นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อเดินหน้าสร้างมหานครแห่งอนาคต ‘นีโอพัทยา’ ด้วย 7 โครงการด้วยเงินทุน 8 หมื่นล้านบาท ภายใต้คอนเซ็ปต์พัทยาเมืองน่าอยู่-น่าเที่ยว-น่าลงทุน เพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งในฐานะของเมืองท่องเที่ยวและเมืองธุรกิจ
แก้ปัญหาในปัจจุบันให้ถูกจุดก่อนที่จะคิดถึงอนาคต
ปัญหาหลักที่เมืองพัทยากำลังเผชิญอยู่นั้นประกอบไปด้วยปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาขยะจากการที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ปัญหาน้ำท่วมเหตุจากผังเมือง และปัญหาอาชญากรรม การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นการให้ความสำคัญก่อนมาเป็นอันดับแรก
โดยปัญหาขยะได้ถูกจัดการไว้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยการจัดหาภาคเอกชนให้เข้ามาทำการรับเหมารับผิดชอบอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ
ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังนั้น นายสนธยาได้กล่าวว่าในปัจจุบันได้ถูกแก้ไขปัญหาไปถึง 80% แล้ว โดยการปรับปรุงระบบระบายน้ำที่มีอยู่แต่เดิม ให้มีความสามารถในการระบายน้ำออกได้อย่างดียิ่งขึ้น เร็วขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ใช้เวลาทั้งหมดในการรอระบาย 2 ชั่วโมง ในปัจจุบันลดเหลือแค่ 45 นาทีเท่านั้น
ปัญหาอาจชญากรรมที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวเมืองพัทยา ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาโดยโครงการฟ้าทลายโจร คือตู้สีฟ้าที่นำไปติดตั้งในชุมชนที่มีความเสี่ยง หรือความเปราะบางที่จะเกิดอาจชญากรรม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการแต่ละชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วถึง 9 จุด ใน 8 ชุมชน
4 โครงการเพื่อสร้างพัทยาที่ ‘น่าอยู่’
โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเมืองน่าอยู่ทั้ง 4 โครงการ มุ่งเน้นไปยังการสร้างเมืองพัทยาที่น่าอยู่ ประกอบไปด้วย
โครงการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยร่วมมือกับกรมโยธาธิการ จัดทำระบบบริหารการจัดการน้ำ ทั้งทางระบายน้ำ เป็นระยะทางทั้งหมด 110 กิโลเมตร และบ่อหน่วงน้ำขนาดยักษ์ ภายใต้งบประมาณแบบบูรณาการ จำนวน 17,800 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปัญหาน้ำท่วมขัง ในเมืองพัทยาลดลงไปถึง 80% โดยในปัจจุบันเมืองพัทยาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณรอบนอกของเมืองพัทยา ช่วงถนนเลียบทางรถไฟเป็นจุดดักน้ำ เสริมด้วยการจัดทำบ่อหน่วงน้ำ และส่งน้ำผ่านท่อขนาดใหญ่ ขนาด 1.80 เมตร ตลอดความยาวชายหาดที่ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ดีกว่าเดิม
เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย จากวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร ภายใต้งบประมาณ 750 ล้านบาท โดยร่วมกับสำนักงาน EEC ดำเนินการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ที่นอกจากจะแก้ปัญหาปล่อยน้ำเสียลงทะเล ยังสามารถนำน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดถูกป้อนเป็นน้ำดิบเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ตามรูปแบบของ Circular Economy
การสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบ Monorail เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าทางคู่ 3 สาย ระยะทาง 34 กิโลเมตร ภายใต้วงเงิน 50,000 ล้านบาท ในรูปแบบโครงการร่วมลงทุนกับ PPP องค์กรธุรกิจเอกชน โดยในปัจจุบันได้ทำการสำรวจและออกแบบเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดการแออัดของการจราจร ตลอดจนถึงการลดมลพิษในเมืองพัทยา
และโครงการที่สำคัญที่สุดในการสร้างเส้นทางสู่ ‘นีโอพัทยา’ คือการพัฒนาแผนแม่บทดิจิทัล และเทคโนโลยีสารสนเทศของเมืองพัทยา ภายใต้งบประมาณ 500 ล้านบาท โดยได้รับการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา ในการสร้าง Digital Transformation โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคน พัฒนาบริการ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย และการส่งเสริมให้เกิดการจัดการดิจิทัลภายในองค์กร
เพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีที่มาบริหารจัดการ และ operation ภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการรวบรวมข้อมูลการให้บริการประชาชนเพื่อจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าที่จะสามารถเชื่อมต่อทุกระบบการทำงาน เพื่อยกระดับ สังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สาธารณสุข การศึกษา ให้ครอบคลุมในทุกมิติผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเมืองพัทยา โดยล่าสุดได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
3 โครงการเพื่อพัทยา ‘น่าเที่ยว’ ให้ทันการเติบโตของ EEC
จุดแข็งของเมืองพัทยาที่เป็นรู้จักกันในสายตาของชาวโลกมาตลอดคือการที่เป็น ‘เมืองท่องเที่ยว’ และนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จึงลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 3 โครงการเพื่อเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวภายในประเทศให้เข้ามาจับจ่ายภายในเมืองพัทยามากขึ้น และเตรียมความพร้อมเมื่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศพร้อมที่จะเข้ามา
ในปัจจุบันได้มีโครงการในการพัฒนาพื้นที่ตลาดนาเกลือภายใต้ชื่อโครงการ ‘นีโอนาเกลือ’ หรือ ‘โอลด์ทาวน์นาเกลือ’ ที่ทำร่วมกับเทศบาลตำบลบางละมุง เพื่อต้องการที่จะทำให้ตำนานของตลาดนาเกลือกลับมาเป็นที่รู้จักให้แก่คนในยุคปัจจุบัน และให้คนรุ่นต่อไปได้สัมผัส
พร้อมกับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณพัทยาใต้ (ท่าเรือบาลีฮาย) ด้วยการเชื่อมต่อด้วยวอล์กกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 160,000 ตารางเมตร ร่วมกับกรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการ ในการพัฒนาศูนย์ธุรกิจสินค้า ลานสันทนาการ พร้อมกับเชื่อมทุกอย่างด้วยกันด้วยวอล์กกิ้งสตรีท เพื่อสร้างศูนย์ธุรกิจและนันทนาการครบวงจรเมืองพัทยา
นอกจากนั้นยังมีโครงการที่มีชื่อว่า ‘นีโอเกาะล้าน’ โดยมีวงเงินงบประมาณถึง 250 ล้านบาท ในการพัฒนาเกาะล้านครอบคลุมในทุกมิติทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค ท่าเรือเทียบ เส้นทางจราจร ภูมิทัศน์ และระบบปรับปรุงน้ำเสียชุมชน เพื่อให้เกาะล้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความพร้อมให้ ชุมชนเกาะล้าน และยังประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน เพื่อมีเป้าหมายร่วมกันในการรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตจากการเจริญเติบโตของ EEC ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล
ทั้ง 7 โครงการสู่การสร้างเมืองที่ ‘น่าลงทุน’
ทั้ง 7 โครงการที่กล่าวไปข้างต้นมีเป้าหมายเดียวกันคือการยกระดับเมืองพัทยาให้สามารถแข่งขันในฐานะของสถานที่ท่องเที่ยวในเวทีโลกได้ การปรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการคมนาคม การจัดการขยะบำบัดน้ำเสีย และรวมไปถึงการผลักดันให้เกิด Digital Transformation นั้นมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในเมืองพัทยามากขึ้น นายสนธยามองเมืองพัทยาในอนาคตว่าจะสามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ ไมอามี ดูไบ ในฐานะของเมืองที่น่าลงทุนทางด้านธุรกิจ
และทั้ง 7 โครงการนี้จำเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง ‘นีโอพัทยา’ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือกันระหว่างเมืองพัทยาในทุกภาคส่วน การบริหารงานภายใต้งบประมาณแบบบูรณาการ และการร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจเอกชนในรูปแบบของ PPP โดยคาดว่ารูปธรรมของ ‘นีโอพัทยา’ จะค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างนับจากปี 2564 เป็นต้นไป