Local Alike

Local Aroi และ Local Alot ไอเดียใหม่จาก Local Alike ในวันที่ท่องเที่ยวไม่ใช่คำตอบเดียว

รู้ตัวอีกทีเวลาก็ผ่านล่วงเข้าไปช่วงกลางปี ลมฝนเริ่มโชยมา ลมร้อนเริ่มคลายไป หากฤดูร้อนปีนี้ไม่เหมือนเดิมเท่าไหร่ ไม่มีบรรยากาศเฉลิมฉลองฤดูร้อน ไม่มีการไปเที่ยวพักผ่อน แต่หากนักท่องเที่ยวอย่างเราต้องทนกับความเฉาหนักแล้ว ผู้ที่ต้องอดทนหนักกว่าคงเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แต่ขาดรายได้หลักจากการท่องเที่ยวไป

       Local Alike กิจการเพื่อสังคมที่ใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนา สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างกัน แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นกระทันหันไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของพวกเขาในการทำงานร่วมกับชุมชนลดน้อยลงไป กลับกลายเป็นว่าวิกฤตได้เผยให้เห็นว่าที่ผ่านมา การท่องเที่ยวนั้นเปราะบางแค่ไหน และเริ่มหาทางปรับตัว แม้นั่นจะหมายถึงการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจหลักอย่างการท่องเที่ยวไปเลยก็ตาม

       ในช่วงเวลาอันสั้นที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นไอเดียใหม่ๆ จาก Local Alike ไม่ว่าจะเป็น Local Aroi, Local Alot หรือ Local Around การเริ่มต้นใหม่ๆ ที่ทำให้เขาได้รับบทเรียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทีมได้ลอง ได้รีสกิลผ่านการลงมือทำจริง ปรับจริง แก้จริงไปพร้อมกัน รวมทั้งความสำคัญของการทำงานร่วมกันกับชุมชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เมื่อถึงเวลาลำบาก ทุกคนก็พร้อมจะฝ่าฝันไปด้วยกันทันที

       a day BULLETIN พูดคุยกับ ‘ไผ’ – สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike ถึงการปรับตัวธุรกิจให้ไว รักษาหัวใจของธุรกิจ และรักษาชีวิตทั้งองค์กรและชุมชนไปได้อย่างยั่งยืน

 

Local Alike

‘เมษา’ หน้าร้อน ไม่มีการท่องเที่ยวเหมือนก่อน 

       “บริษัทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็น่าจะเป็นบริษัทต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รายได้จากการท่องเที่ยวบ้านเราน่าจะถดถอยไปกว่า 30% เพื่อนๆ ของผมก็ปิดตัวกันเยอะมากพอสมควร อย่างของ Local Alike เอง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เรามีทริปที่โดนแคนเซิลแล้วก็ต้องเลื่อนแบบไม่มีกำหนดมูลค่าเกือบสิบล้าน ซึ่งไม่ทันตั้งตัวมาก่อน ไม่มีใครบอกได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อไหร่ บ้างบอกว่าอาจจะใช้เวลาปีหนึ่ง 

       “ตอนแรกยังคิดในฐานะคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราก็คิดบวกมาก คิดว่ามันไม่น่าจะนาน เชื่อว่ามันน่าจะมีวัคซีนเข้ามาเร็วๆ อันนี้มองภาพรวมในตอนแรก แต่พอผ่านไปสักพัก เราก็เริ่มรู้สึกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมันเปราะบางมากๆ แลกกับเวลาที่เราต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ก็เลยมานั่งคิดว่าเราจะเปลี่ยน Business Model ยังไง เพื่อให้เราและชุมชนที่เป็น main stakeholder อยู่รอด”

ความเปราะบางที่ปรากฏในวันที่โลกไม่แข็งแรง  

       “การท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นอันดับสามของ GDP ประเทศ เป็นรองเพียงภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเท่านั้น อัตราการจ้างงานในประเทศก็มาจากการท่องเที่ยวอยู่เยอะมาก มันดูเหมือนเป็นภาคที่เข้มแข็ง แต่แท้จริงมันเปราะบางเพราะเศรษฐกิจที่ผ่านมาพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ทั้งการจ้างงาน การซื้อขาย การเดินทาง ต่างๆ นานา พอเกิดวิกฤต เราเลยเห็นว่าที่ผ่านมามันไม่ยั่งยืนเลย มันพร้อมที่จะพังได้เสมอ เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องมานั่งวางแผนใหม่ว่าเราจะไปต่อกันยังไง ถ้าอนาคตมันเกิดขึ้นอีกหนักขึ้นอีก เราจะปรับตัวจากนี้อย่างไร”

เมื่อประตูการท่องเที่ยวปิด ประตูธุรกิจใหม่ๆ จึงเปิด

       “ในความโชคร้ายที่เราได้เจอมันก็เป็นโอกาสที่เราเห็นเหมือนกัน อย่าง Local Alike เราต้องมานั่งคิดว่าต่อไป มันไม่น่าจะใช่โมเดลที่เราขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวอย่างเดียวแล้ว มันน่าจะต้องมีโมเดลอื่นที่เราสามารถจะทำได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในช่วงโควิด แต่มันต้องเป็นโมเดลที่สร้างรายได้จากหลายช่องทางได้ เช่น เราทำ Local Aroi ที่เกิดก่อนโควิด จากความคิดว่า ถ้าชุมชนหนึ่งไปไม่ได้เรื่องการท่องเที่ยว เราจะสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างไรได้บ้าง ก็เลยทำเป็นอาหารชุมชน เพื่อสร้างรายได้ด้วยวิธีการอื่นแทน

       “พอเกิดโควิดขึ้น ก็เห็นเลยว่าแผนสำรองนี้ที่เราเริ่มทำไว้มันสำคัญมากๆ โชคดีที่เราเริ่มทำ Local Aroi ก่อนที่โควิดจะเกิด เราเลยผันตัวมาแผนสองนี้ได้ง่าย แต่ถ้าถามว่ามันพอไหม กับรายได้ที่มันหายไปสิบล้าน แล้วต้องเลี้ยงพนักงาน เงินเดือนล้านกว่าบาท มันก็ยังไม่พอหรอก เพราะตอนนี้ Local Aroi รายได้ยังอยู่ในหลักแสน เราก็เลยต้องมานั่งคิดอย่างอื่น ว่าทีมงานสี่สิบคนจะทำอะไรไดบ้าง”

 

Local Alike

ทีมงานระดมสมอง ทดลองไอเดียมากมายที่ได้จาก Design Thinking

       “ต้นเดือนมีนาคมเรานั่งระดมความคิดด้วยการ design thinking กันว่าทีมสี่สิบคนนี้ ถ้าเราให้ทุกคนมาพึ่ง Local Aroi อย่างเดียวมันไม่น่าจะเวิร์ก ก็เลยเกิดเป็นโมเดลใหม่ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องจับอีคอมเมิร์ซ เกิดเป็น Local Alot ซึ่งแปลว่า ‘เยอะสิ่ง’ ชุมชนมีเยอะสิ่งที่จะขายซึ่งไม่ใช่แค่ OTOP เป็นสินค้าเกษตร เป็นงานคราฟต์ อาหารแห้ง อะไรก็ได้ ผลอันนี้ก็เซอร์ไพรส์มาก เพราะ Local Aroi นั้นธุรกิจอาหาร Delivery แข่งขันกันสูง แต่ Local Alot มันแซงหน้ามาเลย เราขายเป็นพรีออร์เดอร์มันหมด ขายผ้าขาวม้า ขายเมลอน ขายมังคุด ยอดขายโอเคเลย 

       “เราก็พยายามทำต่อ ให้โจทย์ทีมไปว่าอย่าคิดแค่ว่าธุรกิจนี้มันจะต้องอยู่ได้แค่โควิด มันต้องไปต่อได้ ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรีสกิลตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าทีมที่เคยอยู่ทัวร์ หรือทีมที่ทำงานพัฒนาชุมชนที่มีลูกค้าจ้างตอนนี้ที่เดินทางไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเขาจะได้กลับไปทำงานท่องเที่ยวที่ถนัดได้เมื่อไหร่ ฉะนั้น ทุกคนต้องรีสกิลมาอยู่ใน Local Aroi หรือ Local Alot ก็เป็นสิ่งที่เขาท้าทายเหมือนกัน 

       “นอกจากนั้นเราก็มี Local Around เป็นยูทูบแชนแนลของเราเอง เพราะเรามีคอนเทนต์ชุมชนหลายร้อยชุมชนมาก แต่เราไม่เคยนำเสนอรูปแบบของเอนเตอร์เทน เลยคิดว่าเราควรสร้างคอนเทนต์เราเอง แล้วสุดท้ายเราก็อยากทำรายการทีวีเพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน

       “บ่ายวันนั้นที่ระดมความคิดด้วยกันมันเป็นวันที่ประทับใจมาก ทุกคนพร้อมสู้ไปกับเรา ทุกคนกระตือรือร้นมากที่จะทำเรื่องนี้ ทุกคนไม่ดื้อกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นเลย เอาจริงก่อนหน้านี้เราก็กังวลนะ อย่างแรกเลยคือเรากังวลว่าจะติดโควิดไหม ตามมาด้วยกังวลว่าจะทำอย่างไรเพราะชุมชนก็เริ่มปิด เดินทางไม่ได้ พอทริปโดนยกเลิกทั้งหมดก็กังวลว่าองค์กรจะไปต่อยังไง จะรับผิดชอบเงินเดือนทุกคนได้อย่างไร แต่เราก็บอกให้ทุกคนใจเย็นๆ เพราะมันน่าจะผ่านไปได้ แล้วค่อยมาคิดด้วยกันว่าเราจะหาทางไปต่ออย่างไร”

จากไอเดียสู่การลงมือทำ 

       “เราระดมความคิดมาได้หลายไอเดียมาก สุดท้ายมาจบที่สามไอเดียนี้ ส่วนในการเลือกว่าจะเอาไอเดียไหน เราใช้หลัก 1) ความเป็นไปได้ของตลาด 2) คือชุมชนน่าจะเอาด้วยกับเรา ชุมชนต้องได้ประโยชน์ร่วมด้วย และ 3) อะไรที่มันทำได้ไวที่สุด ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องมานั่งคุมอะไรใหม่เยอะมาก พอเรามาจบที่สามไอเดียนี้ แล้วมาดูว่าใครเหมาะที่จะอยู่โมเดลไหน ก็แบ่งทีมไปเลยว่าใครจะช่วย Local Aroi ดี ใครจะทำ Local Alot ใครจะดู Local Around เราไม่ได้ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ในการที่โยกย้ายน้องแต่ละคนมาอยู่ในแต่ละยูนิต แน่นอนว่าแต่ละคนอาจจะไม่ได้มีทักษะมากพอ ฉะนั้น เราก็ต้องมาเทรนกันใหม่ มารีสกิลกันใหม่ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเราคิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ในการที่จะเอาคนไปลงในแต่ละโมเดล นี่คือสิ่งที่ถ้าเราย้อนกลับไปได้ 90% ทุกคนก็น่าจะเอนจอยกับงานใหม่ๆๆ แต่อาจจะมีสัก 10% ที่เขาอาจจะไม่ได้เอนจอยมาก แล้วเวลาที่เขาทำผิดพลาดมาเขาจะรู้สึกเสียใจ เขารู้สึกผิดหวังว่าทำไมเขาถึงทำไม่ได้ เราก็ต้องให้กำลังใจเขาไปเรื่อยๆ ว่านี่เป็นสิ่งใหม่ ค่อยๆ ปรับไปด้วยกัน เราแค่คอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา อย่าง Local Alot ของเยอะ ไม่รู้จะขายอะไรก่อนดี เราก็เลยบอกเอาเลย หาชุมชน หาดีไซเนอร์ ทำทีละอย่าง พอเขาได้ไอเดียเสร็จแล้วเขาก็ไปต่อกันได้ มันก็เริ่มมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา

       “จุดแข็งของ Local Alike คือการทำงานร่วมกันกับชุมชน ในช่วงที่ต้องห่างกัน ลงชุมชนไม่ได้ เรายังรักษาการทำงานร่วมกันที่เป็นหัวใจขององค์กรไว้ได้อย่างไร เราว่าความได้เปรียบในการแข่งขันของ Local Alike มาจากการที่เราให้ความสำคัญกับการทำงานกับชุมชนมากๆ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนเป็นแม่ลูกกัน เขายินดีที่จะซัพพอร์ตเรา นี่คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทุกอย่างไปไวมาก แม่ๆ ทุกคนยินดีที่จะลองไปกับเรา ยินดีที่จะช่วยเรา ยกตัวอย่างขายมังคุด ขายลิ้นจี่ ซึ่งก็มาจากชุมชนที่เราทำงานด้วยล้วนๆ เลย แล้วราคาก็เป็นราคาที่สมเหตุสมผล ชุมชนไม่ร้องขอกำไรอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามราคาตลาดเลย”

 

Local Alike

Business Model ปรับได้ ตราบใดที่หัวใจองค์กรหนักแน่น 

       “ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก จนเราคิดว่าการทำโมเดลธุรกิจจริงๆ มันไม่ต้องใช้เวลานานเลย คือหลายไอเดียสามารถคิดแล้วทำได้เลย ในเวลาปกติ เราอาจจะคิดกันเยอะ มีกฎเกณฑ์ ไม่กล้าเสี่ยงบางอย่าง แต่เวลาแบบนี้แบบแผนขั้นตอนมันไม่มี มันตัดความคิดเยอะไปมาก ทั้งเรื่อง แบรนดิ้ง เรื่องดีไซน์ เรื่องพวกนี้มันเป็นข้อที่เราสามารถมองข้ามได้ แล้วสามารถ learning by doing ไปได้เลย แต่ก่อน Local Alike จะคิดเยอะ ก็ต้องปรับทีมเหมือนกัน มันเป็นเพราะเขารักองค์กรแหละ กลัวแบรนดิ้งเสีย หลายคนกังวลว่าคุณภาพอาหารมันยังไม่ได้ ก็บอกน้องๆ ไป ว่าเราไม่รู้แน่หรอกว่าคุณภาพอาหารจะเป็นอย่างไร บางทีลูกค้าอาจจะคอมเพลน เพราะมันเป็นเมนูอาหารที่มันไม่แมส คนยังไม่ค่อยรู้จัก อย่างข้าวผัดน้ำพริกขี้กา คนก็จะไม่คุ้นว่ารสชาติมันควรเป็นยังไง เราก็บอกว่างั้นเรามาลอง แล้วค่อยรับมือไปทีละเรื่อง แล้วมาเรียนรู้กันดีกว่าไหม สุดท้ายเราอาจเพิ่มเมนูที่เป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งเอาเกณฑ์อะไรมาเป็นตัวกั้นว่าอะไรขายได้ อะไรทำไม่ได้”

บทบาทผู้นำองค์กรในการกระตุ้นศักยภาพทีมงาน ปลุกความเชื่อมั่นของชุมชน

       “คิดว่าพื้นที่ในการลองผิดลองถูกจะช่วยให้คนเราก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซนได้ ยกตัวอย่างครั้งนี้ที่เราบอกทีมว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในโมเดลไหน Local Aroi, Alot หรือ Around ทุกคนต้องขายเป็น จะมาให้ทีมเซลล์ขาย เราไม่รอดแน่นอน เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยกันขาย น้องบางคนก็อาจจะอิดออด หนูไม่เคยขายเลย หนูต้องใช้โซเชียลมีเดียตัวเองในการขายอะไรแบบนี้ เราก็บอกว่าถ้าอยากโต เราต้องริเริ่มทุกอย่างได้ด้วยตนเอง เพราะ Local Alike เราต้องการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เราไม่ได้คาดหวังว่าคุณจะต้องอยู่ Local Alike ไปตลอดชีวิต คุณต้องเรียนรู้ว่าในฐานะผู้ประกอบการ เราต้องทำทุกอย่างได้ ต้องลองทีละก้าว ถ้าเขาข้ามคอมฟอร์ตโซนนี้ได้ เขาจะขอบคุณบทเรียนนี้ เราก็คอยกระตุ้นเขาไป เพราะสุดท้ายเราก็อยากให้คนในทีม Local Alike ออกไปเป็นผู้ประกอบการในสังคมที่มีคุณภาพ”

Local Alikeต่อยอดไอเดียใหม่ ไม่ทิ้งธุรกิจเก่า ขัดเกลาสิ่งที่ทำให้ดีกว่าเดิม 

       “ฝั่งของ Local Alike ก็ได้คุยกับภาคีหรือหน่วยงานภาครัฐที่เขาให้โจทย์มาว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนไปต่อได้หลังโควิด ก็เลยคิดคอนเซ็ปต์ว่าหลังจากนี้ เราจะโฟกัสที่ชุมชนมากขึ้น จะมีการพัฒนาทักษะชุมชนมากขึ้น ให้แน่ใจได้ว่าชุมชนจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ชุมชนจะต้องมีทักษะในการขายของ ที่ไม่ใช่การรอแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว ชุมชนจะต้อง Live เป็น ชุมชนจะต้องทำ Social Marketing เป็น อยากทำให้หมู่บ้านหนึ่งมีของค้าขาย มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม อันนี้วางแพลนไว้อยู่เรากำลังคุยงานกับภาครัฐอยู่ ซึ่งถ้าเขาอนุมัติก็น่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ทางชุมชนในการท่องเที่ยวได้อีกประมาณหนึ่ง ถามว่าถ้าชุมชนทำได้หมด แล้วสุดท้ายเราจะทำอะไร จริงๆ แล้วการทำธุรกิจเพื่อสังคมมันคือการแก้ปัญหา ถ้าชุมชนสามารถจัดการการท่องเที่ยวของตัวเองได้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จนะ ถ้าต่อไปจะไม่มีทีม Local Alike ไปช่วยพัฒนาชุมชนแล้ว เพราะว่าชุมชนเขาทำเองได้ ทำรายได้เองได้ เราอาจจะกลายเป็นภาคี กลายเป็นผู้ถือหุ้นของเขาแทนได้ มันต่อยอดไปได้หลายเรื่องเลย จะดีกับทุกฝ่ายเสียอีก”

วิกฤตเผยให้เห็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรักษา และสิ่งฟุ่มเฟือยที่เคยมีมา แต่ไม่ต้องมีต่อไปก็ได้ 

       “ผมว่าสิ่งที่ทุกคนควรจะเก็บไว้มีสองเรื่อง คือชุมชน กับคนทำงาน ในช่วงเวลานี้ ทำให้เราเห็นว่าใครที่พร้อมจะไปกับเรา ใครมีมายด์เซตหรือทัศนคติที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะไปกับเราในอนาคต คนที่มีคอมฟอร์ตโซนน้อยๆ หรือไม่มีเลย และคนที่ต้องมัลติทาสก์ได้คือคนที่ได้เปรียบมากๆ หรือคนที่พร้อมจะมีทักษะใหม่ๆ และที่สำคัญคือคนที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรนี้ร่วมกัน ความรู้สึกนี้จะทำให้เขาริเริ่มอะไรได้ด้วยตนเองโดยที่เราไม่ต้องบอกอะไรเลย ส่วนเรื่องที่ตัดได้ที่เห็นชัดก็คือเรื่องต้นทุน ปกติกว่าจะขายทัวร์หนึ่งได้มันประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ราคากว่าจะถึงผู้บริโภคมันเลยแพง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ Local Alike ได้เรียนรู้ครั้งนี้คือ เราสามารถทำต้นทุนให้ถูกลงได้ ถ้าเราเข้าใจชุมชนดีๆ ให้ชุมชนริเริ่มสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง บางทีมันลดต้นทุนได้อีกมากเลย เรื่องนี้คือสิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้เยอะมากจากโควิด มันทำให้เรามานั่งดูโครงสร้างราคา หรือแม้กระทั่งโมเดลธุรกิจ บางทีการที่เราต้องมานั่งทำโมเดลธุรกิจบนกระดาษมันแทบจะไม่ต้องเริ่มจากอะไรเลย แค่เริ่มจากการที่เราลองทำกันเถอะ มันไม่ได้มีขั้นตอนอะไรเลย เราไม่ต้องมานั่งคิดว่า 9 ช่องบนกระดาษมันต้องเติมอะไร เราค่อยมาเรียนรู้และปรับไประหว่างทางได้”

 

Local Alike

กำลังใจฝากให้เพื่อนผู้ประกอบการ และข้อความฝากให้นักท่องเที่ยวที่รอคอยวันได้เยี่ยมเยือนชุมชน 

       “สำหรับผู้ประกอบการ เราว่าต้องทำให้ทีมงานเห็นให้ได้ว่ามันเร่งด่วนแค่ไหน ทำอย่างไรให้เขาเปิดใจกับเราให้ได้ แน่นอนว่าสไตล์ของผู้บริหารมันสำคัญมากๆ ถ้าสมมติเราอยู่สูงเกินไป แล้วพนักงานกับทีมงานเข้าไม่ถึงเรา อันนี้มันเปลี่ยนแปลงยากนะผมว่า เราได้เรียนรู้ว่าการเป็นผู้บริหารควรมีความสัพันธ์อีกแบบหนึ่งที่ทำให้คนกล้าเข้าหาเรา อย่างน้อยเราก็ได้ข้อมูลจริงที่ทำให้เราเปลี่ยนได้ไวขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น บางทีเราอาจจะคิดไม่ได้ แต่เรามีไอเดียจากทีมงาน ถ้าเราเปิดใจให้เขา หาเวลามานั่งคุยด้วยกัน ทุกธุรกิจมันมีทางออกเสมอ ซึ่งอาจกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้

       “ส่วนในเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องที่หนึ่งคือ คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรารู้ว่าการท่องเที่ยวมันเปราะบางแค่ไหน เราเห็นกันแล้วว่าบริษัทท่องเที่ยวที่มีโมเดลธุรกิจอย่างเดียวนั้นไปไม่รอด เพราะฉะนั้น คุณต้องสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด และเรื่องที่สองที่สำคัญมากคือ คนจะเห็นว่าการที่นักท่องเที่ยวไม่ได้ไปเที่ยว แหล่งธรรมชาติมันสวยงามขึ้นเยอะเลย คำถามคือ หลังจากนี้ทำอย่างไรให้ travel with care มากขึ้น ทำอย่างไรให้เราชื่นชมธรรมชาติโดยไม่ทำลาย เว้นระยะให้เขามีพื้นที่ฟื้นตัวได้ อันนี้คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ และผู้ประกอบการต้องสื่อสารการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้มากขึ้น”

 


ร่วมติดตามและสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนได้ทาง

ท่องเที่ยวชุมชน : Local Alike
ลิ้มรสอาหารอร่อย : Local Aroi
อุดหนุนสินค้า : Local Alot