COVID-19

การรับมือกับ COVID-19 ที่ช่วงแรกตั้งท่ามาดี แต่ไม่นานก็หักมุม

ตั้งแต่เริ่มปี 2020 จนระยะเวลาล่วงเลยมาถึงปลายเดือนเมษายน การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในหลายประเทศทั่วโลก 

        วิกฤตครั้งนี้หนักหนาที่สุดในชีวิตของใครหลายคน เพราะไม่เพียงแค่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกย่อมหญ้า เมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักชั่วคราว แรงงานหลายล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสถานะว่างงาน โดยไม่รู้ว่าพวกเขาจะกลับมามีงานทำอีกครั้งเมื่อไหร่ ปัญหาที่ตามมาจึงเป็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

COVID-19

 

        การมาของ COVID-19 เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หลายประเทศจึงไม่สามารถรับมือได้ดีเท่าที่ควร แต่ก็มีประเทศอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งตัวได้ทัน และจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้อยู่หมัด  

        adB ขอรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาส่งต่อให้กับผู้อ่าน โดยทางสถาบันฯ ได้วิเคราะห์หาปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าสามารถรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี พร้อมวิเคราะห์บทเรียนความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมัน และอังกฤษ ที่ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยสะสมสูงมากกว่า 100,000 รายจากหลากหลายปัจจัย

หัวใจแห่งความสำเร็จ 

        ในไต้หวันยังคงมียอดสะสมไม่ถึง 500 ราย ส่วนในฮ่องกงสามารถหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ติดเชื้อ (flattening the curve) ได้ และในเกาหลีใต้ก็สามารถลดจำนวนผู้ป่วยใหม่จากเดิมที่เคยพบอยู่สูงสุด 851 รายต่อวันให้เหลือเพียงไม่กี่สิบรายต่อวัน สุดท้ายในแง่ของการควบคุมอัตราเสียชีวิตของสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น 

        ความสำเร็จของพวกเขาจึงไม่ได้จำกัดแค่ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม แต่ยังครอบคลุมถึงการชะลอของการแพร่ระบาด และควบคุมอัตราเสียชีวิตได้ด้วย อะไรบ้างคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาสามารถรับมือได้ในระดับนั้น?  

        ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาเคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามาก่อน โดยไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง เคยรับมือกับ SARS ในปี 2002 ส่วนเกาหลีใต้รับมือกับ MERS ในปี 2015 จึงทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมระบบรองรับการควบคุมโรคติดต่อ รวมทั้งมีการลงทุนในกับห้องตรวจเชื้อและอุปกรณ์การตรวจเชื้อ ฝั่งประชาชนเองก็มีความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาตั้งแต่ต้นและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงทำให้สามารถออกมาตรการต่างๆ ได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

 

COVID-19

 

        นอกจากนี้มาตรการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกันตัว (test, trace and isolate) ในช่วงต้นของการระบาดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีส่วนช่วยอย่างมาก ซึ่งในเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ล้วนตรวจเชื้อไปแล้วเกินกว่า 10,000 คน ต่อจำนวนประชากรหนึ่งล้านคน ตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาด และเกาหลีใต้ยังได้เพิ่มการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ให้ผลลัพธ์ได้ภายใน 10 นาที ควบคู่กับการตรวจแบบหาเชื้อแบบมาตรฐาน (RT-PCR) พร้อมมีมาตรการรถตรวจเชื้อเคลื่อนที่จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจได้อย่างทั่วถึง สำหรับการติดตามตัวกลุ่มเสี่ยง เกาหลีใต้ได้ใช้ข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสำหรับติดตามประวัติการเดินทางภายในประเทศของผู้ติดเชื้อ ซึ่งการตรวจและติดตามเชิงรุกแบบนี้ช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากสังคมได้ทันเวลา

        ส่วนไต้หวันเป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จที่แม้ว่าจะไม่ได้มีการตรวจเชื้อมากนัก แต่ใช้การกักบริเวณผู้มีความเสี่ยงได้ผลจนสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี เพราะรัฐบาลมีการติดต่อสอบถามความเป็นอยู่ของผู้ถูกกักบริเวณอยู่เป็นรายวัน หรือแม้กระทั่งมีอำนาจในการติดตามบุคคลที่ถูกสั่งกักบริเวณผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากพบว่ามีการออกนอกสถานที่หรือปิดเครื่องโทรศัพท์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจในพื้นที่จะเข้าไปพบภายใน 15 นาที พร้อมบทลงโทษปรับเงินสูงสุด 1 ล้านบาทสำหรับผู้ฝ่าฝืน เป็นผลให้ประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

        แม้มาตรการจะถูกออกแบบมารัดกุมแค่ไหนก็สามารถล้มเหลวได้ หากประชาชนไม่ปฏิบัติตาม สิงค์โปร์จึงเน้นให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารของภาครัฐเป็นอันดับต้นๆ โดยจะต้องมีความโปร่งใส แม่นยำ และชัดเจน ทั้งในเรื่องวิธีดูแลสุขอนามัยที่ถูกต้อง และมาตรการ Social Distancing เพื่อสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์แก่ประชาชน กลายเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน ส่วนเกาหลีใต้ได้มีการส่ง SMS ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งกรณีการติดเชื้อในแต่ละวัน และเส้นทางการเดินทางของผู้ป่วย เพื่อให้ประชาชนสามารถวินิจฉัยได้ว่าตนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่

ความสำเร็จที่ยังไม่ถึงตอนจบก็หักมุมเสียแล้ว 

        เราเห็นตัวอย่างไปแล้วว่าปัจจัยของความสำเร็จมีอะไรบ้าง แต่ในบางกรณีความสำเร็จก็อาจเป็นเพียงแค่ ‘ภาพลวงตา’ เพราะสถานการณ์สามารถเปลี่ยนพลิกจากหน้ามือไปเป็นหลังมือได้ทุกเวลา เหมือนกับที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ 

        ปกติญี่ปุ่นมักเป็นประเทศสุดเนี้ยบที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที และจากประสบการณ์เจอภัยพิบัติหลายครั้ง ทำให้คนทั่วโลกคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะต้องรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างชาญฉลาดแน่นอน ซึ่งในช่วงแรกก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแบบนี้จริงๆ  เพราะมีการคุมเข้มคนเข้าเมืองในพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ บวกกับการทักทายก็ไม่มีการสัมผัสกัน แถมการรักษาสุขอนามัยของคนญี่ปุ่นก็ดีเป็นทุนเดิม แต่ความชะล่าใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่เน้นการตรวจติดตามเชิงรุก แถมยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการ Social Distancing ที่เข้มงวด ส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มเป็นหลักร้อยต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน จนสุดท้ายรัฐบาลต้องออกมาประกาศคำสั่งภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 6 จังหวัดใหญ่ในวันที่ 7 เมษายน และขยายออกเป็นทั่วประเทศในวันที่ 16 เมษายน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสองสัปดาห์ยังยืนว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ 

        อีกประเทศคือสิงคโปร์ ที่เพิ่งได้รับการชื่นชมไปก่อนหน้า แม้สิงคโปร์จะมีการคุมเข้มทั้งในเรื่องการตรวจติดตาม และการใช้มาตรการ Social Distancing แต่กลับเริ่มพบการแพร่กระจายกลุ่มใหม่ในช่วงต้นเดือนเมษายน จนทำให้มียอดสะสมเกิน 3,000 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดในชุมชนแรงงานต่างชาติ  โดยแรงงานเหล่านี้อาศัยอยู่กันอย่างแออัด จนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในที่สุด และกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ชวนตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติระหว่างคนสิงคโปร์และแรงงานต่างชาติ

 

COVID-19

4 บทเรียนจากฝั่งตะวันตก

        ปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ ยังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในสิบประเทศแรกของโลกที่มีผู้ป่วยสะสมสูงที่สุดในโลก

        สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ประเทศเหล่านี้จะดำเนินมาตรการ Social Distancing ในลักษณะเดียวกันกว่ากลุ่มประเทศเอเชีย ทั้งการระงับการเดินทาง การห้ามการชุมนุม ตลอดจนคำสั่งห้ามออกจากที่พักอาศัย แต่ผลของการแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาการดำเนินมาตรการของแต่ละพื้นที่โดยละเอียด จะพบมี 4 บทเรียนสำคัญด้วยกัน  

บทเรียนที่ 1: ความรวดเร็วและการให้ความร่วมมือของประชาชนมีผลต่อแนวโน้มการระบาด 

        ในอิตาลีแม้จะมีการกำหนดมาตรการออกมาเพื่อจัดการปัญหาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด แต่มาตราการเหล่านั้นใช้เฉพาะจุดหรือพื้นที่ชายแดนเท่านั้น ในส่วนอื่นของประเทศกลับไม่ได้มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนสำหรับการป้องกัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือประชาชนเองก็ไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับความร้ายแรงของปัญหาเช่นกัน 

        นอกจากนี้มาตรการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกันตัวที่ล่าช้าก็ส่งผลให้การคุมการระบาดไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันในอิตาลีแม้จะมียอดการตรวจเชื้อสูงกว่าหนึ่งล้านเคส หรือคิดเป็นประมาณ 20,000 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แต่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมได้มีการตรวจไปเพียงประมาณสองหมื่นเคสเท่านั้น ในขณะที่เกาหลีใต้ได้ตรวจเชื้อไปมากกว่า 100,000 เคส ในช่วงเวลาเดียวกัน และไม่เพียงอิตาลีเท่านั้น แต่ประเทศที่มียอดการติดเชื้อสูงล้วนมีการตรวจเชื้อน้อยกว่าเกาหลีใต้ในช่วงต้นของการระบาดแทบทั้งสิ้น  

บทเรียนที่ 2: การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัส 

        ปัญหาเรื่องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสในช่วงต้นของการแพร่ระบาดนั้นเกิดขั้นในสหรัฐอเมริกาและสเปน ทำให้ไม่สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้ปัญหาการแพร่ระบาดเข้าขั้นวิกฤตมากขึ้น และยังทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจนซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ไปอีก 

บทเรียนที่ 3: ปัญหาด้านการสื่อสารนโยบายหรือมาตรการที่บังคับใช้ 

        ปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้มาตรการที่ประกาศใช้ประสบปัญหาในการปฏิบัติจนทำให้ประสิทธิภาพลดลงและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยปัญหานี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส

บทเรียนที่ 4: ขาดการป้องกันปฏิกิริยาของประชาชนต่อมาตรการควบคุม 

        ในประเทศอิตาลี เมื่อรัฐบาลวางแผนเรื่องมาตรการปิดเมืองทางตอนเหนือของประเทศ แต่แผนการดังกล่าวรั่วไหลก่อนที่จะประกาศจริงทำให้ประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาดพากันอพยพออกมาและกระจายออกไปทั่วประเทศ จนเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปในทุกพื้นที่ในช่วงเวลาต่อมา  ข้อนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาในช่วงประกาศปิดหรือลดระดับกิจกรรมในกิจการ 34 ประเภทในเขตกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีมาตรการป้องกันการเดินทางออกจากเมืองหลวง

        การเทียบเปรียบมาตรการรับมือ COVID-19 ให้เห็นความสำเร็จกับความล้มเหลวของแต่ละประเทศอย่างชัดเจนนั้น เป็นบทเรียนที่ช่วยเตือนใจว่าทุกพื้นที่ทั่วโลกไม่อาจนิ่งนอนใจได้ จนกว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนและผลิตส่งให้นานาประเทศในจำนวนมากได้สำเร็จ ทุกประเทศจึงต้องพร้อมรับมือกับการกลับมาระบาดใหม่แม้จะดูเหมือนสามารถควบคุมหรือชะลอได้แล้วในบางขณะ

 


ที่มา: