Highlights
- เบื้องหลังความสวยงามที่ได้รับการจัดระเบียบไว้อย่างเข้าที่เข้าทางของภาพถ่ายบนอินสตาแกรม หากมองอีกมุมหนึ่ง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ตัวตนจริงๆ ของนักคุมโทนจะเป็นเหมือนภาพที่เห็นหรือเปล่า
- ปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามคุมโทน บางคนจริงจังถึงขนาดศึกษาวิธีการถ่ายภาพ ลงคอร์สเรียนการแต่งโทนสี หรือถึงขั้นซื้อฟิลเตอร์เพื่อใช้คุมโทนภาพบนอินสตาแกรมโดยเฉพาะ
- รูปแบบการถ่ายทอดและนำเสนอตัวตนที่แตกต่างกันในแต่ละคน จึงมักจะถูกเชื่อมโยงถึงแนวคิดมโนภาพแห่งตนของ คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยามนุษยนิยม
ก่อนเข้าสู่เรื่อง ผู้เขียนขอนิยามคำว่า ‘คุมโทน’ ในบริบทนี้หมายถึงการควบคุมองค์ประกอบศิลป์ภายในภาพ โดยการจับคู่หรือกำหนดสีของสถานที่ สิ่งของ รวมไปถึงเสื้อผ้าในภาพภาพนั้น ให้เชื่อมโยงกับภาพอื่นๆ ในโปรไฟล์ เพื่อควบคุมโทนสีของแต่ละภาพให้สามารถสร้างจุดร่วมจนเกิดเป็นความกลมกลืนกันได้
อินสตาแกรมเปรียบเสมือนโลกอีกใบของเหล่านักคุมโทน เพราะเป็นพื้นที่ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งปรากฏผ่านความละเมียดละไมในการจัดวางองค์ประกอบของภาพ เพื่อให้ได้หน้าโปรไฟล์ที่สวยงามที่สุด จนกลายเป็นการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ให้กับเหล่าอินสตาแกรมเมอร์ในขณะนี้ แต่ในความสวยงามที่ได้รับการจัดระเบียบไว้อย่างเข้าที่เข้าทาง หากมองอีกมุมหนึ่ง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วตัวตนของนักคุมโทนจะเป็นเหมือนภาพที่เห็นอยู่หรือเปล่า

อินสตาแกรมเมอร์ผู้จริงจังกับการคุมโทน
ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของอินสตาแกรมที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ มีไม่เหมือนคือการวางเทมเพลตของหน้าโปรไฟล์ ซึ่งจัดเรียงภาพด้วยขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันทุกรูป ทำให้ Thumbnail หรือการแสดงภาพขนาดย่อดูเป็นระเบียบ ด้วยเหตุนี้เอง การคุมภาพให้ออกมาในโทนสีเดียวกัน จึงช่วยทำให้ภาพรวมของอินสตาแกรมโดดเด่นและดูน่าสนใจ อาจหมายความได้ว่าหากอินสตาแกรมเมอร์คุมโทนภาพถ่าย นอกจากจะได้รับคำชื่นชมและเป็นที่น่าสนใจแล้ว ผลที่ตามมาคือมียอดผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นด้วย การคุมโทนในอินสตาแกรมจึงค่อยๆ ฮิตมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแสทั่วโลก
ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามคุมโทน บางคนจริงจังถึงขนาดศึกษาวิธีการถ่ายภาพ ลงคอร์สเรียนการแต่งโทนสี หรือถึงขั้นซื้อฟิลเตอร์เพื่อใช้คุมโทนภาพบนอินสตาแกรมโดยเฉพาะ แต่ถ้ามองให้ลึกกว่าภาพภ่ายที่ปรากฏ การคุมโทนไม่ใช่เพียงแค่การปรับแต่งโทนสีให้เหมือนกันทุกภาพ และจัดวางองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพาตัวเองไปปรากฏอยู่ในสถานที่ที่ Instagramable หรือน่าดึงดูดใจเหมาะแก่การถ่ายภาพลงอินสตาแกรม และพยายามแต่งตัวให้เข้ากับสถานที่นั้นๆ โดยต้องจำกัดสีสิ่งของและเสื้อผ้าไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามและกลมกลืนกันกับภาพอื่นๆ มากที่สุด
ตัวอย่างคลิปวิดีโอจากช่อง Sarah DeShaw ที่อธิบายวิธีการคุมโทนบนอินสตาแกรมอย่างละเอียด โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน คือ การควบคุมแสงในภาพ การกำหนดสีของฟีด และการเลือกมู้ดของภาพ ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคขั้นต้นสำหรับอินสตาแกรมเมอร์ที่อยากลองคุมโทน
ทุกภาพของอินสตาแกรมเมอร์ที่คุมโทนจึงผ่านกระบวนการหลากหลายขั้นตอน ตั้งแต่ทดลองเรียงภาพก่อนจะลงจริง หรือนำภาพอื่นๆ มาคั่น เพื่อเชื่อมให้ภาพต่อๆ ไปอยู่ในโทนเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเหล่านักคุมโทน ที่จะต้องทำการบ้านและวางแผนการลงภาพไว้เป็นอย่างดี ก่อนจะโพสต์สู่สายตา follower

โลกคู่ขนานระหว่างความจริงและการคุมโทนบนอินสตาแกรม
ความสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหน้าฟีดในอินสตาแกรม ช่วยนำเสนอตัวตนเจ้าของอินสตาแกรมให้ดูสมบูรณ์แบบและดึงดูดความน่าสนใจให้กับโปรไฟล์ของนักคุมโทนได้เป็นอย่างดี (แม้ว่าภาพที่เห็นอาจจะเป็นเพียงแค่เปลือกที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ซึ่งเจ้าตัวอาจไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครรู้) คำถามนี้จึงถูกเชื่อมโยงถึงแนวคิดมโนภาพแห่งตนของ คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยามนุษยนิยม ว่าด้วยรูปแบบการถ่ายทอดและนำเสนอตัวตนที่แตกต่างกันในแต่ละคน บางตัวตนเหมือนตัวตนจริง แต่บางตัวตนกลับห่างไกลจากตัวตนจริง เพื่อสร้างความพึงพอใจและเป็นตัวตนที่ปรารถนาในชีวิตตามอุดมคติ
ในโลกแห่งความจริงที่ตัวตนถูกแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ความสวยงามของสถานที่ สิ่งของต่างๆ ที่รายล้อมเรา อาจไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้ถูกใจเหมือนภาพในหัวเสมอไป ต่างจากโลกออนไลน์ที่เราสามารถควบคุมสิ่งที่ต้องการเห็นและให้ผู้อื่นเห็น โดยการถ่ายโอนตัวตนในแบบที่เราอยากนำเสนอ ด้วยการโพสต์ภาพสถานที่ที่ชอบ เสื้อผ้าที่ใส่ สิ่งที่เราสนใจ ทั้งหมดนี้จึงทำให้อินสตาแกรมกลายเป็นโลกแห่งความพึงพอใจที่สวยงาม และเป็นช่องทางใหม่ในการรับรู้ตัวตนอีกด้านหนึ่ง ทว่าหากมองในมุมต่าง อินสตาแกรมเมอร์ที่เรียงภาพตามใจต้องการ ไม่คุมโทนใดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเขาจะไม่เป็นระเบียบเหมือนภาพถ่าย ขณะที่อินสตาแกรมเมอร์บางคนจัดเรียงภาพไว้อย่างสวยงาม ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าเขาจะสามารถจัดระเบียบชีวิตจริงได้ดีกว่าคนอื่น การคุมโทนจึงเป็นเพียงการนำเสนอตัวตนในอีกหนึ่งวิธี ซึ่งเราไม่สามารถตัดสินใครได้จากหน้าฟีดสวยๆ ดังนั้น ผลลัพธ์ของภาพถ่ายที่เห็นเกิดจากความชอบหรือรสนิยมของเจ้าของอินสตาแกรมเท่านั้น
ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ทุกสิ่งไม่ได้คุมโทน
เมื่อในโลกความจริง เราอาจไม่ได้พบเจอสิ่งสวยงามในแบบที่เราอยากเห็นตลอดเวลา สำหรับบางคนการแตะโทรศัพท์เพื่อเปิดอินสตาแกรมขึ้นมา แล้วไถ่ฟีดดูความสมบูรณ์แบบของภาพถ่ายที่ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงมีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจภายในโลกที่ไร้สมดุลและไม่มีระเบียบเช่นนี้ได้
สุดท้ายแล้วอาจพอสรุปได้ว่า อินสตาแกรมเปรียบเสมือนโลกอีกใบ ที่ไม่เพียงช่วยสร้างตัวตนใหม่ให้เราบนโลกออนไลน์ แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยและคอยปลอบประโลมหัวใจเหล่าอินสตาแกรมเมอร์ และไม่ว่าโลกภายนอกจะหลากสี มากเรื่องราววุ่นวายเพียงใด อินสตาแกรมของเหล่านักคุมโทนจะยังคงเป็นพื้นที่จัดระเบียบความสวยงามของชีวิตพวกเขาได้ดีที่สุด
อ้างอิง: