ประมวล เพ็งจันทร์

ท่องไปในอินเดียกับ ‘ประมวล เพ็งจันทร์’ ครู ผู้นำ และผู้ร่วมทาง

(1)

“ผมรักอินเดียมาก อินเดียให้ชีวิต ให้ความรู้ ให้ผมได้พบครู ผมบอกตัวเองว่าหากแม้นมีโอกาสใดให้ได้ตอบแทนแผ่นดินอินเดีย ผมจะทำ”

        อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ พูดพลางเดินไปมหาเจดีย์พุทธคยา จุดหมายแรกของการเดินท่องบนเส้นทางสังเวชนียสถาน สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพานในประเทศอินเดียและเนปาลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

        “ตั้งแต่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมก็รู้สึกมาตลอดว่าอยากกลับไปอินเดีย กลับไปสู่สถาบันการศึกษาที่ทำให้ผมได้เล่าเรียนปริญญาตรี โท เอก”

        การเดินทางกลับไปในดินแดนชมพูทวีปเพื่อเคารพครูผู้สอนที่เป็นบุคคล และครูที่ได้พานพบบนแผ่นดินอินเดียถูกบันทึกไว้ในงานเขียนชุด อินเดีย จาริกด้านใน ว่าด้วย การศึกษาที่งดงาม คารวะภารตคุรุเทพ และทบทวนชีวิต พินิจตน1

        หลังจากนั้นมา ความปรารถนาที่จะตอบแทนแผ่นดินอินเดียดูจะทำให้ได้กลับสู่ดินแดนคุรุครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งการมาสังเวชนียสถานครั้งนี้ พาเหล่าศิษย์ออกเดินทางกลับมาตุภูมิของพระพุทธเจ้า – ครูของครู ให้ศิษย์ได้เรียนรู้คำสอนของมหาคุรุผ่านครู ให้ศิษย์ได้รับรู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละสถานที่ผ่านการเดินทางตามครู เดินทางร่วมกับครูสักครั้ง

        “ผมมาที่คังโคตรี (Gangotri) ต้นกำเนิดแม่น้ำคงคาหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาผมมัวแต่มองว่า ขอโทษนะ ผมมองว่าคนอินเดียเหลวไหล ทำผิดแล้วจะชำระบาปที่แม่น้ำได้อย่างไร แต่ความคิดแบบนี้กลับหมดสิ้นเมื่อผมกลับไปด้วยจิตที่เคารพ คารวะ เมื่อตั้งจิตเช่นนี้แล้วนั่งริมแม่น้ำ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมหมดความเคลือบแคลงสงสัย ใจรู้สึกถึงเสียงน้ำไหลและแสงอาทิตย์ยามเช้าส่องกระทบผิวน้ำอยู่ตรงนั้น ผมอยู่บนโลกนี้มาเกือบ 60 ปี เห็นแสงตะวันมานับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยสัมผัสธรรมชาติที่งดงามเท่ากับวันนั้นเลย วันที่จิตนิ่งความหมายจึงเกิด ที่ผ่านมาความคิดปรุงแต่ง ถูกหรือผิด สกปรกหรือสะอาด ความคิดตัดสินคอยบดบังความงดงามของทุกปรากฏการณ์ที่มันมีอยู่แล้ว แต่เราเข้าไม่ถึงในยามที่เราต่อต้าน ขัดเคือง เป็นปฏิปักษ์กับชีวิต ผมพบว่าจิตที่เคารพเท่านั้นที่จะพาเราไปสู่ความหมายที่บริสุทธิ์ได้”

        ส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในอินเดียจาริกด้านใน และได้มาฟังอีกครั้งจากครูริมฝั่งแม่น้ำคงคา ณ เมืองพาราณสี ที่ครูได้รับอีกบทเรียนจากอินเดีย บทเรียนที่อยู่ตรงนั้นในทุกปรากฏการณ์ ทุกสถานที่ ทุกผู้คนเสมอมา

 

ประมวล เพ็งจันทร์

(2)

        “Your life is your message” —ชีวิตของคุณคือข้อความของคุณ

        ข้อความจากคานธีที่ดังขึ้นมา ณ อุปวัตตนะสาลวัน จุดดับขันธ์ปรินิพพานในเมืองกุสินารา ขณะนั่งอยู่ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ภาวนาหลายภาษาจากนักจาริกนานาประเทศเบื้องหน้าพระพุทธรูปปางปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหาบุรุษ มหาคุรุที่จากไปนานแสนนาน แต่คำสอนที่ฝากไว้ยังอยู่ – ผ่านครูของครู ของครู ของครู …

 

        “ชีวิตของคุณคือข้อความของคุณ”

 

        รับฟังเสียงที่ดังก้องอยู่ภายใน รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของครูที่นั่งอยู่ข้างๆ ครูที่นำทางศิษย์ให้ได้มานั่งอยู่ต่อหน้าครูของครูนี้ นำทางศิษย์ทั้งการเดินทางครั้งนี้ และการใช้ชีวิตนี้ ผ่านคำสอนที่ครูได้รับถ่ายทอดมาจากครูของครูอีกที

 

        เพราะมีข้อความ คำสอนของครู จึงมีศิษย์

        และเพราะศิษย์ยังน้อมรับ ส่งต่อ ครูจึงยังอยู่

 

        ในแง่นี้นั้นครูสถิตอยู่ในศิษย์ ในจิตของศิษย์มีครู

        ตราบใดที่ศิษย์ยังถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้

        ครูและคำสอนของครูจะคงอยู่

        ไม่มีข้อความใดหายไปไหน

        ไม่มีใครได้จากไปเลย

 

ประมวล เพ็งจันทร์

(3)

        “คำว่า ‘คุรุ’ ได้ถูกใช้กันจนเกร่อในโลกตะวันตก ดังนั้น น่าจะเข้าท่ากว่าหากเราจะพูดถึงเพื่อนทางจิตวิญญาณ เพราะคำสอนเน้นย้ำถึงการเอื้ออิงกันของสองจิต มันเป็นเรื่องของการสื่อสารระหว่างกันและกัน แทนที่จะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปรมาจารย์กับคนรับใช้ ระหว่างผู้มีใจสูง หลุดพ้นพัฒนาแล้ว กับผู้มีใจสับสน ทุกข์ทน”2

        ‘เพื่อนร่วมทางทางจิตวิญญาณ’ นิยามความสัมพันธ์ครู-ศิษย์โดย เชอเกียม ตรุงปะ คุรุชาวทิเบตคนสำคัญที่นำคำสอนของพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในโลกตะวันตก ตรุงปะถูกเรียกขานว่าเป็น ‘คุรุบ้า’ กับแนวทางที่คนโดยทั่วไปอาจมองว่าเป็นพฤติกรรมผิดแปลก นอกรีตศาสนา ดื่มสุรา ใช้ชีวิตธรรมดา มีภรรยา ปาร์ตี้สังสรรค์กับศิษย์ ฯลฯ หากความจริงคือการสลัดทิ้งซึ่งเปลือกห่อหุ้มใดๆ ทิ้งความวิจิตรตระการตาของวัฒนธรรมทิเบตที่ติดตัวมา ทิ้งคราบนักบวชน่ากราบบูชา เหลือไว้เพียงแก่นคำสอน สะท้อนให้เห็นความเป็นพุทธะที่มีอยู่ในเราทุกคน ไม่ว่าจะห่อหุ้มในเสื้อผ้า ดำรงชีพในหน้าที่การงานใด เกิดในชนชั้นวรรณะไหนก็ตาม

        อาจารย์ประมวลเล่าถึงความสัมพันธ์ของคุรุ-ศิษย์ที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในศาสนาพุทธวัชรยาน คุรุเปรียบเสมือนแผนที่นำทาง และในขณะเดียวกันก็เป็น “เพื่อนร่วมเดินทางจิตวิญญาณที่พร้อมสื่อสารและเผยแสดงสิ่งที่เขาเป็นให้เราได้รับรู้” ครูที่ไม่ได้เพียงถ่ายทอดคำสอน ความรู้ในเชิงความคิด หากรวมถึงความหมายจากประสบการณ์ของครูที่ได้กลายเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นวิถีปฏิบัติของครู ถ่ายทอดผ่านการดำรงอยู่ให้ศิษย์ได้เรียนรู้ และนำทางให้ศิษย์ในวันต้องเผชิญประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวต่อไปในวันไร้ครูนำทาง

 

ประมวล เพ็งจันทร์

(4)

        “คเต คเต  ปาราคเต ปาราสังคเต โพธิสวาหะ”

 

        “ไป ไป ยังอีกฟากหนึ่ง

        ไปให้เหนือ ความตื่น ความเบิกบาน

        ฝั่งนี้และฝั่งโน้น

        เป็นหนึ่งหรือสอง

        มีแม่น้ำ ที่ไม่มีเรือลำใดข้ามได้เชียวหรือ

        การแบ่งขาดอันเหลวไหลเช่นนี้มีอยู่หรือ

        เชิญลงมาในเรือข้าพเจ้า

         ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านแลเห็นว่า

        แม่น้ำนั้นมีอยู่

        แต่การแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่งน้ำนั้น หามีไม่”3

 

        บทสวดปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่อาจารย์ประมวลภาวนาให้ศิษย์ทุกครั้งที่สวมกอด อ้อมกอดยาวนานจากเริ่มเสียง ‘คเต’ จนสิ้นเสียง ‘โพธิสวาหะ’ ความหมายในอ้อมกอดของบทสวดประจำใจครู ที่สื่อสารให้ศิษย์รับรู้ว่า เมื่อยามพบกันแล้ว ไม่มีหรอกการแบ่งแยกความเป็นศิษย์หรือครู

 

        เมื่อจิตทั้งสองสลายกลายเป็นหนึ่ง

        เมื่อศิษย์เปิดรับความเป็นครู

        ครูจะสถิตในการดำรงอยู่ของศิษย์

        นิรันดร์

 


อ้างอิง:

  • 1หนังสือชุด อินเดีย จาริกด้านใน เขียนโดย ประมวล เพ็งจันทร์
  • 2หนังสือ ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ เชอเกียม ตรุงปะ บรรยาย วิจักขณ์ พานิช แปล
  • 3บทเพลงแปลปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร จาก https://youtu.be/rv2aIOIZXLs