ทำแท้งปลอดภัย

คุณตัดสินใจจะมีลูกหรือจะทำแท้งก็ได้ แต่อยากให้มองเห็นว่า ‘นี่คือสิทธิของผู้หญิง’

การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงดำเนินควบคู่ไปกับการให้คุณค่าต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น สังคมยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนเสมอภาคกัน สังคมที่เริ่มตั้งคำถามว่าอาชีพ sex worker แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ อย่างไร สังคมนั้นจึงควรเปิดกว้างมากพอที่จะพูดคุยกันถึงเรื่องสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง (ที่มาจากความยินยอมพร้อมใจของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร่างกายของเธอเอง)

        adB สนทนากับ ‘สุพีชา เบาทิพย์’ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง และแอดมินเพจ คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง ถึงความคิดเบื้องหลังการขับเคลื่อนให้เกิดการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดโทษกับผู้หญิงทำแท้งมีความผิด ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถึงแม้ว่ากฎหมายมาตรา 305 จะมีข้อยกเว้นให้กับการยุติการตั้งครรภ์ได้ในบางกรณี โดยต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า อำนาจการตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ได้เป็นของผู้หญิง (ที่เป็นเจ้าของร่างกายของตัวเอง)
        “การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องเนื้อตัวของผู้หญิงโดยตรง ดังนั้นผู้หญิงก็ควรจะมีสิทธิที่จะตัดสินใจ เพราะ ณ จุดที่เขาตัดสินใจทำแท้งมันแปลว่าเขาก็ต้องทำอะไรกับร่างกายของตัวเอง หรือถ้าเขาตัดสินใจที่จะตั้งครรภ์ต่อไปก็แปลว่าเขาตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของเขาเองทั้งชีวิตเลย”
        ถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ การปลดล็อกกฎหมายมาตรา 301 มีความหมายต่อเธออย่างไร สุพีชาย้อนเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในวัย 25 ปี
        “เราเป็นคนที่เคยทำแท้ง ตอนนั้นเราอายุ 25 กำลังจะเข้าเรียนปริญญาโท ซึ่งตอนนี้เราอายุ 53 แล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปเราเห็นตัวเองชัดเจนว่า เออ เราตัดสินใจถูกแล้ว เพราะ ณ ตอนนั้นเราไม่มีความสามารถมากพอที่จะเลี้ยงดูเขาได้ เราจึงคิดว่าเราเข้าใจเรื่องนี้แบบคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วม และเราก็สนใจเรื่องเฟมินิสต์มานาน เรามองว่าการทำแท้งเป็นการตั้งคำถามกับเรื่องสิทธิของผู้หญิงในระดับที่ลึกมากๆ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิของผู้หญิงในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองอยู่ที่ไหน ในขณะที่สังคมไทยตอนนั้นพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก
        “คุณตัดสินใจจะมีลูก หรือตัดสินใจจะทำแท้งก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่เราขอคืออยากให้มองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิเหมือนๆ กัน บุคคลแต่ละบุคคลมีความสามารถที่จะเลือกได้โดยปราศจากการถูกกีดกันหรือประณามในสิ่งที่เขาเลือกหรือในสิ่งที่เขาเป็น”

 

ทำแท้งปลอดภัย

สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง และแอดมินเพจ คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง

ปัจจุบันเราพูดได้เต็มปากหรือยังว่าการยุติการตั้งครรภ์ในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ ‘ปกติ’ และ ‘ปลอดภัย’

        ถามว่าปลอดภัยมั้ย ปลอดภัยแน่ๆ แต่ถ้าถามว่าปกติหรือยัง? เราว่าการมองว่าการทำแท้งเป็น ‘เรื่องปกติ’ หรือ ‘เรื่องไม่ปกติ’ ถือเป็นเรื่องของค่านิยม คนในสังคมมีความแตกต่างหลากหลายและคิดไม่เหมือนกัน แต่ถ้าพูดโดยภาพคือเราเห็นว่ามีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น เพราะสื่อให้ความสนใจต่อประเด็นนี้มากขึ้น แม้กระทั่งสื่อที่ทำคอนเทนต์เชิงไลฟ์สไตล์ก็ยังนำเสนอเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เราคิดว่าสังคมค่อนข้างรับรู้ประเด็นนี้ในฐานะ ‘สิทธิของผู้หญิง’ มากขึ้นทีเดียว 

ดังนั้น อะไรคือสิ่งที่คุณกำลังขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้อยู่ในตอนนี้ 

        ในการขับเคลื่อนที่ผ่านมาเราต่อสู้อยู่กับสามเรื่องใหญ่ๆ คือ วิทยาการทางการแพทย์ ทัศนคติ และกฎหมาย ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องวิทยาการทางการแพทย์สำคัญมาก เพราะถ้าทัศนคติดี กฎหมายได้ แต่วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่ไปไหนมันก็ทำอะไรไม่ได้ แต่โชคดีที่ตอนนี้เรามาถึงจุดพีกของวิทยาการทางการแพทย์แล้ว 

        ปัจจุบันการใช้ยาในการทำแท้งเป็นที่ยอมรับมากกว่าการใช้เครื่องมือ จากหลากหลายเหตุผล เช่น มันสามารถใช้ได้ในทุกช่วงอายุครรภ์ ในขณะที่การใช้เครื่องมือยังมีข้อจำกัดและยุ่งยากมากกว่า ทั้งต้องใช้เวลาในการตระเตรียม ต้องมีห้องเฉพาะ ต้องมีมาตรฐานความสะอาด และที่สำคัญคือต้องมีคนอื่นทำให้ แต่ถ้ามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นทำให้ภายในอายุครรภ์ที่เหมาะสมก็สามารถทำได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน 

        การทำแท้งที่ถูกวิธีมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้ยาไวอากร้าด้วยซ้ำ หลายคนยังไม่รู้และคิดว่าการซื้อไวอากร้ามากินเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชายที่ประสบปัญหาทางเพศ แต่เราลืมกังวลไปหรือเปล่าว่าการกินไวอากร้าอาจทำให้หัวใจวายตายได้นะ 

        วิทยาการทางการแพทย์มาถึงจุดที่คนสามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยแล้ว ทีนี้ก็มาสู่เรื่องของทัศนคติ ซึ่งคนหลายๆ กลุ่มมีทัศนคติต่อการทำแท้งไม่เหมือนกัน ประชาชนทั่วไปในสังคมรวมถึงตัวผู้หญิงเอง เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ให้บริการ รวมถึงผู้กำหนดกฎหมาย ฯลฯ มีความแตกต่างทางความเชื่อ สิ่งที่เรากำลังเฝ้ารอฟังในด่านต่อไปก็คือ ผู้แทนในสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ 

คนนั่งในสภาส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย คนตรากฎหมายส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของคุณหรือเปล่า 

        ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ควรจะเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคนะ เราเป็นผู้หญิง เราเข้าใจผู้ชายได้ เขาเป็นผู้ชาย เขาก็น่าจะเข้าใจผู้หญิงได้เช่นกัน แต่เราคิดว่าลึกๆ มันก็อาจจะเกิดอุปสรรคก็ได้ เพราะในชีวิตประจำวันเราเห็นตัวอย่างจากการที่ผู้ชายไม่เข้าใจผู้หญิงเยอะมาก เช่น เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนแล้วบอกว่าไม่สบายตัว เวียนหัว หรือปวดเนื้อเมื่อยตัว ซึ่งอาการของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป 

        ถ้าเราอธิบายกับผู้หญิง ขอร้องให้ช่วยเหลืองานบางส่วนในวันที่เราปวดท้องจนทำงานไม่ไหว เราจะเข้าใจกัน แต่ผู้ชายบางคนอาจจะรู้สึกว่าแปลก หรือคิดว่า ‘มนุษย์เมนส์ก็เป็นอย่างนี้แหละ’ คือมันจะมีคำเรียกอย่าง ‘มนุษย์เมนส์’ ขึ้นมา หรือเรื่องการเป็นแม่บ้านก็ตาม บางบ้านยังเรียกร้องว่าเธอเป็นผู้หญิง เธอควรจะทำกับข้าวให้ฉัน มันคือหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเสน่ห์ปลายจวักของผู้หญิง แล้วพอฉันกินข้าวเสร็จแล้วฉันก็จะกินเบียร์ต่อ ส่วนเธอก็เอาจานที่ฉันกินแล้วไปล้างซะ เพราะหน้าที่เหล่านี้ควรจะเป็นของเธอ โดยลืมไปว่าในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงก็ทำงานนอกบ้านเหมือนกัน เหนื่อยเหมือนกัน พอกลับมาบ้านแล้วก็ยังต้องคอยมาทำงานบ้านอีก 

