ถ้าการเมืองดี

เสียงจากเยาวชนผู้ถูกแปะป้ายว่า ‘ชังชาติ’ หากการเมืองดี พวกเขาจะรักชาติกันอย่างไร

สำหรับคุณ คำว่า ‘ชาติ’ มีความหมายว่าอย่างไร? 

        ประเทศ ประเพณี หรือประชาชน

        ขณะที่การเมืองไทยคุกรุ่น ‘ชาติ’ ได้กลายมาเป็นวาทกรรมหนึ่งที่ระยะหลังมานี้วนเวียนอยู่ในบริบททางการเมืองมากขึ้น ด้วยการเติมคำว่า ‘รัก’ หรือ ‘ชัง’ นำหน้าเข้าไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นจะเลือกใช้คำไหน 

        แต่ดูเหมือนว่า ‘ชัง’ จะเป็นคำที่ถูกใช้มากที่สุด โดยเฉพาะใช้ในการโจมตีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อคำว่าชังชาติกลายมาเป็นเครื่องมือตีตราคนเห็น นิยามคำว่าชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาจึงถูกตั้งคำถามกลับว่าแท้ที่จริงคืออะไร หากการอยากเห็นชาติเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเท่ากับการชังชาติ

        ทางคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมหาคำตอบนี้จากปากของคนรุ่นใหม่ด้วยการจัดงานเสวนา ‘#ถ้าการเมืองดี นักเรียน-นักศึกษาจะรักชาติกันอย่างไร’ เพื่อค้นมุมมองความเป็นชาติของพวกเขา ซึ่งแต่ละคนต่างก็คิดเห็นทั้งเหมือนและต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกัน คือการวาดฝันถึงชาติที่ดีกว่านี้   

 

ถ้าการเมืองดี

‘ชาติ’ เป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง 

        วงเสวนาเริ่มด้วยนิยามความเป็นชาติของ ‘ขิม’- ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเคยสร้างความประทับใจให้กับทุกคนมาแล้วบนเวทีปราศรัย #อีสานสิบ่ทน เธอมองว่าชาติไม่ได้แยกออกจากการเมือง เพราะชาติเป็นสิ่งที่สถาบันทางการเมืองสร้างขึ้น และความหมายของการเป็นชาติที่เกิดจากชนชั้นนำในอดีต ไม่สามารถที่จะปรับใช้ในบริบทของปัจจุบันได้อีกแล้ว

        “ขิมเลยไม่แยกเรื่องชาติกับเมืองออกจากกัน เพราะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่ที่เราจะต้องแยกสองสิ่งนี้ ชาติสำหรับขิมเป็นสิ่งที่สถาบันทางการเมืองสร้างมันขึ้นมา ชนชั้นนำต่างๆ มีสิทธิ์ที่จะกำหนดความหมายความเป็นชาติ ถามว่ามันถูกไหม มันก็ถูกต้อง ถามว่ามันเหมาะสมไหมในบริบทของแรกเริ่ม มันก็เหมาะสม เพราะในอดีตเราไม่ได้ตระหนักในเรื่องสิทธิพลเมืองของเรา แต่ความหมายของการเป็นชาติที่เกิดจากชนชั้นนำในอดีต มันไม่สามารถที่จะปรับใช้ในบริบทของปัจจุบันได้อีกแล้ว เพราะการเมืองที่ดีหรือความหมายของการเป็นชาติที่ดีในบริบทปัจจุบันนั้นต้องมาจากการที่ประชาชนทุกคนร่วมกันสร้าง ร่วมกันกำหนดความหมายของการเป็นชาติได้” 

        ขิมยังเปรียบเทียบว่าชาติเป็นเสมือนงานกลุ่มที่ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะชนชั้นใดก็ตามต้องการสร้างโปรเจ็กต์ของความเป็นชาติขึ้นมาร่วมกัน แต่ความหมายของชาติที่กำลังครอบงำอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเหมือนงานกลุ่มที่ทำอยู่คนเดียว หรือมาจากแค่คนกลุ่มเดียวโดยผ่านวิธีคิด ผ่านการสร้างความหมายแค่คนคนเดียว ฉะนั้น ความหมายของชาติที่ได้มาจากวิธีนี้จึงไม่ได้เหมาะกับทุกคน 

        “ความฝันหรือความหวังทางการเมืองของขิมมันไม่ได้แฟนซีอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่เบสิกมากๆ เราแค่ฝันว่า เราจะมีเสรีภาพในการกำหนดสิทธิ์เนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เราจะมีสิทธิ์ที่จะกำหนดความเชื่อของตัวเอง และเราฝันถึงสังคมที่ดี สังคมที่สามารถให้ประชาชนทุกคนร่วมกันสร้าง ร่วมกันพัฒนาด้วยกันได้ สิ่งที่ขิมกล่าวมาทั้งหมดก็คือ สังคมแห่งประชาธิปไตย ที่เป็นระบอบที่รับรองได้ว่าเราจะมีสิทธิ์ มีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน

“ดังนั้น ถ้าการเมืองดีแล้วขิมก็อยากจะเป็นแค่คนธรรมดาในสังคมที่ดี มีความสุขกับการใช้ชีวิต มีพื้นที่สาธารณะให้เราได้ใช้สอย สามารถชื่นชมความงามเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องเสียเงิน สังคมที่เอื้อให้เรารักกันได้ง่ายขึ้น สังคมที่ควรจะส่งเสริมให้คนได้เป็นคนบ้าง เพราะประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรหากสภาพแวดล้อมยังไม่ได้ส่งเสริมให้คนมีจิตสำนึกของความเป็นคนเลย

        “ดังนั้น สังคมหรือประเทศไทยในฝันของขิมก็คือ การที่จะเอื้อให้คนธรรมดาได้เป็นคนก่อน ได้มีอากาศหายใจที่ดี ได้มีน้ำดื่มที่สะอาด ได้มีเวลาว่างกับคนที่เรารัก ได้มีเวลาว่างทำอะไรที่เราชอบ มันเป็นเรื่องของความเบสิกที่สำคัญที่สุดที่ประเทศ สังคม หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก แต่มันแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นกับชีวิตของขิมเลย” 

        นอกจากนั้นขิมยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประดิษฐ์ ทั้งหมดล้วนไม่มีอะไรจริงแท้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะชอบหรือเชื่อแบบไหน ชาติจึงเป็นเพียงประดิษฐกรรมที่เกิดจากการพยายามสร้างขึ้นมาโดยความหวังว่าจะยึดให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป คำว่าชาติเองก็ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เช่น ในอดีต ชาติอาจจะถูกนิยามโดยกษัตริย์ ปัจจุบันชาตินั้นก็อาจจะถูกนิยามโดยประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันกับความหมายของชาติที่เปลี่ยนแปลงไป  

        “จะเห็นได้ว่าความหมายของชาตินั้นมันเปลี่ยนแปลงไปเสมอ มันไม่มีแก่นสาร ไม่มีจีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและตามกระบวนการทางสังคม เพราะฉะนั้น ความหมายของชาติจึงเป็นหนึ่งในมายาคติที่ท่องจำในแบบเรียนแล้วก็ผ่านไป แบบเรียนที่ไม่ได้สอนเรื่องความเท่าเทียม แบบเรียนที่ไม่ได้สอนเรื่องสิทธิ แบบเรียนที่พยายามให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้งๆ ที่การเมืองก็คือความเป็นอยู่ของเรา มันเกี่ยวเนื่องกับเนื้อตัวและร่างกายเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จะดีกว่าไหมถ้าเราเปลี่ยนรูปแบบของการสอนสังคม จากที่เป็นแบบชี้นำ เชื่อฟัง ทำตาม ให้เป็นการเริ่มต้นคำถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น จะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างวัฒนธรรมของการแสดงความคิดเห็นให้ไปอยู่ในทุกหย่อมหญ้า” ขิมทิ้งท้ายเอาไว้ 

เราอยู่ในระบบที่คนไทยไม่เป็นไท 

        เยาวชนคนถัดมาที่มาร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีนี้ คือ ‘อั่งอั๊ง’- อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติ และคอลัมนิสต์เว็บไซต์ Thisrupt ที่โด่งดังบนโลกออนไลน์จากคลิปให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ 

        อั่งอั๊งเริ่มเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดมาเธอศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมาตลอด แม้จะเป็นระบบการศึกษาหนึ่งที่หลายๆ คนมองเข้ามาแล้วรู้สึกว่าผลิตเด็กที่มีคุณภาพ มีความคิดก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันสังคมโรงเรียนนานาชาติอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด

        “เพื่อนๆ ของหนูหลายคนมีความคิดก้าวหน้าในเชิงทางการเมือง ในเชิงปัญหาสังคมจริง แต่เป็นปัญหาที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เพราะเรามีปัญหาด้านภาษา ถึงเราเป็นคนไทยแต่เราใช้ภาษาไทยน้อยมาก ซึ่งการเรียนรู้ภาษาไทยนั้นเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้เราเข้าถึงประวัติศาสตร์ไทย ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นภาควิชาหนึ่งที่ถูกเน้นในโรงเรียนอินเตอร์ คนนิยามเด็กโรงเรียนนานาชาติว่า ignorance ต่อการเมือง ไม่อยากที่จะออกมาจากกรอบความคิดของเราเพื่อไปเห็นสังคมไทยที่แท้จริงนั้น เพื่อนของหนูให้เหตุผลว่าพ่อแม่สอนมาว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก หนูก็อยากตั้งคำถามว่าทำไมถึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

        “เหตุผลที่เรานิยามการเมืองตอนนี้ก็เป็นการเมืองที่สกปรก เป็นการเมืองที่ไม่น่ารัก เป็นการเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวกับบ้านเมือง แต่เป็นการเมืองที่เกี่ยวกับอำนาจ เป็นการเมืองที่มีแต่การแบ่งแยก เป็นการเมืองที่ใช้นิติสงคราม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เป็นการเมืองที่ถ้าเราเห็นต่าง เราก็จะเจอจุดจบที่ไม่สวยงาม ผู้ปกครองหลายคนไม่ว่าจะเด็กนานาชาติหรือใครก็ตาม จึงชอบนิยามการเมืองว่าเป็นการเมืองสกปรก แต่นี่มันคือการเมืองของคนรุ่นก่อน ตอนนี้เชื่อว่าเราในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาตินั้น จะสามารถทำให้การเมืองขาวสะอาดมากขึ้น ในเมื่อการเมืองขาวสะอาดมากขึ้น เราจะหลุดพ้นสังคมแห่งความสิ้นหวังและสังคมแห่งความกลัว” 

        อั่งอั๊งยังพยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนตั้งแต่การใช้รถไฟฟ้า การเดินเท้าบนฟุตพาท สายไฟระโยงระยาง จนถึงร่างกายของเราเองล้วนเป็นการเมือง แต่การเมืองที่เธอเห็นอยู่ตอนนี้เป็นการเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำ เป็นการเมืองแห่งความไม่เท่าเทียม และเป็นการเมืองแห่งความสิ้นหวัง

        “การเมืองที่หนูเห็นอยู่ตอนนี้ คือการเมืองที่คนชนชั้นบนหารายได้จากการทำนาบนหลังคน มันคือการเมืองที่ธุรกิจเล็กธุรกิจน้อยไม่สามารถต่อสู้ได้กับธุรกิจของนายทุนผูกขาดได้เลย มันคือสังคมที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ภาษีที่เราจ่ายไปไม่ได้เอามาเยียวยาโควิด-19 เลย แต่กลับกลายเป็นเงินทุนที่ไปสร้างรีสอร์ตหรูห้าดาวแห่งหนึ่ง การเมืองของเราตอนนี้เป็นการเมืองที่ระบบตุลาการไม่มีความเที่ยงธรรม การเมืองที่คุณตาและคุณยายท่านหนึ่งต้องมาติดคุกเพราะเก็บเห็ดไปขาย แต่ในทางกลับกัน คนที่ฆ่าเสือดำ คนที่สร้างบ้านบนอุทยานป่าสงวน คนที่ขับรถชนคนตายล้วนมีชีวิตที่สุขสบายเพราะเพียงแค่เขามีเงิน เพียงเพราะเขามีอำนาจ เราอยู่ในการเมืองที่ตุลาการนั้นค้อนประธานแพ้กระดาษเงิน เราอยู่ในการเมืองที่ไม่มีการกระจายรายได้ ไม่มีการกระจายอำนาจ” 

“ท้ายที่สุดแล้วความเป็นไทยคืออะไร เราอยู่ในการเมืองที่คนไทยนั้นไม่เป็นไทจากระบบอำนาจนิยม สังคมที่เราอยากเห็นวันนี้ก็เป็นแค่เรื่องพื้นฐานที่ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย เป็นความฝันที่เราอยากจะเห็นว่าสังคมเท่าเทียมกันจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเรียนจบคณะอะไรมา ไม่ว่าจะเรียนสายไหน จะทำอาชีพอะไร จะนับถือศาสนาอะไร เราทุกคนเท่าเทียมกัน สังคมนั้นคือสังคมที่เราอยู่ใต้กฎหมาย อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” 

        ถ้าการเมืองดีขึ้น อั่งอั๊งมองว่าคุณภาพชีวิตของคนชนชั้นกลาง คนชนชั้นล่างจะดีกว่านี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดที่นิยามความหมายของคำว่าการเมืองดีได้ ต้องย้อนไปดูปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองไทย โดยไม่มองข้ามเรื่องของการศึกษา เพราะความเท่าเทียมเริ่มได้ตั้งแต่ที่โรงเรียน แต่ทุกวันนี้ระบบการศึกษายังคงติดกับระบบอำนาจนิยม ระบบที่นักเรียนไม่เท่ากัน ด้วยการหล่อหลอมให้นักเรียนหลายคนชินกับการยอม ทั้งที่ระบบการศึกษาควรส่งเสริมความฝันของเด็ก แต่มันกลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะสร้างความกดขี่ ผลิตคนในสังคมที่เงียบ ผลิตคนในสังคมที่ไม่กล้ายังไม่กล้าตั้งคำถาม 

