“สมัยก่อนยุคสุโขทัยเราใช้คำว่า พ่อปกครองลูก ผมรู้สึกว่าคำนี้มันจบ มันตอบอะไรหลายอย่าง ครอบครัวมันเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่เกี่ยวกับชีวิตเรา เราต่างก็รักพ่อรักแม่ แต่ถ้าผมบอกว่าผมไม่แฮปปี้กับพ่อที่ปกครองผมละ แม้จะเป็นความหวังดี แต่มันอึดอัด”
ผู้ฟังเดินไปขอไมค์เล่า ‘เรื่องเล็ก’ จากครอบครัวของเขากลางวงพูดคุยขนาดไม่ใหญ่ในเย็นย่ำวันศุกร์ ณ ร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books) ที่ผู้คนฝ่ารถติดมาร่วมงานเปิดตัวหนังสือ มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ของอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร จัดพิมพ์โดยปาตานี ฟอรั่ม (Patani Forum) โดยอาจารย์ผู้เขียนกล่าวทั้งในช่วงเปิดวงสนทนา และบทนำหนังสือว่าใช้เศษเสี้ยวเวลาของแต่ละวันในการเขียนแต่ละบทออกมา โดยเฉพาะเวลาเดินทางที่เดินช้าอืดอาดในยามรอคอย ทั้งคอยเครื่องบินออก คอยรถเมล์อุ้ยอ้ายเคลื่อนไปบนท้องถนน ฯลฯ คอยไปคอยมาเขียนได้สองสามหน้า ความยาวไม่สั้นไปยาวไป อ่านง่ายย่อยได้ในทันที
รูปแบบการเขียนลงโซเชียลมีเดียในยุคนี้ที่เอื้อต่อการบันทึกความรู้สึกฉับพลัน ไม่ถูกกลั่นกรอง คงไว้ซึ่งความดิบ สด จริงแท้ต่อความรู้สึกนึกคิด ผสานความรู้สึกที่กระทบใจเข้ากับความรู้วิชาการที่มีอยู่ จนกลายเป็นงานเขียนที่เข้าถึงผู้อ่านได้ในวงกว้าง ต่างไปจากงานวิชาการขนาดยาวดั้งเดิม
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักวิชาการรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมสนทนาเสริมในประเด็นนี้ว่า เขาเองก็ไม่ถนัดใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนสื่อสารอีกต่อไป และเล่าถึง ‘PDF Syndrome’ ในกลุ่มนักวิชาการที่คุ้นเคยกับการเขียนยาวๆ รูปแบบตายตัวว่าเป็นสิ่งที่ควรจะปรับ และนักวิชาการควรกระโจนออกมาสื่อสารกับผู้คนให้มากขึ้น ง่ายขึ้น อย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้เผยให้เห็นทาง
ทั้งนี้นี่ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันว่าสื่อสารแบบใดดีกว่า หรืออะไรจะมาแทนที่กัน สิ่งสำคัญคือการชวนสังคมตั้งคำถาม โยนหลักวิเคราะห์เชิงเหตุผลเข้าไปเสริม ซึ่งหลายครั้งกรอบการเขียนวิชาการดั้งเดิมทำให้ต้องคอยระมัดระวังเสียจนไม่กล้าเสี่ยง เขียนงานด้วยความรู้ หากไร้ความรู้สึก กลัวการถูกปะทะจนไม่สามารถปล่อยความเห็นและตัวตนออกมาในพื้นที่สาธารณะ
เช่น ฟูอาดี้เองที่ตอนนี้กล้าพูดได้ว่าคนที่เชื่อในประชาธิปไตยจริงๆ ยากจะมีความสุขในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มมีการต่อต้านทักษิณ รัฐประหาร 2549 สลายการชุมนุม 2553 รัฐประหาร 2557 จนถึงยุคตุลาการวิบัติที่สาหัสขึ้นเรื่อยๆทุกวันนี้ ในช่วงเวลาเช่นนี้หากนักวิชาการ หรือผู้มีบทบาทในการตั้งคำถาม หาคำตอบ ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็น จะด้วยกลัวผิด หรือถูกแปะป้าย ความเป็นนักวิชาการนั้นก็ดูจะไร้ความหมาย
ยิ่งในช่วงเวลานี้ที่การแทรกแซงของรัฐ สถาบันขนาดใหญ่ทั้งหลายเริ่มเผยชัดขึ้นมา ยิ่งมีความจำเป็นที่เราต่างต้อง ‘มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่’ ให้มากขึ้น ซูมเอาต์ให้เห็นโครงสร้างเบื้องหลังที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ มองให้ละเอียดจนเห็นโยงใยเล็กๆ น้อยๆ ที่คอยชักใยชีวิต ปะติดปะต่อ ร้อยเรียงเรื่องราวจนภาพใหญ่พอ ชัดพอจะไปทัดทานสถาบันใหญ่ที่คอยปิดหูปิดตา อำพรางเราว่าอำนาจนั้นอยู่ที่พวกเขาและเรานั้นทำอะไรไม่ได้ ไปจนถึงบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ บิดเบือนว่าความตายของผู้คนที่อดทนไม่ได้ต่อสังคมไร้ความยุติธรรม ปรากฏการณ์ซึมเศร้าไร้ความหวังหมู่ทั้งในคนรุ่นใหม่และคนที่ไร้หนทางทำมาหากินนั้นเป็น ‘เรื่องส่วนบุคคล’
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงชวนนักวิชาการออกมาสื่อสารกับสังคม แต่ยังชวนให้เราต่างได้เริ่มถ่างตามองให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำงานอย่างไร้ข้อจำกัดทั้งกาล และสถานที่ เช่นบทหนึ่งในหนังสือที่ว่าด้วย ‘อีกบทเรียนจากการสอน’ ที่สะท้อนเรื่องเล็กๆ อย่างการจัดห้องเรียนว่ามีส่วนกำหนดค่านิยมสังคมอย่างไร ในสหรัฐฯ มีการจัดห้องเรียนอย่างไร ทำไมนักศึกษาถึงกล้าคิด กล้าวิจารณ์ มองอาจารย์เสมอภาคไม่ต่างจากผู้เรียน ภาพสะท้อนจากห้องเรียนที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมหลอมความเป็นเรา นี่หาใช่เป็นเพียงความต่างระหว่างปัจเจกบุคคลเลย
หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว หน่วยย่อยที่สุดของสังคม ก็สะท้อนถึงสังคมขนาดใหญ่ไม่น้อยไปกว่ากัน ดังที่ผู้ร่วมงานที่ลุกขึ้นกลางคันไปจับไมค์คนนั้นได้กล่าวถึงรูปแบบการปกครอง ‘พ่อปกครองลูก’ ว่าไม่ได้จบไปในสมัยสุโขทัย หากยังเป็นชุดความคิดใหญ่ที่ครอบงำความสัมพันธ์เชิงอำนาจจนถึงปัจจุบัน
“อ่านเล่มนี้แล้วทำให้นึกว่าอะไรเป็นเรื่องเล็กๆในชีวิตเรา ชีวิตผมเกิดมาห้าสิบกว่าปี ผมไม่เคยกล้าทำอะไรที่พ่อไม่เห็นด้วยเลย อยากเรียนรัฐศาสตร์ พ่อทำงานธนาคารก็ขอให้ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วเราก็ทำตาม ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมเราถึงนึกว่าพ่อปกครองลูกเป็นเรื่องดี ที่จริงแล้วเราแฮปปี้กับมันแค่ไหน”
บทสนทนานั้นชวนให้ผู้คนกล้าเปิดปาก แสดงความเห็น พูดในสิ่งที่ตะขิดตะขวงสงสัย ไม่กลัวถูกแปะป้ายโดนกล่าวหาว่าคิดต่างอย่างไร พร้อมเปิดใจกระโจนเข้าร่วมวงสนทนาด้วยความอยากหาคำตอบ อยากแลกเปลี่ยนให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ความเป็นบทสนทนาที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มนี้ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากปาตานี ฟอรั่ม ตัดสินใจรวบรวมงานเขียนของอาจารย์ยุกติ และตีพิมพ์หนังสือนี้ออกมา แม้ต้นฉบับจะถูกค้างอยู่นานสองปีด้วยเหตุผลทางทุนการผลิต แต่จะช้าหรือเร็วอย่างไรเขาก็บอกตนเองว่าต้องพิมพ์งานชิ้นนี้ให้ได้ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้คนภาคใต้ได้เห็นว่าพวกเขาทำทุกอย่างได้เอง ไม่ต้องพึ่งสายพานการผลิตจากกรุงเทพฯ เสมอไป
แต่เพื่อให้ผู้อ่าน ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคไหน ชุมชนใด ได้เริ่มหันมามองเรื่องราวรอบตัว เริ่มตั้งคำถามเรื่องใหญ่ๆผ่านเรื่องที่ดูคล้ายว่าจะเล็กน้อย อ่านและสังเกตเหตุบ้านการณ์เมืองที่เกิดขึ้นจนสายตาค่อยๆ ขยายออก ค่อยๆ มองเห็นว่าเรื่องเล็กๆ ในชีวิตนั้นถูกกำหนดมาจากโครงสร้างใหญ่ที่มองไม่เห็นอย่างไร
เห็นจนสามารถสลัดทิ้งมันไปได้ว่าสิ่งที่เราเคยยึดถือ ปฏิบัตินั้นอาจไม่ใช่วิถีทางที่ต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป และเพื่อส่งเสียงไปให้ผู้ที่ต้องสูญเสียว่า ความทุกข์ที่เราเผชิญนั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล หากเป็นเรื่องของเราทุกคน
ขอบคุณ:
ผู้เขียน: อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ร่วมสนทนา: นิติ ภวัครพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เอกรินทร์ ต่วนศิริ สำนักพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม, และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้ดำเนินรายการ
และ ร้านหนังสือก็องดิด ที่ร่วมจัดงานเปิดตัวหนังสือ มองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จาก PATANI FORUM