 

ทำแท้งปลอดภัย

แล้วความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษล่ะ เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน 

        ทัศนคติทางศาสนาที่มองว่าการฆ่าเป็นบาปก็อาจจะมีส่วน แต่สุดท้ายทัศนคติเรื่องบุญบาปก็ถูกนำมาใช้เพื่อนหนุนทัศนคติที่ว่าผู้หญิงควรจะเป็นเมียและแม่นี่แหละ เราได้อธิบายไปแล้วว่าหน้าที่เมียที่สังคมมอบหมายให้ต้องเป็นยังไง ทีนี้จะพูดถึงการเป็นแม่บ้างนะ 

        คนในสังคมยังมีทัศนติว่า ผู้หญิงที่ปฏิเสธการเป็นแม่เป็นผู้หญิงที่ไม่ดี เขามองว่าความเป็นแม่เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นหน้าที่ที่ผู้หญิงควรจะต้องทำ ถึงขั้นว่ามันเป็นหน้าที่อันสูงส่งเพื่อให้ผู้หญิงอดทนอยู่ตรงนี้ได้เลยด้วยซ้ำ หรือถ้าจะให้พูดถึงเรื่องการฆ่าเป็นบาป ขอตั้งคำถามแรงๆ เลยนะว่า เราฆ่ากันอยู่ทุกวันใช่หรือเปล่า เราฆ่าหมู ฆ่าไก่กันอยู่ทุกวัน หรือเรามีความคิดจะซื้อเรือดำน้ำนี่ก็เพราะว่าเดี๋ยวเราอาจจะฆ่าคนด้วยนะ แล้วเราก็ยังไม่ยกเลิกโทษประหาร เราฆ่าคนโดยใช้กฎหมายพิพากษาเขา ดังนั้น การจะบอกว่าฆ่าคนถูกหรือผิดมันเป็นการเลือกใช้คำอธิบาย ไม่ใช่ว่าฆ่าคนแล้วจะผิดทุกกรณี แต่มันขึ้นกับว่าใครฆ่าใครด้วยเหตุผลใดต่างหาก ดังนั้น มันมีชุดคำอธิบายที่แตกต่างกัน

        เราจึงรู้สึกว่าการที่ประณามผู้หญิงว่าฆ่าลูกเป็นการเลือกเอาค่านิยมทางศาสนามาสนับสนุนทัศนคติที่ว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่โดยไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่มองว่าการเป็นแม่เป็นสิ่งที่เป็นภาระ และการมีลูกก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่สวยงามเหมือนนั่งมองดอกไม้ผลิบาน แต่มันคืองานอีกอย่างหนึ่ง มันคือร่างกายที่จะต้องสูญเสียไป มันคือมูลค่าที่จะต้องสูญเสียไปเช่นกัน คุณจะต้องหาเงินมาซัพพอร์ตตรงนี้ เสียเวลากับตรงนี้ และจะต้องมีสมาธิกับตรงนี้ ดังนั้น การที่ผู้หญิงปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าไม่พร้อมที่จะทำงานตรงนี้ได้เป็นการตัดสินใจที่ผ่านการคิดไตร่ตรองมาดีแล้ว และเรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนตัวของผู้หญิง คือเนื้อตัวของผู้หญิงโดยตรง ซึ่งการทำแท้งก็กระทบกับตัวผู้หญิงคนนั้นมากกว่าคนอื่นๆ และมากกว่าสามีด้วย

        การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเป็นงานที่หนัก และคนเป็นแม่จะต้องเป็นไปตลอดชีวิต มันคืออนาคตตลอดชีวิตของผู้หญิงคนนั้น สามีมากมายสามารถเลิกร้างจากการเป็นพ่อ เขาสามารถปฏิเสธลูกหรือไปมีภรรยาคนใหม่แล้วทิ้งลูกไว้ให้ผู้หญิงเลี้ยง แต่หากผู้หญิงต้องการจะเลิกเป็นแม่ก็คือต้องตายไปเท่านั้น ถึงจะหยุดทำหน้าที่นี้ได้ 

เพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจใช่ไหม คนยุคปัจจุบันถึงยอมรับเรื่องการทำแท้งมากกว่าในอดีต 

        เราคิดว่าแต่ก่อนคนไม่ได้ตีตราเรื่องการทำแท้งมากเท่าสมัยปัจจุบันด้วยซ้ำ และกฎหมายห้ามการทำแท้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตนานนมด้วย มันเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่เอาเป็นว่า ณ ปัจจุบัน ถ้าถามว่าทำไมคนถึงเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้น แน่นอนเรื่องของการดิ้นรนทางเศรษฐกิจมีผล สถิติบางอย่างก็แสดงให้เห็นว่าคนที่ไปทำแท้งเป็นคนที่มีเศรษฐกิจยากจนมากกว่า แต่เราว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้เป็นเหตุผลเดียว เพราะถ้ามองให้ดีจะพบว่ากระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมาไกลขึ้น เราถามแม้กระทั่งว่าทำไมคนไม่เท่ากัน หรือคนที่ใช้ยาหรือคนที่เป็น sex worker ก็เป็นคนเหมือนกันใช่หรือเปล่า คือเราถามกันมากไปกว่าการเป็นหญิงหรือชายแล้ว เพราะความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมันฝังตัวอยู่ในประเทศไทยและมันกำลังค่อยๆ เติบโต ความคิดเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงจึงค่อยๆ เติบโตขึ้น เราจึงเห็นการพูดเรื่อง consent ในการมีเพศสัมพันธ์ หรือเรื่อง #Metoo เป็นต้น 

ในแต่ละวันมีคนส่งข้อความมาระบายความทุกข์กับเพจที่คุณดูแลมากแค่ไหน 

        ก็มีคนที่มาระบายความทุกข์ มีคนส่งข้อความมาให้กำลังใจเรา แล้วก็มีทั้งคนที่มาเล่าให้ฟังว่าการทำแท้งโอเคมาก แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือ ดูเผินๆ คุณจะเห็นว่าเราเรียกร้องให้มีการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายใช่ไหม แต่สิ่งที่เป็นใจความสำคัญที่สุดก็คือความต้องการจริงๆ ของผู้หญิง 

        เราเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิตัดสินใจ จะท้องต่อหรือจะทำแท้งก็ได้ โดยไม่มีใครมากดดัน เพราะเคยมีเคสที่ผู้หญิงมาเล่าให้ฟังว่าเขาถูกกดดันจากแฟนว่าให้ทำแท้งไปเถอะ เพราะแฟนคนก่อนหน้านี้ของผู้ชายก็เคยทำแท้งแล้วเหมือนกัน ไม่เป็นไรหรอก ซึ่งผู้ชายยกเรื่องอายุของตัวอ่อนมาบอกว่า เฮ้ย เด็กยังไม่ได้เป็นคนเลย ยังเป็นแค่ตัวอ่อนเท่านั้นเอง ผู้หญิงอาจจะรู้สึกว่าเขารักผู้ชายมากจนยอมทำแท้งเพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้ได้ หรือบางคนเล่าให้ฟังว่าผู้ชายยอมรับ แต่ครอบครัวไม่ยอมรับ ผู้ชายจึงเลือกยึดความเห็นของครอบครัวมากกว่าความเห็นของผู้หญิงหรือของตัวเองด้วยซ้ำ สุดท้ายผู้หญิงจึงต้องจำใจทำแท้งและตกอยู่ในความทุกข์ เพราะต่อให้คุณไปบอกให้ผู้หญิงมองว่านั่นเป็นเพียงแค่ก้อนเนื้อ แต่เขาคิดว่าเป็นลูกของเขาไปแล้ว ซึ่งพอเขาตัดสินใจทำแท้งไปจึงรู้สึกว่าเราได้ฆ่าเขาไปแล้ว ไม่น่าเลย 

 

ทำแท้งปลอดภัย

อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากจะเห็น 

        เราหวังว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนต้นปีศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินออกมาแล้วว่ามาตรา 301 ขัดต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สิ่งนี้มีความหมายมากเพราะมันส่งผลสะเทือนให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาญาซึ่งโดยปกติแล้วกฎหมายอาญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ปีนี้เราอยากจะขอให้ทุกคนที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ช่วยกันลุกขึ้นมาทำทุกๆ ทางที่จะส่งเสียงของตัวเองออกไป เพื่อที่จะได้รู้ว่าแต่ละคนคิดเห็นกันอย่างไร และเราจะเคารพทุกความคิดเห็นต่อให้เขาไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะว่าเราก็เรียกร้องให้เขาเคารพเราเช่นกัน 

        สำหรับคนที่เห็นด้วยเราก็อยากให้ช่วยส่งเสียงออกไปเพื่อให้ขอบเขตในการรณรงค์มันกว้างมากขึ้น ไปถึงคนที่ยังไม่เคยได้ยิน หรือยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพื่อให้เขาเกิดความตระหนักและเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะเสียงของสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อผู้กำหนดนโยบาย 

ตอนนี้กฎหมายคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว 

        หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาว่ามาตรา 301 ขัดกับมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญฯ ทาง ครม. ก็มีมติให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้แก้ไขเรื่องนี้ โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้กับรัฐบาล ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง ณ วันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปิดเผยมติที่ประชุมออกมาแล้ว (อ่านเนื้อหาทั้งหมดที่นี่)

        สาระสำคัญสรุปออกมาได้สองข้อคือ หนึ่ง––แก้ไขมาตรา 301 อย่างไร และสอง––แก้ไขมาตรา 305 อย่างไร 

        มาตรา 301 เดิมบอกว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในอายุครรภ์ใดก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ที่ประชุมนำเสนอมาใหม่คือ กำหนดให้ผู้หญิงทำแท้งตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่หากมากกว่านั้นถือว่ามีความผิด โดยยังได้ลดความผิดทั้งโทษจำคุกและโทษปรับลงด้วย 

        ส่วนมาตรา 305 (ในกรณีที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์) ก็กำหนดว่า ถ้าการกระทำในมาตรา 301 และ 302 เป็นการทำโดยแพทย์ และทำไปโดยเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งของความจำเป็นของผู้หญิงดังต่อไปนี้ ถือว่าไม่มีความผิด 

        ก. ความจำเป็นทางด้านร่างกายและจิตใจ 

        ข. ความจำเป็นเนื่องจากผู้หญิงถูกล่วงละเมิด ถูกกระทำความผิดทางเพศ 

        ค. ความจำเป็นเมื่อตัวอ่อนมีความพิการ 

        แต่ปัญหาที่เรายังรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยก็คือ มันควรจะยกเลิกความผิดทั้งหมด เพราะการทำแท้งควรจะมองเป็นเรื่องของสุขภาพ และการที่คนจะเข้าถึงบริการสุขภาพไม่ควรจะเป็นความผิด 

หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้มาตรา 305 ใครคือผู้มีดุลยพินิจในการพิจารณาถึงเงื่อนไขของความจำเป็นทางด้านร่างกายและจิตใจ 

        หมอ ข้อนี้จึงถือเป็นการพรากการตัดสินใจเหนือเนื้อตัวร่างกายไปจากผู้หญิง และมันสร้างภาระในการตัดสินใจให้หมอ แปลว่าหมอต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้หญิงคนนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพกายหรือจิตจนถึงขั้นต้องยุติการตั้งครรภ์ แน่นอนว่าสิ่งที่หมอวินิจฉัยออกมาจะต้องได้รับการบันทึกไว้ เมื่อมีหลักฐานหมอก็อาจจะกลัวว่าจะมีใครไหมที่จะมาเปิดเวชระเบียนของเขาดูแล้วบอกว่าหมอคนนี้วินิจฉัยไม่ถูกต้อง ทุกครั้งที่หมอตัดสินใจย่อมแปลว่าขาข้างหนึ่งของหมอต้องเข้าไปอยู่ในตะรางแล้วนะ นี่เท่ากับว่ามันเป็นการผลักภาระในการตัดสินใจไปให้หมอหรือเปล่า 

 

ทำแท้งปลอดภัย

แล้วหมอคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง 

        ปัจจุบันมีหมอที่รวมตัวกันในนามของเครือข่ายอาสา RSA (Referral System for Safe Abortion) ซึ่งสิ่งที่เขาเรียกร้องสอดคล้องกับสิ่งที่เราขับเคลื่อนในบางส่วน ก็คืออยากให้ยกเลิกมาตรา 301 ไปเลย ซึ่งถ้ายกเลิกกฎหมายมาตรานี้จะเท่ากับว่ายกเลิกทั้งหมดเลยนะ เพราะมันจะบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นความผิด แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่มาตรา 301 ไม่ถูกยกเลิก ทางกลุ่มทำทางก็อยากให้กำหนดอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ไว้ภายใน 24 สัปดาห์ ในขณะที่หมอส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรจะอยู่ที่ 20 สัปดาห์ ดังนั้น ในส่วนนี้จึงอยู่ในระหว่างการคุยกัน

ทำไมคุณถึงเห็นว่าตัวเลข 24 สัปดาห์กำลังเหมาะสม 

        40 สัปดาห์คืออายุครรภ์ที่ผู้หญิงครบกำหนดทำคลอดใช่ไหม ทีนี้เวลาพูดถึงเรื่องสมดุลของสิทธิเสรีภาพระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์กับสิทธิในชีวิตและร่างกายของสตรีมีครรภ์ เราจะอธิบายให้เห็นภาพว่าก่อนระยะเวลา 24 สัปดาห์หรือ 6 เดือน ตัวอ่อนมีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดนอกครรภ์ได้แตกต่างกันยังไงบ้าง 

        ระยะเวลา 8 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะยังมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อเยื่อกลมๆ เล็กๆ ซึ่งเล็กกว่าหัวแม่โป้ง ตัวอ่อนจะไม่สามารถหายใจได้ และความสามารถในการมีชีวิตอยู่นอกร่างกายคือไม่มีเลย 

        ระยะเวลา 12 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะมีการพัฒนาขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง มีใบหน้า เริ่มดูเหมือนมนุษย์มากขึ้น แต่ถามว่าปอดของเขาหายใจได้ไหม ก็ยังไม่ได้ ดังนั้นตัวอ่อนจึงยังไม่สามารถอยู่นอกร่างกายได้ 

        ระยะเวลา 20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ปอดเริ่มก่อนรูปร่างขึ้นมาแล้ว และจะเริ่มทำงานเองได้ แต่ถามว่าทำงานได้ดีหรือยัง ต้องบอกว่ายังยากมากอยู่ดี 

        ทีนี้พอเข้าสู่สัปดาห์ที่ 24 หรือ 6 เดือน ถ้าหากมีการคลอดก่อนกำหนด โดยตัวอ่อนออกมาตั้งแต่ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้แค่ 6 เดือน งานวิจัยบอกว่าโอกาสที่จะเสียชีวิตหรือมีชีวิตต่อจะอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะตัวอ่อนจะมีสัญญาณชีพแล้ว แต่ปอดสามารถทำงานได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วคุณจะต้องดูแลเขาอย่างหนักหน่วงเลย ระหว่างนั้นจะต้องคอยระวังเรื่องลำไส้เน่า น้ำในโพรงสมอง ปัญหาเรื่องตา และอะไรอีกมากมาย จนกระทั่งผ่านไปเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือร่วมปี ในที่สุดคุณจะพบว่าเขามีโอกาสที่จะไม่พิการเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แปลว่าโอกาสในการพิการจะมีมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์เลย 

        ดังนั้น สำหรับเราถือว่าภายในระยะเวลา 6 เดือน ยังเป็นจุดที่ผู้หญิงมิสิทธิในการตัดสินใจได้ แต่ถ้ามากกว่านี้เราก็ไม่เห็นด้วยแล้ว เพราะเด็กเองก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดเหมือนกัน 

ถ้าทำแท้งโดยมีอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน ผู้หญิงจะยังปลอดภัยใช่ไหม

        ถ้าพูดในแง่วิวัฒนาการทางการแพทย์ต้องบอกว่าการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้ไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจะคลอดทารกออกมาเลย เพราะการทำแท้งเป็นกระบวนการที่ทำให้รกลอกออก ทำให้มดลูกบีบตัวจนเกิดการเบ่งคลอดออกมา การทำแท้งจึงทำได้อย่างปลอดภัยตลอดอายุครรภ์ แต่ที่คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจคือ การคลอดมีความเสี่ยงยิ่งกว่าการยุติการตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ 

        การคลอดคือการยุติการตั้งครรภ์ประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ที่สุด ดังนั้น พอตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ที่สุดจึงมีความเสี่ยงต่อการฉีดขาดของมดลูกมากที่สุด รวมถึงรกจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และอาจส่งผลให้เกิดโอกาสที่รกไม่ลอกหรือมีเศษเหลืออยู่ในช่องคลอดมากที่สุดด้วย ในช่วงนี้ผู้หญิงเองจะมีความดันขึ้นมากที่สุดเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่าการคลอดอันตรายกว่าการทำแท้ง 

        เราจะเห็นผู้หญิงถ่ายรูปชูสองนิ้วหลังคลอดด้วยความดีใจ แต่รู้ไหมว่าเบื้องหลังคือโอกาสที่จะเกิดอันตรายซึ่งมีเยอะมาก เขาถึงได้รณรงค์ให้มาคลอดที่โรงพยาบาล อย่าไปโหนเชือกคลอดที่บ้านเพราะมันอันตราย 

เพราะอะไรคุณถึงเลือกขับเคลื่อนเรื่องนี้ การยกเลิกกฎหมายห้ามผู้หญิงทำแท้งมีความหมายต่อชีวิตคุณอย่างไร 

        เราเป็นคนที่เคยทำแท้ง ตอนนั้นเราอายุ 25 กำลังจะเข้าเรียนปริญญาโท ซึ่งตอนนี้เราอายุ 53 แล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปเราเห็นตัวเองชัดเจนว่า เออ เราตัดสินใจถูกแล้ว เพราะ ณ ตอนนั้นเราไม่มีความสามารถมากพอที่จะเลี้ยงดูเขาได้ เราจึงคิดว่าเราเข้าใจเรื่องนี้แบบคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วม และเราก็สนใจเรื่องเฟมินิสต์มานาน เรามองว่าการทำแท้งเป็นการตั้งคำถามกับเรื่องสิทธิของผู้หญิงในระดับที่ลึกมากๆ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงอยู่ที่ไหน ในขณะที่สังคมไทยตอนนั้นพูดเรื่องนี้น้อยมาก

 

ทำแท้งปลอดภัย

“คนที่เลือกสนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฏหมาย เพราะเขาไม่เคยเข้าใจว่าการมีลูกคือของขวัญและเป็นความสุขมากแค่ไหน” คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวแบบนี้ 

        คือเราก็ไม่ได้เป็นแม่ แต่เราเป็นลูก แล้วเราก็คิดว่าการมีแม่คือของขวัญและเป็นความสุขเหมือนกัน เราได้ดูแลแม่และป้าที่ติดเตียงมาเป็นระยะเวลาเจ็ดปี เราเข้าใจทั้งความสุข ความทุกข์ ความเหนื่อย และความชื่นใจ เราเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ดีและคิดว่าประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้จำกัดกับตัวเราแค่คนเดียว ถึงแม้คนอื่นจะไม่ได้มีประสบการณ์ดูแลแม่ที่ติดเตียงเหมือนเรา แต่เขาก็มีความสุขกับคนที่เขารักเหมือนกัน 

        ถ้ามีคนมาพูดประโยคที่ว่านี้กับเรา เราก็คงจะยืนยันหลักการเดิมว่า เราไม่ได้บอกว่าผู้หญิงจะต้องตัดสินใจหรือเห็นด้วยกับเราไปทั้งหมด การที่คุณมีความสุขกับสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีเลิศที่สุดเลย คุณมีสิทธิเลือกได้เต็มที่ จะตัดสินใจมีลูกหรือจะตัดสินใจทำแท้งก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่เราขอคืออยากให้มองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิเหมือนๆ กัน บุคคลแต่ละบุคคลมีความสามารถที่จะเลือกได้โดยปราศจากการถูกกีดกันหรือประณามในสิ่งที่เขาเลือกหรือสิ่งที่เขาเป็น 

 


ประมวลกฎหมายอาญาไทย ว่าด้วยความผิดฐานทำให้แท้งลูก 

กฏหมายอาญาว่าด้วย ‘ความผิดฐานทำให้แท้งลูก’ ที่อยู่ในประมวลกฏหมายอาญา เป็นสิ่งที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2500 หรือเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว โดยมีใจความดังนี้ 

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้แท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
-ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 
-ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท 

มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยผู้หญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงสองหมื่นบาท  
-ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงสี่หมื่นบาท 

มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ 

มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้นเป็นการกระทำของนายแพทย์และ 
1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ 
2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด 

อ้างอิง: https://ilaw.or.th/node/3