ฝุ่นควันในเชียงใหม่

ไม่แก้วันนี้ ก็ฆ่ากันตายช้าๆ ‘ระเบิดเวลา’ ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ที่ต้องแก้ไขร่วมกัน

723, 671, 508, 445, 402 และ 395

        เปล่า นี่ไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจาก COVID-19 แต่คือค่า PM 2.5 ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งบันทึกไว้เมื่อเวลา 7.00 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2563 โดยศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่1

        หากใครตกใจกับตัวเลขที่ว่านี้ ขอให้ย้อนกลับไปดูวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ตัวเลข PM 2.5 พุ่งสูงถึงหลัก 1,000 ในอำเภอสะเมิง ที่ทำให้เชียงใหม่ถีบตัวเองขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่ใช่ในฐานะเมืองน่าอยู่ที่ผู้คนอยากมาท่องเที่ยวเช่นเคย หากเป็นอันดับหนึ่งของเมืองที่อากาศแย่ที่สุด แซงอันดับสองอย่างมุมไบ อินเดีย ไปไกลหลายเท่าตัว

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่
Image: www.cmuccdc.org/hourly

 

        และหากนั่นยังน่าตกใจไม่พอ ขอให้ดูข้อมูลจากกลุ่ม Punch Up2 ที่แสดงให้เห็นว่า ‘ระเบิดเวลา’ PM 2.5 นี้กำลังฆ่าคนอย่างช้าๆ ให้ตายผ่อนส่งได้มากเพียงใด เช่น ในเชียงใหม่ที่มีปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.95 มคก./ลบ.ม ต่อปี จะส่งผลให้อายุขัยของผู้คนเฉลี่ยสั้นลงถึง 3.62 ปีเลยทีเดียว (www.thairath.co.th/spotlight/pm25)  

        ว่ากันว่าชาวเหนือนั้นเป็นคนใจเย็น เข้าอกเข้าใจหากทุกคนกำลังสนอกสนใจกับการระบาดของ COVID-19 ตอนนี้ แต่ถ้าเราเป็นห่วงเป็นใยกับ COVID-19 ที่ทำลายปอดได้อย่างรวดเร็ว คงไม่มากเกินไปถ้าจะชวนให้หันมาสนใจสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทยไปพร้อมกัน ที่แม้จะไม่แสดงอาการแจ้งผลติดเชื้อเป็นบวกได้ทันท่วงทีเหมือนอย่าง COVID-19 นี้ แต่เจ้าระเบิดเวลาอย่าง PM 2.5 นั้นก็ค่อยๆ ทำลายปอดและคุณภาพชีวิตเช่นกัน – จะต่างกันไปก็เพียง นี่จะเป็นการฆ่ากันอย่างเนิบช้า และยาวนาน…

        a day BULLETIN พูดคุยกับ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้นำ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ถึงสถานการณ์หมอกควันในเชียงใหม่ในวันที่ศูนย์บัญชาการฯ ฝุ่นควัน รายงานพบจุด ‘hot spot’ มากถึง 398 จุด และครึ่งหนึ่งของ ‘hot spot’ นั้นเป็นพื้นที่ของป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่
Image: วรนุช สุขแสง

 

        “ปีนี้เป็นสงครามระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านที่ปะทุจากการสั่งสมไฟแห่งความขัดแย้ง ทั้งทวงคืนผืนป่า ทั้งการประกาศป่าอนุรักษ์ทับชุมชน บวกกับสภาวะโลกร้อน จึงไม่ใช่แค่ดับไฟ”

        ข้อความจากชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ที่ตอบคำถามว่าสถานการณ์ไฟป่าปีนี้เป็นเช่นไร ตัวเลขที่สูงขึ้นผิดปกตินั้นมีสาเหตุมาจากอะไรเป็นสำคัญ

        “นี่เป็นการปะทุความขัดแย้งที่สะสมมานานระหว่างรัฐและผู้คน เราจะเห็นได้ว่าไฟที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแทบทั้งหมด มันเป็นสงครามเชิงโครงสร้าง”

        ‘สงครามเชิงโครงสร้าง’ บทสนทนาที่จะเผยให้เห็นว่าการแก้ปัญหาใดๆ ไม่ว่าจะปัญหาเร่งด่วน เหตุสุดวิสัยอย่าง COVID-19 หรือหมอกควันไฟป่าที่คาราคาซังมานานนั้น ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องการการรื้อถอนเปลี่ยนแปลงการจัดการใหม่ ให้มีการกระจายอำนาจ ก่อนที่ผลของการไม่จัดการนั้นจะลุกลามและคุกคามคุณภาพชีวิตของทุกคนมากไปกว่าเคย

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่

เห็นช่วงนี้ทางสภาลมหายใจและกลุ่มต่างๆ ในเชียงใหม่ออกมาช่วยเหลือกันเองเยอะมาก การรับมือนั้นเพียงพอต่อสถานการณ์ไฟป่าที่ดูรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีหรือไม่ 

        การแก้ปัญหามันอาศัยการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างหมดเลย เราพยายามประสานเชื่อมโยงทั้งท้องถิ่นและผู้ว่าฯ ซึ่งทุกคนก็ทำงานด้วยกันได้ดี แต่ปัญหาโครงสร้างส่วนกลางที่มันลงมาเป็นแท่งๆ มันทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้เลย

        ผู้ว่าฯ เองก็พยายามอย่างมาก แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ ไม่มีอำนาจอะไร เรากำลังเสนอกับผู้ว่าฯ ว่าจะต้องวางแผนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ชาวบ้าน โดยมีสภาลมหายใจเป็นตัวเชื่อมกับทุกหมู่บ้าน ให้มีการวางแผนร่วมกันทำงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

แผนที่วางไว้ว่าจะทำงานร่วมกันคืออะไร

        ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือชาวบ้านถูกกันออกจากการมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการ เวลาปกติไม่ให้ชาวบ้านมายุ่ง แต่พอเกิดเหตุไฟป่าจะเรียกร้องให้ชาวบ้านมาช่วย มันไม่ได้ มันต้องไปแก้ให้ตรงจุด ต้องสร้างระบบบริหารจัดการใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งไม่รู้ว่าเราเองจะทำเรื่องนี้ได้มากแค่ไหน เพราะถึงที่สุดแล้วมันต้องเริ่มให้เกิดการกระจายอำนาจทางโครงสร้างทั้งหมด

        ในตอนนี้ที่ยังทำไม่ได้ เราก็พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ ให้มีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่การแบ่งพื้นที่ป่า จัดการวิธีลดไฟ ลดฝุ่นควัน ทำแนวกันไฟ ทำเรื่องการป้องกันต่างๆ สร้างอาชีพ มีกองทุนสนับสนุนให้เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวให้เป็นเกษตรยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดคือการมองอย่างบูรณาการ จัดการเป็นองค์รวม เพราะปัญหาฝุ่นควันนั้นมันไม่ได้เกิดจากป่าอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ ทั้งจากรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวในชุมชน หรือแม้แต่วิถีชีวิตในเมือง การใช้รถยนต์ อุตสาหกรรมโรงงาน ยันสภาวะโลกร้อน ซึ่งมันเป็นองคาพยพที่ใหญ่มากต้องการการจัดการในหลายระดับ

        แต่ระดับที่จะเอาอยู่ได้จริงๆ ก็คือระดับชุมชน พื้นที่นั้นๆ เอง ปกติจะมีคนสั่งการจากข้างบนลงล่าง เอานโยบายไปบังคับใช้ในพื้นที่ซึ่งมันแก้ไม่ได้ มันต้องสลับให้เป็นการทำงานจากข้างล่างขึ้นมา แต่ทีนี้จะทำจากข้างล่างเลยก็ไม่ได้อีก เพราะว่ามันล็อก มันมีการรวมศูนย์อยู่ตรงกลาง มันเลยเป็นการสู้กันระหว่างข้างบนและข้างล่าง เช่น การจัดการบริหารพื้นที่ แต่เราก็พยายามทำในส่วนที่เราทำได้ พยายามทำให้คนในชุมชนได้เริ่มร่วมกันวางแผนการใช้พื้นที่ที่เหมาะกับเขา

มูฟเมนต์ แอ็กชันมากมายจากภาคประชาสังคมมันพอไปเขย่าโครงสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม

        เราหวังว่ากระบวนการตื่นจากข้างล่างมันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอนาคต สุดท้ายแล้วต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ได้ ไม่ใช่สั่งการจากเบื้องบนลงมาแบบนี้

        ระบบตอนนี้มันไม่มีการบูรณาการเลย งานถูกส่งกลับหน่วยงานต่างๆ หมดเลย ไม่ลงไปยังชุมชนเลย เราต้องมาทอดผ้าป่า พยายามเข้าไปในชุมชนกันเอง แต่เราก็หวังว่าการค่อยๆ ขับเคลื่อนแบบนี้จะทำให้คนท้องถิ่นตื่นตัวเห็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งในที่สุดผมหวังว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เกิดการกระจายอำนาจในอนาคต 

        เราทำงานร่วมกันมาสักพัก จากที่ต่างคนต่างทำ ตอนนี้ตั้งแต่สภาองค์กรชุมชน สภาชนเผ่าพื้นเมืองก็เริ่มเชื่อมโยงกับคนทำงานในเมือง เชื่อมกับนักวิชาการ ภาคธุรกิจ และอีกหลายๆ ส่วน ทุกคนเริ่มเห็นปัญหาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งเรากำลังจะมีการสรุปบทเรียนกันช่วงปลายๆ เดือนเมษายน ต้นๆ เดือนพฤษภาคมนี้ ที่เราจะมาประมวลว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ร่วมกัน จากที่แต่ก่อนต่างคนต่างทำ และจะผลักให้เป็นข้อเสนอในการทำงานอย่างแท้จริงในปีต่อๆ ไป

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่
Image: สภาลมหายใจเชียงใหม่

ยกตัวอย่างบทเรียนที่ค้นพบที่คนทั่วไปควรรับรู้

        บทเรียนสำคัญคือโครงสร้างการทำงานของระบบราชการแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เรื่องใหญ่สุดที่ทุกฝ่ายพูดตรงกันคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนตื่นตัว รับรู้ทั่วกันว่าการแก้ปัญหาที่สั่งลงมาเป็นแท่งๆ จากข้างบน ไม่มีการบูรณาการ ไม่ทำงานกับท้องถิ่น มันไม่ช่วยอะไร ท้ายที่สุดมันได้แต่ปกป้องผลประโยชน์ของกระทรวง ทบวง กรม มันไม่แก้ปัญหาอะไรอย่างอื่นเลย อันนี้คือบทเรียนใหญ่ที่สุด

        สองคือเราเห็นว่ากระบวนการแก้ปัญหาต้องแก้จากพื้นที่ ต้องแก้จากสภาพจริง จากข้อมูลจริง เช่น ข้อมูลการผลัดใบที่ต่างกันไปใน 25 อำเภอของเชียงใหม่ โซนกลางผลัดใบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ โซนเหนือแถวเชียงดาวช่วงมีนาคม แต่ละพื้นที่เขามีข้อมูลทางธรรมชาติของเขาอยู่ เพราะฉะนั้น การจัดการบริหารต้องขึ้นอยู่กับสภาพจริงมันถึงจะะจัดการได้ ต้องรู้สภาพป่าผลัดใบ สภาพป่าดิบชื้น การจำแนกตามพื้นที่จริง แต่ที่ผ่านมามันเป็นการสั่งการจากข้างบน แล้วไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ฉะนั้นกระบวนการทำงต้องปรับใหม่ทั้งหมด ต้องเป็นการทำงานที่เริ่มต้นจากพื้นที่ชุมชนนั้นๆ

        สามคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะฝุ่นควันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ตั้งแต่เศรษฐกิจควบคู่ไปกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการไปด้วยกันหมดเลย

ช่วงที่ผ่านมาค่า PM 2.5 พุ่งขี้นอย่างน่าตกใจ แต่ความสนใจของผู้คนนั้นอยู่กับการระบาดของ COVID-19 จนเหมือนกับเราต้องเลือกจัดลำดับความสำคัญการแก้ปัญหา แต่จริงๆ แล้วสองเรื่องนี้สัมพันธ์กันหรือไม่ เราสามารถรับมือกับปัญหาด่วนและปัญหาระยะยาวได้หรือไม่ อย่างไร 

        ตอนนี้มีการคุยกันในเชียงใหม่ว่าฝุ่นควันมันสัมพันธ์กับ COVID-19 ด้วย มันทำให้ความเสี่ยงของการระบาดเพิ่มขึ้นได้ เช่น ถ้าคนสูด PM 2.5 ไปนานๆ ก็จะทำให้มีปัญหาปอดอยู่แล้ว พอเจอเชื้อโรคก็เสี่ยงต่อการติดเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ก็เริ่มมีนักวิชาการที่ออกมาพูด 

        เชียงใหม่ตอนนี้ได้รับผลกระทบหนักมากเมื่อเจอสองปัญหามาทับซ้อนกัน ซึ่งทั้งกระบวนการการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขต้องเริ่มจากชุมชน ถ้าชุมชนมีส่วนร่วมได้ ก็จะสามารถจัดการทั้งสองปัญหาได้

        แต่ตอนนี้ปัญหามันพัวพันไปหมด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะไปกระทบเศรษฐกิจอยู่ดี ในขณะที่มาตรการของรัฐเป็นแบบนี้ ที่เราเข้าใจว่ามันต้องป้องกันการระบาด แต่มันต้องมีมาตรการรองรับเรื่องรายได้ เรื่องปากท้องให้เขาอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาเศรษฐกิจ สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้

        เราต้องมองปัญหาให้ใหญ่ขึ้นกว่าปรากฏการณ์ วิเคราะห์กันเชิงโครงสร้าง และหาทางกระจายอำนาจกลับไปให้ชุมชน นี่คือทางออกที่สำคัญ

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่
www.igreenstory.co/chaingmai-pollution

ว่ากันว่าคนเรามักจะสนใจกับปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าปัญหาที่อาจทำให้เราตายผ่อนส่งอย่างช้าๆ

        ส่วนตัวผมว่า COVID-19 มันอันตรายไม่มาก แต่มันแพร่ตัวเร็ว คนเลยตื่นตระหนกกันไป พอยิ่งตื่นตระหนก ผลกระทบก็ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งการที่เราแพนิกจนคิดอยู่เรื่องเดียวมันทำให้เราไม่ได้มองว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรที่อาจตามมาบ้าง เช่น อีกสักปีเราจะเห็นกันว่าเศรษฐกิจจะโดนกระทบอย่างหนักจากมาตรการที่ใช้อยู่ 

        แต่เรื่องฝุ่นควันมันเป็นปัญหาที่ไม่จบง่ายๆ ในปีนี้ และจะส่งผลกระทบระยะยาว การแก้ไขต้องจัดการทุกเรื่อ งตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และการบริหาร ถ้าไม่แก้จริงจัง ปัญหานี้จะหนักกว่าเดิม สิ่งที่จะตามมาเลยคือ หนึ่ง พื้นที่ป่าจะลดลงไปอีกหากยังปล่อยปัญหาทิ้งไว้แบบนี้ สอง เกษตรเชิงเดี่ยวที่มันไม่ควรมาอยู่ในพื้นที่สูงขนาดนี้ แล้วผู้สนับสนุนบริษัทยักษ์ใหญ่รอดตลอด ไม่เคยเดือดร้อนหรือได้รับการลงโทษอะไรเลย ซึ่งจริงๆ มันต้องหยุดให้บริษัทใหญ่มาส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ป่าสมบูรณ์ นี่มันเป็นพื้นที่ป่าที่ไม่ควรใช้หาประโยชน์ แต่คุณกลับปล่อยให้บริษัทใหญ่มาทำลายทรัพยากรโดยรวม สองเรื่องนี้ คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรเชิงเดี่ยวมันไปด้วยกัน และมันเป็นสองเรื่องที่ถ้าไม่แก้ไขจะสร้างปัญหาตามมาอีกมาก สาม เรื่องเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจตอนนี้นั้นอาศัยต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหนักมาก ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้ ไม่ปรับระบบการผลิตใหม่ให้ยั่งยืน ไม่ลดการบริโภคลง ไม่แก้ระบบขนส่งสาธารณะให้เพิ่มขึ้น ปัญหาทั้งหมดนี้จะไม่หายไป ฉะนั้นแต่ละฝ่ายต้องร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน 

        ถ้าทรัพยากรลดลง แต่เศรษฐกิจขยายตัว โรงงานมากขึ้น คนใช้รถเพิ่มขึ้น โลกก็ร้อนมากขึ้น แบบนี้เราจะอยู่ไม่ได้ เราจะตายแน่ หรืออยู่ไปก็ไม่มีความสุขแน่นอน เพราะมันส่งผลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน และที่สำคัญคือมันจะซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ชาวบ้านจะกลายเป็นแพะรับบาปตลอด คนจนลำบากขึ้น ในขณะที่คนรวย คนมีอำนาจได้ประโยชน์เสมอ

        สุดท้าย มันคือการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ซึ่งก็กลับมาเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่เช่นนั้นหากยังรวมศูนย์ บริหารจากบนลงล่างแบบนี้ เราจะไม่มีทางแก้รากเหตุของปัญหาได้

 

ฝุ่นควันในเชียงใหม่

บทบาทของ people’s movement ยังสำคัญอยู่ไหม คนทั่วไปทำอะไรได้ เมื่อทุกอย่างล้วนมีรากปัญหาจากโครงสร้าง

        ผมอยากให้เกิดความเข้าใจใหม่ ให้ทุกคนตื่นตัวที่จะมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันไม่ใช่แค่อุบัติภัยที่เกิดขึ้นสองสามเดือนแล้วจบไป ไม่ใช่

        เราต้องมองปัญหาใหม่ให้เห็นเป็นองค์รวม เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาทั้งระบบ พอมองอย่างนี้ได้แล้ว ชาวบ้านก็จะไม่ใช่แพะ เราจะเห็นว่าเราต่างมีส่วนในการสร้างปัญหาหมดเลย ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน เราต้องสร้างความรู้ร่วมกันใหม่ ให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนในเมือง และคนในชนบทที่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น 

        ส่วนหนึ่งมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และอีกส่วนก็เป็นปัญหาเรื่องความรู้ มันมีช่องว่างความไม่รู้ขนาดใหญ่มากที่คอยกดทับคนบนดอย คนชนบทอย่างมากเลย เราต้องเห็นภาพใหม่โดยใช้ความรู้และข้อเท็จจริงเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และต่างฝ่ายต่างมีส่วนร่วม เปลี่ยนแปลงตามบทบาทหน้าที่แต่ละคน เช่น ภาคเศรษฐกิจช่วยหาตลาดใหม่ๆ คนในเมืองผลักดันการใช้พื้นที่สาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ ทุกคนมีส่วนร่วมริเริ่มได้หมดตั้งแต่ครอบครัว ถึงชุมชน ถึงประเทศ และที่ดีคือมันต้องไประดับภูมิภาค ระดับอาเซียนเลยด้วยซ้ำไป แต่ไม่ว่าจะทำอะไรการลงมือทำต้องคู่ไปกับการให้ความรู้ อันนี้สำคัญมาก

ถ้าไม่มีเรื่องโรคระบาด เรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนพูดกันแน่ๆ อยากฝากอะไรถึงสังคมที่พุ่งความสนใจทั้งหมดไปอยู่ที่ COVID-19 ตอนนี้ ที่อาจมองว่าปัญหาอื่นๆ นั้น ‘รอได้’ 

        อยากให้สังคมซึ่งกำลังตระหนักกับเรื่องโรคระบาดได้สนใจเรื่องฝุ่นควันไปด้วย เพราะนี่จะเป็นปัญหาที่อยู่กับเราอีกยาว COVID-19 นั้นสุดท้ายเราจะรับมือกับมันได้ มันจะหายไป คล้ายไข้หวัดใหญ่ เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล แต่ฝุ่นควันนั้นเป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีไดนามิกสูง มันหนักขึ้นทุกปี การจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องอาศัยการแก้ปัญหาแบบบูรณาการเชิงโครงสร้าง อาศัยการสร้างความรู้ใหม่ให้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ เพื่อที่เราจะอยู่รอดไปด้วยกัน

 


อ้างอิง:

  • 1ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดเชียงใหม่ www.cmuccdc.org
  • 2www.facebook.com/pg/punchupworld/posts
  • 3ติดตามสถานการณ์หมอกควันในเชียงใหม่ และข้อเสนอยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM2.5 จากภาคประชาชน ได้ทางเฟซบุ๊ก สภาลมหายใจเชียงใหม่