ชายเป็นใหญ่

ถ้าผู้ชายเริ่มต้นจาก 0 ผู้หญิงก็เริ่มจาก -10: โลกของผู้หญิงภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่

คุณคิดว่าทุกวันนี้ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันหรือยัง?  

        ภาพที่ผู้หญิงสามารถทำงานแบบเดียวกับที่ผู้ชายทำได้ หรือผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นประเทศได้ อาจทำให้ดูเหมือนว่าการเป็น ‘เพศหญิง’ นั้น ไม่ได้มีความยากลำบากอะไรในการใช้ชีวิตแล้ว 

        แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการโดน Sexual harrasment, การไม่สวมใส่บรา, การโดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ไปจนถึงการเลือกที่จะทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย เสียงของพวกเธอเหล่านั้นมักถูกคนกลุ่มหนึ่งโจมตีกลับไปเสมอ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำก็ตาม ราวกับจะบอกว่าเสียงของผู้หญิงมันไม่ได้สำคัญมากพอให้เปิดใจรับฟัง

        ล่าสุดในทวิตเตอร์ก็เกิดประเด็นที่ชาวโซเชียลฯ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างออกรสผ่าน #มองนมไม่ผิด หลังจากสตรีมเมอร์คนหนึ่งออกมาพูดว่าการมองหน้าอกของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ แต่ก่อนหน้านั้นในทวิตเตอร์ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์มาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งระหว่างที่พวกเเขาออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็จะมีผู้ชายกลุ่มหนึ่งออกมาดักคออยู่เรื่อยๆ พร้อมบอกว่า ‘พวกเธอไม่ใช่เฟมินิสต์’ หรือ ‘พวกเธอน่ารำคาญ’ เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างโต้เถียงกันไปมาจนทุกอย่างมาปะทุครั้งใหญ่ใน #มองนมไม่ผิด นั่นเอง 

 

         ‘ก็แต่งตัวโป๊ไง เลยโดน…’ วาทกรรมยอดฮิตที่มักถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชายด้วยการกล่าวโทษผู้หญิง โดยที่บางครั้งคนพูดก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่านั่นเป็นแนวคิดที่มาจากผลผลิตของปิตาธิปไตยหรือสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งฝังรากอยู่ในสังคมนี้มายาวนานจนถึงปัจจุบัน 

        จากรายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งทำการสำรวจความเชื่อและทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Gender Social Norms Index) ในประชากรกว่า 75 ประเทศ หรือ 80% ของประชากรโลก พบว่าประชากร 9 ใน 10 ทั้งผู้ชายและผู้หญิงยังมีอคติต่อผู้หญิง โดย 50% รู้สึกว่าผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมืองที่เหนือกว่าผู้หญิง และ 40% เชื่อว่าผู้ชายเหมาะที่จะเป็นผู้บริหารขององค์กรด้านธุรกิจมากกว่า แต่ที่น่าตกใจคือกว่า 30% เชื่อว่าการทุบตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

        งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลเมื่อสมัยหลายสิบปีก่อน แต่เพิ่งมีการสำรวจครั้งแรกในปี 2005-2009 และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การสำรวจครั้งที่ 2 เมื่อปี 2010-2014 พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีอคติต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้นเป็น 31 ประเทศ จากครั้งแรกที่เพียงแค่ 15 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่ระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่ปี ซึ่งหมายความว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นกันว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น แท้จริงแล้วเวลาที่เปลี่ยนไปไม่ได้ทำให้อคติทางเพศลดลงเลย 

‘เฟมินิสต์’ คำที่พูดได้ไม่เต็มปาก แต่ในใจร้องตะโกนบอกว่าเราคือ ‘เฟมินิสต์’ 

        “สังคมที่มีความเท่าเทียมกันจริงๆ คือสังคมที่นักการเมืองหญิงไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนของผู้หญิง แต่เป็นตัวแทนของทุกคนที่เลือกเขาเข้ามา”

        เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เฟมินิสต์สามย่าน’ ได้จัดงานเสวนาออนไลน์เปิดตัวหนังสือ ‘Men Explain Things to Me’ หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง’ หนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่งในวงการเฟมินิสม์ ที่เขียนโดย Rebecca Solnit นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ที่อธิบายถึงโลกของผู้หญิงภายใต้ปิตาธิปไตย และสรุปว่าปัญหาใหญ่ของสังคมคือ ‘การปิดปากผู้หญิงให้เงียบ’ 

        งานเสวนาวันนั้นได้ผู้หญิง 3 คน 3 ช่วงวัย และ 3 สายงาน อย่าง ‘พรรณิการ์ วานิช’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย, รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘สิรินทร์ มุ่งเจริญ’ นิสิตอักษรจุฬา เอกภาษาสเปน ผู้แปลหนังสือเล่มดังกล่าว มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและประสบการณ์ตรงที่แต่ละคนเจอมาเกี่ยวกับเรื่องอคติทางเพศหรือการคุกคามทางเพศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ละคนจะมีที่มาต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการถูกกดให้อยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่

        จุดร่วมอย่างแรกที่ทั้ง 3 คนรู้สึกเหมือนกันก็คือ เมื่อหลายปีก่อนไม่สามารถพูดว่าตัวเองเป็น ‘เฟมินิสต์’ ได้อย่างเต็มปาก ถึงแม้ในใจจะเป็นเฟมินิสต์ก็ตาม 

        “จากประสบการณ์ส่วนตัวสมัยยังเรียนอยู่ รวมถึงสมัยที่เป็นนักข่าวแล้ว เวลาโดนถามว่าเป็นเฟมินิสต์ไหม เราจะลังเลนิดหน่อย เพราะมีความรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำงานเรียกร้องสิทธิสตรี นั่นเป็นความหมายอย่างแคบ ในปัจจุบันถ้าพูดว่าเฟมินิสต์เท่ากับเรียกร้องสิทธิสตรีมันดูเชยไปแล้ว ทุกวันนี้เราก็เลยพูดได้อย่างเต็มอกว่าเราเป็นเฟมินิสต์ ในแง่ที่ว่าไม่ได้สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่เราสู้เพื่อความเสมอภาคของคนทุกคน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย” พรรณิการ์เป็นคนแรกที่เริ่มตอบคำถามว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์หรือไม่

        “ช่อไม่ได้มองว่าอยากให้มี ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้นในการเมืองไทย จะได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิผู้หญิง เราไม่ได้คิดแบบนั้น แต่ช่อคิดเหมือนนักการเมืองหญิงของฟินแลนด์ ซึ่งเธอพูดว่า สังคมที่มีความเท่าเทียมกันจริงๆ คือสังคมที่นักการเมืองหญิงไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนของผู้หญิง แต่เป็นตัวแทนของทุกคนที่เลือกเขาเข้ามา ช่อจึงคิดว่า เราเป็นเฟมินิสต์ในมุมแบบนั้นแหละค่ะ มุมที่ว่าเป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคน และไม่ควรมีใครถูกตัดสินโดยเพศสภาวะ หรือเพศกำเนิดของพวกเขา แต่ตัดสินกันที่ความสามารถ แนวคิด อุดมการณ์” 

 

ชายเป็นใหญ่

 

        ด้านอาจารย์ชลิดาภรณ์เองก็คล้ายกับพรรณิการ์ในแง่ที่ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนเธอเองก็ไม่ค่อยมั่นใจเหมือนกันว่าจะสามารถเรียกตัวเองวาเฟมินิสต์ได้ไหม แต่ถ้าเป็นตอนนี้เธอพูดได้เต็มปากเลยว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ เพราะจากการทำงานในด้านวิชาการเกี่ยวกับการต่อสู้ sexism หรือ อคติทางเพศ มาโดยตลอด จึงทำให้เธอได้ทำความเข้าใจคำว่าเฟมินิสต์ไปด้วยพร้อมๆ กัน 

        “แต่ดิฉันไม่ใช่เป็นเฟมินิสต์ที่เห็นผู้หญิงดีกว่าผู้ชายตลอดเวลา ผู้หญิงถูกเสมอ ผู้ชายผิดเสมอ ไม่ใช่อย่างนั้น ดิฉันสามารถที่จะไม่เห็นด้วย หรือไม่สนับสนุนผู้หญิงบางคนที่สะท้อนหรือผลิตซ้ำอคติทางเพศ” 

        ส่วนสิรินทร์ผู้แปลที่เป็นเด็กรุ่นใหม่นั้น แม้ตอนนี้เธอจะกล้าพูดแล้วว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ แต่ในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเธอเองก็รู้สึกว่าหากป่าวประกาศออกไปว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์อาจจะดูเป็นคนหัวรุนแรงในสายตาคนอื่น 

        “แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยเราก็ได้เรียนรู้ว่า ในเมื่อเราต้องการความเท่าเทียมทางเพศ ในเมื่อเราเห็นปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่ แล้วเราก็เป็นเฟมินิสต์ ทำไมเราถึงไม่กล้าบอกล่ะ ว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ ตั้งแต่นั้นเราจึงพูดมาตลอดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ และก็ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง หรือเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิสตรีด้วย”

        “เวลาโดนถามว่าเป็นเฟมินิสต์ไหม ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีลงไป เขาจะไม่ค่อยลังเลที่จะพูดว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์นะ แต่รุ่นช่อหรือรุ่นอาจารย์ชลิดาภรณ์เนี่ย มันมีความลังเลจริงๆ เพราะภาพลักษณ์เฟมินิสต์ที่มันถูกสร้างขึ้นมาในสังคมไทย เป็นภาพของผู้หญิงที่ร้องแรกแหกกระเชอ และไม่ค่อยเมกเซนส์สำหรับคนปกติทั่วไป ทำไมต้องมานั่งเรียกร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ สังคมไทยไม่ได้สั่งสอนให้เรารู้สึกภูมิใจในการที่เราเรียกร้องซึ่งสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของใคร” พรรณิการ์เสริม 

อคติทางเพศในแวดวงการเมืองกับองครักษ์พิทักษ์กรอบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

        ถึงคุณจะไม่ได้ติดตามกลางเมืองมากนัก แต่ก็คงรู้ทันทีเลยว่าสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาน้อยกว่าผู้ชาย แถมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยประเทศเดียว เพราะในจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกมีสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และมีผู้หญิงเพียงแค่ 10 คนเที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล จาก 193 ประเทศ 

        พรรณิการ์แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าเมื่อเธอเข้าไปอยู่ในสมรภูมิการเมืองจะเห็นได้ชัดมากเลยว่าผู้หญิงถูกสังคมชายเป็นใหญ่กดทับขนาดไหน โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้หญิง อายุน้อย และไม่ได้มาจากครอบครัวการเมือง 

        “ในสมรภูมิการเมือง มันเป็นพื้นที่ที่ชายเป็นใหญ่มากๆ และเขาไม่ใช่ผู้ชายธรรมดาด้วย เพราะสังคมการเมืองคุณจะเป็นผู้ชายธรรมดาไม่ได้ คุณต้องมีเงิน มีบารมี มีอิทธิพล คุณถึงจะเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองได้อย่างภาคภูมิใจ ยิ่งพอเป็นผู้หญิง ที่ไม่ได้รวย ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อน ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นรัฐมนตรี หรือเป็น ส.ส. เก่าหลายสมัย ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมเยอะไปกว่าคนชนชั้นกลางปกติทั่วไปที่เดินอยู่ตามท้องถนน ช่ออาจจะยังได้เปรียบคืออย่างน้อยเราเป็นนักข่าว เราเป็นบุคคลสาธารณะ มีคนเห็นหน้าเห็นตาอยู่บ้าง และเราก็มีบทบาทที่มีความเป็นการเมืองสูงมาก่อนในระดับหนึ่ง”

 

ชายเป็นใหญ่

 

        “มีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ไม่ลืมเลยก็คือ ไปหาเสียงที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน และก็มีกลุ่มนายก อบต. เข้ามาดูแล ช่วยเหลือ แต่เขาพูดกับเราว่า ไม่ต้องห่วง เรื่องการเมืองไว้ใจผม สวยๆ แบบนี้ ผมช่วยเต็มที่ ผมจัดการให้ชนะแน่นอน เราก็รู้สึกว่าคุณพูดว่าสวยๆ แบบนี้ผมช่วยแน่นอน มันหมายถึงอะไร คุณมองผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงในฐานะอะไร และผู้ชายที่เป็นนายก อบต. จะมาช่วยผู้หญิงที่มีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส. ด้วยเหตุผลว่า ผู้หญิงคนนี้สวย เดี๋ยวช่วย เขารู้สึกเหนือกว่า เขารู้สึกว่าเขาปกป้องคุ้มครองได้ เขารู้ดีกว่า แล้วก็ต้องสวยด้วยนะถึงจะช่วย ถ้าไม่สวยก็ไม่รู้ว่าจะช่วยหรือเปล่า ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่เราเจอ ทั้งๆ ที่ผู้ชายคนนั้นเห็นด้วยและสนับสนุนเราทุกอย่างเลยนะ

        “เหตุการณ์ที่สองเป็นตอนที่เข้ามาสู่สภาแล้ว เราก็เจอในประเภทที่ว่าเป็น ส.ส. ผู้ชายเข้ามารับน้อง จำได้เลยวันแรกๆ ที่เปิดสภา เดินไปไหนนี่โดนแซวแบบวี้ดวิ้วเลยก็มี และจะมีลักษณะที่เขามาเรียกเราว่าน้อง เรียกเราว่าหนู เป็นยังไงสมัยแรกตื่นเต้นหรือเปล่า พี่แนะนำได้นะ ขอถ่ายรูปด้วยหน่อย เวลาขอถ่ายรูปก็มีโอบด้วยนะ น่าตกใจนะคะเพราะมันคือในสภาผู้แทนราษฎร และชัดเจนมากว่าผู้หญิงอายุน้อยที่ไม่มีแบ็กกราวนด์ทางการเมือง โดนตัดสินแน่นอนว่าคุณไม่มีอะไร คุณไม่รู้อะไรหรอก คุณไม่ควรที่จะมาอยู่ตรงนี้ แต่จับพลัดจับผลูได้มา” 

        ไม่เพียงแค่ผู้ชายเท่านั้นที่มีอคติต่อผู้หญิง แต่ในบางครั้งผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลยเช่นกันที่ทั้งสะท้อนและผลิตซ้ำอคติทางเพศ ด้วยการตั้งตนเป็นองครักษ์พิทักษ์กรอบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไม่เพียงแค่ในสภา แต่รวมถึงทุกพื้นที่ในสังคมด้วย

        “ถ้าจำกันได้ ช่อเจอเหตุการณ์ที่โดนดูถูกกลับมาจากผู้หญิงด้วยกันหลายเรื่องเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่มีมารยาท ยกมือหรือไม่ยกมือก่อนที่ประธานสภาจะอนุญาต แล้วคุณปารีณามาไลฟ์ด่าช่อในเฟซบุ๊กส่วนตัว เหตุการณ์ที่สองติดๆ กันเลยที่คุณหมอพรทิพย์วิจารณ์เรื่องชุดของช่อว่าชุดไม่สุภาพ เป็นชุดที่มีสีขาวดำ ไม่ใช่ดำล้วน ก็จะสังเกตได้ว่านอกเหนือจากผู้ชายที่มาสั่งสอนเราแล้ว ยังมีการใช้ผู้หญิงด้วยกันเองนี่แหละมาสั่งสอนเราด้วยการใช้กรอบอนุรักษนิยมที่อยู่ในสภา เรื่องนี้ช่อคิดว่าน่ากังวลและน่าคุยต่อว่าทำไมผู้หญิงถึงทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์กรอบวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสภา ไม่ว่าจะผ่านการเป็นคนคอยสอดส่องดูแล ส.ส. หญิงด้วยกัน และการลุกขึ้นมาประท้วงสะกัดผู้หญิงที่จะพูดหรือจะอภิปรายในสภา มันเป็นกลไลของการใช้ผู้หญิงมาควบคุมผู้หญิง เพราะถ้าผู้ชายทำจะดูเหมือนรังแกผู้หญิง และหลายๆ ครั้งผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกด้วยซ้ำ เขาแค่รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมที่เขาจะต้องพิทักษ์รักษาไว้โดยไม่ได้คำนึงว่าการเป็น ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงนั้น ควรจะต้องสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันระหว่าง ส.ส. ชาย และ ส.ส. หญิง”

อคติทางเพศในแวดวงวิชาการ: ถ้าผู้ชายเริ่มต้นจาก 0 ผู้หญิงก็เริ่มจากลบ -10 

          แม้ว่าทุกวันนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาเทียบเท่ากับผู้ชาย แต่เมื่อเริ่มทำงานพวกเธอกลับถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถหรือความรู้ แต่เป็นเพราะคือ ‘ผู้หญิง’ 

        ผู้หญิงในยุโรปได้รับเงินค่าจ้างต่อชั่วโมงต่ำกว่าเพศชายถึง 16% ส่วนในประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่าตั้งแต่ปี 2530-2560 ไม่ว่าจะระดับการศึกษาใดลูกจ้างเอกชนผู้ชายจะมีค่าจ้างสูงกว่าผู้หญิงโดยตลอด และต่อให้ผู้หญิงกับผู้ชายจะรับผิดชอบงานที่ขอบเขตเหมือนกัน แต่ผู้หญิงมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหารน้อยกว่าผู้ชาย นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีทั่วโลกผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารมีเพียง 27% เท่านั้น

        “เราคงต้องย้อนไปตั้งแต่ที่อริสโตเติลกล่าวว่า ‘เสียงของผู้หญิงอ่อนแอ’ เพราะเรื่องของเหตุผลมันไม่ได้ถูกพัฒนาเต็มที่ในผู้หญิง ฉะนั้นกิจกรรมที่เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาหรือใช้เหตุผลมันไม่เด่นในผู้หญิง จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 21 แล้ว หลายๆ เรื่องที่คนเพศสภาพหญิงเจอก็ยังเป็นอย่างที่อริสโตเติลพูด อย่างตัวดิฉันเองทั้งเรียนหนังสือและทำงานด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ก็ไม่ใช่พื้นที่ของผู้หญิงเลยนะคะ เพราะในตอนที่เรียนหนังสือหรือตอนมาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ มันลำบากลำบนมาก คุณถูกตั้งคำถามมากมายว่าคุณมีคุณสมบัติ คุณมีสติปัญญามากพอไหมที่จะทำเรื่องแบบนี้ เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิงไม่รู้อะไร และคุณเชื่อไหมจากการสำรวจของสมาคมรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเขาพบว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ นักศึกษาที่เรียนรัฐศาสตร์มักจะประเมินว่าอาจารย์ที่มีเพศสภาพหญิง มีความสามารถน้อยกว่าอาจารย์ผู้ชาย โดยที่คุณยังไม่ได้เรียนเลยนะ แค่คุณมีเพศสภาพหญิงคุณถูกประเมินทันทีว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ทั้งที่ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย” อาจารย์ชลิดาภรณ์เริ่มเล่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญมาจากการเป็น ‘ผู้หญิง’ ในแวดวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชายมาตั้งแต่ในอดีต 

        “แม้แต่เรื่องเสียง มันก็มีงานวิจัยพบว่าคนที่พูดจาและน่าเชื่อถือต้องเป็นคนเสียงทุ้ม คุณลองแค่เทียบเสียงระหว่างเพศสภาพหญิงและเพศสภาพชาย ผู้หญิงเสียงแหลมกว่าไม่มากก็น้อยถูกไหม คนล่าสุดที่เจอหนักมากน่าจะเป็น ฮิลลารี คลินตัน เพราะโดยธรรมชาติเธอเป็นคนเสียงแหลม ยิ่งเวลาหัวเราะก็จะเสียงแหลมมาก เห็นภาพไหมว่าเพศของเรามันตามเราไปในที่ต่างๆ ยังไง

        “ตอนเลือกทำงานวิชาการดิฉันเลือกทำในเรื่อง Gender และ Sexuality ก็จะถูกมองแต่ว่าทำเรื่องผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นงานเรื่อง Sexuality ประเด็นก็คือจะมีนักวิชาการผู้ชายมาคอยแนะนำ มาคอยสั่งสอนดิฉันตลอดเวลา โดยบอกว่าสิ่งที่ฉันทำอยู่ไม่ใช่รัฐศาสตร์ ประเด็นที่ฉันสนใจทั้งหมดไม่น่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ประสบการณ์แบบนี้มันไม่ใช่ประสบการณ์เฉพาะตัวดิฉัน คือมันมีงานวิจัยกลุ่มใหญ่มากของนักวิชาการเพศสภาพหญิงในยุโรปที่เจอแบบเดียวกันอย่างนี้หมด เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์แบบนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่าคุณเรียนหนังสือเยอะ คุณเข้าไปอยู่ในแวดวงวิชาการ คุณมีสเตตัสแบบหนึ่งแล้ว มันจะทำให้คุณหลุดพ้นไป แท้ที่จริงมันก็ยังวนอยู่ในที่แบบเดียวกันนั้น”

 

ชายเป็นใหญ่

 

        “คุณเชื่อไหมว่านักวิชาการผู้หญิงในโลกนี้ เวลาขอตำแหน่งวิชาการ ใช้งานมากกว่านักวิชาการผู้ชาย 3-5 เท่า หรือในเวลาที่คุณสามารถจะขอตำแหน่งวิชาการได้แล้ว นักวิชาการหญิงจำนวนมากในโลกนี้ไม่กล้าขอตำแหน่งวิชาการ เพราะกลัวว่างานของฉันยังดีไม่พอ สมมติว่าคุณจะต้องขอยื่นตำแหน่งวิชาการด้วยงาน 3 ชิ้น ผู้หญิงจะยื่น 10 ชิ้นเสมอ เป็นเช่นเดียวกันนี้หมด นี่คือตัวอย่างให้เห็นในประเด็น Mansplaining หรือ Manterupting และสะท้อนว่าเพศมันตามเราไปในที่ต่างๆ อย่างไร และการแบ่งคนออกเป็นหญิงชาย มันทั้งไม่เท่ากันและไม่เป็นธรรมยังไง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคนมาเชิญชวนดิฉันว่าเราต้องไปต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง คุณไม่ต้องมาพูดกับดิฉันเลย ถ้าเท่าเทียมกันในระดับเพศสภาพแบบนี้ มันคือความไม่เท่าเทียม และคุณจะรักษาความอยุติธรรมและความรุนแรงต่อผู้หญิงไว้”

        พรรณิการ์เสริมว่าภาระการพิสูจน์ตัวเองของผู้หญิงนั้นมีอยู่ในทุกแวดวง โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองที่เธออยู่นั้นการเป็น ส.ส. ผู้หญิงจะต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมากว่าเมื่อเทียบกับ ส.ส. ผู้ชาย ซึ่งเป็น ส.ส. หน้าใหม่เช่นกัน 

        “เราต้องทำงานหนักมากและพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก กว่าจะทำให้นักข่าวเลิกถามเฉพาะเรื่องลิปสติกสีอะไร ใส่ชุดแบรนด์อะไร แต่ถามเรื่องงานของเราด้วย ถ้าคุณเป็นนักการเมืองชาย คุณเริ่มต้นจาก 0 แต่ถ้าคุณเป็นนักการเมืองหญิงคุณเริ่มต้นจาก -10 และคุณต้องทำงานหนักมากกว่าผู้ชายหลายเท่าเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าคุณไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่แต่งตัวสวยๆ เข้าไปในสภา” 

อคติทางเพศในโซเชียลมีเดีย แค่เป็นเฟมินิสต์ก็ผิดแล้ว 

        สิรินทร์เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องสิทธิสตรีในทวิตเตอร์ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า ‘เฟมทวิต’ และเธอก็เคยเจอประสบการณ์ตรงในการโดนนักเลงคีย์บอร์ดเข้ามาต่อว่าหรือนำภาพของเธอไปวิพากษ์วิจารณ์แบบเสียๆ หายๆ

        “มีผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเฟมทวิตเป็นผู้หญิงน่ารำคาญ ไม่ใช่เฟมินิสต์จริงๆ เพราะเขาเชื่อว่าเฟมินิสต์จริงๆ จะต้องเป็นเฟมินิสต์ที่เป็นนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวอย่างในอดีต ถึงจะเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ได้ เขามีภาพจำไปแล้วว่าเฟมินิสต์ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เฟมินิสต์จะต้องน่านับถือ ทำตัวให้น่าเคารพ แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย แค่การที่คนคนหนึ่งจะเป็นเฟมินิสต์ได้ในสายตาผู้ชาย ผู้ชายยังเป็นคนกำหนดเลยว่าต้องเป็นแบบไหน ทั้งที่มันเป็นการเรียกร้องสิทธิของเราเอง การที่ผู้หญิงออกมาพูดถึงปัญหาในปัจจุบันจึงถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระอยู่เหมือนเดิม”

 

ชายเป็นใหญ่

 

        “มีกรณีที่ผู้หญิงคนหนึ่งเธอออกมาพูดว่ามีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาเยอะ จนมองผู้ชายเป็นเครื่องจักรข่มขืน ผู้ชายเหล่านั้นก็ทำให้เป็นเรื่องตลกขำขัน ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าเฟมทวิตจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม พวกเราถูกตัดสินไปแล้วว่า คุณเยอะ คุณเรื่องมากเกินไป ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ผู้ชายกลุ่มนี้มีการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้นมา และนำภาพของเรามาวิจารณ์กันในกลุ่มอย่างสนุกปาก มา Body shammed ที่เป็นพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซึ่งมันเป็นแบบนี้อยู่หลายวันเลยที่เราพูดอะไรไปแล้วก็จะโดนแคปภาพมาล้อเลียน มาวิจารณ์ มาพูดถึงในแง่ลบ แค่เพราะว่าเราเป็นเฟมินิสต์ แล้วเราพูดในสิ่งที่ผู้ชายพวกนั้นไม่อยากฟัง” 

        สำหรับพรรณิการ์ที่ดูเหมือนว่าเธอน่าจะตกเป็นเป้าของการถูกคุกคามในโซเชียลมีเดียเยอะ ความเป็นจริง เธอบอกว่าเมื่อเทียบกับนักการเมืองผู้หญิงคนอื่นๆ เธออาจจะโดนน้อยกว่าด้วยซ้ำ 

        “อย่างคุณปารีณาก็จะโดนพูดถึงเสียหายหยาบคายในเรื่องเพศเยอะ หรือคุณเดียร์ คุณตั๊น เท่าที่เราเห็นเวลาอยู่ในโซเชียลมีเดียเขาจะโดนด่าไปในทางคุกคามทางเพศค่อนข้างเยอะเลย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น ถ้าคุณจะไม่ชอบเขาหรือว่าเขาทำตัวไม่เหมาะสมในฐานะ ส.ส. คุณก็ควรจะพูดในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา ไม่ใช่ไปด่าเขาสาดเสียเทเสียในลักษณะคุกคามทางเพศ สิ่งที่น่ากังวลสำหรับช่อคือบรรดาเพจที่เป็นเพจ IO เพจข่าวปลอมต่างๆ เวลาดิสเครดิตในเชิงที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระมาก มันเร้าอารมณ์คนได้ดี และมันน่ากลัวสองอย่างคือนักการเมืองตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying  ได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องเพศเขามาเกี่ยวข้อง เรื่องที่สองคือเห็นเลยว่าวิธีแบบนี้ได้ผลในการเร้าอารมณ์หรือสร้างความเกลียดชังร่วมของคน เวลาที่มีคนหนึ่งเริ่มขึ้นมา คนก็จะเข้าไปกระเหียนกระหือรือในการด่าอย่างเมามัน

        “พอเห็นสภาวะแบบนี้เยอะๆ มันทำให้ช่อนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ใต้ต้นมะขามที่มีคนเอาศพไปแขวนแล้วใช้เก้าอี้ฟาด โดยมีคนที่ยืนอยู่รอบๆ หัวเราะ มันเป็นอารมณ์แบบนั้น เวลาอยู่ในโซเชียลมีเดียพอมีใครสักคนหนึ่งโพสต์ประจานขึ้นมา คนก็เข้าไปสมน้ำหน้าดีเนื้อดีใจอย่างน่าสะพรึง ช่อคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องทั้งอคติทางเพศและเรื่องการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนโดยทั่วไปด้วยวาทะเกลียดชัง

        “เป็นผู้หญิงจะโดนเยอะเรื่องเพศ เป็นผู้ชายก็จะโดนประเภทเห็นต่างทางการเมืองแล้วไม่ใช่คน คุณสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ พอผู้หญิงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเมื่อไหร่ คุณจะโดนด่าว่า ‘อีกะหรี่’ ผู้หญิงชั้นต่ำที่ไปมั่วเซ็กซ์กับคนนู้นคนนี้ เพื่อลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงผ่านพฤติกรรมทางเพศ ช่อคิดว่ามันเป็นการตั้งใจผลิตขึ้นมาเพื่อลดทอนเครดิตของเราโดยการกระหน่ำเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม เรื่องการตบตีกับ ส.ส.. หญิงอีกคนเพื่อให้เรากลายเป็นภาพลักษณ์แบบเหมารวมของนักการเมืองหญิงหรือผู้หญิงทั่วไปว่าวันๆ ก็เอาแต่ตบตีกัน ไม่มีสาระ ระวังทั้งในแง่คุณเป็นคนดู ระวังว่านี่เป็นการตั้งใจผลิตซ้ำเพื่อลดความน่าเชื่อถือของคนที่เขาเป็นเป้าโจมตีหรือไม่ ระวังว่าคุณอย่ามันปากเกินไปจนกระทั่งมองคนคนหนึ่งไม่ใช่คนได้อย่างง่ายดายมาก” 

ผู้หญิงถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ‘แม่’ กับ ‘กะหรี่’

        การออกมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีผู้หญิงที่ตั้งคำถามหรือพูดถึงเรื่องของความไม่เป็นธรรมทางเพศเหมือนอย่างที่เฟมทวิตเตอร์โดนนั้น อาจารย์ชลิดาภรณ์มองว่านี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นปรากฏการณ์อมตะนิรันดร์กาล ที่ผู้หญิงทุกยุค ทุกสมัยในสังคมก็โดนแบบนี้เช่นกัน  

        “ดิฉันชวนคิดว่าทำไมคนถึงจะชอบเฟมินิสต์ ทำไมคนถึงจะชื่นชมคนที่ตั้งคำถามในประเด็นเรื่องเพศสภาพ มันไม่มีใครชื่นชมคุณหรอก เพราะคนมากมายเชื่อว่าความเป็นหญิงความเป็นชายเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ คุณจะมาพูด มาตั้งคำถาม มาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร มันฟังดูไร้สาระ เพราะฉะนั้น คนที่มาพูดประเด็นเรื่องหญิงชาย ตั้งคำถามทั้งหลายทั้งปวงก็จะดูเหมือนคนที่ไม่มีเหตุผล วิธีที่คนเข้ามาเถียงกันกับคุณมันก็จะมีคนลากเข้าไปเรื่องธรรมชาติ อย่างเวลาที่คุณพูดเรื่อง Sexual harassment จะมีคนเพศสภาพชายหลายคนในสังคมนี้ เยอะเลยที่พยายามจะชี้ให้คุณเห็นว่าที่คุณโดนคุกคามทางเพศเพราะคุณแต่งตัวโป๊ เพราะคุณยั่วยวน ทำไมเขาถึงพูดแบบนี้ล่ะ เพราะเขาเชื่อว่าคนที่เป็นผู้ชายมีความต้องการทางเพศที่มากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงไม่มีความต้องการทางเพศหรือจะเริ่มมีความต้องการทางเพศเมื่อแต่งงานและถูกปลุกเร้าโดยผัว เพราะฉะนั้น พวกคุณทั้งหลายที่ตอนนี้ยังไม่มีผัวเป็นตัวเป็นตนคือไม่มีความต้องการทางเพศค่ะ (หัวเราะ)” 

 

ชายเป็นใหญ่

 

        “ผู้หญิงดีๆ ทั้งหลายต้องเป็นคนรับผิดชอบที่จะไม่ไปเร้าความต้องการทางเพศของผู้ชาย ตรรกะแบบนี้อยู่ทั้งในกฎหมายและค่านิยมทางสังคม เพราะฉะนั้น คุณดูให้ดีๆ กฎหมายอาญาที่พูดถึงการข่มขืน กระทำชำเรา ยกภาระให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายพิสูจน์ ไม่เฉพาะแค่ในรัฐไทย แต่ในทุกรัฐเลย คือ คุณกล่าวหาผู้ชายว่าผู้ชายข่มขื่นคุณ กลายเป็นผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายแก้ต่างให้ได้ ก็เลยไม่แปลกที่เวลาพูดประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความไม่เป็นธรรม จะต้องมีมาอัดกับคุณแบบนี้อยู่ตลอดเวลา และก็มีคนพยายามจะบอกกับคุณว่า ‘เฟมินิสต์ ไม่ใช่อย่างคุณ’ ‘คุณไม่ใช่เฟมินิสต์’ เฟมินิสต์ที่คนทั่วไปคิดถึงก็จะเป็นคนที่พูดเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม และยังยอมเป็นผู้หญิง ยอมให้ไอ้คนที่เหลือที่เป็นผู้ชายพูดเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมในเรื่องสิทธิที่เป็นทางการ ภาพของเฟมินิสต์จึงไม่ใช่คนที่ออกมาเขย่าเพศสภาพ เขย่าอคติทางเพศ ภาพของเฟมินิสต์ที่คนรับได้คือเฟมินิสต์ที่ไม่ท้าทายเรื่องเพศ พอคุณเป็นเฟมินิสต์ที่ผู้คนไม่ชอบหรือคุณเป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามมากๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณ เราก็จะเห็นได้ว่ามันก็จะมีวิธีทำให้ผู้หญิงไม่สามารถที่จะเปล่งเสียงหรือเกิดความหวาดกลัวด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีคุณด้วยเรื่องของพฤติกรรมทางเพศ เรื่องของรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าหน้าผมทั้งหลายทั้งปวง ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีผู้หญิงมาโดยตลอด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะวิธีคิดของสองภาพที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นหญิงชาย ผู้หญิงถูกแบ่งแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือถ้าคุณไม่เป็น ‘แม่’ คุณก็เป็น ‘กะหรี่’

        “เสียงที่คนยินดีรับฟังคือแม่ วิธีทำให้ผู้หญิงหมดสถานะผู้พูดที่น่าเชื่อถือก็ต้องทำให้คุณกลายเป็นกะหรี่ สิ่งนี้มันแสดงให้เห็นว่า sexuality มันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองยังไง และ sexuality เองก็ถูกโจมตีคนที่เป็นเพศสภาพชายว่าไม่ใช่ผู้ชาย sexuality จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก พอเรามาอยู่ในช่วงเวลาที่การเมืองมันแบ่งขั้วเช่นนี้ ก็ยิ่งเห็นชัดว่า sexuality ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองยังไง มันหล่อเลี้ยงความรุนแรงทางเพศอย่างไร เพราะขั้วทางการเมืองทำให้มองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังใช้ sexuality หรือความรุนแรงทางเพศโจมตีอีกฉายอยู่

        “ถ้าคุณเรียกร้องว่าหญิงชายต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน คำถามของดิฉันก็คือ คุณพยายามจะยกให้ใครเท่ากับใคร เสมอภาคกับใครคะ ถ้าเท่ากับผู้ชาย แปลว่าผู้ชายถูกมองว่าเหนือกว่าดีกว่า ปัญหามันจะอยู่ที่ Gender Patriarchal และการสร้างความเสมอภาค ถูกให้ค่าที่แตกต่างกัน จริงๆ คำว่า Patriarchal ในภาษาไทยดิฉันชอบใช้คำว่าระบบนิยมชาย ไม่ใช่ปิตาธิปไตย เพื่อให้คุณเห็นว่าสิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้าอยู่ คือการให้คุณค่าที่ไม่เท่ากัน และตัวปัญหาคือเพศอย่างที่คุณรู้จัก เราไม่ควรเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย แต่เราควรจะทำให้ความเป็นหญิงความเป็นชายอย่างที่เป็นอยู่ หายไปจากโลกนี้ต่างหาก” 

ชายเป็นใหญ่

อย่ายอมให้ใครหยุดปากของคุณ

        “ผู้หญิงทุกคนคงเข้าใจดีว่าฉันกำลังพูดถึงอะไร กี่ครั้งกี่หนที่การทึกทักเอาเองต่างๆ สร้างความวุ่นวายให้กับผู้หญิงอย่างเรา ไม่ว่าจะสายงานไหน มันทำให้ผู้หญิงไม่กล้าลุกขึ้นมาพูดอะไร และทำให้ไม่มีใครฟังตอนที่ผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาพูด สิ่งเหล่านี้นั้นกดทับผู้หญิงอายุน้อยให้อยู่กับความเงียบด้วยการชี้ให้เห็นว่าโลกนี้ ไม่ใช่โลกของผู้หญิง เช่นเดียวกันกับการล่วงละเมิดทางเพศบนท้องถนน มันสั่งสอนให้เราไม่มั่นใจและจำกัดตัวเอง ในขณะที่มันมอบความมั่นใจเกินตัวให้ผู้ชาย” 

        นี่คือประโยคหนึ่งจากหนังสือ Men Explain Things to Me ที่เผยว่าการถูกปิดปากให้เงียบ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งอย่างหนึ่งในทางการเมืองหรือการสร้างความชอบธรรมให้อีกฝ่ายมาอย่างยาวนาน แม้แต่ในปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าระบอบการปกครองหรือค่านิยมทางสังคมจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ลึกๆ การที่ใครจะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าเมื่อก่อนเท่าไหร่นัก พวกเขายังต้องเจอกับแรงกดดันจากหลายฝ่ายที่บีบบังคับให้จำยอมต่อความเป็นธรรม 

        “อย่ายอมให้ใครหยุดปากของคุณได้ ผู้หญิงที่ปากกล้าและกล้าพูด หรือไม่ได้เป็นผู้หญิงแบบที่สังคมเขาคาดหวังให้เราเป็น มันมีราคาที่ต้องจ่าย และก็จ่ายหนักด้วยในหลายๆ เรื่องทั้งสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นส่วนตัว ก็แล้วแต่ว่าคุณปากกล้าขนาดไหน ราคาที่คุณต้องจ่ายก็แพงมากขึ้นไปด้วย แต่หนังสือเล่มนี้มันทำให้เราตาสว่างได้ว่า ไม่ว่าราคาที่ต้องจ่ายมากขนาดไหน มันคุ้มค่าที่จะต้องจ่าย มันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเราเอง แต่มันเป็นเรื่องของเราในฐานะมนุษยชาติว่าจะยอมถูดปิดปากหรือเปล่า ช่อชอบประโยคหนึ่งในหนังสือมาก เขาบอกว่า ‘จงเป็นผู้หญิงอย่างคาสแซนดรา (Cassandra) ที่ถูกสาปให้พูดไปแล้วไม่มีใครเชื่อถือ เพราะว่าไม่ยอมมีเซ็กซ์กับอะพอลโล (Apollo) เทพผู้ยิ่งใหญ่’ เธอเป็นผู้หญิงที่กล้าปฏิเสธความนิยมชายหรือวัฒนธรรมปิตาธิปไตย แม้จะถูกลงทัณฑ์เพราะว่าไม่เชื่อฟัง ยังไงก็ดีกว่าการถูกลงทัณฑ์ให้เชื่อฟังตลอดไป 

        “ไม่มีใครที่จะถอนคำสาปนี้ของคาสแซนดราไปได้ คุณต้องพูดไปเรื่อยๆ จนกว่าสารที่ต้องการสื่อจะไปถึงผู้ฟัง โอเค คุณต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชาย แต่ว่าก็ต้องเป็นอย่างนั้น คุณอาจจะต้องพูด 10 เท่า 20 เท่า เพราะคุณเป็นเพศที่ถูกให้คุณค่าน้อยกว่า แต่เมื่อคุณพูดไปเรื่อยๆ แล้วถึงวันหนึ่ง คุณพิสูจน์ตัวเองได้มากพอ และสังคมก็จะเห็นว่าสิ่งที่คุณพูดมีความหมาย เมื่อถึงวันนั้นเราค่อยอธิบายให้เขาฟังว่าคุณรู้ไหมฉันใช้เวลา 10 ปีถึงจะทำให้คนเห็นว่าสิ่งที่ฉันพูดคืออะไร และสังคมเขาจะได้รู้ว่าเขากำลังตกอยู่ในวังวนของการให้คุณค่าคนจากการให้คุณค่าคนจากเพศที่ต่างกัน”

        พรรณิการ์ทิ้งท้ายเอาไว้ก่อนที่วงเสวนาจะจบลง ซึ่งประสบการณ์ของแขกแต่ละคนนั้นถือเป็นภาพสะท้อนที่ยิ่งให้เห็นว่า ‘ไม่มีที่ใดในโลกที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง’ และการเกิดมามีเพศสภาพเป็น ‘ผู้หญิง’ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เรียกว่าตัวเองเป็น ‘เฟมินิสต์’ นั้น ยิ่งยากทวีคูณ พวกเธอต้องฝ่าฟันหลายสิ่งอย่างมาโดยตลอด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ ด้วยความคาดหวังว่าวันหนึ่ง ‘ทุกคนจะเท่าเทียมกัน’ ไม่ใช่ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย 

 


ที่มา: