมดโดยเร็วที่สุด นั่นคือจ่ายหนี้ให้ได้มากกว่าขั้นต่ำที่สถาบันการเงินกำหนด เช่น จากเดิมจ่ายหนี้ได้ขั้นต่ำ 10% ให้เพิ่มเป็นจ่ายหนี้ 20% เพื่อลดต้น ลดดอก

        3. เจรจากับเจ้าหนี้: เมื่อทำการแก้ไขทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังเกินกำลังของตัวเอง ทางออกก็คือคุยกับเจ้าหนี้เพื่อหาทางประนอมหนี้ว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร จ่ายวิธีไหนดีที่สุด และไม่ควรปล่อยปะละเลย เพราะสถาบันการเงินอาจส่งฟ้องศาลจนเกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา

        4. ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย: ลด ละ เลี่ยงการใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งหรือกิจกรรมที่ใช้เงินที่เกินความจำเป็น แล้วนำเงินไปใช้หนี้บัตรเครดิตเหล่านั้น และหลังจากใช้หนี้หมดแล้วให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิต โดยไม่เป็นการสร้างหนี้บัตรเครดิตในอนาคต


ที่มา: https://www.thunhoon.com/article/234382
ภาพ: Getty Images