คิดมากเกินไป

นี่เราคิดมากเกินไปหรือเปล่า? วิธีกำจัด ‘ก้อนความคิด’ ที่ขังอยู่ในหัว

ช่วงนี้หลายคนตกอยู่ในภาวะ ‘คิดมาก’ หรืออาจจะเรียกได้ว่า ‘คิดฟุ้งซ่าน’ โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนที่เคยไปทำงานทุกวัน แต่พอต้อง Work From Home และมีเวลามากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องติดอยู่ในการจราจร ก็อาจจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อยเปื่อย โดยเฉพาะเมื่อมีเวลาเสพข่าวสารมากขึ้น ก็จะ ‘เห็น’ อะไรต่อมิอะไรมากขึ้น

        ก้อนความคิดหลายอย่างมักขังอยู่ในหัวจนสลัดไม่ออก ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เราตื้อตัน ไปไหนไม่ถูก นักเขียนบทความอย่าง ดาริอุส โฟรูซ์ (Darius Foroux) ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการทำงาน อุปนิสัย และการตัดสินใจ (เขาเขียนงานให้กับหลายที่ เช่น TIME, NBC, Fast Company, Observer ฯลฯ) บอกว่าวิธีแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

        คำถามแรก – คุณลองถามตัวเองก่อนว่า ในแต่ละวัน คุณใช้เวลา ‘คิด’ กี่ชั่วโมง

        เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคย ‘คิด’ เรื่องนี้ นั่นทำให้เราไม่รู้ตัวว่าเรากำลัง ‘คิดมาก’ เกินไป

        เวลาเรากินมากเกินไป เราจะรู้ตัวว่าเราอิ่ม ท้องป่อง ต้องกินให้น้อยลง 

        เวลาเราทำงานมากเกินไป เรารู้ตัวว่าเราเครียด เราเบิร์นเอาต์ เราต้องหยุดพักไปทำอย่างอื่น 

        เวลาเราดื่มมากเกินไป เราก็รู้ว่าเราเมาแล้ว เราต้องหยุดดื่ม ต้องหันมาดื่มน้ำแทน

        แต่เวลาที่เรา ‘คิด’ มากเกินไป ดูเหมือนเราจะยิ่งจ่อมจมอยู่กับความคิดและการคิดเหล่านั้น รวมทั้งไม่ค่อยรู้หรือตระหนักด้วยว่า ตัวเองกำลัง ‘คิดมากเกินไป’ อยู่

        อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตสำคัญมากๆ ก็คือ เวลาพูดว่า ‘คิดมาก’ เรามักมีนัยบ่งชี้ไปถึงการคิดถึงเรื่องแง่ลบ (หรือ Negative Thoughts) มากเกินไป ทว่าในความเป็นจริง ต่อให้เป็นการคิดเรื่องแง่บวก (หรือ Positive Thoughts) เราก็มีโอกาสจะ ‘คิดมาก’ เกินไปได้เหมือนกัน

        ความคิดลบมีอะไรบ้าง – ก็อย่างเช่นความวิตกกังวล, การบ่นว่าตำหนิ, ความโกรธ, ความรู้สึกเศร้าสร้อยน้อยใจ หรือการโทษคนอื่น

        แล้วความคิดบวกมีอะไรได้บ้าง – ก็อย่างเช่น ความพยายามทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ, การพยายามแก้ปัญหา, การศึกษาเรียนรู้, การวางแผน, การตั้งเป้าหมายเพื่อพยายามไปให้ถึง, ความวิริยอุตสาหะหมั่นเพียร ฯลฯ

        แน่นอน – หลายคนอยากลดความคิดลบลง แล้วมุ่งหน้ามาหาความคิดบวกอย่างเดียว เพราะเรามักเชื่อว่า ความคิดลบทำให้ชีวิตเราแย่ลง แต่ถ้า ‘คิดบวก’ ล้วนๆ จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น

 

        แต่คำถามก็คือ – ต่อให้เป็นการ ‘คิดบวก’ แต่ถ้ามากเกินไป มันจะส่งผลร้ายกับเราได้ไหม?

        คำตอบก็คือ ได้เหมือนกัน เพราะต่อให้เป็นความคิดบวก แต่ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับมันมากๆ สุดท้ายเราก็จะ ‘หลุด’ ออกไปจากตัวเอง ทำให้เราไม่ได้มีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น เราอาจหมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาตัวเอง บอกตัวเองให้ขยันหมั่นเพียร หรือหมกมุ่นอยู่กับการคิดถึงเป้าหมายในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนที่ดี แต่ถ้ามันมากเกินไป เราก็อาจกลายเป็นคนที่อาศัยอยู่ในอนาคต มองเห็นแต่ตัวตนในอนาคต ทว่าไม่ได้ย้อนกลับมาตรวจสอบหรือมองเห็นตัวเองในปัจจุบัน ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้เราได้

        แล้วเราจะทำอย่างไรดี

        โฟรูซ์บอกว่า การคิดเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ อย่างหนึ่งเท่านั้น แต่มันเหมือนเครื่องมือที่เราหยิบออกมาใช้ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว บางครั้งก็ใช้ในแง่ดี บางครั้งก็ใช้ในแง่ลบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว มันคือการใช้เครื่องมือนี้พร่ำเพรื่อแม้ในเรื่องไม่จำเป็น ดังนั้น ต่อให้เป็นความคิดแง่บวก ถ้าใช้แบบไม่จำเป็น สุดท้ายก็อาจกลายเป็นผลร้ายหรือให้ผลลบได้เหมือนกัน

        สิ่งที่โฟรูซ์แนะนำไว้ก็คือ

        1. พยายาม ‘รู้ตัว’ ให้ได้ว่าตัวเรากำลัง ‘คิด’ อยู่: พูดง่ายๆ ก็คือ ให้เรามี ‘สติ’ รู้ตัว – ว่าเรากำลังคิดอะไรบางอย่างอยู่

        2. เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่ากำลังคิดอยู่ ก็ให้ลองสังเกตความคิดนั้น: ทุกครั้งที่คุณเริ่มคิด อย่าเพิ่งเตลิดเพริศไปกับความคิด พอรู้ตัวปุ๊บ ก็ให้ลองสังเกตว่าคุณเริ่มต้นคิดเรื่องนั้นๆ ได้ ‘อย่างไร’ และมันกำลังจะดำเนินไปในทิศทางไหน เมื่อทำอย่างนี้ได้ คุณจะหยุดคิดโดยอัตโนมัติ

        3. ให้จำกัดการคิดของคุณเอาไว้เฉพาะเวลาที่คุณต้องการเท่านั้น: ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะคิดว่าวันนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง แล้วเรียงลำดับสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าจะคิดเรื่องนี้ ก็ให้หยุด นั่งลง แล้วคิดกับมันอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้อาจใช้เวลาแค่ 5 นาที ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความคิด เช่น คุณอาจเป็นนักเขียน นักสร้างสรรค์ คุณก็ต้องปล่อยให้ความคิดทำงานของมันไป

        4. ปล่อยวางเสียบ้าง: ความคิดที่เป็นอดีตและอนาคตนั้น แม้มีความสำคัญ แต่บางครั้งคุณก็ต้องปล่อยมันทิ้งไปเสียบ้าง หันมาดูว่าในปัจจุบันนี้เราอยู่อย่างไร ความคิดของเราเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ ให้อยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น แล้วเราก็จะเห็นว่าสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่นั้น มันมีอะไรที่ดีบ้าง มีช่องทางอะไรให้เราแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้บ้าง แทนที่จะจมอยู่กับการคิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือฝันถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

 

        ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับทุกคน หลายคนนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำอะไรต่อไป เกิดภาวะมืดแปดด้านขึ้นมา แต่เป็นช่วงเวลาแบบนี้นี่เอง ที่ก้อนความคิดทั้งถวิลหาอดีตหรือฝันถึงอนาคตมันจะขังตัวอยู่ในหัวของเรา

        ดังนั้น การรู้ให้ทันว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วกำจัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป จะช่วยเคลียร์สมองให้เราแจ่มใสขึ้นได้บ้าง

        ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการก้าวต่อไปเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหานั่นเอง

 


อ่านเพิ่มเติม: https://dariusforoux.com/clogged-brain