หนังรักโรแมนติกคือสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มโลกและชีวิตของเราให้คลุ้งไปด้วยสีชมพูและความหวาน ซึ่งบางครั้งอาจจะหวานกว่าชีวิตรักที่ผ่านมา แต่บางคนยังมองว่าหนังโรแมนติกคอเมดี้ทำให้ผู้ชมเกิดภาพฝันว่าชีวิตรักของตนต้องเป็นเหมือนตัวละครในเรื่อง และโหยหารักในอุดมคติ ซึ่งจริงๆ แล้วหนังรักก็มีทั้งผลเชิงบวกและผลเชิงลบ เราจึงอยากชวนคุณไปทำความรู้จักกับหนังรักในมุมของจิตวิทยาว่ามีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเราอย่างไร
จิตวิทยาเชิงบวกกับโรแมนติกคอเมดี้
หนังโรแมนติกคอเมดี้ หรือหนังรอมคอม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใครหลายคนชื่นชอบ เพราะช่วยเยียวยาหัวใจ และพาเราหลีกหนีออกจากโลกความจริงได้ บางครั้งก็ทำให้หัวใจชุ่มชื่นราวกับได้เข้าไปอยู่ในหนังเรื่องนั้นเสียเอง ซึ่งความรู้สึกด้านบวกเหล่านี้เป็นผลมาจาก ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ของหนังรัก
จิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) คืออะไรและวิทยาศาสตร์แขนงนี้เกี่ยวข้องกับหนังรักอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายก่อนว่า จิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวคิดของ มาติน เซลิกแมน (Martin Seligman) เขาศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านบวกและพฤติกรรมเชิงบวก ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิตได้ และประเด็นการดูหนังรักแล้วเกิดความสุขนั้นสอดคล้องกับหลักจิตวิทยาเชิงบวกที่ต้องการเน้นเรื่อง ‘ชีวิตที่ดี’ (the good life) และการดูหนังรักโรแมนติกคอเมดี้ยังสร้างความสุขให้กับเราผ่านเรื่องราวและบทสนทนาที่ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกอันลึกซึ้ง อีกทั้งยังช่วยให้เราค้นพบพฤติกรรมบางอย่างของตัวละครในเรื่องอีกด้วย
นอกจากนี้ แมทธิว กริซซาร์ด (Matthew Grizzard) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ในนิวยอร์ก ยังบอกว่าการดูหนังแนวโรแมนติกคอเมดี้ ส่งผลให้เกิดความคิดเชิงบวกและทำให้สัญชาตญาณเชิงศีลธรรมสูงขึ้น โดยเขาทดลองให้นักศึกษาดูหนังรักโมแมนติกแล้วติดตามผลว่านักศึกษาจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ซึ่งการวิจัยพบว่านักศึกษาที่ดูหนังโรแมนติกคอเมดี้ มี 4 ใน 5 ของสัญชาตญาณเชิงศีลธรรม ได้แก่ การดูแลเอาใจใส่ ความเป็นธรรม ความซื่อสัตย์ และความเคารพต่อหน้าที่ ยกเว้นข้อของความบริสุทธิ์ที่ไม่พบในการวิจัยครั้งนี้
หนังรักไม่เพียงแต่ทำให้เกิดสัญชาตญาณเชิงศีลธรรม ในอีกแง่หนึ่งมันคือตัวช่วยที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ของคู่รัก ซึ่งในการศึกษาชื่อ ‘A movie-and-talk group’ ที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ในมลรัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ได้ศึกษาคู่สมรส 174 คู่ โดยให้พวกเขาร่วมฟังบรรยายเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องความสัมพันธ์และการสังเกตคู่รักในภาพยนตร์ว่าจะช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเองได้อย่างไร ซึ่ง โรนัลด์ โรก (Ronald Rogge) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและหัวหน้าการศึกษาดังกล่าว สรุปผลการศึกษาว่า สามีภรรยาสามารถเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องสอนหรือไปบอกว่าทำอย่างไรถึงจะลดอัตราการหย่าร้างได้ แต่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนให้พวกเขาเข้าใจในพฤติกรรมและการกระทำของตนเอง
งานวิจัยของโรกจึงแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักในหนังโรแมนติกคอเมดี้ สามารถลดอัตราการหย่าร้างและกระชับความสัมพันธ์ได้ เพราะเมื่อคู่รักได้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน มันทำให้พวกเขารู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนคือตัวทำลายความสัมพันธ์ และรู้ว่าควรจัดการกับพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้ชีวิตรักของพวกเขายังคงหวานชื่นเหมือนครั้งแรกรัก
หนังรักพาฝันคือตัวทำลายความสัมพันธ์
อุตสาหกรรมภาพยนตร์มักหยิบเรื่องของความรักมาเป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ‘ผู้สร้างหนังรักนั้นนำเสนอความรักโรแมนติกออกมาเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่’ เนื่องจากบางงานวิจัยแสดงให้ว่าความสัมพันธ์ในชีวิตจริงจบลง เพราะผู้คนยึดรูปแบบความรักจากหนังรักมาเป็นต้นแบบของชีวิตคู่ จึงเรียกสิ่งนี้ว่าทฤษฎีการอบรมสั่งสอน (Cultivation theory) หมายความว่าสื่อจะมีอิทธิพลในการสร้างความคิดและทัศนคติบางอย่างให้กับสังคม จนส่งผลต่อโลกแห่งความจริงที่ผู้คนเหล่านั้นมีความเชื่อว่า ชีวิตของพวกเขาต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับสิ่งที่หนังรักนำเสนอออกมา
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนยังพบอีกว่า ‘หนังรักสามารถทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นกัน’ เพราะหนังรักส่งผลต่อความคิดและทัศนคติด้านลบของผู้หญิง คือทำให้สัญชาตญาณของพวกเธอลดลง จนบางครั้งทำให้พวกเธอติดภาพว่าชายหนุ่มในอุดมคติต้องมีความมั่นคงและซื่อตรงถึงจะเรียกได้ว่าเป็นชายที่แสนดี
งานวิจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นต่างชี้ให้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ในด้านบวกบอกว่าการดูหนังรักช่วยเสริมสร้างความคิดและความรู้สึกที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับที่ จูเลีย ลิปป์แมน (Julia Lippman) อาจารย์สาขาการศึกษาการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Global News ของแคนาดา ว่า ‘สัญชาตญาณคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราปลอดภัยในความสัมพันธ์’ แต่บางครั้งมันก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อความคิด จนอาจนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครที่อาจก่อเกิดผลเสียตามมา
แม้ว่าการดูหนังรักจะช่วยให้เยียวยาวจิตใจและช่วยทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวกในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าหนังรักคือเหตุผลในที่ทำให้คู่รักยุติความสัมพันธ์ลง เพราะบางคนไม่อาจแยกมันออกจากชีวิตจริงได้ และยึดติดว่ารักที่พบเจอต้องเหมือนกับหนังรัก
อ้างอิง: