แด่วันมหาสงกรานต์ที่ไร้น้ำของปี 2563…
#nnevvy และ #China คือแฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์เป็นอันดับหนึ่งในโลกทวิตเตอร์เมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งเมื่อผมเข้าไปไล่อ่านเนื้อหาแล้วพบว่าเป็นการปะทะคารมกันทางออนไลน์ระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีน ความที่ตัวเองเป็น ‘คนไทย’ ที่ ‘เรียนจีน’ ก็อดตื่นตาตื่นใจไม่ได้ แถมประเด็นที่มายังชวนคิดไปได้ไกลอีกต่างหาก
ประเด็นดรามามีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดสำคัญที่สุดเริ่มจากดาราไทยคนหนึ่งที่มีฟอลโลเวอร์เป็นชาวจีนจำนวนมากได้ไปรีทวีตภาพถ่ายจากช่างภาพคนหนึ่ง เป็นภาพตึกสูงในเมืองใหญ่จำนวน 4 ภาพ หนึ่งในนั้นเป็นภาพจากฮ่องกง เขาเขียนแคปชันประมาณว่า
‘4 ภาพนี้ถ่ายจาก 4 ประเทศ ฮ่องกง – ญี่ปุ่น – สิงคโปร์ – ไทย’
จากนั้นก็เริ่มมีชาวจีนแห่กันมาคอมเมนต์ว่าฮ่องกงไม่ใช่ ‘ประเทศ’ หากแต่เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของประเทศจีนต่างหาก โดยดาราไทยเจ้าของรีทวีตดังกล่าวก็ได้ออกมาขอโทษที่ไม่ได้ตรวจทานข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนรีทวีต
แต่นอกเหนือจากประเด็นฮ่องกง ชาวเน็ตจีนได้ย้อนค้นไปเจอบทสนทนาในช่องคอมเมนต์จากไอจีส่วนตัวของแฟนสาวของดาราคนดังกล่าว ที่มีการพูดว่าตัวเองเป็น ‘แนวสาวไต้หวัน’ ทำให้คนจีนตีความไปอย่างเข้าใจผิด และกล่าวหาว่าเธอสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของไต้หวันไปโน่น
เป็นที่รู้กันเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับชาวจีนในฮ่องกงและไต้หวัน โดยเฉพาะที่ชาวฮ่องกงออกมาเรียกร้องอิสรภาพและประชาธิปไตย โดยมีความต้องการสูงสุดถึงขั้นจะมีเอกราชและแยกตัวออกจากจีน
ทางไต้หวันก็มีชาวเน็ตออกมาทวีตว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกดินแดนออกจากจีน เพราะพวกเขา ‘ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน’ อยู่แล้ว
สถานการณ์ทั้งหมดนำไปสู่การปะทะคารมกันของชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีน เมื่อชาวเน็ตไทยได้ออกมาตอบโต้บ้าง จากประเด็นเล็กๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่าไม่ได้มีสาระสำคัญนัก เริ่มลามไปถึงประเด็นใหญ่อื่นๆ ทั้งสองฝั่งล้อเลียนกันไปมา เถียงกันเรื่องโควิด มีการเหยียด และมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของอีกประเทศจากมุมมองและพื้นฐานวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย
ประเด็นที่น่าสนใจและต้องทำความเข้าใจจากเรื่องนี้คือการที่เมื่อมีชาวต่างชาติไปแตะประเด็นเรื่องรัฐเรื่องชาติของจีน แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็สามารถทำให้ชาวจีนหัวร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ และออกมาตอบโต้ แสดงให้เห็นความเข้มข้นของแนวคิดชาตินิยมที่ฝังอยู่ในชาวจีนแทบทุกคน
ลักษณะเฉพาะในแนวคิดชาตินิยมของชาวจีน คือความย้อนแย้งกันระหว่างพื้นฐานของความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีต กับความรู้สึกว่าจีนเคยอ่อนแอและถูกมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะชาวยุโรปรุมรังแกเมื่อช่วงร้อยกว่าปีก่อน ทำให้จีนตกต่ำ และน่าอับอาย เป็นเหตุให้เสียดินแดนฮ่องกงไป
และในวันนี้ วันที่จีนกำลังเดินขึ้นบันไดสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีคนไทยหรือคนชาติไหนก็ตามมาแตะต้องโดนประเด็นฮ่องกง ก็เหมือนเป็นการจี้โดนปมในใจคนจีน ปมที่เคยเป็นจุดอ่อนในครั้งเมื่อจีนยังอ่อนแอ เหมือนเป็นการจุดไม้ขีดไฟก้านเดียวแล้วโยนลงไปบนเชื้อเพลิงของแนวคิดชาตินิยมชาวจีน
กลับกัน ทางชาวเน็ตไทยที่โดนชาวเน็ตจีนวิพากษ์ด้วยความหงุดหงิด โกรธเคือง เสียดสี ‘ความเป็นชาติไทย’ ด้วยถ้อยคำสารพัด แต่ชาวเน็ตไทยกลับไม่ได้รู้สึกหัวร้อนไปด้วย ท่าทีของคนไทยดูจะไม่ได้ร้อนตัวกับวาทะเชิงสบประมาท แต่ออกจะมองเป็นเรื่องล้อเล่นมากกว่า ชาวเน็ตไทยดูจะสนุกสนานกับการตอบโต้ ด้วยคำตอบสั้นๆ ที่แสดงถึงความไม่แยแส ประมาณว่า ‘แล้วไง?’ So what?
“รัฐบาลไทยคอร์รัปชัน เศรษฐกิจแย่ ความเหลื่อมล้ำ คนจนเยอะ”
“รู้อยู่แล้ว… แล้วไง?”
“หน้ากากที่คนไทยใส่อยู่อาจจะผลิตในจีนก็ได้นะ ประเทศจีนส่งไปให้ไทยเยอะเลยนะ”
“แล้วไง? เรายังไม่ได้ใช้เลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้ากากนั่นอยู่ที่ไหน (กลั้นขำ)”
บางคนไปไกลสุดกู่ ถึงขนาดโพสต์ข้อความลงใน Weibo ซึ่งก็คือทวิตเตอร์เวอร์ชันจีน ข้อความแปลได้ประมาณว่า…
“ประเทศไทยเหมือนไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเหมือนแค่มณฑลหนึ่งของประเทศจีนเท่านั้น”
แต่คำตอบยังคงเป็น…
“แล้วไง?”
และการพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่แรงกว่านี้มาก ทั้งดูถูกสถาบันชาติ และอื่นๆ ที่คนจีนคิดว่าคนไทยเคารพรัก แต่คำตอบของชาวทวิตเตอร์ในไทยนั้นไร้ซึ่งความโกรธแค้น มีเพียงแต่คำว่า ‘แล้วไง?’ และแซวประเทศจีนกลับเพียงเล็กน้อย นุ่มนวล แต่ยั่วยวนกวนประสาท
ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวจากชาวเน็ตไทยแสดงให้เห็นข้อเปรียบเทียบกับชาวเน็ตจีนอย่างชัดเจน ในด้านของแนวคิดชาตินิยม คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดกับสถาบันชาติแบบดั้งเดิม ปฏิเสธความเป็นชาติที่คนรุ่นเก่าสร้างขึ้นมา และพยายามจะส่งต่อหรือแม้กระทั่งพยายามยัดเยียดแนวคิดเหล่านั้นสู่คนรุ่นใหม่โดยไม่ได้พิจารณาบริบทของสถานการณ์และเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งคนรุ่นใหม่มองแนวคิดเหล่านั้นเป็นแค่นามธรรม จับต้องไม่ได้ บางคนมองไปไกลว่าคร่ำครึ และไม่สอดคล้องกับแนวคิดพลเมืองโลก (World Citizen) แบบสมัยใหม่แล้ว
ขณะที่คนจีนพยายามทำให้คนไทยรู้สึกเจ็บด้วยการจี้ประเด็นเหล่านี้ อาจสะท้อนให้เราเห็นว่าคนจีนยังคงยึดติดกับความเป็นชาติ ความเป็นปึกแผ่น และค่านิยมแบบที่พวกเขาถูกปลูกฝัง
หรืออีกนัยยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องความรู้สึกพึงพอใจกับผลงานของรัฐจากคนทั้งสองชาติ ชาติหนึ่งเห็นความล้มเหลวของระบบการทำงานในภาครัฐมานานกว่าสิบปี แนวคิดที่รัฐพยายามปลูกฝังให้ประชาชนจึงไม่เป็นผล ซ้ำร้ายประชาชนยังเลือกที่จะหันหลังให้ ในขณะที่อีกชาติเชื่อฟังคำชี้นำของผู้นำ และปฏิบัติตามสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังอย่างเต็มใจ เพราะการทำงานของภาครัฐกำลังจะทำให้ประเทศกลายเป็นมหาอำนาจ ตรงตามความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนหรือต่อต้านแต่อย่างใด
ในการวิวาทะครั้งนี้ ผมไม่อาจบอกได้ว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก แต่ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของแนวคิดชาตินิยมระหว่างสองชาติ ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างคิดว่าตัวเองเหนือกว่าอีกฝ่าย
นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ และน่านำมาเป็นกรณีศึกษาอย่างยิ่ง
ผมสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ของโลกทวิตเตอร์ในไทยไม่ใช่วัยรุ่น แต่เป็นผู้ใหญ่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์บนโลกทวิตเตอร์วันก่อนจะดุเดือดและบานปลายได้มากแค่ไหน