ระยะหลังมานี้หากใครนั่งรถเมล์ หรือขึ้นรถไฟฟ้าน่าจะเริ่มเห็นได้ชัดว่าคนเริ่มเยอะขึ้น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพราะหลายบริษัทหรือกิจการต่างๆ เริ่มให้พนักงานกลับไปทำงานกันแล้ว
แม้ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่หากคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 บริการขนส่งสาธารณะมีความพร้อมขนาดไหนที่จะรองรับคนในจำนวนเทียบเท่าภาวะปกติ โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรการควบคุมโรคตามเดิม
จากสถิติการเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 พบว่ามีปริมาณผู้โดยสาร 395,062 คน แบ่งเป็นรถไฟปกติ 2,151 เที่ยวคน/วัน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 19,081 เที่ยวคน/วัน รถไฟฟ้า MRT 140,530 เที่ยวคน/วัน และรถไฟฟ้า BTS 233,300 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 189,000 เที่ยวคน/วัน เท่านั้น
นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากของผู้ประกอบการ และเป็นข้อกังวลของผู้โดยสารเหมือนกันว่าหากคนเพิ่มจำนวนขึ้นหรือรถไฟฟ้าเกิดขัดข้องมาตรการจะหละหลวมหรือไม่
อย่างไรก็ตามทั้งภาครัฐและเอกชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะตั้งแต่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะแรก รถเมล์ของ ขสมก. ก็ได้เพิ่มจำนวนรถให้บริการเป็น 2,500–2,600 คัน/วัน ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินนำขบวนรถ 36 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถช่วงเร่งด่วนเป็น 3.5–4.5 นาที/ขบวน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงก็นำขบวนรถ 12–16 ขบวนออกให้บริการและปรับความถี่ปล่อยรถในช่วงเร่งด่วนเป็น 4–5 นาที/ขบวน ส่วนรถไฟฟ้า BTS นำรถไฟฟ้าที่มีอยู่ขบวนรถ 98 ขบวน ออกให้บริการออกให้บริการทั้งหมด แม้แต่เรือโดยสารคลองแสนแสบก็เพิ่มเรือช่วงเวลาเร่งด่วน จาก 40 ลำ เป็น 60 ลำ และให้เพิ่มความถี่ปล่อยเรือทุก 3-5 นาที
นอกจากนี้บริการขนส่งสาธารณะยังกำหนดให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา พร้อมใช้มาตรการ Social Distancing ในการเดินทาง ด้วยการจัดให้มีการนั่งที่เว้นที่ การปล่อยผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเป็นกลุ่มตามจำนวนที่กำหนด หรือการกำหนดให้ประชาชนเข้าสู่ชานชาลาเป็นรอบๆ ใน 3 ตอน คือก่อนขึ้น-ลงเข้าสู่ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร ก่อนผ่านหน้าประตูกั้นจัดเก็บค่าโดยสาร และก่อนเข้าสู่ขบวนรถ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการหนาแน่นเกินไปในขบวนรถไฟฟ้าและชานชาลา
ถึงมาตรการจะดูรัดกุม แต่เมื่อระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ มีปัญหามาตั้งแต่ต้น ผู้คนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกลับไปเบียดเสียดกันเหมือนเดิม ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพของผู้โดยสารยืนรอคิวแน่นเต็มสถานีเพราะรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง หรือรถเมล์ที่ให้นั่งที่เว้นที่แต่คนยืนแน่นกันทั้งคันในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งจะมาเกิดในช่วง COVID-19 เราเห็นกันมาอย่างยาวนานโดยที่มันไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และ COVID-19 ก็ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยิ่งหนักขึ้น ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น โดยมองข้ามปัญหารถติด ปัญหาผังเมือง ปัญหาประสิทธิภาพในการเดินรถ หรือแม้แต่ปัญหาเวลาเข้างานที่ทุกคนจะต้องรีบไปให้ทันสแกนนิ้วในช่วงเวลาเดียวกันไป จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามสิ่งที่คาดเอาไว้
ตามคำแนะนำขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสารในต่างประเทศ และระหว่างประเทศให้คำแนะนำว่า ‘มาตรฐานสากลขั้นต่ำ’ ในการดูแลผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้นต้องมีมาตรการทำความสะอาดยานพาหนะและสถานีอย่างสม่ำเสมอ, การฝึกอบรมด้านการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคแก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องมีการติดต่อกับผู้โดยสาร, ดูแลให้มีอุปกรณ์ป้องกันอย่างถุงมือ แอลกอฮอล์ล้างมือ กระจกกั้นที่ขายตั๋ว ฯลฯ ให้เพียงพอ และคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
นอกเหนือจากมาตรการพื้นฐานดังกล่าว หลายประเทศก็พยายามลดความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป เช่น กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เลือกลดจำนวนเที่ยวรถที่ให้บริการ เพื่อลดการเดินทางและโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่เป็นการกำหนดมาตรการอย่างกะทันหันโดยขาดการประเมินผลกระทบ (Impact Assessments) ขณะที่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำงานจากบ้านได้ การลดจำนวนเที่ยวรถ จึงกลับทำให้เกิดความแออัดในระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีจำนวนประชาชนเดินทางต่อเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก แม้ว่าจำนวนประชากรที่ต้องการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะจะลดลงถึงประมาณ 75% แต่ยังใช้มาตรการเพิ่มเที่ยวเดินรถเพื่อลดความแออัดระหว่างผู้โดยสาร เช่นเดิมกับแนวทางของ Berliner Verkehrsbetriebe (BVG) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีที่ได้ปรับตารางการเดินรถแม้ว่ามีปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมากก็ตาม
ส่วนที่เมืองเซินเจิ้นและปักกิ่ง ได้พยายามควบคุมปริมาณของผู้โดยสาร พร้อมลดความแออัดบนขบวนรถไฟใต้ดินด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ผู้โดยสารจองการใช้บริการล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งผู้โดยสารสามารถนัดหมายเพื่อเข้าสู่สถานีรถไฟใต้ดินผ่าน QR code บนโทรศัพท์มือถือ และจะได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือให้เข้ามายังสถานีเมื่อถึงเวลาที่กำหนด แต่ยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้งานเท่านั้น
นอกจากนี้หลายประเทศในฝั่งยุโรป ก็มีแผนปรับเมืองให้เหมาะกับการสัญจรด้วยจักรยานและการเดินเท้ามากขึ้น โดยในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีก็เร่งเปลี่ยนถนนระยะทาง 35 กิโลเมตรให้กลายเป็นถนนที่มีทางจักรยานและขยายพื้นถนนให้เหมาะกับการเดินโดยเฉพาะ ส่วนเขตเมืองชั้นในของมิลานก็จะมีการเดินเท้าและการปั่นจักรยานเป็นการสัญจรหลักต่อไปด้วย
ส่วนประเทศฝรั่งเศสก็ทุ่มงบกว่า 20 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองใช้จักรยานเป็นการสัญจรหลักด้วยเช่นกัน รวมถึงมีแผนสร้างทางจักรยานระดับทางหลวง ในระยะไกลที่สามารถเชื่อมไปยังแคว้นต่างๆ ทั่วฝรั่งเศสได้ด้วย ซึ่งไม่เพียงเพียงแค่สองประเทศนี้ แต่ประเทศสกอตแลนด์ หรือกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษก็ขานรับนโยบายนี้ แม้แต่ในมหานครนิวยอร์กเองก็ประกาศเดินหน้าโครงการ Open Streets ในการสร้างและปรับปรุงทางเท้าและทางจักรยานกว่าระยะ 100 ไมล์ เพื่อให้ชาวนิวยอร์กมีพื้นที่สัญจรและสามารถรักษากฎระยะห่างทางสังคมไปพร้อมกันได้
กลับมาที่ประเทศไทย ระบบการจองล่วงหน้าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ได้ ตั้งแต่การเดินทางภายในกรุงเทพฯ ไปจนถึงการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถตู้ รถไฟ หรือรถโดยสาร เพื่อลดความแออัดของคนที่ต้องไปรวมตัวกันอยู่ที่สถานีอย่างเดียว
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือภาครัฐควรส่งเสริมให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนสนับสนุนนโยบาย Work From Home ต่อไป เพราะหากจำนวนคนที่ต้องเดินทางไปทำงานยังเท่าเดิม การจะควบคุมการแพร่ระบาดก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก หรือหากงานที่ทำเป็นประเภทที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ก็ควรปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน
แต่สำหรับคนที่ยังคงต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ การสวมใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือบ่อยๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจากกรณีศึกษาการติดเชื้อของผู้โดยสาร 9 คนที่ใช้บริการรถโดยสารทางไกลในเมืองหูหนาน ประเทศจีน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าผู้โดยสารทั้ง 9 คนไม่สวมหน้ากากอนามัย และงานวิจัยยังชี้พบอีกว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 30 นาที และแพร่กระจายไกลถึง 4.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลกว่าระยะปลอดภัย 1-2 เมตร ตามที่องค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำ ด้านฝั่งผู้ประกอบการเอง ก็ควรจัดให้มีการทำความสะอาดยานพาหนะและระบบที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพยายามลดการสัมผัสระหว่างพนักงานกับผู้โดยสารโดยเพิ่มช่องทางการจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น
ที่มา:
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
- https://tdri.or.th/2020/05/impact-of-working-from-home-covid-19
- www.uitp.org/management-covid-19-guidelines-public-transport-operators
- www.channelnewsasia.com/news/asia/coronavirus-covid-19-indonesia-transport-ramadan-12634982
- https://news.cgtn.com/news/2020-03-06/Beijing-Subway-begins-reservation-service–OE6zfhYUBq/index.html
- www.prachachat.net/property/news-462227
- www.scmp.com/news/china/science/article/3074351/coronavirus-can-travel-twice-far-official-safe-distance-and-stay