Locall.chiangmai

Locall.chiangmai: ฟู้ดเดลิเวอรีเชียงใหม่ในยุค Post-COVID กับราคาของการยกมือเป็นคนที่สอง

วิกฤต COVID-19 ที่ยังคงคุกรุ่นใหม่หมาดอยู่ในตอนนี้ คือตัวเร่งปฏิกริยาที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดของสังคมไปมาก แน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นประโยคแสนเกร่อสำหรับการขึ้นต้นบทความ หากแต่มันยังจำเป็นต้องถูกหยิบมาโปรยไว้เป็นประโยคแรกอีกครั้ง เพราะนี่คือเรื่องจริง เช่นเดียวกับความเป็นจริงที่ว่า COVID-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปตามๆ กันไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ หากต้นทุนยังมี การปิดร้านเพื่อรอดูแนวโน้มสถานการณ์คือทางเลือกแสนปลอดภัย แต่กับร้านรวงเล็กๆ ข้างทางที่ยอมม้วนเสื่อกลับบ้าน นั่นไม่ใช่การเลือก แต่เป็นการไม่ได้เลือกต่างหาก

       ในวันคืนของวิกฤตโรคระบาดนี้เอง จึงผลักดันให้คนหลายกลุ่มต้องลุกขึ้นมา ‘ทำอะไร’ เสียบ้าง แม้จะเป็นการทดลองทำสุ่มๆ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมจะดีกว่าการยืนมองดูคนรอบตัวทะยอยหนีหายไปเรื่อยๆ จนเมืองทั้งเมืองกลายเป็นความเงียบเหงา กลุ่ม SATARANA ‘นักทำ’ จากฝั่งกรุงเทพฯ จึงลุกขึ้นมาทำ Locall.bkk แพลตฟอร์มส่งอาหารที่รวมเอาร้านอาหารเล็กๆ ที่กระโดดเข้าร่วมสงคราม food delivery พร้อมเงื่อนไขใหม่ที่กลายเป็นจุดเด่น นั่นคือสามารถสั่งอาหารได้ทั้งย่าน กี่ร้านก็ได้ไม่จำกัด โดยเสียค่าบริการจัดส่งเพียงออเดอร์เดียวเท่านั้น

       Locall.bkk เริ่มต้นขึ้นที่ย่านประตูผี เสาชิงช้า และได้รับการตอบรับอย่างดีจนขยายเพิ่มเติมไปอีกหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ อย่าง ย่านเยาวราชที่เต็มไปด้วยร้านเด็ดร้านดังที่มีให้เลือกจนคนซื้อต้องตาลาย และไม่นานนักหลังจากนั้น Locall.bkk ก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Locall Thailand ส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อรองรับการขยายเครือข่ายที่กว้างมากขึ้นในระดับประเทศ อย่างเช่นการเกิดขึ้นของ Locall.chiangmai เครือข่ายแห่งแรกที่พาชื่อ Locall ออกไปลงสนามในพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างหัวเมืองเหนือที่ถูกพิษจากไข้โควิดไม่แพ้กัน

 

Locall.chiangmai

สวัสดีเจ้า Locall

       การออกนอกบ้านครั้งแรกของ Locall อย่าง Locall.chiangmai เกิดขึ้นจากหัวเรี่ยวหัวแรง 2 ฝ่าย คือ ‘แป้ง’ – อาคิรา ศิริวัฒนานุกุล สถาปนิกผู้ไม่ค่อยว่างไปทำงานสถาปัตย์ และ ‘ฟ้า’ – ณัฐวดี ยืนธรรม เจ้าของ Thunder Bird Hostel โฮสเทลที่ชอบทำตัวให้ไม่เหมือนโฮสเทล อย่างเช่นการเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นฮับให้กับ Locall.chiangmai ในครั้งนี้

       “จุดเริ่มต้นก็คือเราเอาสินค้าของคนอื่นมาช่วยขายก่อน จากนั้นแป้งก็มาเห็น เลยบอกว่ามาทำด้วยกันเลยจะดีไหม เพราะว่าคอนเซ็ปต์มันคล้ายๆ กันกับทาง Locall.bkk แต่สิ่งที่เราทำอยู่นั้นไม่มีแพลตฟอร์ม ของเขามีแพลตฟอร์มแล้วก็มี know-how มาให้เลยว่ามีขั้นตอนยังไงบ้าง พอนำแพลตฟอร์มแบบ Locall.bkk มาใช้มันก็ง่ายขึ้น แต่เรื่องความตั้งใจมันเป็นความตั้งใจเดียวกันตั้งแต่แรก” ณัฐวดี เล่าจุดเริ่มต้นของ Locall.chiangmai จากมุมมองของเธอเอง นั่นก็คือการรวบรวมเอาอาหารจากร้านใกล้เคียงในซอยเดียวกัน รวมถึงร้านของเพื่อนที่อยู่ในระยะวิ่งมอเตอร์ไซค์ไปถึงภายในไม่กี่นาที จับมาใส่ในแอพพลิเคชันรับส่งอาหารที่ให้บริการอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ร้านรวงเหล่านั้นได้มีพื้นที่การขายออนไลน์ทันช่วงล็อกดาวน์เมืองที่ผู้คนไม่ออกจากบ้านไปไหน

       เป็นจังหวะเดียวกันที่อาคิรากำลังมองหาโรงแรมหรือโฮสเทลที่พอจะเป็นฮับของบริการเดลิเวอรีได้ เหมือนอย่างที่ Locall.bkk ใช้ Once Again Hostel เป็นศูนย์รวมในการรับส่งอาหารจากร้านไปถึงลูกค้าที่ใช้บริการ

       “เริ่มแรกเราโทร.ไปหาทีม Locall.bkk ก่อน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นโปรเจกต์ของเพื่อนเราคนหนึ่ง แต่เพื่อนเราดูแลเรื่องระบบ เรื่องแผนธุรกิจเป็นหลัก เขาเลยให้ติดต่อกับทีมงานอีกคนที่เคยทำ food delivery มาก่อน ก็เลยจะรู้ว่าควรจะคิดค่าบริการยังไง ต้องบริหารคนยังไง บริหารจัดการหน้าบ้านยังไง ได้คุยกับพลอยเป็นหลัก (เพียงพลอย จิตรปิยธรรม) ก็โทร.ไปบอกความตั้งใจเลยว่าเราสนใจอยากทำ Locall ที่เชียงใหม่ เขาก็ตอบกลับมาว่า ทำเลย เอาแพลตฟอร์มไปใช้ได้เลย แล้วก็อธิบายรายละเอียดงานให้ฟังคร่าวๆ เช่นว่าต้องมีคนเท่าไหร่ ต้องทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นเราก็ลุยเลย”

       การเกิดขึ้นของ Locall.chiangmai จึงเป็นไปอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยประการฉะนี้

       “เรารู้อยู่แล้วว่าช่วงเก็บข้อมูลกับช่วงกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบมันทำคนเดียวได้ เราก็ลุยของเรามาเรื่อยๆ แล้วก็พยายามไปคุยตามโฮสเทล โรงแรม ร้านอาหารตามเชียงใหม่ที่คิดว่าเขาสามารถเป็น Hub ให้เราได้ เราเริ่มทำหลังกรุงเทพฯ ไปเยอะมาก ขนาดที่กรุงเทพฯ เขาเริ่มช้าไปนิดเดียวยังมีร้านอาหารปิดไปตั้งหลายร้าน แต่ของเชียงใหม่คือมันปิดไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น ย่านที่มีร้านอาหารส่วนหนึ่งก็คือปิดไปทั้งแถบแล้ว โรงแรมที่พอจะเป็นฮับได้ก็เลย์ออฟพนักงานไปหมด ตอนนั้นเราได้ข่าวมาว่า มี Thunder Bird Hostel ที่มีพี่ฟ้าดูแล เอาอาหารมาขายอยู่ ก็ลองไปคุย เพราะคิดว่าเขาน่าจะเข้าใจสิ่งที่เราทำ เราก็เลยทักมาหาพี่ฟ้า พี่ฟ้าก็บอกว่าเอาสิ และก็เข้าไปหาพี่ฟ้าเดี๋ยวนั้น ครึ่งชั่วโมงดีลเสร็จเรียบร้อย

       “อีกอย่างหนึ่งที่มันเกิดขึ้นเร็ว ก็เพราะเราให้ข้อมูลเขาน้อย เราไม่รอให้คนเห็นภาพทั้งหมดว่า Locall คืออะไร เห็นแพลตฟอร์มปลายทาง แต่เราใช้วิธีง่ายๆ คือการไปนั่งคุย ถามป้าว่าขายได้ไหม ถ้าป้าขายไม่ได้หนูเอาไปขายออนไลน์ให้เอาไหม ป้าก็บอกว่าเอา เราก็เลยเริ่มเลย แล้วป้าต้องทำยังไง อ๋อ ป้าไม่ต้องทำอะไรเลย เดี๋ยวหนูจะมาถ่ายรูปให้ หรือบางที บางคนยังไม่รู้เลย ป้าบอกว่าเอา เราก็จ่ายเงินซื้อกลับมาถ่ายรูปเองเลย 

       “มุมหนึ่งเป็นเพราะว่าเราเชื่อใจเขานะ คือเราเองเรารู้ว่าเราไม่ได้เก่งพอที่จะมาคิดแผนธุรกิจได้ดี แต่เรารู้ว่าเพื่อนเราคิดได้เปอร์เฟ็กต์ แล้วเราก็เชื่อว่าทีม Locall เป็นคนที่รู้และเข้าจะระบบเรื่อง food delivery เป็นอย่างดี เราเอาสิ่งที่คนเก่งเขาทำมาก่อน แล้วมาทำต่อ ทำไมมันจะไม่ดีล่ะ เราเชื่อในตัวเขา คือเพราะเรารู้จักเขาจริงๆ ด้วยแหละ ถ้าเราไม่รู้จักเราอาจจะไม่เชื่อก็ได้ (หัวเราะ)

       “เราเชื่อใน doer ด้วยเพราะที่ผ่านมาเราเป็น thinker มาโดยตลอด เราคิดแล้วก็สำเร็จความใคร่ด้วยความคิดตัวเอง แล้วมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เลยคิดว่าปีนี้จะเป็น doer ให้มากขึ้น แล้ว SATARANA ก็เป็นตัวอย่างของ doer ที่ดีมากๆ คือทำไปด้วยคิดไปด้วย” อาคิราพูดถึงสิ่งที่ตั้งใจ 

       เชื่อว่าในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคมและคนที่ทำงานด้านการพัฒนาเมือง ย่อมจะคุ้นชื่อกลุ่ม SATARANA เป็นอย่างดี เพราะ SATARANA ที่อาคิรากำลังพูดถึงคือกลุ่มพลังงานบวกที่ทำกิจกรรมพัฒนาเมือง ทำธุรกิจเพื่อสังคม อย่างเช่น MayDay ป้ายรถเมล์หน้าตาดีที่ตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพฯ หรือ Trawell เพจนักเล่าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองได้อย่างน่ารักน่าติดตาม แน่นอนว่า Locall Thailand ก็เป็นงานชิ้นหนึ่งของ SATARANA ด้วยเหมือนกัน

       “เอาเข้าจริงๆ พอเอาแพลตฟอร์มมาวางเลย คนก็ไม่ค่อยเข้าใจนะ หลายร้านเขาก็จะงงๆ คิดว่าเราเป็นแอพพลิเคชันอื่น แล้วจะมาหาผลประโยชน์ มาขูดรีดเขาหรือเปล่า ถึงเราจะไม่ได้สื่อสารอะไรให้ย่อยยากเลยก็ตาม แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าบริการเดลิเวอรีส่วนหนึ่งก็เก็บค่าบริการโหดจริงๆ มันเลยทำให้ต้องคิดว่าการที่เราทำแบบนี้ เรามีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือเปล่า ซึ่งพอเป็นแบบนี้มันก็ไม่ผิดเลยที่เขาจะตั้งกำแพงกับเราก่อน 

       “แต่ทำไปทำมาเขาก็รับรู้ความตั้งใจได้เองนะ บางร้านค้าที่ลูกๆ เขาเล่นเฟซบุ๊กเขาก็เห็นว่ามีรูปแม่อยู่ในสื่อออนไลน์ พอไปอวดเพื่อน เพื่อนก็มากดแชร์ บอกต่อกันไป ก็คือค่อยๆ ทำความรู้จักกันไปอย่างนี้แหละดีกว่า ทั้งเขาและเราเอง และด้วยสถานการณ์ที่เราต้องลงมือทำไปก่อน มันไม่มีเวลานั่งทำความเข้าใจกันขนาดนั้น” อาคิราเล่าถึงการสร้างความเข้าใจให้กับร้านค้าในข้อจำกัดที่มี 

       “แล้วพอมันมีแบบแผนมาอยู่แล้วว่าต้องทำอะไร พี่ว่ามันก็น่าจะเร็วกว่า เพราะมันเป็นปัญหาที่เราต้องแก้ทันทีเลย ถ้าเรามัวแต่มานั่งรีเสิร์ช 30 ร้าน 50 ร้าน มันก็ไม่ได้ทำซักที มันจะอดตายกันหมดแล้วค่ะ (หัวเราะ) เอามาทำเลย แล้วเดี๋ยวเราค่อยมาปรับกันหน้างาน มันเร็วกว่า” ณัฐวดีปิดท้ายยกแรกของการลงสนามอย่างดุเดือด – เดือดสมแล้วสำหรับการต้องต่อสู้เรื่องปากท้อง

 

Locall.chiangmai

เชียงใหม่เมืองปราบเซียน

       “ถ้าขับรถผ่านไปผ่านมา หรือไปเดินห้าง ก็จะคิดว่าทุกอย่างเป็นปกติแล้ว แต่ถ้าเกิดคุณอยู่ในย่านท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ มันโคตรไม่ปกติเลย มันจะไม่มีทางปกติไปจนกว่าจะมีไฟลต์บินเหมือนก่อนหน้านี้ ถึงตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่าเราจะต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบเดิมได้ไหม” อาคิราเปิดฉากยกที่สองด้วยภาพของตลาดและร้านรวงในซอยมูลเมือง 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Thunder Bird Hostel ฐานที่มั่นของ Locall.chiangmai

       “ถ้ามันเป็นรอบนอก บ้านของชาวบ้านก็ยังเป็นบ้านตัวเองอยู่ แต่ถ้าในเมืองอย่างนี้คือเช่าหมดเลย อย่างป้าร้านผลไม้ก็ถามว่า ป้าจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าแผง 300 บาทล่ะวันนี้ คือขายไม่ได้เลย

       “นอกจากนี้มันจะมีเรื่อง supply chain ที่ยาวไปถึงต้นทาง อย่างพวกผลไม้สด ถ้าเราขับรถไปดูที่ตลาดขายส่ง ทุกร้านมีผลไม้เต็มแน่นเลยนะ ตอนแรกเราก็คิดในใจว่าการที่มีผลไม้เต็มเลย แสดงว่ายังขายได้สิ แต่พอไปนั่งคุย ปรากฏว่ามันมีความจำเป็นที่เขาต้องสั่งมาเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นผู้ผลิตต้นทางก็จะแย่ คือมันเป็นสัญญาใจผูกขาดซื้อขายกันอยู่ ถ้าเขาไม่สั่งมา หลังจากนี้ก็จะไม่มีใครส่งให้เขาอีก มันพ่วงมาถึงตลาดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แผงผลไม้ก็จะมีกล้วยเน่า มีผลไม้เน่ากองเต็ม เรารู้สึกว่า ทั้งระบบกำลังลำบากหมดเลย

       “คือมันมีคนที่เดือดร้อนจริงๆ มันมีที่ที่พอจะเป็นฮับได้ แล้วก็มันมีทีมงานที่ทำงานได้ ก็เลยเกิดขึ้นเลย แต่ทั้งนี้มันก็ยังเกิดขึ้นแบบกระท่อนกระแท่นนะ” ณัฐวดีพุ่งคำตอบไปยัง pain point ของเมืองแบบตรงเป๊ะ

       เชียงใหม่คงเป็นเมืองในฝันของชาวกรุงเทพฯ อย่างยิ่งยวด จนหลายคนเคยหอบผ้าหอบผ่อนมาตั้งฐานที่มั่นใหม่ให้กับชีวิต เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องพูดกันตามตรงว่าในด้านการตลาดแล้วเชียงใหม่ไม่ใช่ยูโทเปีย และไม่แม้แต่จะเป็นเมืองในฝัน การันตีได้จากชาวกรุงเทพฯ ที่หอบผ้าหอบผ่อนหนีกลับเมืองหลวงมาแล้วนักต่อนัก ด้วยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นค่อนข้างจำเพาะและแตกต่างจากคนกรุงอย่างสิ้นเชิง และสิ่งนี้คือโจทย์ข้อสำคัญที่ Locall.chiangmai ต้องแก้ให้ขาด

       “เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มันเทียบกันยากมาก เฉพาะเยาวราชที่เดียวก็มีร้านดังอยู่เป็นร้อยๆ ร้าน แต่ของเรามันกระจายตัวมาก แถวนี้ที่ขายได้จริงๆ นับให้ถึงสิบร้านก็เหนื่อยแล้ว แล้วนี่คือร้านปิดไปเพราะโควิด-19 เยอะมากด้วย เราเลยต้องไปดึงร้านอื่นๆ มาช่วยให้อาหารมันหลากหลายขึ้น” ณัฐวดีพูดถึงเรื่องบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน ส่วนอาคิรามองเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งเป็นกำแพงสูงลิ่วที่ทีมต้องช่วยกันหาทางออก

       “เรากำลังพยายามทำความเข้าใจอยู่ เรากำลังพยายามปรับตัวเข้าหาเขาอยู่ อย่าง Locall.bkk กำหนดยอดขั้นต่ำไว้ที่ 300 แต่เชียงใหม่เราลดเหลือ 200 ก็ยังมีคนเสนอมาว่า 200 อาจจะแพงไปสำหรับคนเชียงใหม่หรือเปล่า หรือเราจะลองปรับลดลงมาเป็นขั้นต่ำออร์เดอร์ละ 100 บาท ซึ่งก็ยังไม่ได้ทดลอง ต้องค่อยๆ คุยรายละเอียดกันไป 

       “หรือที่ไม่ค่อยมีคนสั่งก็เพราะว่าเรายังขยายการส่งไปไม่ถึงหมู่บ้านหรือเปล่า อันนี้ก็เพิ่งเริ่มปรับ ด้วยพื้นที่ของเราแต่ละที่ก็ไม่ได้ใกล้กันอยู่แล้ว เราเพิ่งตัดสินใจขยายพื้นที่การส่งจาก 10 กิโลเมตร เป็น 25 กิโลเมตร มันก็จะไปครอบคลุมหมู่บ้านจัดสรรด้วย ก็เชื่อว่าจะทำให้เรามียอดสั่งเพิ่มขึ้นจากตอนนี้ได้เหมือนกัน

       “การเป็นสตาร์ทอัพแปลว่าทุกอย่างมันใหม่มาก มันต้องลอง ไม่ลองเราก็ไม่รู้หรอก เพราะคนที่บอกเราได้สุดท้ายมันก็คือลูกค้า เราไม่สามารถบอกอะไรเองได้อยู่แล้ว แต่ความสนุกมันก็อยู่ตรงนี้แหละ”

ทำไปเลยนี่แหละ ดีที่สุดแล้ว

       การสวมวิญญาณ doer ลงมือทำอย่างปัจจุบันกระทันหันให้ผลอย่างดาบสองคม – แม้อาคิราและณัฐวดีไม่ได้บอก เราก็พอจะเดาได้ ยิ่งกับการรับเอาวิธีคิดหรือแพลตฟอร์มจากแหล่งอื่นมาวางไว้ยังสถานที่ใหม่ ก็สมควรจะต้องมีการปรับตัวตามบริบท

       “กองทัพต้นทางเขาเหมือนกองทัพหลวงอะ แต่ของเราเหมือนกองทัพภูธร มีกันอยู่ไม่กี่คน (หัวเราะ)” ณัฐวดีเคาะระฆังเปิดฉากการคุยในยกที่สาม ส่งสัญญาณว่ายังไม่มีใครหมดแรง ทั้งกับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ และกับการปลุกปล้ำทำงานในนามของ Locall.chiangmai 

       อาคิราช่วยเสริมอีกแรง “คนน้อยมาก คือจริงๆ ช่วงแรกๆ มีคนเข้ามาเยอะ แต่ด้วยความที่มันเป็นงานอาสา เราไม่ได้ผูกมัดอะไร พอเวลาผ่านไป ต่างคนก็เริ่มมีชีวิต มีหน้าที่ที่จำเป็นต้องไปทำ คนก็ลดลง ตอนนี้ปัญหาข้อแรกเลยก็คือยังมีคนน้อยเกินไปนี่แหละ คืองานอาสามันดูน่าสนุกก็จริง แต่ด้วยความที่เราต้องเร่งให้มันเกิดให้เร็ว ถ้าไปคุยกับบางร้าน เขาก็จะบอกว่าพี่จะปิดสิ้นเดือนนี้แล้วนะ เราก็… เฮ้ย เราอยู่ไม่ได้แล้ว มันเลยขัดกับภาพที่ว่างานเราเป็นงานที่สนุก คือมันก็สนุกแหละ แต่มันมีเรื่องชีวิตคนอื่นห้อยอยู่ตรงนั้นด้วย 

       “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไงมันก็ต้องเกิดขึ้นตอนนี้เลย คือเราเชื่อว่าถ้าเราได้ทดลองทำมันอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงขึ้นมาก็ได้ มันมีหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าเราต้องทดลอง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่าเชียงใหม่มีผลตอบรับจริงหรือเปล่า แล้วก็ค่อยมาเรียนรู้กันใหม่หน้างาน ตอนนี้ที่คนไม่มาก ยอดสั่งก็ยังไม่มากด้วยเหมือนกัน เรายังมีเวลามาคิดว่าเพราะอะไร

       “เป็นไปได้ไหมว่าคนเชียงใหม่เป็นพวกสุขนิยมด้วยหรือเปล่า ร้านอาหารมันก็อาจจะไม่ได้ไกลมาก ไม่ได้ใช้เวลามาก การกินอาหารมันคือความสุนทรีย์ เพราะฉะนั้น การสั่งอาหารเป็นกล่องๆ มันก็จะไม่สุนทรีย์เท่าทำกินเองหรือไปนั่งกินที่ร้านหรือเปล่า คืออย่าว่าแต่คนสั่งเลย เราเองก็ยังคิดถึงการนั่งกินที่ร้านมากๆ เหมือนกัน

       “หรือเป็นเพราะจังหวะด้วยไหม ตอนที่กรุงเทพฯ เริ่มขายคือคนเขายังต้องอยู่บ้านอยู่เลย แต่เราเปิดมาได้สองวันคือเมืองเปิดแล้ว ห้างเปิดแล้ว นั่งกินได้แล้ว ไม่ใช่เฉพาะกับเรา แต่ยอดขายเดลิเวอรีที่ไหนๆ ก็ตก เราก็ต้องมาดูว่าควรปรับอะไรกันตรงไหน ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าจะมีบททดสอบหนักขนาดนี้ ไม่ได้คิดว่าเราจะยอมเจ็บก่อนหรืออะไรนะ แต่แค่รู้สึกว่ามันต้องทำอะไรสักอย่าง ก็มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง”

       วงสนทนาเงียบไปพักหนึ่ง ณัฐวดีลุกไปหยิบน้ำเย็นแก้วเล็กๆ มาวางตรงหน้าแต่ละคน คล้ายเป็นช่วงพักให้น้ำนักมวย อาคิราขยับตัวยืดหลังก่อนออกหมัดต่อ ไม่ลดละ

       “เราว่าช่วงโควิด-19 มีคนที่คิดเยอะมากๆ เพราะเขาไม่ได้ออกบ้าน แต่ก็พยายามที่จะทำบางอย่าง เขาก็จะโทร.ประชุมกันทั้งวัน zoom คุยกันทั้งวัน แล้วก็บอกว่าเหนื่อยมาก คุยงานเยอะมาก แต่คุยกันมาแล้ว 2 เดือนแต่คืบหน้าไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นแผนในหน้ากระดาษ ใจเราเสียดายมากนะ เพราะเรารู้ว่าคนพวกนั้นมีศักยภาพมาก ถ้าสิ่งที่เค้าคิดมันเกิดขึ้นจริงๆ ได้ก็คงดี  

       “เรามองว่านี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เราต้องทำสิ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ มองย้อนกลับมาเราจะเสียดายมากเลยนะ ตอนนั้นทำอะไรอยู่ อ๋อ นอนอยู่บ้าน ดูซีรีส์ อย่างนี้เหรอ คือมันก็คงสบายกว่านี้แหละ แต่เราจะเสียใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทำไปเลยนี่แหละดีที่สุดแล้ว”

       คล้ายกับการยกมือโหวตในห้องประชุม คนที่ยกมือเป็นคนแรกคือ Locall.bkk ในขณะที่อาคิราและณัฐวดียกมือสมทบเป็นลำดับที่สอง จนเกิดเป็น Locall.chiangmai ขึ้นอย่างรวดเร็ว ความรวดเร็วและการยกเอาไอเดียของคนที่หนึ่งมาทั้งก้อนนี้เองย่อมจะมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจกับร้านค้า การสร้างทีมทำงานขึ้นใหม่ และการต้องใช้เวลาค้นหาพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างออกไปจากบริบทเดิม อีกนัยหนึ่งของการยกมือโหวตเป็นคนที่สองจึงไม่ได้หมายถึงความเชื่อใจและเชื่อมั่นใจไอเดียของคนแรกเท่านั้น แต่ย่อมจะหมายถึงการเชื่อมั่นในความคิด ความสามารถในการปรับตัวและการต่อรองของตัวเองด้วยเช่นกัน

       ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การยกมือโหวตเป็นคนที่สองของ Locall.chiangmai ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นอีกหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นการขยายจาก Locall.bkk เป็น Locall Thailand และการเกิดขึ้นของ Locall ในภูมิภาคอื่น อย่างเช่น Locall สระบุรี ที่สแตนด์บายรอให้ได้สั่งอาหารจากร้านเพื่อนบ้านย่านตลาดในกันได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

Locall.chiangmai

เป้าหมายที่ไม่มีเป้าหมาย

       การยกมือเป็นคนที่สองคุ้มไหม – เราถามให้อาคิราตอบ

       “มันอาจจะยังไม่ค่อยคุ้มในแง่องค์กรก็ได้นะ ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจที่กระจายไปชุมชนก็เริ่มดีขึ้น แต่ในแง่การพัฒนาบุคลากร เราว่าคุ้ม เราก็จะได้ทีมงานที่เกิดขึ้นจากสิ่งนี้ คือคอนเนกชัน องค์ความรู้ หรืออะไรบางอย่างที่เกิดจากสิ่งนี้ มันเป็นความรู้สึกอยากสู้หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะถ้าเกิดว่ามันยังไม่ดีพอ ก็แปลว่ามันมีจุดที่เราทำให้มันดีได้ เราก็ต้องหาทางทำให้มันดีขึ้นให้ได้สิ คือท่ามกลางปัญหาทั้งปวงที่พูดมา เราก็ยังแฮปปี้อยู่นะ เวลาที่ ‘เฮ้ยๆ ร้านนี้มียอดสั่งว่ะ’ เขาก็ขอบคุณ เราก็ขอบคุณ ขอบคุณมาก อย่างน้อยวันนี้เขาก็จะมีเงินค่าแผงแล้ว

       “คือถ้าจะให้เราตอบเป็นกิจลักษณะ เป้าหมายข้อหนึ่งก็คือ เราอยากประคองให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ก่อน ส่วนในระยะยาว เป้าหมายก็คือ ถ้าวันหนึ่งเขาเดินมาบอกว่า ‘วันนี้มาส่งให้ไม่ได้แล้วนะคะ ลูกค้าเยอะมากเลยช่วงนี้’ สิ่งนี้คือการบรรลุเป้าหมายของ Locall.chiangmai แล้ว (หัวเราะ) ก็นั่นหมายความว่าเขาขายได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปพยุงกันแล้ว มันอาจจะจบที่ตรงนั้นก็ได้”

       “ส่วนตัวเราก็มองไปในระยะสั้นเหมือนกันนะ” ณัฐวดีตอบต่อจากเพื่อนร่วมทีม “เพราะบริบทมันไม่เหมือนกัน อย่างที่บอก คนเชียงใหม่ก็จะโหยหาการไปกินที่ร้านปกติเหมือนเดิมแหละ คือถ้าเกิดสมมติว่าเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองได้แล้ว เราก็อาจจะแยกย้ายแล้วไปทำอย่างอื่นกันต่อไปก็ได้ ต่อให้มันผ่านไปหรือจบโควิดไปแล้ว มันก็ไม่ได้จะเฟลนะ คืออย่างน้อยมันเกิดอะไรบางอย่างขึ้น

       “อย่างน้อยเราเรียนรู้ว่า หลังจากนี้ต่อไป ทีมงานที่มาช่วยเราทำ หรือคนที่เราจะติดต่อด้วยได้เป็นใครบ้าง มันช่วยอะไรชาวบ้านได้อีกสักอย่างหนึ่ง อาจจะไม่มาก อาจจะไม่ครอบคลุมรายจ่ายเขาเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยมันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีกว่าให้เขามานั่งรอเฉยๆ เพราะฉะนั้น เรามองว่ามันไม่มีทางเฟลเลย มันประสบความสำเร็จตั้งแต่ที่เราคิดว่าเราจะทำแล้ว หรืออย่างน้อยเขาก็จะได้ฉุกคิดว่า เฮ้ย ทำแบบนี้มันก็ขายได้นะ แม่ค้าก็ได้จะเรียนรู้นะ แค่เขาขึ้นมาในคอนเทนต์เราปุ๊บ มีคนไลก์ มีคนแชร์ มีคนสั่ง เขาก็เข้าใจแล้วว่าเขาสามารถโปรโมตตัวเองได้เหมือนกัน ดีไม่ดีเขาก็อาจจะกลับไปทำเพจของเขาเองก็ได้ ถึงวันนั้น Locall.chiangmai จะมีหรือไม่มีก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้วมั้ง”

       ณัฐวดีเคาะระฆังหมดยกด้วยเสียงหัวเราะร่าอีกครั้ง ตอกย้ำกับเราว่าทีม Locall.chiangmai เป็นเหมือนจอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า การคิดไปทำไป ณ วินาทีตรงหน้าจึงเป็นเพลงมวยที่สนุกเร้าใจ น่าติดตาม และคุ้มแสนคุ้มกับการกระโดดลงสนามในครั้งนี้