        “หากการเมืองดี เราจะเปลี่ยนค่านิยม 12 ประการที่ล้าหลังนี้ให้ทันสมัยขึ้นได้ด้วยการเลิกใช้ค่านิยม 12 ประการ แต่เป็นค่านิยมประการเดียว คือคนทุกคนเท่าเทียมกัน เหมือนที่รุ้งได้เคยพูดไว้ ไม่มีใครสูงกว่าใคร เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน เราเกิดมาเป็นคนเท่ากัน และในวันที่ทุกคนในสังคมหันมาเข้าใจว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ประเทศถึงจะพัฒนาได้อย่างแท้จริง เพราะในวันนั้นเราจะสามารถมองข้ามความแตกต่างทางการเมือง คนกลุ่มน้อยจะสามารถปล่อยวางอำนาจอันจอมปลอมที่เขาได้ยึดถือเอาไว้กับตัวเอง แล้วไม่มีการแบ่งอำนาจ เราจะสามารถคุยกับคนที่นั่งอยู่ในสภา คุยกับคนที่อยู่ด้านบนได้โดยที่ไม่มีความกลัว ด้วยความมั่นใจว่า คนที่อยู่ในสภานั้นจะหันมาฟังเรา

        “เราทุกคนในห้องนี้น่าจะเห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มันเป็นปัญหาเชิงระบบ แต่ในวันที่คนรุ่นใหม่หันมาพูดถึงปัญหาที่เรามีอยู่ เราถูกตีตราว่าเป็นเด็กชังชาติ คำว่าชังชาติเป็นเพียงวาทกรรมอย่างหนึ่งที่เอาไว้ใช้สร้างความแตกแยก โดยคนที่ใช้คำว่าชังชาตินั้นหารู้ไม่ว่าคำว่าชังชาตินั้นปราศจากความเป็นจริง หากคนรุ่นใหม่ชังชาติจริงเขาคงไม่เสียเวลาที่จะใช้ชีวิตวัยรุ่นได้อย่างเต็มที่เพื่อออกมาประท้วง เพื่อออกมาให้ความคิดเห็นว่าจะพัฒนาประเทศชาติเราอย่างไร คำว่ารักชาติไม่ได้แปลว่าเราจะรักชาติได้เพียงแค่ด้านดีด้านเดียว ทุกคนควรที่จะมีวุฒิภาวะมากพอที่จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นสิ่งที่ควรแก้ เราไม่ควรต้องมาเชิดชูประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยผู้ชนะเพียงข้างเดียว แล้วมันไม่ได้พูดถึงสิ่งที่กระทำต่อผู้พ่ายแพ้เลย ถ้าการเมืองดี การรักชาติที่แท้จริงคือการที่เราสามารถออกมาวิจารณ์การเมืองได้อย่างเปิดเผย ท้ายที่สุดแล้วหนูเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ในฝั่งไหนของการเมือง ทุกคนก็หวังที่จะให้การเมืองดีขึ้น”

คนเป็นปัญหาใหญ่มากกว่าระบบ หากทุกคนรู้จักหน้าที่สังคมก็จะดีตาม

        ฟังมุมมองจากเยาวชนฝั่งประชาธิปไตยไปแล้ว มาถึงคิวของเยาวชนฝั่งขั้วตรงข้ามอย่าง ‘ลี’ – เกียรติวงศ์ สงบ ตัวแทนจากกลุ่มไทยภักดีกันบ้าง หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาดีจากคลิปสัมภาษณ์กับทาง BBC Thai 

        ลีเริ่มอธิบายว่าชาติในความหมายที่ทุกคนคุ้นเคยคือ ประชาชน ดินแดน และอาณาเขต ถ้าพูดว่าชังชาติ ในความหมายตามนี้ก็คือการเกลียดประชาชน  ดินแดน และอาณาเขตของตัวเอง และคำว่า รักชาติ ก็อาจหมายถึงรักประชาชน รักดินแดน รักแผ่นดิน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด 

“ถ้าจะให้นิยามความหมายของคำว่าชังชาติและรักชาติ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่ที่แต่ละคนจะให้นิยามหรือให้คำตอบมัน ขณะเดียวกันคนที่มองจากฝั่งคนละมุมกับผมอาจจะเป็นกลุ่มชังชาติก็ได้ เพราะเขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น เขารักชาติ มันขึ้นอยู่กับมองมุมไหนมากกว่า

        “ถ้ามองอยู่ฝั่งเลข 6 ก็จะเป็นเลข 6 ถ้ามองอีกฝั่งหนึ่งก็จะมองเป็นเลข 9 ดังนั้น ผมนิยามตายตัวไม่ได้ว่ารักชาติหรือชังชาติหมายความว่าอะไร แต่สิ่งที่ทั้งขิมและอั่งอั๊งพูดมานั้น ผมมองว่าเขารักชาติเพราะว่ามันจะเกิดประโยชน์ที่ดีในอนาคต

        “ผมเป็นเด็กชนบทไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่นๆ ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยก็เจอปัญหาอะไรหลายอย่าง คนชนบทเรามีกลิ่นอายของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตรงนี้เป็นคือสิ่งที่ผมประทับใจมาก ไม่ใช่เพราะเราอยากจะได้อะไรจากเขาฝ่ายเดียว แต่เราก็ต้องให้เขาก่อนด้วย เรื่องนี้ก็เหมือนประชาธิปไตย เพราะในความหมายที่หลายคนพยายามพูดถึงในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ สิทธิประโยชน์ที่ตัวเองควรจะได้รับ ผมไม่เถียง แต่ผมมองว่าทำอะไรเพื่อที่จะให้คนส่วนใหญ่ได้อะไรมากกว่า หากคนส่วนใหญ่คิดเหมือนที่วิทยากรสองท่านพูด ผมก็ยินยอมและสนับสนุน เพราะประชาธิปไตยโดยความหมายแบบไทยๆ ที่ไม่ได้อิงหลักการของตะวันตกที่เราสัมผัสได้ มันคือการให้และได้มาจากการเสียสละ โดยไม่ได้หวังว่าจะได้รับอะไรตอบแทนกลับมา แต่คนที่เขาได้รับ เขารู้สึกว่าควรจะให้สิ่งนั้นกลับคืนไป นี่มันคือวิถีชีวิตของคนชนบทที่มันสืบสานกันมาและยังมีอยู่ แต่มันเลือนรางหายไป” 

        นอกจากนั้นลียังเสริมว่า ทุกคนต้องแยกก่อนว่าการเมืองกับนักการเมืองคนละส่วนกัน แม้จะมองมาเป็นภาพเดียวกันก็ตาม ทำให้เมื่อพูดถึงการเมืองก็จะมองถึงภาพเลวร้ายทั้งหมด มีแต่การคอร์รัปชัน มีแต่การโกงกิน ถ้าพูดถึงทหารก็จะพูดถึงการปฏิวัติ การยึดอำนาจ แต่ทุกคนต้องแยก ‘ระบบ’ กับ ‘คน’ ออกจากกัน

        “หลายท่านอาจจะบอกว่าถ้าระบบดี คนก็จะดีตามไปด้วย แต่ผมมองกลับกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องพัฒนาจากคนเป็นจุดเริ่มต้น ผมก็ไปเห็นว่าหลายประเทศนั้นระบบเขาดี แต่คุณภาพคนเขาต่ำมาก ยกตัวอย่างอเมริกาตอนนี้ที่ระบบประชาธิปไตยของเขาน่าจะสมบูรณ์ดี แต่พอเป็นสถานการณ์โควิด-19 ประชาธิปไตยมันไม่ได้ตอบโจทย์ว่าจะรักษาโควิด-19 ได้ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ที่คนว่ามีวินัยมากพอไหม แล้ววินัยมาคู่กับหน้าที่ ตัวผมเองจะไม่ค่อยเรียกร้องอะไร แต่ผมมักจะทำอะไรมากกว่า อย่างตอนคุณแม่ผมเป็นมะเร็ง ผมเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาสวัสดิการของรัฐเพราะว่าผมต้องทำงานหาเงินมารักษาแม่แล้วก็เรียนไปด้วย แต่เรื่องนี้ไม่ได้วันเกิดเฉพาะรัฐบาล คสช. มันเกิดมาตั้งนานแล้ว ผมถึงบอกไงว่าประชาธิปไตยเราเคยมีมาอย่างสวยงาม แต่คนใช้มันไม่โอเค เลยต้องดูเป็นกรณีไป ไม่มีรัฐไหนดูแลคนทุกคนได้อย่างทั่วถึงหรอก มันต้องมีขาดตกไปบ้าง” 

        จากที่ลีกล่าวไปข้างต้น การเมืองที่เขาคาดหวังคือคาดหวังจากคนมากกว่าระบบ ไม่เฉพาะแค่นักการเมืองเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทุกคน เขาอยากให้ทุกคนหันกลับมาดูว่ารากเหง้าและสิ่งที่คนไทยมีคืออะไร อะไรที่จะพัฒนาไปได้ในแบบไทย โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบตะวันตกไปหมดทุกอย่าง เช่น ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าห้ามบุตรเดินข้ามหัวบิดามารดา แต่ทุกคนรู้ว่าไม่ควรทำสิ่งนั้น นี่เป็นความเป็นไทยที่เราต้องคำนึง 

        “ผมพูดอยู่เสมอว่าคนเราควรกลับหันไปมองระบบศาสนา เอาศาสนามาค้ำจุนความคิดของเราให้สะอาด ผมคิดว่าทุกศาสนาไม่มีศาสนาไหนสอนให้เอาเปรียบหรอกครับ ถ้าเราใช้ระบบของศาสนาในการดำเนินชีวิต รู้จักบาป รู้จักบุญ รู้จักนรกว่ามีจริง รู้จักสวรรค์ว่ามีจริง คนจะไม่กล้าทำผิดบาป ทุกวันนี้วัยรุ่นไม่อยากเข้าวัดเพราะระบบศาสนาเองก็ไม่พ้นวิถีการเมือง เอาระบบการเมืองมาใช้ในวัด ทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่าศาสนาเสื่อม เมื่อศาสนาเสื่อมลง คนไม่รู้จักศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นอิสระมากเกินไป อะไรๆ เราก็จะเอา อะไรๆ เราก็อยากได้ เราก็จะไม่รู้จักคำว่าพอดี 

        “คำว่าพอดีมันเป็นอะไรที่ผมผ่านมาแล้ว ผมเคยทำงานเงินเดือน 30,000-40,000 เช่าคอนโดฯ เดือนละ 7,000 บาท อยู่ผมรู้สึกว่าไม่โอเคมากๆ หลังจากนั้นผมก็ทำงานเงินเดือนหมื่นเดียว ผมอยู่ห้องเดือน 2,000 บาท แต่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ แอร์ก็ไม่มี ผมอยู่ได้ ผมมีเงินเก็บ ผมมีเงินใช้ เราต้องรู้จักความพอดีของตัวเราก่อน ความอยากมีอยากได้มันยิ่งทำให้ทุกคนอยากออกมาเรียกร้อง ถ้าไม่รู้จักคำว่าพอดีในตัวเอง ก็จะทำให้ทุกอย่างมันวุ่นวาย ซึ่งหน้าที่เป็นกรอบที่ทำให้เรารู้จักคำว่าขอบเขต ถ้ามีแต่สิทธิ์ ไม่มีหน้าที่ มันก็เหมือนการกู้ยืมเงิน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่รู้จักหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ แล้วมันจะได้ดีตรงนั้นได้อย่างไร ดังนั้น สิทธิ์และหน้าที่ต้องไปคู่กัน จะลดความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้” ลีทิ้งท้ายเอาไว้

 

ถ้าการเมืองดี

หากมนุษย์เราไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตได้ฉันใด ชาติก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตในสังคมได้ฉันนั้น

        เยาวชนคนถัดมาคือ ‘มะฮ์ดี’ – จักรธร ดาวแย้ม นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาฯ และเป็นหนึ่งในผู้มีหมายจับ 31 รายชื่อจากการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก

        มะฮ์ดีเริ่มด้วยการอธิบายว่า คนรุ่นใหม่ก็รักชาติเหมือนกัน ไม่ได้ชังชาติหรือว่าเกลียดชาติ แต่ความหมายของคำว่าชาติได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ทุกวันนี้ความหมายของคำว่าชาติสามารถถูกตีความได้กว้างขึ้น และยอมรับความหลากหลายภายในชาติได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงไป การขัดแย้งระหว่างความคิดใหม่กับความคิดใหม่ก็ย่อมขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการก้าวไปข้างหน้าได้ 

        “เมื่อชุดวาทกรรมชังชาติถูกยกขึ้นมาเพื่อกีดกันคนบางกลุ่ม กีดกันความแตกต่าง กีดกันชาติที่แตกต่าง ถ้าจะเหมารวมว่าคิดต่างเป็นพวกชังชาติ ผมก็จะขอย้อนว่าคุณก็เป็นพวก ‘ฉุดชาติ’ เราไม่ได้ชังชาติ เราอยากให้ชาติมันไปข้างหน้า แต่เขาดันฉุดเอาไว้ไม่ให้เราไปไกลกว่านั้น การมีชาติที่ดีมันก็นำมาซึ่งการเมืองที่ดีด้วย การเมืองที่ดีมันก็มาจากระบบที่ดี ผมไม่อยากให้ผลักภาระทั้งหมดไปที่ตัวบุคคล ไม่อยากให้มองว่าถ้าระบบดี ทุกอย่างจะดี หรือไม่อยากให้มองว่าถ้าคนดีร ะบบจะดี ทั้งสองอย่างไม่ว่าคนและระบบ มันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างตัดไม่ขาด มันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ระบบดีก็ส่งให้คนดี คนดีก็ส่งให้ระบบดี มันเวียนไปเป็นความสัมพันธ์อย่างนี้

        “คนรุ่นใหม่เขามองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันปรากฏอยู่ในสังคม เมื่อกี้คุณลีพูดว่ามันไม่มีรัฐไหนที่ดูแลสังคมได้ดีหมดทุกคน แต่ผมคิดว่ามันมีรัฐหนึ่ง นั่นคือ ‘รัฐสวัสดิการ’ แล้วมันเป็นสิ่งที่พวกเราเรียกร้องผ่านปัญหาโครงสร้างทางสังคม แต่มันมีประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยร่วมกับคุณลีว่าสังคมเราแย่มาตั้งแต่ก่อนหน้ารัฐบาล คสช. แล้ว แต่พอคนรุ่นใหม่มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งเห็นถึงความแย่ของมัน นี่จึงเป็นเหตุผลถึงการต่อสู้ของเราในครั้งนี้ที่ไม่ได้หยุดที่การด่ารัฐบาล คสช. หรือการไล่รัฐบาล คสช. เพียงอย่างเดียว นับวันเรายิ่งไปไกลกว่ารัฐบาล คสช. มากยิ่งขึ้น เพราะเรารู้ว่าปัญหาจริงๆ อะไรที่ทำให้สังคมแย่ หากมนุษย์เราไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตได้ฉันใด ชาติก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตในสังคมได้ฉันนั้น” 

        มะฮ์ดีย้ำว่า จริงๆ แล้วการต่อสู้ทางความคิดที่จะสร้างชาติแบบใหม่มีการพยายามมาแล้วหลายครั้ง แต่ถูกความคิดเก่าบางความคิดผลักกลับมา แต่เขาเชื่อทุกครั้งที่ถูกผลักกลับมา ไม่ว่าจะอีกกี่รอบก็ตาม การต่อสู้ก็จะกลับมาทุกครั้ง เพราะสุดท้ายประชาชนจะไม่แพ้ ยิ่งเกิดขึ้นหลายครั้งเข้า ประชาชนยิ่งมองเห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าอะไรคือปัญหาจริงๆ ที่ทำให้ชาติไม่ก้าวไปข้างหน้า

        “ถามว่าผมฝันถึงชาติแบบไหน ผมอยากจะพูดว่าสังคมเราควรเปิดให้มีการตีความความหมายคำว่าชาติไปในทางที่กว้างขึ้นและหลากหลายขึ้น ทันกับยุคสมัย ทันกับความคิดที่ก้าวหน้าไปมากขึ้น เพราะถ้าความคิดมันก้าวหน้าไปแต่ชาติยังอยู่ที่เดิม แน่นอนชาติต้องเปลี่ยน และความขัดแย้งทางความคิดมันดำรงอยู่ในสังคมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จะบอกว่าปรองดองก็ได้ แต่เราจะให้คนไม่เห็นต่างโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นไปได้เด็ดขาด ก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะทำยังไงที่จะประสานความขัดแย้งทางความคิดนี้ออกมาได้อย่างลงตัว และทุกคนก็สามารถทำตามจุดยืนของตัวเองได้  ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากลงถนน ถ้าทุกคนสามารถร่วมกันสร้างชาติได้ผ่านระบบรัฐสภา แต่สุดท้ายเราก็เห็นอยู่ว่ามันไม่ได้” มะฮ์ดีกล่าว และก่อนจะวางไมค์ลงเขาได้ฝากบทกวีสั้นๆ เอาไว้ 

 ฝันถึงวันที่ชาติเท่าเทียมไม่มีทาส
วันที่ประชาชนเป็นเจ้าของในอำนาจ
เปลี่ยนให้โครงสร้างเป็นเส้นตรงในระนาบ
ไตรรงค์จะถูกโบกพัดโดยประชาราษฎร์

การเมืองดี นำมาสู่การศึกษาที่ดี

        ‘พลอย’-เบญจมาภรณ์ นิวาส จากกลุ่มนักเรียนเลว เป็นเยาวชนคนสุดท้ายที่พูดบนเวทีนี้ สำหรับเธอ การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างพลเมืองที่ดี ซึ่งการจะได้มาซึ่งการศึกษาที่ดีนั้นต้องมีการเมืองที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก 

“บางคนอาจจะตีความหมายของคำว่าชาติว่าคือประชาชน ประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ ผู้เสียภาษีให้แก่รัฐบาล และสำหรับบางคนอาจจะไม่ได้หมายถึงประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ ไม่ได้หมายถึงศาสนา ไม่ได้หมายถึงแผ่นดิน แต่หมายถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของชาติ ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้ว่าเราจะไม่ได้เกิดมาบนแผ่นดินนี้ก็ตาม”

        อีกทั้งเธอยังมองว่าหากเฝ้าฝันถึงสังคมแบบหรือระบบการเมืองแบบไหน ต้องผลักดันให้การศึกษาสนับสนุนและสร้างพลเมืองให้เป็นคนแบบนั้น ซึ่งถ้าการเมืองดี ก็จะมีการศึกษาที่ดี มีพลเมืองที่ดีสำหรับช่วยพัฒนาชาติให้ดียิ่ง ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่หลายๆ คนมองว่าเป็นประเทศเจริญ ประชาชนมีระเบียบวินัย มีความอดทน สิ่งเหล่าเป็นผลผลิตมาจากการศึกษาที่ดี การปลูกฝังทางวินัยที่ดี รวมถึงความเชื่อมั่นในรัฐบาลของประเทศ ต่อให้ประเทศเขาจะเกิดภัยพิบัติหลายครั้ง แต่เพียงไม่กี่วันถนนที่พัง บ้านเรือนที่เสียก็จะได้รับการฟื้นฟู

        “สิ่งนี้เกิดจากการบริหารงานของรัฐที่ดี สิ่งนี้เกิดจากระบบดี ผิดจากไทยที่เราปลูกฝังความรักชาติด้วยชุดความคิดแบบท่องจำ ประเทศไทยมีอาหารอร่อย ประเทศไทยเราเป็นเมืองพุทธ คนไทยมีน้ำใจ มีค่านิยม 12 ประการที่ดี แต่ในความเป็นจริงอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศสูงมาก การปลูกฝังแบบนี้มันเป็นการสร้างชาติในเวลาเดียวกัน การที่คนคนหนึ่งปลูกฝังให้เราคิดแบบเดียวกันโดยไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ได้ก่อให้เกิดการไปต่อยอดว่าอดีตเคยเป็นแบบไหนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น สุดท้ายเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากอดีตเลย มันก็เลยเกิดปัญหาการเมืองในบ้านเราที่วนลูปไปเรื่อยๆ มีนักศึกษาออกมาชุมนุม มีทหารออกมาปราบปราม มีการรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

        “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แม้แต่เด็กที่เกิดมาอายุประมาณ 1 วัน การเมืองก็เข้ามีส่วนในชีวิตของเขา และถ้าการเมืองดี เราจะมีการทำแท้งที่ปลอดภัย เด็กที่เกิดมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อประชาชนรู้สึกว่าการเมืองดี เขาจะรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของเขาดี แล้วเขาจะภูมิใจว่าประเทศของเขามีระบบคมนาคมที่ดีนะ มีรัฐสวัสดิการที่ดีนะ เขาจะรู้สึกรักและห่วงแหนมัน อยากจะพัฒนาให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่เมื่อการเมืองมีปัญหา ประชาชนจะรู้สึกถึงความไม่ปกติบางอย่าง รู้สึกว่าเขาถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ เพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะคุณภาพชีวิตของเขามันแย่ ความรู้สึกแบบนั้นทำให้เกิดการออกมาเรียกร้องด้วยความอยากให้ดีขึ้น ให้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เขาพบเจอในชีวิต”

        พลอยยังเสริมอีกว่า เสรีภาพ หมายถึงความมีอิสระในการกระทำของบุคคลนั้นๆ โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง ส่วนหน้าที่หมายถึงภาระรับผิดชอบของบุคคลที่จะต้องปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าหากรู้จักหน้าที่ของตัวเองสิทธิก็จะตามมาเองเพราะสิทธิมาก่อนหน้าที่

        “หน้าที่ของเราก็คือการเรียน แต่เราไม่โอเคกับระบบศึกษาที่เน้นการท่องจำบทเรียนเยอะๆ หรือต้องตื่นไปเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า กลับถึงบ้าน 6 โมงเย็น ระบบการศึกษามันละเมิดสิทธิ์บางอย่างอยู่ ทุกวันนี้เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเราจะตัดผมกันทำไม บางอย่างเราก็ต้องออกมาเรียกร้องเพื่อที่ให้พัฒนา ให้ปรับปรุงยิ่งๆ ขึ้นไป ในขณะที่เราก็สามารถทำหน้าที่ของเราอย่างเช่นการเรียนต่อไปได้ จริงๆ แล้วปัญหาในประเทศของเรามีเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องระบบการศึกษา ถ้าการเมืองดีจะต้องไม่มีนักเรียนคนไหนที่อ่านหนังสือสอบถึงตีห้า เพื่อที่จะเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ โรงเรียนดังๆ หรอก ถ้าการเมืองดี เด็กต่างจังหวัดไม่ต้องดั้นด้นมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนโรงเรียนที่ดีหรอก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเจริญมันกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือแค่ในจังหวัดใหญ่ๆ ชีวิตในชนบทมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่บทเรียนในหนังสือหรือในโฆษณาวาดฝันเอาไว้ ปัญหาภัยแล้งในประเทศก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหาเกษตรกรที่ราคายางตกต่ำก็ไม่สามารถที่จะหารายได้หรือไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดูแลเขาได้เลย แล้วอย่างนี้ประชาชนจะสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างไร

        “เมื่อเราตั้งคำถามกับระบบ เราก็อยากจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เรารู้สึกไม่พอใจในระบบการศึกษาที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของเด็กไทย เราไม่พอใจกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีโอกาสได้เรียนต่อไหม เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่าเราจะสามารถเรียนต่อได้ เราไม่พอใจที่ต้องเห็นประชาชนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจ เราไม่พอใจที่ต้องเห็นนักเรียนไทยฆ่าตัวตายเพียงเพราะระบบการศึกษาระบบการศึกษาห่วยแตก เพราะแบบนี้ถึงต้องออกมาเรียกร้อง เราต้องการออกมาเรียกร้องเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น เราต้องการออกมาเรียกร้องเพื่อที่จะได้รับสวัสดิการที่ดีเพื่อให้ประชาชนในอนาคตหรือพวกเราในปัจจุบันรู้สึกว่าดีจริงที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ รู้สึกดีใจและภูมิใจมากๆ เลยที่ได้เกิดมาในประเทศนี้” พลอยทิ้งท้ายเอาไว้

        จากมุมมองของเยาวชนทั้ง 5 ท่านนั้น จะเห็นได้ว่ามีทั้งคนที่มีมุมมองต่อชาติทั้งคล้ายและต่างกัน แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความต้องการที่จะเห็นชาติพัฒนาไปมากกว่านี้ ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ และต้องการระบบการศึกษาที่ดีกว่านี้ สิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นหากการเมืองยังไม่ดี